อ่านเชียงใหม่ผ่านสถาปัตยกรรมเมือง ประวัติศาสตร์และพัฒนาการบนทางสาธารณะ
04/07/2023
การทำความเข้าใจเมืองหนึ่งเมืองใด อาจเป็นเรื่องยากต่อการศึกษาได้อย่างถ่องแท้ เนื่องจากเมืองมีลักษณะเฉพาะที่มีความสลับซับซ้อน มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวและไม่หยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกันกับมนุษย์ จึงมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการผ่านการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ในแต่ละช่วงระยะเวลาแตกต่างกัน โดยเฉพาะกับเมืองประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างยาวนาน บทความนี้จะชวนผู้อ่านไปสำรวจสถาปัตยกรรมในเขตเมือง ตลอดสองฝั่งถนนสายวัฒนธรรมของเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ เพื่อทำความเข้าใจประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของเมืองเชียงใหม่ผ่านสถาปัตยกรรม เมืองเก่า นิยามและความหมายในบริบทประเทศไทย เมืองประวัติศาสตร์ โดยทั่วไปเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงไม่มากนัก แต่หากกล่าวถึง “เมืองเก่า” ในบริบทของประเทศไทย อาจเป็นคำที่ผู้อ่านคุ้นเคย ทั้งในแง่การตีความหมายและถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในบริบทการอนุรักษ์เมือง “เมืองเก่า” อ้างอิง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 หมายถึง “เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะแห่ง สืบต่อมาแต่กาลก่อน มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือมีลักษณะจำเพาะของสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีรูปแบบผสมผสานสถาปัตยกรรมท้องถิ่น หรือมีลักษณะเป็นรูปแบบวิวัฒนาการทางสังคมที่สืบต่อมาในยุคต่าง ๆ เมืองหรือบริเวณของเมืองที่เคยเป็นตัวเมืองดั้งเดิมในสมัยหนึ่ง และยังคงมีลักษณะเด่นประกอบด้วยโบราณสถาน เมืองหรือบริเวณของเมืองซึ่งโดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือโดยอายุ หรือโดยลักษณะแห่งสถาปัตยกรรมหรือคุณค่าในทางศิลปะ โบราณคดี หรือประวัติศาสตร์” คำว่า “เมืองเก่า” อาจให้นิยามและความหมายของเมืองประวัติศาสตร์ได้อย่างครอบคลุม ทั้งในแง่ลักษณะทางกายภาพ สุนทรียศาสตร์ สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบัน เมืองเชียงใหม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองเก่า ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เมื่อวันที่ 13 […]