01/09/2020
Insight

ทำงานบริการเมือง : แล้วเมืองบริการคนทำงาน?

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


หากเราลองนั่งทบทวนดู คุณคิดว่าคุณใช้เวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วันไปกับอะไรบ้าง? แล้วถ้าคุณต้องเรียงลำดับการใช้เวลาระหว่างการนอน การดูแลสุขอนามัยตนเอง การกิน การทำงาน การเดินทาง และการพักผ่อน จากมากไปน้อย คุณคิดว่ากิจกรรมอะไรจะอยู่ลำดับบนสุด? การสำรวจการใช้เวลาของประชากร ที่สำนักงานสิถิติแห่งชาติจัดทำทุก 5 ปี ครั้งล่าสุดเมื่อปีพ.ศ. 2558 พบว่า คนไทยที่ทำงานในองค์กรในระบบ ได้แก่ หน่วยงานเอกชน รัฐวิสาหกิจ รัฐบาล และองค์การที่ไม่แสวงหากำไร ใช้เวลาในการทำงานโดยเฉลี่ย 8.6 ชั่วโมงต่อวัน หรือราวๆ 1/3 ของวัน อีกราวๆ 1/3 สำหรับการนอน และส่วนที่เหลือสุดท้าย มักจะถูกแบ่งย่อยไปเพื่อกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเดินทาง การกิน การพักผ่อน และการดูแลตนเอง ทั้งนี้ หากเรารวมคนทำงานในรูปแบบอื่นๆ เช่น งานก่อสร้าง งานบริการ และงานการผลิตในครัวเรือน (นอกระบบ) จำนวนชั่วโมงการทำงานของคนไทยโดยรวมก็จะอยู่ที่ราวๆ 7.1 ชั่วโมงต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของงานต่อชีวิตของพวกเราทุกคน คงไม่ใช่เพียงเพราะมันเป็นกิจกรรมที่เราใช้เวลากับมันมากเป็นอันดับต้นๆ แต่น่าจะอยู่ที่เหตุผลและความจำเป็นของพวกเราทุกคนต่อการทำงานมากกว่า

ในโลกปัจจุบัน ที่หลายอย่างถูกพ่วงกับการใช้เงินมาเป็นอัตราแลกเปลี่ยน การทำงานคงเป็นหนึ่งในวิธีการที่ทำให้เราเริ่มหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพของตน ไม่ว่าเราจะขายของ จะใช้แรงงาน หรือจะให้บริการความรู้ความสามารถด้านต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นงานทั้งสิ้นเมื่องานคือโอกาสในการสร้างรายได้และเราทุกคนล้วนต้องการรายได้เพื่อความอยู่รอดในยุคปัจจุบัน เมืองจึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญและมีแรงดึงดูดทางสังคมและเศรษฐกิจตามมา

แม้กรุงเทพฯ จะเติบโตมาพร้อมกับการขับเคลื่อนด้วยระบบอุตสาหกรรม แต่กราฟแสดงข้อมูลสัดส่วนของแรงงานในกรุงเทพฯ ระหว่างเดือนมกราคม 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2562 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยด้านบนแสดงให้เห็นว่ากลุ่มแรงงานการผลิต (สีเทา) ในกรุงเทพฯ ก็เริ่มค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง ซึ่งหากใครอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เดิมเคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมชานเมืองของกรุงเทพฯ ก็อาจรับรู้ได้ว่าอุตสาหกรรมเดิมเหล่านั้นเริ่มถูกกิจกรรมการค้าขาย แหล่งบริการและอื่นๆ เข้ามาแทนที่เพื่อรองรับการขยายตัวออกของเนื้อเมือง งานอุตสาหกรรมก็ได้โยกย้ายไปตั้งอยู่ตามจังหวัดใกล้เคียงแทน เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี อยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน แรงงานในกิจกรรมการค้าขาย (สีแดงเข้ม) ยังคงมีปริมาณเท่าๆ เดิมตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้ถึงความจำเป็นพื้นฐานของการค้าขายต่อวิถีชีวิตและความคึกคักของเมือง

ทั้งนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แบ่งประเภทของแรงงานออกเป็น 22 หมวด ตามมาตรฐาน International Standard Classification, (ISIC) ฉบับ Revision 4,2008 ขององค์การสหประชาชาติ แต่ในปัจจุบันประเภทงานและกิจกรรมการทำงานมีความซับซ้อนมากขึ้นจนทำให้เราไม่สามารถแบ่งแรงงานและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของแรงงานต่างๆ ได้ดีเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจดิจิทัลสร้างความปั่นป่วน (disruption) อย่างมากต่อเศรษฐกิจและกิจกรรมการทำงานในรูปแบบเดิมๆ ความซับซ้อนดังกล่าวมีทั้งในมุมของกรอบการทำงานในตำแหน่งหนึ่งที่ไม่จำกัดอยู่เพียงกิจกรรมในรูปแบบเดียวอีกต่อไป เรื่อยไปจนถึงมุมของการทำงานหลายตำแหน่งในคราวเดียว เช่น งานฟรีแลนซ์ การรับจ๊อบ และงานนอกระบบในรูป แบบอื่นๆ

