19/06/2023
Public Realm

เมืองกับสุขภาพจิต: สำรวจ 5 พื้นที่ลดความเครียดในเมือง

ธัญชนก ปมุติโต สิทธิกานต์ สัตย์ซื่อ
 


เมืองและปัญหาสุขภาพจิตดูเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันในหลายมิติ ปัจจุบันผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองต้องดำเนินชีวิตอย่างเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราสามารถสัมผัสกับบรรยากาศของความเครียดจากผู้คนรอบข้างได้อยู่เสมอ หนึ่งในสาเหตุสำคัญเกิดจากปัญหาสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาทิ ปัญหาการจราจรติดขัด ความแออัดของเมือง สภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ฯลฯ จนส่งกระทบให้เกิดความเครียดสะสม The Urbanis จะนำพาทุกท่านติดตามสถานการณ์ผ่านบทความและมองหาแนวทางการพัฒนาเมือง เพื่อช่วยลดความเครียดจากการดำเนินชีวิตและเพิ่มความน่าอยู่ของเมืองไปด้วยกัน

เมืองกับสุขภาพจิต

จากบทความ ‘เรื่องร้ายของคนเมือง’ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิรมล กุลศรี ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง อธิบายว่า “ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมดึงดูดให้คนกระจุกตัวในเมือง ความหนาแน่นแออัดจึงเริ่มขึ้น จากเดิมสังคมชนบทมักจะมีความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน แต่พอมาเป็นสังคมเมืองที่มีความปัจเจก การวางเฉย ระยะห่างและยังเต็มไปด้วยสิ่งเร้าทำให้เราเกิดโรค โดยเฉพาะโรคทางจิต” ชี้ให้เห็นว่าสภาพปัญหาและรูปแบบทางสังคม ถือเป็นสิ่งเร้าของสภาวะเครียดที่เกิดขึ้นในสังคมเมือง

สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานองค์การอนามัยโลกในปี 2014 อภิปรายถึงบริบททางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองการปกครองว่า “ประวัติศาสตร์ของประเทศ-สถานการณ์ทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและสังคมที่อยู่ในสังคม เป็นสิ่งกำหนดคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้นประเทศที่มีเสรีภาพทางการเมืองต่ำ มีสภาพแวดล้อมทางการเมืองไม่มั่นคง และมีระบบบริการและระบบกำกับดูแลที่ไม่ดี จะเพิ่มความเสี่ยงให้ประชาชนและส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตใจ” เห็นได้ว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามได้และมีความซับซ้อนของปัญหา (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2014, หน้า 30) นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังชี้เห็นว่า การเข้าถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและพื้นที่กลางแจ้งเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะสังคมเมืองที่ขาดการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ การเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน หรือการทำสวน ล้วนเป็นผลดีต่อสุขภาพ ช่วยลดความเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า (เรื่องเดียวกัน, หน้า 29)

Traffy Fondue ชี้ปัญหาภายในกรุงเทพมหานคร

จากข้อมูลสถิติเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ณ วันที่ 11 มกราคม 2566 ผ่านแพลตฟอร์ม Traffy fondue ของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาพบว่า มีเรื่องร้องเรียนปัญหากว่า 202,649 เรื่องเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนต่อสภาพแวดล้อมของเมือง สามอันดับแรกเป็นปัญหาเรื่อง ถนนที่เสื่อมโทรมชำรุด มีอุปสรรคบนท้องถนนจนเกิดการจราจรที่ติดขัด ทางเท้าที่มีสิ่งกีดขว้างหรือไม่รับการจัดการให้เหมาะแก่การเดินเช่น ฝาท่อชำรุด พื้นทางเท้าชำรุด และน้ำท่วมปัญหาที่คนในเมืองจะพบเจอเสมอในวันสภาพอากาศแปรปวนฝนตกหนัก ระบบระบายของเมืองมีสิ่งอุดตันและไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำที่รวดเร็วทำให้เกิดน้ำท่วมส่งผลกระทบเสียหายต่อสิ่งของ รถยนต์และเสียเวลาการเดินทางที่ยากลำบากขึ้น ซึ่งประชาชนในกรุงเทพฯ ต้องการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการแก้ไข รองลงมาเป็นเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางภายในเมือง การมีสายตาสอดส่องเฝ้าระวัง ความสะอาดของทางเท้าในเมือง สิ่งกีดขวางบนทางเท้า เช่น ป้ายโฆษณา ร้านค้าแผงลอย ต้นไม้ที่ลุกล้ำพื้นที่สาธารณะซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนในเมืองทั้งสิ้น ที่ช่วยสะสมความเครียดจากการดำเนินชีวิตประวัน

