19/06/2023
Public Realm

พื้นที่สุขภาวะ: กับการเติมเต็มชีวิตผู้สูงอายุ

ธนธรณ์ คล้ายจินดา
 


ทุกคนเคยสังเกตกันไหมว่าทำไมละแวกบ้าน และชุมชนของเราถึงไม่มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าหากเรามีพื้นที่เหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้คนมีความแข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจไม่มากก็น้อย

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถไปออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมได้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยปัจจัยที่หลากหลายและแตกต่างกันไป เช่น ไม่มีเวลา สวนสาธารณะอยู่ไกลจากที่พักอาศัย หรือถ้าจะออกกำลังกายที่บ้านก็มีพื้นที่ที่จำกัด โดยเฉพาะหากเป็นผู้สูงอายุ การที่จะให้ไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะยิ่งเป็นเรื่องที่ยาก ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่ได้พร้อมและปัจจัยอื่น ๆ

ทั้งนี้ จากข้อมูลบริการสถิติข้อมูล กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย พบว่า ในปี 2565 จำนวนผู้สูง มีจำนวน 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 อยู่ 0.5% แสดงให้เห็นว่าในอนาคตสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น เมืองควรมีพื้นที่กลางสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไร ? ที่จะสามารถเชื่อมโยงหรือรองรับกับกลุ่มคนสูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไม่เหงาหงอย

บทความนี้จะพาทุกท่านส่อง 3 เมือง ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่มีพื้นที่สุขภาวะที่ดี ที่ส่งเสริมการสร้างและพัฒนาสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคม ที่นอกจากจะส่งเสริมผู้สูงอายุสุขภาพกายแข็งแรงแล้วนั้น ยังส่งเสริมมิติด้านจิตใจ สติปัญญา และทางสังคม

โกรนิงเก้น: เมืองที่ผูกมิตรกับสิ่งแวดล้อม

boat on river near green trees and buildings during daytime

ที่มาภาพ Rick van Houten

Groningen เป็นเมืองที่มีสุขภาพดีที่สุดในเนเธอร์แลนด์ Arcadis อธิบายไว้ใน Gezonde Stad Index หรือดัชนีเมืองเพื่อสุขภาพประจำปี 2565 (The National Institute for Public Health and Environment (RIVM)) โดยใช้เกณฑ์ในการประเมินด้วยกัน 5 เกณฑ์ ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่สีเขียว ความเป็นมิตรกับจักรยาน คุณภาพอากาศ ความรู้สึกปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัย และการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเมือง Groningen ได้มีการวางแผนเชิงพื้นที่เพื่อดึงดูดให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ปั่นจักรยานแทนการขับรถ โดยมีการสร้างทางหลวงสำหรับปั่นจักรยาน เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางทั่วเมืองโดยที่ไม่ต้องรอรถหรือหยุดรอสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้การที่ผู้คนใน Groningen นิยมที่จะปั่นจักรยานกันมาก ก็จะส่งผลให้เมืองมีสภาพอากาศที่ดี ผู้คนในเมืองก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพจิตที่ดี และมีอายุที่ยืนยาว

สิงคโปร์: เมืองที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ

Marina Bay Sands, Singapore

ที่มาภาพ Meriç Dağlı

แนวคิดเมืองเพื่อสุขภาพที่พัฒนาโดยบริษัทวิศวกรรม Witteveen+Bos และสถาปนิก ZJA มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมปัจจัยที่กำหนดสุขภาพ โดยปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ คุณภาพอากาศ มลพิษทางเสียง ความปลอดภัย แรงบันดาลใจ ความสุข วิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง และอื่นๆ

เมืองเพื่อสุขภาพของสิงคโปร์ เป็นการใช้พื้นที่ใต้ดินเพื่อประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมของเมือง อาทิ การย้ายสถานที่ทำงานและแหล่งที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเมืองไปยังพื้นที่ใต้ดิน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการที่จะพัฒนาพื้นที่เหนือพื้นดินโดยการที่ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมือง ตัวอย่างเช่น การสร้างทางหลวงใต้ดิน จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ ลดมลพิษทางเสียง และการสร้างพื้นที่เหนือพื้นดินให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกาย และที่อยู่อาศัย ที่สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี

ราชบุรี: เมืองต้นแบบสุขภาวะของไทย

ที่มาภาพ https://www.hfocus.org/content/2018/09/16312

จังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 10 อย่าง ซึ่งได้แก่ลดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรา ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในหญิงตั้งครรภ์ เพิ่มการทานผักผลไม้ เพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย ลดภาวะอ้วนในเด็ก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง และการทำให้ประชาชนมีความสุข

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. ได้กล่าวว่า จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดต้นแบบของเมืองสุขภาวะที่ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ มีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ผู้คนมีความรู้ในการที่จะป้องกันโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ รวมถึงการบริการด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างตำบลต้นแบบสุขภาวะ ต่อยอดมาเป็นอำเภอต้นแบบสุขภาวะ มีเป้าหมายขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะลดการสูบบุหรี่ และลดการดื่มสุรา

ต.ดอนทราย จังหวัดราชบุรี เป็นตัวอย่างของตำบลที่มีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ มากถึง 2,738 คน ในจำนวนนี้สามารถเลิกสูบบุหรี่ตลอดชีวิตถึง 200 กว่าคน และในปี 2561 สามารถชักชวนประชาชนให้เลิกบุหรี่ได้ถึง 50 คน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของ ต.ดอนทราย คือ ความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่และ อสม. ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการลดการสูบบุหรี่ ประกอบกับการใช้ศาสตร์แพทย์แผนจีนในการนวดกดจุดช่วยให้คนอยากเลิกสูบบุหรี่ นอกจากนี้การที่ลดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรายังทำให้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ ทำให้ผู้คนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น เนื่องจากมีสุขภาพที่ดี

จาก 3 เมืองที่ได้กล่าวข้างต้น ทำให้เห็นว่าการที่จะพัฒนาพื้นที่สุขภาวะให้เป็นเมืองที่มีสุขภาวะที่ดีต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะสามารถพัฒนาให้พื้นที่สุขภาวะเป็นเมืองที่มีสุขภาวะที่ดีได้อย่างยังยืน ซึ่งไม่ใช่แค่เมืองที่มีสุขภาวะที่ดีชั่วคราว หรือเมืองที่มีพื้นที่สุขภาวะในบางจุด และถ้าเมืองมีสุขภาวะที่ดีก็จะส่งผลให้ผู้คนในเมืองนั้นมีความแข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับการสร้างเมืองสุขภาวะก็คือ การสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนในพื้นที่เพื่อให้เกิดเมืองที่เป็นสุขภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

Duhl, Leonard J. (1986), “The healthy city: its function and its future,” Health Promotion Vol.1, No.1,
pages 55-60

Why is Groningen the healthiest city in the Netherlands?

‘ราชบุรีโมเดล’ ต้นแบบเมืองสุขภาวะ

The Healthy City


Contributor