30/06/2023
Public Realm

เมือง เด็ก และพื้นที่นอกบ้าน

นริศรา ฐิติวุฒิพงศ์
 


ในยุคสมัยที่ทุกคนตื่นตัวเรื่องสิทธิ และความเท่าเทียม เข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย โอกาสของการเรียนรู้จึงมีอยู่ในทุกที่และแทบจะตลอดเวลาอย่างที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แต่เพียงในกล่องสี่เหลี่ยมที่ไม่ได้เพิ่มทักษะในทุกๆด้านของเด็กเพราะในโรงเรียนไม่สามารถสอนเด็กอย่างครอบคลุมได้ ดังนั้นการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน จะช่วยส่งเสริมต่อยอดทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่รองรับคนทุกวัย และทำให้การเรียนรู้เข้าถึงทุกคนอย่างเท่าเทียม

เพราะ “ความรู้” มาคู่ “ประสบการณ์”

การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องเกิดจากกิจกรรมทางวิชาการ แต่อาจเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน การสัมผัสสิ่งรอบตัว การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง การวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นหรือสนามกีฬา หรือการไปแหล่งเรียนรู้ต่างๆนอกบ้าน เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “การศึกษาไม่ควรจะเป็นเสื้อไซส์เดียวที่ใส่ได้สำหรับทุกคน”(Long, 2012)  ฉะนั้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนจึงเป็นการผลักดันให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในเรื่องของการลงมือทำ (active) มากกว่าการเป็นผู้รอรับ (passive) สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กเกิดทักษะในการใช้ชีวิตประจำวันได้จริง เช่น ทักษะการเข้าสังคม การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ หรือแม้แต่การได้ค้นพบตัวเอง ฉะนั้นการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยเติมเต็มให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจหรือสงสัย เปิดโลกและเปิดมุมมองต่างๆที่ทำให้เด็กๆได้เรียนรู้ผ่านสัมผัสทั้ง 6 ของตัวเอง

ความเหลื่อมล้ำของสาธารณูปการด้านการเรียนรู้ในแนวราบ

จากบทความ กรุงเทพฯ สู่การเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ (โดยนิรมล เสรีสกุล อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ และ พรรณปพร บุญแปง) ที่ว่าด้วย กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ที่อุดมไปด้วยสถานศึกษาที่หนาแน่น เต็มไปด้วยพื้นที่เรียนรู้หลากหลายรูปแบบ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสการเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยพื้นที่เรียนรู้นอกระบบและสาธารณูปการศักยภาพเพื่อการเรียนรู้อย่าง พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ร้านหนังสือ แกลเลอรีงานศิลปะ สวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว สนามเด็กเล่น อาคารสำนักงาน หรือแม้กระทั่ง สถาบันศาสนา จากการวิเคราะห์มีการกระจุกตัวบริเวณพื้นที่เมืองชั้นในเท่านั้น และค่อยๆ ลดลงตามระยะทางที่ไกลออกไปจากพื้นที่ศูนย์กลางเมือง

พื้นที่นอกบ้าน สร้างโอกาสการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ

โอกาสและการเข้าถึงทางการศึกษาในไทย แตกต่างกันไปตามกลุ่มรายได้และจังหวัดที่อยู่อาศัย ฉะนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียน ในกลุ่มที่เป็นแหล่งการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา การใช้พื้นที่สาธารณะในการผลักดันเป็นพื้นที่เรียนรู้ จะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เด็กสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกวัยที่ต้องการเรียนรู้ได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในด้านที่สนใจได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิต

กรณีศึกษาจากประเทศฟินแลนด์ โดยการเรียนรู้ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 จะเน้นไปที่ problem-based learning เด็กจะได้เรียนรู้ทฤษฎีจากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลก

นอกจากนี้ประเทศฟินแลนด์ยังใช้งบประมาณลงทุนเรื่องระบบห้องสมุดถึง 320 ล้านยูโร คิดเป็นเงินประมาณ 58 ยูโรต่อคนต่อปี ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เพราะเชื่อว่าการศึกษาและห้องสมุดเป็นทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคมและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมและความเป็นพลเมือง เเต่คำว่า “ห้องสมุด” ของฟินแลนด์ มีหนังสือเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่เท่านั้น เพราะกลยุทธ์ที่ฟินแลนด์ใช้ในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือสนใจห้องสมุดไม่ใช่เพียงเเค่หนังสือ เเต่เป็นการรวบรวมกิจกรรมและการบริการใหม่ๆ เช่น คาเฟ่ ร้านอาหาร ระเบียงสาธารณะ โรงภาพยนตร์ สตูดิโอบันทึกเสียง หรือแม้กระทั่งคาราโอเกะ

เพื่อให้ห้องสมุดช่วยเติมเต็มเรื่องสำนึกในการเป็นพลเมืองตื่นรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสมือนเป็น ‘จัตุรัสเมืองในร่ม’ (indoor town square) จุดประกายความรู้สึกกระตือรือร้น มีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ (active citizenship) ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ทุกคนตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ” (The KOMMON, 2021)

Library Oodi

ที่มาภาพ https://design.hel.fi/en/design-stories/central-library-oodi/

Bangkok Schooling ให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เเห่งการเรียนรู้

