มหานครซอยตัน
01/09/2020
เมื่อสิ้นปี 2018 ที่ผ่านมาคุณเสาวนิธิ อยู่โพธิ์ ได้ทำการศึกษาส่วนตัวเพื่อไขข้อสังเกตของตนเรื่องซอยตันของกรุงเทพมหานคร เขาพบว่ากรุงเทพฯมีถนนที่เป็นซอยตันกว่า 37% ของความยาวถนนทั้งหมดตามภาพที่เขาเผยแพร่ ทั้งนี้ถึงแม้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์การพัฒนาเมืองผ่านการตัดถนน สร้างความเป็น superblock เป็นความรู้ที่มีมานานแล้วในวงการการวางแผนและพัฒนาเมือง แต่การศึกษาดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการจุดประกายความสนใจให้สังคมโดยกว้างหันมาเห็นความสำคัญของลักษณะโครงถนนแบบก้างปลา หรือที่นักผังเมืองมักใช้คำว่า cul-de-sacs ที่มีส่วนก่อให้เกิดการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯมากขึ้น ถนน cul-de-sacs เป็นศัพท์จากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่าก้นถุง หมายถึงซอยตันตามผังการออกแบบชานเมืองในยุคต้น 1920’s ซึ่งในบทความนี้จะเรียกว่าเป็นแบบก้างปลาเนื่องจากถนนในกรุงเทพฯ ส่วนที่เป็น cul-de-sacs มักเป็นถนนหลักที่ตรงและมีซอยตรงที่เชื่อมเข้าแต่ตัน ลักษณะแบบก้างปลาจึงน่าจะมีความตรงไปตรงมากับลักษณะของโครงถนนในกรุงเทพฯมากกว่า [1] พัฒนาการของ มหานครซอยตัน โครงข่ายถนนดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยที่กรุงเทพฯกำลังเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เมืองจึงเริ่มขยายตัวเข้าสู่พื้นที่ดินในแถบชานเมือง ซึ่งเดิมทีเป็นที่ดินที่มักมีแปลงขนาดใหญ่สำหรับการเกษตร โดยที่รัฐเป็นผู้ตัดถนนเส้นหลักนำร่องการพัฒนาไปก่อน แม้แผนการพัฒนาของรัฐจะมีความต้องการการตัดถนนแบบเครือข่ายที่มีจุดเชื่อมต่อและทางเลือกมากมาย แต่เนื่องจากปัญหาการเวนคืนที่ดินและข้อจำกัดด้านงบประมาณและอื่นๆ รัฐจึงทำตามแผนได้อย่างกระท่อนกระแท่น ถนนเส้นรองที่มารองรับการเข้าถึงถนนเส้นหลักจึงมักถูกสร้างด้วยเจ้าของแปลงที่ดิน เพื่อสร้างการเข้าถึงและรองรับการแบ่งแปลงที่ดินให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งแปลงที่เล็กลงดังกล่าวมักถูกจัดสรรให้ตอบรับกับความต้องการด้านที่อยู่อาศัยและกิจกรรมคนเมืองอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นมาจากการเติบโตของเนื้อเมือง [2] ประเด็นสำคัญของโครงถนนก้างปลา ที่สำคัญก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของประสิทธิภาพในการรองรับความหนาแน่นของการเดินทางในเมือง หากเราเทียบกับโครงถนนที่ตัดเป็นตาข่ายแบบในย่านเมืองเก่า ย่านคูเมือง หรือโครงถนนแบบตารางในยุคโมเดิร์น เราจะเห็นได้ว่าเรามีเส้นทางให้เลือกใช้ในการไปยังสถานที่หนึ่งๆ มากกว่าการมีโครงถนนแบบก้างปลา เมืองก้างปลากับข้อจำกัดการเดินทาง หากจะยกตัวอย่างให้ชัดเจนมากขึ้น เรามาลองนึกถึงตัวเลือกต่างๆ ในการเดินทางทุกเช้าจากบ้านของเราแต่ละคนไปยังที่ทำงานหรือโรงเรียน ฉันเชื่อว่าหลายคนคงมีทางเลือกอยู่เพียง 3-5 ทางเท่านั้น […]