23/06/2023
Public Realm

ESPACE CANIN สวนเพื่อสุขภาวะน้องหมา

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


กลุ่มผู้ใช้งานสวนสาธารณะในเมืองปารีสให้ความสำคัญกับนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว ไม่เพียงแต่เรื่องความเพียงพอต่อความต้องการของประชากรกว่า 2.1 ล้านคน แต่ให้เพียงพอสำหรับประชากรน้องหมา 200,000 ตัวด้วย

บางคนเวลาเลือกอะพาร์ตเมนต์ จะมองหาที่ที่สามารถพาน้องหมาไปเดินเล่นในสวนใกล้บ้านได้ด้วยเพราะว่าสงสารที่น้องหมาของเธอต้องเดินเล่นบนทางเท้าแข็งๆ เท่านั้น

ไม่ใช่แค่คน แต่น้องหมาก็ต้องการพื้นที่สีเขียว หญ้า ต้นไม้ ให้วิ่งเล่น ดมอะไรเพลินๆ รวมทั้งต้องการ พื้นที่สำหรับพบปะและวิ่งเล่นกับหมาตัวอื่นๆ

ในอดีต สวนสาธารณะปารีสห้ามน้องหมาเข้า แต่ในปัจจุบันสวนส่วนใหญ่เริ่มอนุญาตให้น้องหมาเข้าได้ แต่ต้องมีเจ้าของจูง และห้ามเข้าไปเล่นในพื้นที่ที่มีความเปราะบาง เช่น Biodiversity Space แต่กระนั้น ก็ยังไม่พอใจเจ้าของ เพราะน้องหมาต้องการพื้นที่สำหรับเล่นกับน้องหมาตัวอื่นๆ ได้อย่างอิสระ เมืองปารีสจึงออกแบบ Espace Canin (Dog Space) หรือ “สนามหมาเล่น” ที่เจ้าของสามารถปล่อยน้องหมาให้วิ่งเล่นได้

Square Jacques Antoine เขต 14

เช่น สวน Square Jacques Antoine เขต 14 หนึ่งในสนามหมาเล่นโดยไม่ต้องมีสายจูง สวนนี้ตั้งอยู่ระหว่างสวนใหญ่ 3 สวน คือ Luxembourg, Montsouris, Plantes และสุสาน Montparnasse จากที่ได้เข้ามานั่งเล่นประมาณชั่วโมง เห็นเจ้าของพาน้องหมามาเดินเล่น ดูเหมือนเจ้าของไม่รู้จักกัน แต่สุนัขรู้จักกัน วิ่งเล่นกันใหญ่ ตัวที่เจ้าของกำลังจูงเดินเข้ามาในสวนจะดีด ลิงโลด และคึกมาก

จากแผนที่ด้านบน จะเห็นว่าปารีสเขียวมากหากมองด้วยสายตาพวกเรา แต่จริงๆ แล้วปารีสยังติดอันดับเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่าเมืองยุโรปอื่นๆ เช่น ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม หรือเบอร์ลิน นี่จึงเป็นสิ่งที่นายกเทศมนตรีกรุงปารีสให้ความสำคัญมาก เพื่อให้ได้ตามเป้าในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 50% ของพื้นผิวเมืองในปี ค.ศ. 2030 กลยุทธ์ที่เมืองปารีสใช้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวคือ (1) ที่ดินภาครัฐ เช่น พื้นที่หน้าอาคารหรือภายในอาคารสาธารณะต่างๆ (2) ริมถนน (3) ริมน้ำ และ (4) ส่วนของอาคาร เช่น ผนัง หลังคา ซึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมมากๆ คือ พื้นที่เอกชน โดยมีการเปลี่ยนพื้นที่มาเป็นสวนผักชุมชน ที่มีการทำ สัญญาในการใช้ที่ดินเป็นการชั่วคราวเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


Contributor