01/09/2020
Insight

มองย่านผ่านตลาด : ศูนย์รวมของเมืองและบทบาทที่เปลี่ยนไป

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


จากบทความครั้งที่แล้วเรื่อง ตลาด แหล่งอาหารและพื้นที่ชีวิตของเมือง เราเริ่มเห็นว่าในหลายๆ พื้นที่ของกรุงเทพฯ ตลาดและชุมชนเป็นของคู่กันในภาคต่อของเรื่องตลาดนี้ ทางทีม UddC Urban Insights ร่วมกับโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 จึงอยากมองความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับตลาดให้ลึกมากขึ้นกว่าเดิมว่าปัจจุบันความสัมพันธ์นี้มันเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน และความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนเมืองอย่างไรบ้าง

ฉันจำได้ว่าตอนเด็กๆ ครอบครัวของฉันจะไปซื้อของที่ตลาดนัดทุกเช้าวันอาทิตย์หลังจากไปตักบาตรที่วัดใกล้บ้าน แม่จะปลุกฉันตั้งแต่ตอน 6 โมงเช้า แล้วฉันก็จะสลึมสลือนั่งรถเพื่อไปตักบาตร ทุกเช้าวันอาทิตย์พวกเราจึงจะได้กินโจ๊กหมูกับปาท่องโก๋เจ้าประจำจากตลาด บางครั้งเราก็จะเจอเพื่อนบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านที่มาตักบาตรที่วัดเดียวกัน สถานที่ซื้อของสดและกับข้าวในสมัยนั้นเป็นจุดหมายปลายทาง (destination) ของครอบครัวเรา เมื่อฉันเริ่มโตขึ้นหน่อย การซื้อกับข้าวเริ่มสลับไปมาระหว่างการไปซื้อไข่จากร้านเจ้าประจำจากตลาดสดแถวบ้าน การซื้อผลไม้และปลากับแม่ค้าที่สนิทกันในตลาดนัด และการเข้าร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อนมและเนื้อสัตว์ที่เราผ่านเป็นประจำระหว่างทางกลับบ้านจากโรงเรียน

ในมุมหนึ่ง เราจึงเริ่มเห็นว่าบทบาทของสถานที่ซื้อของสดและกับข้าวเริ่มผันตัวจากการเป็นจุดหมายปลายทางมาเป็นส่วนหนึ่งของทางที่เราเลือกผ่าน จนในปัจจุบันที่ฉันต้องซื้อกับข้าวให้ตัวเอง แม้ฉันจะเริ่มเห็นความสำคัญและสนใจตลาดแค่ไหน แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบและเหนื่อยล้า ความสะดวกมักกลายเป็นปัจจัยแรกๆ ที่ฉันคำนึงถึง แล้วหลายครั้งฉันก็ต้องเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าระหว่างเดินทางกลับบ้านแทน บทบาทของสถานที่ซื้อของสดและกับข้าวจึงกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทางผ่านเท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงของบทบาทและรูปแบบตลาดที่ผ่านมาทำให้ทางทีมงานสนใจการเปรียบเทียบความหนาแน่นระหว่างพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ซื้อของสดและกับข้าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นจากบทความเดิม กราฟด้านล่างแสดงคู่เปรียบเทียบระหว่างชุมชนและตลาดสดในพื้นที่ต่างๆ โดยนำเสนอผ่านการมองกรุงเทพฯ จากระดับพื้นราบ โดยพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่มากจะมีกราฟแท่งที่ยืดขึ้นด้านบนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ และในลักษณะเดียวกัน พื้นที่ที่มีตลาดสดอยู่มากจะมีกราฟแท่งที่ยืดลงด้านล่างมากกว่าพื้นที่อื่นๆ

การนำเสนอข้อมูลด้วยวิธีนี้ทำให้เราสามารถเข้าใจข้อมูลด้วยตาเปล่าว่าการกระจายตัวของย่านชุมชนและตลาดสดมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางคู่ขนานกัน โดยพื้นที่ไหนมีชุมชนอยู่มากก็จะมีตลาดอยู่มาก พื้นที่ไหนมีชุมชนอยู่น้อยก็จะมีตลาดอยู่น้อย เป็นของคู่กันไปโดยปริยาย ทั้งนี้ในรายละเอียดพื้นที่ย่านสวนหลวงร.9 เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนและตลาดกระจุกตัวกันสูงที่สุดในกรุงเทพฯ

แต่หากไม่มองที่พื้นที่สวนหลวงร.9 ที่มีลักษณะพิเศษนั้นแล้ว พื้นที่ย่านเมืองเก่า (ริมแม่น้ำฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ) เป็นย่านที่มีชุมชนอยู่รวมกันมากที่สุดและค่อยๆ กระจายตัวเบาบางลงเมื่อออกสู่พื้นที่บริเวณชานเมืองไปตามลำดับ ในขณะเดียวกันแม้การกระจุกตัวของตลาดมีแนวโน้มใกล้เคียงกันกับชุมชน แต่ตลาดสดจะมีความหนาแน่นเป็นจุด (node) มากกว่าชุมชนที่มีลักษณะเกลี่ยกันไป ซึ่งจุดที่มีการกระจุกตัวของตลาดเหล่านั้นก็คือ ย่านพระโขนง ย่านคลองเตย และย่านวงเวียงใหญ่

ประเภทย่านต่างๆ ที่ก่อเกิดมาจากตลาดสดก็จะมีลักษณะแบบหนึ่งที่เราสามารถสัมผัสได้ คือ ย่านเหล่านั้นมักจะเป็นย่านที่ยังคงมีห้องแถวรายล้อมเพราะมันเป็นวิธีการโตในแนวดิ่งที่มาคู่กับตลาดสดในยุคนั้น ส่วนของตลาดสดที่ติดถนนก็จะมีร้านหาบเร่แผงลอยล้นออกมาบนฟุตบาท มีคนจอดรถเพื่อส่งของหรือซื้อของทำให้การจราจรอาจจะติดขัด แต่ในขณะเดียวกัน ถนนเส้นนั้นก็จะมีความคึกครื้นกว่าพื้นที่อื่นๆ คนในพื้นที่มักอยู่กันมานานเนื่องจากเขาอยู่มาตั้งแต่สมัยที่ราคาซื้อขายห้องแถวและที่ดินยังคงต่ำอยู่

ทั้งนี้ เมื่อตลาดสร้างความวุ่นวายมากขึ้นการงานอาชีพของคนที่อยู่อาศัยรุ่นหลังก็ไม่ได้ผูกพันกับตลาดสักเท่าไหร่นัก หลายต่อหลายคนจึงเลือกที่จะย้ายออกจากพื้นที่ใกล้ตลาด ในขณะเดียวกันราคาที่ดินยังคงสูงขึ้นเพราะพื้นที่ตลาดมีแรงดึงดูดให้ร้านค้าและกิจกรรมอื่นๆ เข้ามาเช่าที่แทน หลายต่อหลายครั้งเราจึงเห็นว่าชั้นล่างของตึกแถวอาจถูกปล่อยเช่าเป็นร้านค้า แต่ชั้นบนของห้องแถวเหล่านี้ที่เดิมเป็นที่อยู่อาศัย กลับกลายเป็นพื้นที่ร้างไม่ได้รับการดูแลทำให้ย่านของตลาดโดยรวมให้ความรู้สึกปอนๆ มอมๆ

ถึงแม้ตลาดจะเป็นพื้นที่ดั้งเดิมในการซื้อของสดและกับข้าวและยังคงความคึกคักอยู่ในหลายพื้นที่ แต่ความสะอาดและความสะดวกที่เป็นลักษณะพึงประสงค์พื้นฐานของตลาดกลับลดลง ทำให้เราสันนิษฐานว่าพลวัตการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีส่วนทำให้คนหลายกลุ่มหันไปหาทางเลือกในการซื้อของที่อื่นแทน

ซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นตัวเลือกสำคัญที่เข้ามาแทนที่ตลาดสด เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนเมืองที่เริ่มย้ายเข้าสู่หมู่บ้านจัดสรรและคอนโด พร้อมไปกับการครอบครองรถยนต์ส่วนตัวที่ทำให้สามารถไปไหนมาไหนได้ไกลมากขึ้น การอยู่ใกล้ตลาดจึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป ทางทีมงานจึงหันมาเปรียบเทียบความหนาแน่นระหว่างพื้นที่อยู่อาศัยในรูปแบบใหม่รวมถึงคอนโดและบ้านจัดสรรคู่กับพื้นที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มาตอบรับตามกราฟด้านล่าง โดยนำเสนอตามกราฟด้านล่างด้วยวิธีการเดียวกันกับกราฟของชุมชนและตลาดสด

จากกราฟดังกล่าว ทำให้เราเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างที่อยู่อาศัยและพื้นที่จับจ่ายซื้อของยังคงสอดคล้องกันอยู่คือ มีความหนาแน่นสูงบริเวณย่านใจกลางเมืองและย่านเศรษฐกิจของเมืองแต่ในบางพื้นที่เราเริ่มเห็นถึงความขาดแคลนในพื้นที่จับจ่ายใช้สอยที่มาไม่ทันกับการเติบโตของแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น พื้นที่ในย่านลาดกระบัง ย่านมีนบุรี และย่านหนองแขม ในอีกด้านหนึ่ง เราจึงอยากที่จะสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ดังกล่าว ในการกระจายตัวของตลาด (ทั้งตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ต) ชุมชน และความเป็นย่าน ซึ่งวิเคราะห์ผ่านแผนที่ขอบเขตย่านสมมุติโดยใช้เทคนิคการสร้างเส้นขอบเขตแบบ Voronoi ดังแผนที่ข้างล่างนี้

ทั้งนี้ เมื่อเรานำพื้นที่ทั้งหมดมารวมกันตามกราฟด้านล่างแล้ว เราจะเริ่มพบว่าลักษณะของเมืองที่มีการใช้งานอย่างผสมผสาน (mix-used) ระหว่างที่อยู่อาศัยกับตลาดและอาจรวมถึงแหล่งงานที่ไม่ถูกนำมาวิเคราะห์ในบทความชิ้นนี้ แท้จริงแล้วมีการกระจุกตัวอยู่เพียงพื้นที่ใจกลางเมืองและชานเมืองชั้นในเท่านั้น ในพื้นที่ชานเมืองชั้นนอกกลับกลายเป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนแหล่งอาหารที่สำคัญในชีวิตประจำวันไป

จากบทความเรื่อง ตลาด แหล่งอาหารและพื้นที่ชีวิตของเมืองตอนที่แล้ว กิจกรรมนอกระบบและแอพลิเคชันรับส่งอาหารและของต่างๆ ที่เข้ามากลายเป็นความปกติใหม่ของสังคมและกลายมาเป็นทางออกหนึ่งของพื้นที่เหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอพลิเคชันรับส่งอาหารที่กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญให้พวกเราสามารถเข้าถึงย่านอื่นๆ ทั้งที่เราไม่อยู่ในละแวกใกล้เคียง การเข้าถึงจึงไม่ใช่เรื่องของการอยู่ใกล้อีกต่อไป

ในขณะเดียวกัน แม้ความสัมพันธ์ระหว่างคอนโดและหมู่บ้านจัดสรรกับซุปเปอร์มาร์เก็ตจะค่อนข้างแปรผันตามกัน ที่อยู่อาศัยและพื้นที่จับจ่ายใช้สอยในรูปแบบใหม่เหล่านี้กลับไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความเป็นย่านอย่างที่เกิดขึ้นจากตลาดกับชุมชนเท่าไหร่นัก เราไม่เคยเรียกพื้นที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งเป็นย่าน ซึ่งความแตกต่างนี้คงจะเกิดขึ้นจากการที่พื้นที่การใช้งานของพื้นที่ของแต่ละโครงการถูกตัดขาดออกจากพื้นที่โดยรอบด้วยรั้วรอบขอบชิดและผนังอาคารที่ทึบตัน