การเดินทางปัญหาหลักที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต

การเดินทางเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำของเมือง ไม่ว่าจะโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รถเมล์ ฯลฯ แทบทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องคำนวณเวลเดินทางออกจากบ้านหรือที่ทำงานล่วงหน้าเสมอ บ่อยครั้งเราต้องเผชิญกับสภาพปัญหาการจราจรที่ติดขัดในตอนเช้า-ตอนเย็น และใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่บนท้องถนนเสมอ

จากการสำรวจพฤติกรรมการเดินทาง ในปี 2561 ของ Uber พบว่าคนกรุงเทพเสียเวลาไปกับรถติดบนท้องถนนและวนหาที่จอดรถเฉลี่ยวันละ 96 นาที โดยเสียเวลาไปกับรถติดประมาณ 72 นาที และวนหาที่จอดรถอีก 24 นาที หรือหากเทียบใน 1 ปี เราเสียเวลาไปกับรถติดประมาณ 584 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 24 วัน

สภาพปัญหาดังกล่าวอาจเป็นปัญหาคลาสสิกของกรุงเทพมหานคร เมื่อบ้านอยู่ไกลจากที่ทำงานหรือโรงเรียน แต่คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครก็ไม่สามาถหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวได้ หากต้องการย้ายที่อยู่อาศัยไปใกล้ที่ทำงาน ก็พบว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ในเมืองก็มีมูลค่าสูงเกินไป เมื่อเทียบกับค่าเดินทางที่ต้องจ่ายต่อเดือน

ผลกระทบที่เราต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง แทนที่จะได้พักผ่อนหลังเลิกงานหรือเลิกเรียน ไปออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมสังสรรค์ต่าง ๆ เพื่อลดความเหนื่อยล้าและความเครียดที่สะสมมาตลอดจนทั้งวัน กลับหายไปจากสังคมเมือง และอาจทำคนในเมืองเกิดความเครียดสะสมอยู่เสมอ

ที่มาภาพ Stockholm Environment Institute

สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเมือง

สาเหตุของปัญหาสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมภายในเมืองมีหลายประเด็น หากมองในภาพกว้างเราจะพบปัญหาหนึ่งของเมืองนั้นคือ เมืองแบบไร้รูปแบบ (Urban Sprawl) เกิดจากการที่เมืองเติบโตออกไปโดยขาดการควบคุม หรือขาดการกำหนดทิศทางอย่างเหมาะสม ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองเหล่านั้นขาดโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตที่ดี เช่น พื้นที่สาธารณะไม่มีเพียงพอ ขาดขนส่งมวลชนสาธารณะ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาขยะ จากความแอดอัดของเมือง ส่งผลให้เมืองน่าอยู่น้อยลง โดยเฉพาะในชุมชนแออัดที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในพื้นที่

ในเชิงรายละเอียด เราจะพบว่าสภาพแวดล้อมเมืองหลายแห่งเสื่อมโทรมและขาดการดูแล เช่น ถนนหนทาง ทางเดินเท้าสาธารณะ เพื่อใช้สัญจรไปมาในระยะใกล้ ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เชื่อว่าทุกคนคงเคยพบกับทางเท้าที่ไม่เรียบ เป็นหลุมเป็นบ่อ เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง ทำให้เดินได้ไม่สะดวก เช่นเดียวกับพื้นที่สาธารณะที่ขาดการดูแล ปล่อยให้เกิดเป็นพื้นที่รกร้าง ก็ไม่ชวนเชื้อเชิญให้เราเข้าไปใช้งาน เพื่อออกกำลังกาย พักผ่อน หย่อนใจ หรือทำกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียดสะสมของคนเมืองได้ เนื่องจากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เพื่อรองรับกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ

เมืองแบบไหนที่จะลดความเครียด สำรวจ 5 พื้นที่ลดความเครียดในเมือง

The Urbanis ชวนสำรวจ 5 พื้นที่ลดความเครียดในเมืองผ่านการใช้พื้นที่ทางกายภาพของเมือง เพื่อดูแลรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพดังนี้

