21/06/2023
Public Realm

เมืองพุงกระเพื่อม

นฤภร ศรีฝุย
 


คนกรุงเทพฯ มีภาวะอ้วนลงพุงถึงร้อยละ 56.1 ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในอัตราที่สูงเป็นอย่างมาก แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนกรุงเทพมหานครอ้วนขนาดนี้ ? เราอาจจะคิดว่าเพราะการบริโภคอาหารจึงทำให้อ้วน เนื่องมาจากการที่กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีตัวเลือกทางด้านอาหารอย่างหลากหลายให้เราได้เลือกบริโภคเกือบตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งอาหารอร่อยที่ถูกปากใครหลาย ๆ คน แต่การบริโภคอาหารอาจไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้ผู้คนอ้วน บทความนี้จึงจะนำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นว่านอกจากการบริโภคอาหารแล้ว ในเรื่องของการออกแบบเมืองจะมีส่วนทำให้คนอ้วนได้อย่างไร

กินหวาน กินเค็ม สาเหตุที่ทำให้อ้วน

ในกรุงเทพมหานครนั้น มีจำนวนร้านอาหารอย่างร้านยำ ร้านกาแฟ และร้านชานมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะจุดไหนก็ตามก็จะมีร้านเหล่านี้ อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ในปัจจุบันมักจะบริโภคอาหารรสเผ็ด รสหวาน และรสเค็มมากขึ้น ทำให้คนไทยบริโภคอาหารเหล่านี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกเลยที่จะมีภาวะอ้วนลงพุงที่สูง ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าปริมาณที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ ซึ่งได้กำหนดให้บริโภคไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา และปี 2562 พบว่า คนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว (สำนักสารนิเทศ สำนักงานกระทรวงสาธารณสุข, 2564) อีกทั้งบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัมต่อวันหรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา และมากกว่าปริมาณที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดไว้ โดยกำหนดให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัมหรือไม่เกิน 1 ช้อนชา (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2564) ทั้งนี้ พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ที่มักจะบริโภครสหวาน รสเค็มมากขึ้นอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

Free photo thai food ;mixed spicy pork sausage salad with vermicelli noodle

ที่มาภาพ jcomp

แนวโน้มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากพฤติกรรมการบริโภค

นอกจากโรคอ้วนที่คนกรุงเทพฯ เป็นในอัตราที่สูงแล้ว คนกรุงเทพฯ ยังเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่เน้นรสหวานและรสเค็มมากเกินไป ในอัตราที่สูงกว่าภาพรวมในระดับประเทศ (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2564) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. โรคเบาหวานอยู่ที่ร้อยละ 12.5 จากร้อยละ 9.5 ในระดับประเทศ

2. ภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 13.2 จากร้อยละ 10.7 ในระดับประเทศ

3. โรคความดันโลหิตสูงอยู่ที่ร้อยละ 27.2 จากร้อยละ 25.4 ในระดับประเทศ

4. ภาวะคอเลสเตอรอลสูง 66.4 จากร้อยละ 56.8 ในระดับประเทศ

‘เมือง’ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และทำให้คน ‘อ้วน’ ขึ้นได้อย่างไร

“จน อ้วน โสด”


จากคำกล่าวข้างต้นของ ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล โดยได้อธิบายในประเด็นของความอ้วนที่เกิดจากเมืองว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ต้องพึ่งพารถยนต์ ไม่สามารถไปไหนมาไหนด้วยการเดินเท้าได้มากนัก คนกรุงเทพมหานครจึงเป็นภาวะอ้วน ซึ่งสาเหตุเกิดจากไม่มีวิธีจะให้รีดไขมันส่วนเกินออกไปจากร่างกายได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนไหวจึงหันมาใช้รถยนต์ และการใช้เวลาในรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงต่อการอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ดังนั้น เมืองจึงทำให้เราอ้วนนั่นเอง

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินให้แก่ผู้คนได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากกายภาพของเมืองและทางเดินที่ขรุขระ มีสิ่งกีดขวางอยู่เรียงราย ซึ่งไม่สะดวกต่อคนเดินเท้า และประกอบกับไม่มีต้นไม้ที่คอยให้ความร่มรื่น ไม่มีหลังคา จึงอาจถือได้ว่าไม่มีแรงจูงใจชวนให้ผู้คนอยากที่จะเดิน ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ใน 1 ปี ผู้คนใช้ชีวิตอยู่บนรถยนต์กว่า 800 ชั่วโมง (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2560) อีกทั้ง พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ที่มักจะบริโภคอาหารรสหวานที่มากยิ่งขึ้น อย่างพวกขนมเค้ก หรือพวกเครื่องดื่มอย่างชานมและกาแฟที่มักเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก และมีร้านเหล่านี้อยู่มากมายให้เลือกซื้อ รวมถึงบริโภคอาหารเค็มที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ที่ผู้คนมักจะบริโภคอาหารพวกยำต่าง ๆ หรือพวกอาหารดอง อย่างปูดองน้ำปลา กุ้งดองน้ำปลา รวมทั้งบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

120222 footpath3

ที่มาภาพ สารพันปัญหา ‘ทางเท้า’ ที่สาธารณะพื้นฐาน ถูกลดความสำคัญ-รัฐละเลย? (isranews.org)

จากสภาพแวดล้อมของเมืองที่ไม่เป็นมิตรต่อคนเดินเท้า เมืองจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนอ้วนลงพุง และเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เน้นทั้งรสหวานและรสเค็ม และการที่คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่แต่บนท้องถนน การบริโภคอาหารส่วนใหญ่จึงต้องบริโภคบนรถยนต์ และเมื่อบริโภคอาหารเข้าไป ประกอบกับสภาพเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดิน ผู้คนไม่นิยมเดินกัน ส่งผลให้ไม่เกิดการขยับตัวหรือเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อเผาผลาญพลังงานที่ได้รับจากการบริโภค จึงไม่แปลกที่สุดท้าย ทำไมผู้คนในเมืองถึงอ้วนลงพุงและเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ

หากแต่ในอนาคต กรุงเทพฯ มีทางเท้าที่ดี สามารถเดินได้จริง และสามารถดึงดูดให้ผู้คนใช้การเดินทางในรูปแบบการเดินเท้า แทนการใช้รถยนต์ได้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับที่ผู้คนหันมาดูแลในเรื่องของสุขภาพ ลดการบริโภคอาหารรสหวานและรสเค็มลง และหันมาเดินมากขึ้นเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกาย ก็อาจสามารถช่วยลดโรคอ้วนลงพุง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ได้ อีกทั้งยังอาจทำให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นจากเดิมได้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

“โรคอ้วน” กระทบเศรษฐกิจ 13.2% ของงบประมาณสาธารณสุขทั่วโลก

กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs)…โรคที่เกิดจากพฤติกรรม

ทางเท้า ‘ยั่งยืน’ ‘คืนชีวิต’ คนเมือง

เปิดพฤติกรรมการกิน อยู่ อย่างไทย

เช็กสุขภาพคน กทม. โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เกินภาพรวมประเทศ

Better City Starts With a “Good Walk” : ภารกิจเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ย่านของเราเป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี”

‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ เลิกจน ลดอ้วน สละโสด ด้วยโจทย์การพัฒนา ‘เมืองเดินได้’


Contributor