04/07/2023
Public Realm
อ่านเชียงใหม่ผ่านสถาปัตยกรรมเมือง ประวัติศาสตร์และพัฒนาการบนทางสาธารณะ
สิทธิกานต์ สัตย์ซื่อ

การทำความเข้าใจเมืองหนึ่งเมืองใด อาจเป็นเรื่องยากต่อการศึกษาได้อย่างถ่องแท้ เนื่องจากเมืองมีลักษณะเฉพาะที่มีความสลับซับซ้อน มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวและไม่หยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกันกับมนุษย์ จึงมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการผ่านการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ในแต่ละช่วงระยะเวลาแตกต่างกัน โดยเฉพาะกับเมืองประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างยาวนาน
บทความนี้จะชวนผู้อ่านไปสำรวจสถาปัตยกรรมในเขตเมือง ตลอดสองฝั่งถนนสายวัฒนธรรมของเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ เพื่อทำความเข้าใจประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของเมืองเชียงใหม่ผ่านสถาปัตยกรรม
เมืองเก่า นิยามและความหมายในบริบทประเทศไทย
เมืองประวัติศาสตร์ โดยทั่วไปเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงไม่มากนัก แต่หากกล่าวถึง “เมืองเก่า” ในบริบทของประเทศไทย อาจเป็นคำที่ผู้อ่านคุ้นเคย ทั้งในแง่การตีความหมายและถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในบริบทการอนุรักษ์เมือง “เมืองเก่า” อ้างอิง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 หมายถึง
“เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะแห่ง สืบต่อมาแต่กาลก่อน มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือมีลักษณะจำเพาะของสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์
เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีรูปแบบผสมผสานสถาปัตยกรรมท้องถิ่น หรือมีลักษณะเป็นรูปแบบวิวัฒนาการทางสังคมที่สืบต่อมาในยุคต่าง ๆ
เมืองหรือบริเวณของเมืองที่เคยเป็นตัวเมืองดั้งเดิมในสมัยหนึ่ง และยังคงมีลักษณะเด่นประกอบด้วยโบราณสถาน
เมืองหรือบริเวณของเมืองซึ่งโดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือโดยอายุ หรือโดยลักษณะแห่งสถาปัตยกรรมหรือคุณค่าในทางศิลปะ โบราณคดี หรือประวัติศาสตร์”
คำว่า “เมืองเก่า” อาจให้นิยามและความหมายของเมืองประวัติศาสตร์ได้อย่างครอบคลุม ทั้งในแง่ลักษณะทางกายภาพ สุนทรียศาสตร์ สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปัจจุบัน เมืองเชียงใหม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองเก่า ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553 มีขนาดพื้นที่รวม 5.505 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ด้านทิศเหนือจรดแนวระยะ 22 เมตร จากฝั่งคูเมืองด้านเหนือตลอดแนว, ทิศตะวันออกจดแนวระยะ 50 เมตรฝั่งคลองแม่ข่าด้านตะวันออกตลอดแนว, ทิศใต้จดแนวระยะ 50 เมตร จากฝั่งคลองแม่ข่าทางด้านใต้ เชื่อมกับแนวกำแพงดินเมืองเชียงใหม่ด้านทิศใต้ และทิศตะวันตกจดแนวระยะ 22 เมตร จากฝั่งคูเมืองด้านตะวันตกตลอดแนว เชื่อมกับแนวกำแพงดินทางด้านทิศตะวันตก ในบทความนี้จะเรียกเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่ว่า เมืองเก่าเชียงใหม่ ตามขอบเขตและนิยามเหล่านี้