“ถ้าเราอยากเห็นปัญหาประเทศลดลงในอีกสิบปีข้างหน้าต้องเริ่มต้นที่การดูแลเด็กรุ่นใหม่ตอนนี้ให้ถูกวิธี” (ณัฐยา บุญภักดี, 2565) จากข้อมูลข้างต้น แหล่งเรียนรู้ในกรุงเทพฯ มักจะกระจุกตัวอยู่ตามแหล่งเจริญของผู้มีกำลังซื้อเท่านั้น เด็กจึงหันใช้เวลาว่างนอกห้องเรียน โดยการไปห้างสรรพสินค้า และการมีชีวิตติดมือถือและเกมส์ ซึ่งคงจะดีกว่า หากเราสามารถสร้างพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นใกล้ๆ กับบ้านของเด็กๆ หรืออยู่ในชุมชนที่เด็กสามารถเดินทางไปได้สะดวกและปลอดภัยได้

ปัจจุบัน กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีการตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่เรียนรู้มากขึ้น หลังสำรวจพบ เด็กไม่ไปแหล่งเรียนรู้ เพราะมีจำนวนน้อยและอยู่ไกลบ้าน โดย สสส. – School of Changemakers – TK Park สานพลัง 12 ภาคีต้นแบบ บ่มเพาะแนวคิดสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้สู่ทุกภาคส่วน มีการจัดโครงการนำร่องอย่าง กิจกรรม “Prototype Testing Learning Space : ทดลองไอเดียสร้างความยั่งยืนพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน” รวมถึงเปิดโปรแกรมบ่มเพาะพื้นที่เรียนรู้ (Learning Space Incubation) เพื่อบ่มเพาะองค์กรหรือโครงการที่กำลังทำงานสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ ให้มีความสามารถในการขยายผลกระทบและสร้างความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนหรือพัฒนาให้เกิดพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน สู่การกระจายตัวไปในระดับตำบล เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งด้าน เศรษฐกิจครัวเรือน วัฒนธรรม เพศวิถี ศักยภาพที่มีมาแต่กำเนิดสามารถเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้ได้ สะดวกปลอดภัยเพื่อให้ได้รับพัฒนาการตามช่วงวัยอย่างแท้จริง โดยที่จะมุ่งขับเคลื่อนการเรียนรู้โดยให้ความสำคัญของเด็กเป็นศูนย์กลาง กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ลงมือทำ ปฏิบัติการเป็นหลักและอาศัยเครื่องมือ สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนรู้แต่ละกลุ่ม (schoolofchangemakers, 2565)

ที่มาภาพ https://www.lokwannee.com/web2013/?p=440011

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน โดยมีการคิดกลยุทธ์ในการสร้างแรงจูงใจให้หลากหลายองค์กรยินดีมาร่วมมือ หาหนทางสร้างพื้นที่สาธารณะ เพื่อตอบสนองนโยบายของกรุงเทพมหานคร เช่น โครงการ Greener Bangkok Hackathon ขับเคลื่อนโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC) ร่วมกับ กทม. และภาคีพัฒนาเมือง ในการมุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงได้ภายในระยะ เวลา 15 นาที เป็นการเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพและสามารถนำมาขยายผลปรับใช้ได้ทั่วทั้งกรุงเทพฯ โดยจะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวพื้นที่เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสู่การเป็นมหานครสีเขียว

หรือแม้เเต่แนวคิด Win Win Solution ของ we!park ที่ทำให้ทุกภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน จนถึงประชาชน ได้รับผลประโยชน์โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อช่วยกันผลักดันสร้างพื้นที่ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตในเมืองดีขึ้นเช่น โครงการพัฒนาพื้นที่รกร้างจนกลายเป็นลานกีฬาพัฒน์ เป็นลานกีฬาที่ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกเป็นเจ้าของ เพราะตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนจริงๆ เมื่อเข้ามาใช้ เขาก็จะช่วยกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องสู่ความยั่งยืนในระยะยาว

ดังนั้นพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ ควรได้รับการส่งเสริม และผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะทำให้เด็กได้ใช้เวลาว่าง “อย่างสร้างสรรค์” สู่การเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

Learning Neighborhood แหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน หลักสูตรชีวิต ประสบการณ์นอกห้องเรียน

ห้องสมุดฟินแลนด์ สะท้อนฐานคิดการศึกษาและประชาธิปไตย

สร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ที่ไม่ต้องอยู่แค่…ในห้องเรียน

เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง

Positive Learning : ถอดบทเรียนแห่งความสุข ต้นแบบการศึกษาจากฟินแลนด์

อยากชวนเธอมาเป็น “เจ้าของกิจการพื้นที่สร้างสรรค์”

Worldschooling ให้โลกเป็นโรงเรียน ทำความรู้จักการเรียนนอกห้องเรียนที่มีโลกทั้งใบเป็นแหล่งเรียนรู้

กรุงเทพฯ สู่การเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้

เพราะการเรียนเป็นเรื่องสนุก คนฟินแลนด์เลยชอบไปโรงเรียน

ตามไปดู City Blossoms ต้นแบบ “แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน”

Library Oodi ห้องนั่งเล่นขนาดยักษ์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยหนังสือของคนฟินแลนด์

‘พื้นที่สาธารณะใหม่ในสายตาเยาวชน’ ความเป็นไปได้ของเมืองในฝันที่ทั่วถึงและเท่าเทียม

schoolofchangemakers

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor