20/06/2023
Public Realm

โรงเรียนใกล้บ้าน โอกาสการสร้างย่านที่ปลอดภัย

ปาริฉัตร กองสำลี
 


โรงเรียนใกล้บ้าน โอกาสการสร้างย่านที่ปลอดภัย

ความรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่ละแวกบ้านเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต ในขณะเดียวกันการมีโรงเรียนใกล้บ้านถือเป็นโอกาสหนึ่งในการสร้างย่านที่ปลอดภัยได้ เนื่องจากโรงเรียนทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการขัดเกลาทางสังคม และยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของพื้นที่ของคนในชุมชน ทำให้เกิดความรู้สึกหวงแหน โดยสิ่งแวดล้อมและกายภาพจะช่วยกระตุ้นให้มีการเฝ้าระวังและจับตาคนแปลกหน้าหรือผู้บุกรุกที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่ ทำให้สามารถควบคุม และลดปริมาณการเกิดเหตุอันตรายและอาชญากรรมต่างๆ ได้ เกิดเป็นความปลอดภัยในพื้นที่ (Newman, 1973) ซึ่งในประเทศไทยอาจมองเห็นภาพได้ยากว่าโรงเรียนใกล้บ้านจะสามารถสร้างย่านที่ดีได้อย่างไร แต่เมื่อมองกรณีศึกษาในต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น การเดินไปเรียนโรงเรียนใกล้บ้านนับว่าเป็นต้นแบบในการส่งเสริมและพัฒนาย่านปลอดภัย และเมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย โรงเรียนใกล้บ้านในกรุงเทพฯ อาจมีข้อจำกัดและอุปสรรค์หลายอย่าง ทั้งเรื่องค่านิยมของคนไทย และนโยบายจากภาครัฐ

โรงเรียนใกล้บ้าน สร้างย่านที่ปลอดภัยได้อย่างไร?

ก่อนอื่น จะขอกล่าวถึงข้อดีของการมีโรงเรียนใกล้บ้านกันเสียก่อน  โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ ประหยัดเวลาในการเดินทาง ทำให้เด็กเหลือเวลาในการทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนซึ่งช่วยพัฒนาทักษะและความสามารถตามความสนใจของแต่ละคนได้ ในขณะเดียวกัน เมื่อโรงเรียนอยู่ใกล้บ้านในระยะทางที่นักเรียนสามารถเดินไปโรงเรียนได้ สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาย่านที่อยู่โดยรอบโรงเรียนนั้น เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เดินทางได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สภาพทางเท้า ทางข้าม ป้ายหรือสัญญาณไฟ ซึ่งช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เช่น อาสาสมัคร กิจกรรม และโครงการต่างๆ ยังทำให้เกิดความรู้สึกการเป็นเจ้าของและผูกพันกับพื้นที่ชุมชนซึ่งจะทำให้ย่านมีความปลอดภัย และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดอาชญากรรมได้

group of people wearing white and orange backpacks walking on gray concrete pavement during daytime

ที่มาภาพ note thanun

เด็กญี่ปุ่นเดินไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เด็กเกือบทั้งหมดเดินไปโรงเรียน มีรายงานว่ามีนักเรียนไม่ถึง 2% ที่นั่งรถบัสไปโรงเรียน (Saferoutespartnership , 2554) เนื่องจากเป็นประเทศที่มีสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมืองมีความปลอดภัยตั้งแต่ คุณภาพทางเท้า จุดข้ามถนน และส่วนหนึ่งคือญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ออกนโยบายเพื่อการเดินไปโรงเรียนมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1953 ด้วยการออกกฎหมายว่า จะต้องมีโรงเรียนประถมในระยะไม่เกิน 4 กิโลเมตร และโรงเรียนมัธยม (junior high) ในระยะ 6 กิโลเมตร จากบ้านของเด็ก