ที่มาภาพ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
เมืองเก่าเชียงใหม่ พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง
เชียงใหม่เป็นเมืองสำคัญประวัติศาสตร์ ที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปรากฏหลักฐานตามตำนานและจารึกการสร้างเมืองเชียงใหม่ใน ค.ศ. 1296 กว่า 727 ปี ในฐานะเมืองบทบาทศูนย์กลางทางการค้า ศาสนา และการเมืองการปกครอง สู่การเป็นเมืองหลักในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน
จากบทบาทดังกล่าวเชียงใหม่ยังเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นของลักษณะการตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากลักษณะเฉพาะของแผนผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ได้รับการถ่ายทอดเทคนิคและวิทยาการผ่านทางสุโขทัย โครงสร้างหลักประกอบไปด้วย กำแพงเมือง, คูเมือง, แจ่งเมือง (ป้อมปราการ) และประตูเมือง ตามลักษณะของเมืองโบราณ ภายในมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ เวียงแก้ว (พระราชวัง), ข่วงเมือง (ลานประจำเมือง), กาดลีเชียง (ตลาดประจำเมือง), เสาอินทขิล (เสาหลักเมือง) และศาสนสถานต่าง ๆ และมีพัฒนาเรื่อยมาจากการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ในเขตกำแพงเมืองชั้นนอกตามมา
ลักษณะข้างต้นชี้ให้เห็นว่าเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีกระบวนการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรูปที่ว่างและองค์ประกอบเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแต่ละสาเหตุและปัจจัยในแต่ละช่วงระยะเวลาที่ควบคุมและส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปขององค์ประกอบเหล่านั้น
สถาปัตยกรรมบนถนนท่าแพ
ถนนท่าแพ เป็นถนนสายสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่ทอดยาวจาก ‘สะพานนวรัฐ’ ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางด้านทิศตะวันออก ไปจรด ‘ประตูเชียงใหม่’ ทางด้านทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนแนวแกนสำคัญของเมือง ในอดีตเป็นย่านการค้าสำคัญของเมืองที่รุ่มรวยไปด้วยสังคมพหุวัฒนธรรมของชาวต่างชาติ เช่น ชาวพม่า ชาวจีน ชาวตะวันตก ฯลฯ ที่เดินทางค้าขายและเผยแพร่ศาสนาในเชียงใหม่ หากเดินสำรวจไปตามถนนท่าแพจะพบสถาปัตยกรรม ประเภทพุทธศาสถาน เรียงรายไปตามสองฝั่งถนนที่มีรูปแบบศิลปกรรมพม่า ที่แสดงให้เห็นองค์ความรู้เชิงเชิงที่แสดงออกผ่านสถาปัตยกรรมในแต่ละแห่ง วัดอุปคุต วัดบุฟพาราม วัดเชตวัน และวัดแสนฝาง ก่อนจะถึงประตูท่าแพในปัจจุบัน
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาโคโลเนียล ที่ผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนาเข้ากับศิลปกรรมตะวันตก เช่น ร้านทิพเสถียรพานิช ร้านรัตนผล ระมิงค์ทีเฮาส์ สยามศิลาดล ที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก คือ ‘ตึกกิติพานิช’ เดิมเป็นห้างสรรพสินค้า ‘ย่งไท้เฮง’ เปิดกิจการราว พ.ศ. 2431 จำหน่ายสินค้านำเข้าจำพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องแก้วเจียระไน น้ำหอม และของประดับตกแต่งบ้าน เป็นห้างสรรพสินค้าที่เจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการชั้นสูง นิยมมาจับจ่ายใช้สอย ก่อนเลิกกิจการปรับเป็น สถานที่ส่งเสริมความงามเฉพาะสตรี ‘Maison Dara’

ที่มาภาพ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
สถาปัตยกรรมบนราชดำเนิน
ถนนราชดำเนิน เป็นถนนแนวแกนสำคัญของเมืองเก่าเชียงใหม่ จากประตูท่าแพทางด้านทิศตะวันออกไปจนถึงประตูสวนดอกทางด้านทิศตะวันตก โดยมีวัดพระสิงห์วรมหาวิหารวางตัวอยู่บนแนวแกนสำคัญของเมือง สะท้อนให้เห็นความสำคัญของพระอารามหลวงชั้นเอกของเมืองเก่าเชียงใหม่ ภายในมีกลุ่มศาสนสถานสำคัญหลายแห่งวัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหารสร้างขึ้นตามคติจักรวาลวิทยาเป็นศาสนสถานศูนย์กลางเมือง

ที่มาภาพ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
บนถนนราชดำเนินยังประกอบไปสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของเจ้านายฝ่ายเหนือในอดีต เช่น คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์), คุ้มเจ้าราชบุตร (สมพะมิตร) เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาโคโลเนียล ครึ่งปูนครึ่งไม้
หากเดินไปตามถนนราชดำเนินยังเป็นบริเวณสองฝั่งฟากถนนที่สะท้อนภาพของการพัฒนาพื้นที่ย่านทางการค้าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเด่นชัด เนื่องมาจากการนำเข้านวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือรถยนต์มาจำหน่ายในเมืองเชียงใหม่ ทำให้พ่อค้าคหบดีหลายตระกูลเริ่มหันมาประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จึงมักพบศูนย์ซ่อมรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า และเรือนร้านค้า-อาคารพาณิชยกรรม
สถาปัตยกรรมอีกกลุ่มหนึ่งอาคารสถานที่ราชการ สถานีตำรวจภูธร และ แฟลตตำรวจ เป็นบริเวณที่ดินเดิมของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์มอบให้แก่ทางราชการในช่วงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล จัดตั้งเป็น กองบังคับการ กองตำรวจภูธรนครเชียงใหม่, บ้านพักผู้กำกับการ และ อาคารหน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้พื้นที่ดังกล่าวปรากฏมิติความเป็นย่านศูนย์กลางงานราชการซ้อนทับลงพื้นที่ย่านถนนราชดำเนิน
อาจกล่าวได้ว่าถนนราชดำเนิน ถือเป็นถนนสายสำคัญของเมืองเก่าเชียงใหม่ที่มีลักษณะร่วมของพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ เพื่อประโยชน์ทางการค้า และเป็นบริเวณพื้นที่สำคัญที่ยึดโยงระหว่างลักษณะทางกายภาพของเมืองกับองค์ประกอบทางความเชื่อในการสื่อสารทางความหมาย ให้เห็นถึงพัฒนาการและมิติสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษร่วมกับคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา สะท้อนสัมพันธภาพระหว่างความเชื่อเรื่อง ผี พราหมณ์ พุทธในพื้นที่
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์