PLAY GROUND พื้นที่สนามเด็กเล่นสำหรับครอบครัว พื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นในการจัดกิจกรรมขนาดเล็ก กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ชุมชน เป็นพื้นที่ทางสังคมในการทำกิจกรรมของครอบครัวหรือชุมชนร่วมกันได้ ช่วยสร้างสังคมที่มีสุขภาพจิตดี ปราศจากความเครียดจากการส่งเสริมกิจกรรมในสังคมชุมชน สู่สังคมเมืองขนาดใหญ่

PICNIC SPACE พื้นที่สีเขียว การปรับพื้นที่รกร้างหรือพื้นที่ที่ไม่เกิดประโยชน์ให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับทุกคนในเมือง เช่น ผู้สูงอายุ แรงงาน พนักงานออฟฟิศ นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ ให้สามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ อาทิสวนสาธารณะต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครอย่าง สวนเบญจกิติ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนลุมพินี สวนจตุจักร

SPORT GROUND พื้นที่กีฬา พื้นที่ที่เน้นกิจกรรมทางกายภาพ ส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต ช่วยลดความเครียด ใช้เวลาผ่อนคลายในรูปแบบการออกกำลังกายกับกีฬาที่สนุกสนาน พื้นที่สนามกีฬาที่เหมาะสมกับพื้นที่ชุมชนหรือเมือง ที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับกลุ่มคนทุกเพศทุกช่วงวัย อาทิ สนามฟุตบอล สนามฟุลซอล สนามบาสเก็ตบอล สนามเปตอง สนามตะกร้อ

HANG OUT SPACE พื้นที่พบปะรวมกลุ่ม ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นการสานความสัมพันธ์ของคนหนุ่มสาวหรือคนโสดภายในเมือง เป็นพื้นที่สังสรรค์ มีบทบาทสำคัญทำให้เมืองมีชีวิตชีวา เป็นอีกหนึ่งแนวทางลดความเครียดจากการใช้ชีวิตที่เหนื่อยล้า อาทิ สถานบันเทิง ร้านกาแฟ ลานกิจกรรม พิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร ศูนย์การค้า งานจัดแสดงศิลปะ

GOOD WAY GOOD VIEW การปรับปรุงทางเท้า เพิ่มความปลอดภัยสะดวกสบายขององค์ประกอบการสัญจรและทางเท้า พัฒนาสภาพแวดล้อมภายในเมือง อาทิ สายสื่อสารที่ยุ่งเหยิง อาคารเก่าที่ไม่ได้รับการบูรณะ รวมถึงพื้นที่สีเขียวริมทางที่รัฐบาลและเอกชนสามารถพัฒนาร่วมกัน ช่วยลดอุปสรรคของการเดินเท้า สร้างความสะดวกสบาย และร่นระยะเวลาในการเดิน รวมถึงการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ มีส่วนช่วยลดความเครียดจากปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่เมืองในแต่ละวัน

การพัฒนาเมืองไม่จำเป็นต้องส่งเสริมการเข้าถึงเมืองอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาความเป็นเมืองโดยคำนึงถึงสุขภาพจิตไปพร้อมกัน ดังนั้นการจัดสรรพื้นที่ทางกายภาพของเมืองให้สมดุลหรือ เพิ่มแนวทางการพัฒนาพื้นที่เมืองที่ไม่เกิดประโยชน์ให้แก่สังคมเมืองที่มีสภาวะเครียด สามารถช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการพัฒนาเมืองต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากคนทุกคน The Urbanis ชวนอยากชวนให้ทุกคนใช้สิทธิความเป็นพลเมือง เพื่อขับเคลื่อนเมืองให้น่าอยู่ไปพร้อมกับการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม ช่วยสร้างสังคมน่าอยู่ ปลอดภัย และมีความสุขร่วมกัน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

เมื่อการออกจากบ้านไปทำงาน คือการเดินทางไกล

การเติบโตของเมืองแบบไร้ระเบียบกับผลกระทบทางสุขภาพ

เรื่องร้ายของคนเมือง ความเครียด ความกดดัน ความคาดหวังฯ

ปัญหาเส้นเลือดฝอย

ปัจจัยสังคม กำหนดสุขภาพจิต
SOCIAL DETERMINANTS OF MENTAL HEALTH


Contributor