ในทางปฏิบัติ ญี่ปุ่นจะมีการทำงานร่วมกันของสถาบันการศึกษาและชุมชน โดยมีการกำหนดแผนที่ย่านและเส้นทางแนะนำจากสมาคมผู้ปกครอง (National Parent Teacher Association, PTA) โดยออกเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับการเดินไปโรงเรียนและนอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับเมืองเพื่อสร้างเส้นทางที่ปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียน อีกทั้งยังขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่วัยเกษียณคอยสังเกตการณ์และเป็นสายตาเฝ้าระวัง (Eyes on street) ให้แก่เด็กในการเดินเท้าไปโรงเรียน และเด็กๆ สามารถขอความช่วยเหลือได้เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงภัยอันตราย บางโรงเรียนจะไปขอจัดพื้นที่เฉพาะเพื่อปิดการจราจรในช่วงเวลาที่เด็กๆ เดินไปหรือกลับจากโรงเรียน

ไม่เพียงแต่การมีทางเดินที่ปลอดภัย แต่โรงเรียนมักจะมีกิจกรรมหรือวิชาเรียนให้เด็กๆ ได้ออกจากรั้วโรงเรียนมาสำรวจ ทำความรู้จักกับละแวกของตน ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสถานศึกษาในคราวเดียวกัน กิจกรรมเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กรู้จักสถานที่ แต่ยังรวมถึงการรู้จักผู้คนในชุมชน สร้างความรู้สึกผูกพัน ความรู้สึกเป็นเจ้าของ และเกิดความสัมพันธ์กับคนในชุมชนไปในตัว สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในโอกาสที่สามารถทำให้ย่านปลอดภัยขึ้นได้

เมื่อย้อนกลับมามองที่กรุงเทพฯ โรงเรียนใกล้บ้านยังมีอุปสรรคในการสร้างย่านที่ปลอดภัยอย่างไรบ้าง?

อันที่จริงแล้ว กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่มีโรงเรียนใกล้บ้านเช่นกัน แต่ด้วยค่านิยมที่ผู้ปกครองอยากจะส่งลูกหลานเข้าไปศึกษาในโรงเรียนใหญ่ ดี และมีชื่อเสียง ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ใกล้บ้านสำหรับใครหลายคน ซึ่งสาเหตุของปัญหานี้ ก็มีต้นตอจากความไม่เท่าเทียมกันของสถานศึกษา โดยเฉพาะการจัดงบประมาณและบุคลากร ที่ส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรดี ๆ ให้กับเด็ก รวมถึงโอกาสทางการศึกษาที่เด็กจะได้รับ ยิ่งกว่านั้นหากโรงเรียนนั้นยังไม่สามารถหานักเรียนมาเพิ่มได้ก็อาจถูกสั่งให้ยุบทิ้งไปก็ได้ด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่า นอกจากปัญหาเรื่องค่านิยม ยังมีเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้างจากนโยบายภาครัฐซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย หากโรงเรียนใกล้บ้านมีมาตรฐานการเรียนการสอนใกล้เคียงกันก็จะส่งเสริมให้ผู้ปกครองอยากส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนใกล้บ้านมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หลักสูตรหรือกิจกรรมการเรียนการสอนที่ยังไม่ความเชื่อมโยงหรือเอื้อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับย่านหรือชุมชนโดยรอบเท่าที่ควร ก็อาจจะทำให้เด็กไม่รู้สึกผูกพันหรือรู้สึกเป็นเจ้าของกับย่านที่สถานศึกษาของตนเองตั้งอยู่

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

Walking to School in Japan and Childhood Obesity Prevention: New Lessons From an Old Policy

SRTS Lessons and Inspirations from Japan

ผู้ปกครองส่วนใหญ่เน้น ‘ชื่อเสียงโรงเรียน’ ส่งลูกสอบเข้าเรียน

‘30 นโยบายเรียนดี’ ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ปักธงลดความเหลื่อมล้ำ ลดภาระครู-ผู้ปกครอง ปั้นโรงเรียนคุณภาพ

แนวทางการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก


Contributor