26/06/2023
Public Realm
แรงงานนอกระบบกับเมืองเป็นของคู่กัน เมืองยิ่งใหญ่แรงงานยิ่งเยอะ
ธนาวุฒิ ดวงมาลัย
กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่โตเดียวของประเทศไทย และแน่นอนว่าสิ่งที่มีมากตามการเติบโตของเมืองคือ “แรงงาน” ที่เปรียบเสมือนได้กับเหล่ามดงานที่คอยทำงานหล่อเลี้ยงเมือง เพื่อให้เศรษฐกิจ และสังคมภายในเมืองเติบโตยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานนอกระบบ จากผลการสำรวจของ WIEGO พบว่าไทยมีการจ้างงานนอกระบบมากกว่าครึ่ง สูงถึงร้อยละ 55 ของการจ้างงานทั้งหมด และกรุงเทพฯ มีการจ้างงานนอกระบบมากถึงร้อยละ 28 ของการจ้างงานภายในเมือง
จากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ผันเปลี่ยนไป การที่หลาย ๆ คนเริ่มริเริ่มหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น หรือกล่าวโดยอีกนัยคือมีการทำงานประเภท “ฟรีแลนซ์ (Freelance)” กันมากขึ้น และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแนวโน้มจำนวนแรงงานนอกระบบยังสูงกว่าแรงงานในระบบ จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564
The Urbanis อยากเสนอถึงเรื่องราวของแรงงานนอกระบบกับโอกาส และความผันผวนภายในเมือง แนวคิด VACU และ BANI มีส่วนสำคัญมากน้อยเพียงใดสำหรับความผันผวนที่เกิดขึ้น
ใครคือแรงงานนอกระบบ
สำหรับการให้นิยามแรงงานนอกระบบนั้น ก็มีหลากหลายแล้วแต่จะนิยามหรือการใช้ความจำกัดความ เนื่องจากแต่ละความหมายหรือแต่ละคำจำกัดความย่อมมีความแตกต่างในบริบทของตัวมันเอง สำหรับบทความนี้ใช้การนิยามตามสำงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งกล่าวไว้ว่า “แรงงานนอกระบบ คือผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นผู้ที่ทำงานส่วนตัวโดยจะมีลูกจ้างหรือไม่ก็ได้ หรือลูกจ้างที่ไม่มีประกันสังคมหรือสวัสดิการพนักงานของรัฐ” (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2563)
ดังนั้นแล้ว หากถามว่าใครคือแรงงานนอกระบบ ถ้าอ้างอิงตามความหมายในข้างต้นคงมีกลุ่มอาชีพไม่น้อยที่ตรงตามความหมายที่ได้กล่าวมา อาทิ ผู้ประกอบการร้านค้าหาบเร่แผงลอย คนทำธุรกิจส่วนตัวบางกลุ่ม วินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง หรือแม้กระทั่งกลุ่มอาชีพฟรีแลนซ์ทำงานที่บ้านหรือรับงานเป็นครั้งคร่าว เป็นต้น ดังที่ยกตัวอย่างมาอาจเป็นเพียงบางส่วน เพื่อให้พอเห็นภาพและเข้าใจถึงความหมายมากขึ้น
แรงงานนอกระบบ เมืองใหญ่ และโอกาสในการแข่งขัน
อย่างที่รู้กันดีว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดียวของไทยที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เมืองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงเหล่าสาธารณูปโภคและสาธารณูปการภายในเมืองที่อำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้อยู่อาศัย และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาจากเจริญก้าวหน้าของเมืองคือประชากร เมืองยิ่งโตประชากรยิ่งเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจที่เติบโตย่อมดึงดูดแรงงานต่างจากถิ่นให้เข้ามาทำงานภายในเมืองมากขึ้นด้วยเช่นกัน
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีประชากรประมาณ 5.4 ล้านคน โดยส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นประชากรในวัยแรงงาน มากถึงร้อยละ 54 ของประชากรทั้งหมด (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2564) แน่นอนว่าการแข่งขันในตลาดแรงงานย่อมสูงตาม การพัฒนาศักยภาพของตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการหางานทำในเมืองใหญ่อย่างเช่นกรุงเทพฯ
เพื่อหาหนทางหรือแนวทางในการเอาตัวรอดภายในเมือง หลาย ๆ คนมองหาโอกาสหรือแนวทางใหม่ ๆ ในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ เพื่อให้ประทังชีวิตและรอดพ้นสมรภูมิการแข่งขันในตลาดแรงงานนี้ไปให้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ไม่ได้มีลักษณะการทำงานแบบประจำหรือเป็นกิจลักษณะ หลายคนต้องยอมทำงานใช้แรงงานเพื่อแลกกับเงินรายวัน บางคนเลือกที่จะทำงานแบบอิสระไม่ตายตัว ไม่กำหนดสถานที่ทำงานที่ชัดเจน ทำงานจบเป็นครั้ง ๆ ตามการว่าจ้าง หรือที่เราเรียกกันว่าทำงานแบบฟรีแลนซ์ (Freelance)
ดังนั้นแล้ว สำหรับแรงงานนอกระบบในเมืองใหญ่ถือเป็นเรื่องท้าทาย ทั้งการแข่งขันกันเองในสายงาน หรือการหาช่องทางใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้ รวมไปถึงโอกาสใหม่ที่จะเข้ามา และแน่นอนว่าสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้นคงเป็นเรื่องของความมั่นคงทางการเงิน และสวัสดิการที่ขาดหายไปจากการเป็นแรงงานนอกระบบ