การแผ่กระจายของกิจกรรมและการเชื่อมต่อระหว่างจุด (node) ของกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงจึงไม่สามารถสานต่อกันให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นย่านขึ้นมาได้ นอกจากนี้การใช้แอพลิเคชันรับส่งอาหารก็ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความเป็นย่านมากนัก เพราะผู้ส่งของเหล่านี้ต้องวิ่งรถทั่วกรุงเทพฯ เพื่อรับกับงานที่มาผ่านแอพลิเคชั่นบนมือถือ แม้เขาจะรู้ว่าร้านไหนอยู่ที่ใดบ้างแต่คงจะหายากที่คนส่งของเหล่านี้จะรู้จักชื่อผู้ขายหรือสนิทกับคนในละแวกต่างๆ

เราจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ระหว่างที่อยู่อาศัยและที่จับจ่ายซื้อของของเมืองเป็นทั้งเหตุและเป็นทั้งผลมาจากพฤติกรรมและวิถีชีวิตของคนเมืองที่ต่างกันไปตามกาลเวลา ซึ่งรวมไปถึงความเร่งรีบ วิธีการเดินทาง ทางเลือกใหม่ๆ และบทบาทที่เปลี่ยนไปของแต่ละพื้นที่

เมื่อปัจจัยความเร่งรีบในชีวิตถูกหมุนกลับให้ช้าลง เช่น คนวัยหลังเกษียณที่วิถีชีวิตอาจจะนิ่งขึ้น หรือวันว่างสำหรับคนทำงาน พื้นที่ซื้อของสดและกับข้าวจึงอาจจะกลายมาเป็นจุดหมายอีกครั้ง เป็นที่มาเดินเล่น ผ่อนคลาย หรือพบปะผู้คนแบบสบายๆ ถ้าตลาดจะยังคงผูกพันกับความเป็นย่านในบางพื้นที่ก็อาจจะเป็นเพราะเช่นนี้ เพราะมันเป็นจุดหมายของคนหน้าเดิมๆ ในพื้นที่ละแวกใกล้เคียง ทั้งยังเป็นจุดที่สร้างกิจกรรมให้กับเมืองที่สามารถกระจายตัวออกสู่ส่วนอื่นๆ ของย่านได้อย่างง่ายดาย

ในทางกลับกัน แม้ตลาดหลายแห่งจะมีสภาพที่ถูกละเลย และไม่ได้รับการดูแล หลายคนกลับเห็นเสน่ห์ของตลาดในความปอนๆ นั้นแทน บทบาทของตลาดเหล่านั้นจึงเริ่มไม่ใช่พื้นที่ประจำวันหรือประจำสัปดาห์อีกต่อไป มันอาจกลับกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับที่คนต้องการมาสัมผัสบรรยากาศเก่าๆ ให้หวนคืนมา หรือบรรยากาศแปลกใหม่ที่ตนไม่เคยสัมผัส หรือหากตลาดนั้นๆ มีร้านอาหารดัง ซึ่งคนในปัจจุบันสามารถรู้จักได้ผ่านเว็บไซต์ พื้นที่อื่นๆ ของตลาดก็อาจจะคึกคักตามมา เป็นผลพลอยได้จากการที่ร้านนั้นเป็นจุดหมายปลายทางของหลายๆ คน ช่วยเสริมสร้างและคงคุณค่าของความเป็นย่านในพื้นที่นั้นๆ ผ่านตลาดสดก็เป็นได้

อ้างอิง:
ข้อมูลเชิงพื้นที่ ตำแหน่งตลาดสด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ชุมชน บ้านเดี่ยว และอพาร์ตเมนต์ โดย Nostra Map, (2557).


Contributor