ความผันผวนของแรงงานนอกระบบ
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า หากย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2563 เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนไม่อาจจะคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสูงต่อระบบเศรษฐกิจ หลายประเทศต้องปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาด และแน่นอนว่าเศรษฐกิจภายในประเทศก็ต้องหยุดชะงักไปด้วยเช่นกัน
ด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขี้น กลุ่มแรงงานนอกระบบ กลับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีความมั่นคงทางการเงินที่น้อย รวมไปถึงความไม่แน่นอนและผันผวนในอาชีพ ทำให้หลายกิจการต้องบอกเลิกลูกจ้าง หลายกิจการต้องปิดตัว ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นกลายเป็นคนว่างงานตาม ๆ กันไป
แต่ทว่า ในความโชคร้ายกลับพบเจอความความโชคดี หลายกิจการเริ่มมีการปรับตัว หรือการเกิดขึ้นของธุรกิจแนวใหม่ หลาย ๆ คน เริ่มนิยมกลับไปทำงานที่บ้านแทนการเข้าออฟฟิศ หรือบางคนปรับเปลี่ยนการทำงานบนแฟลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาชีพรับจ้างออกแบบกราฟิก กลุ่มอาชีพด้านสถาปัตยกรรม หรือกลุ่มอาชีพดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง เป็นต้น โดยลักษณะการทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้จะทำงานตามการว่าจ้างงานเป็นครั้งคราว โดยไม่มีไม่ผูกขาดในการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของแรงงานนอกระบบในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา จะสูงมากแค่ไหนก็ตาม หลายคนก็ยังคงเลือกที่อยู่ในเป็นแรงงานนอกระบบตามเดิม ด้วยลักษณะอาชีพที่ดำเนิน ความอิสระที่ได้รับ รวมไปถึงความสบายใจของตนเอง ถึงแม้จะตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนก็ตาม
ที่มาภาพ https://blog.mercadoe.com/en/o-que-e-o-mundo-bani/
VACU และ BANI แนวคิดใหม่กับการพัฒนาระบบแรงงาน
ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน ได้มีการอธิบายและให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นโลกแห่ง VUCA (2565) กล่าวคือ ความผันผวน ยากจะคาดเดา มีความซับซ้อนสูง และคลุมเครือเกินกว่าจะอธิบายได้ แต่ในปี 2566 ได้มีการให้คำจำกัดความใหม่อย่าง BANI กล่าวคือ เป็นคำที่บ่งบอกมากกว่าลักษณะของ “สถานการณ์” (ผันผวน,ไม่แน่นอน,ซับซ้อน,คลุมเครือ) แต่เป็นการมองไปถึง ผลกระทบด้าน “อารมณ์ของคน” ด้วย เช่น ความกังวล, ความหดหู่, ความสับสน เป็นต้น
โดยแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่นี้ถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าสถานการณ์ของโลกไม่ได้เป็นเส้นตรง การใช้แผนงานต่าง ๆ ที่ตายตัวมักจะเป็นอุปสรรคของธุรกิจ บริษัทที่ไม่คิดค้น และพึ่งพาแต่วิธีการเดิม ๆ ที่เคยทำมามักจะพบว่าตัวเองตามหลังคู่แข่ง และไม่สามารถปรับตัวได้เร็วพอกับการเปลี่ยนแปลง
เช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบ สิ่งที่แรงงานนอกระบบต้องพบเจอคือความผันผวน ความไม่แน่นอน ทั้งในด้านของอาชีพ การเงินที่ไม่คงที่ รวมไปถึงการจ้างงานที่ไม่มีความแน่นอนในบางครั้ง ดังนั้นแล้วการหาหลักประกันอะไรสักอย่างเพื่อเป็นหลักยึดไว้ในโลกที่ผันผวนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ และแน่นอนว่าเสริมสร้างขีดความสามารถ ศักยภาพในตนเอง จะเป็นอีกหนีงเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันในโลกของการแข่งขันด้านเศรษฐกิจที่สูงเฉกเช่นปัจจุบัน
ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ หรือแรงงานนอกระบบ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองในยุคปัจจุบัน การเสริมสร้างขีดความสามารถให้ตนเอง หรือการพัฒนาศักยภาพในตัวเองย่อมเป็นสิ่งสำคัญฃ เช่นเดียวกับความมั่นคงในชีวิตบนฐานเศรษฐกิจที่มีการสั่นไหวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นแรงงานประเภทไหน ก็ควรที่จะได้รับหลักประกันความมั่นคงไม่ต่างกัน ในเมื่อทุกฝ่ายล้วนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมือง การมีนโยบายที่ดีจากรัฐก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่มาข้อมูล
What is the BANI world and how can it affect your business?
A educação em um cenário de mundo VUCA/BANI