ทางทีมงานจึงทดลองจับกลุ่มแรงงานใหม่โดยใช้ลักษณะของกิจกรรมการทำงานเป็นเกณฑ์ โดยเราได้จับกลุ่มงานที่มีลักษณะของผลงานคล้ายกัน คือ

(1) งานการผลิต/สร้าง กิจกรรมของกลุ่มนี้จะก่อให้เกิดเป็นวัตถุที่จับต้องได้ รวมถึงกลุ่มงานผลิตวัตถุดิบ กลุ่มงานผลิตสิ่งของ และกลุ่มงานสร้างอาคารและกายภาพ

(2) งานการค้าขายสินค้า กิจกรรมของกลุ่มนี้อาจจะเน้นที่การจัดหาของ สั่งผลิต เพื่อนำมาซื้อขายโดยไม่ได้สร้างสิ่งของ ผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยตนเอง และ

(3) งานบริการ กิจกรรมของกลุ่มนี้ไม่ก่อให้เกิดเป็นวัตถุที่จับต้องได้มากนัก แต่เน้นที่กระบวนการการลงมือ เป็นการบริการทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอาจเป็นงานบริการความชำนาญการ บริการความรู้ บริการแรงงาน หรืออื่นๆ ก็ได้

การแบ่งงานเป็นกลุ่มใหญ่เช่นนี้ มีผลสืบเนื่องไปยังการเปลี่ยนแปลงของงานในอนาคตที่จะเขียนถึงในบทความถัดไป คือ งานการผลิตอาจได้รับผลกระทบจากระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติต่างๆ มากกว่างานกลุ่มอื่นๆ งานด้านการค้าขายอาจมีคู่แข่งในตลาดออนไลน์ที่พ่อค้าแม่ค้าแบบเดิมมองไม่เห็น และงานบริการอาจเปลี่ยนรูปแบบไปเมื่อเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีบทบาทในสังคมมากขึ้น

จากการแบ่งกลุ่มงานดังกล่าว เราจึงเห็นว่างานบริการเป็นกลุ่มงานหลักของเมืองที่มีแรงงานอยู่ถึง 49% จากแรงงานที่ทำงานอยู่ทั้งหมดในกรุงเทพฯ ทางทีม UddC Urban Insights ร่วมกับโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 จึงตั้งใจหันมามองประเด็นของงานภาคบริการในเมืองให้มากขึ้น

ในมุมหนึ่ง การที่งานภาคบริการมีสัดส่วนสูงสุดของงานในเมืองก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากเราคิดถึงหนึ่งวันของเรามีคนที่ทำงานในภาคการบริการสักกี่คนที่เข้ามาช่วยทำให้ชีวิตของพวกเราดีขึ้น ทั้งวินมอเตอร์ไซค์ แม่บ้านบริษัท แม่บ้านที่บ้าน คนส่งเอกสาร ยามรักษาความปลอดภัย เรื่อยไปจนถึงคนที่ให้บริการความรู้ หรือความสามารถเฉพาะทางในอีกหลากหลายด้าน เช่น บริการออกแบบ บริการให้คำปรึกษาด้านบัญชีและกฎหมาย และอื่นๆ อีกมากมาย

แม้ในสังคมยุคดิจิทัลในปัจจุบันที่เรามุ่งเป้าไปที่การสร้างนวัตกรรม สร้างสรรค์ธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ แต่เมื่อคนหนึ่งคนต้องการการบริการที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมชีวิตให้สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แท้จริงแล้ว งานบริการจึงเป็นหนึ่งในงานที่สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจเมืองได้ดีที่สุด ซึ่งหนังสือ The New Geography of Jobs โดย Enrico Moretti (2013) ได้เล่าถึงประเด็นสำคัญที่งานด้านนวัตกรรม 1 งาน สามารถสร้างงานภาคบริการอื่นๆ ตามมา ทั้งในทางตรงต่อธุรกิจ เช่น งานที่ปรึกษาด้านกฎหมาย งานออกแบบ หรืองานแม่บ้านบริษัท และในทางอ้อม เช่น งานตัดผม หรืองานขับรถแท็กซี่ ได้ถึง 5 งานเลยทีเดียว

เมื่อเมืองมีนวัตกรรม มีธุรกิจใหม่ๆ โอกาสของงานในเมืองที่ตามมาก็ส่งผลพลอยได้ให้เมืองเป็นพื้นที่น่าดึงดูดผู้คนหลากหลายรูปแบบ ทั้งผู้คนจากชนบทที่ย้ายเข้าสู่เมืองเพื่อหาโอกาสหารายได้ ทั้งผู้คนจากต่างประเทศที่ย้ายเข้าสู่เมืองของเราเพื่อหางานที่น่าสนใจและนักลงทุนจากในและต่างประเทศ ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพลวัตเมืองที่ทำให้เมืองเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ เมื่อเมืองมีงาน งานก็ดึงดูดคน และเมื่อเมืองมีคนหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ฐานลูกค้าสำหรับงานใหม่ๆ ก็มากขึ้น แล้วเมืองก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ในทางกลับกัน เมืองที่ไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ หรือธุรกิจใหม่ๆ มาแทนที่อุตสาหกรรมเดิม เช่น เช่นเมืองดีทรอยต์หรือแทนที่รูปแบบธุรกิจเดิมที่ไม่ตอบรับกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปแล้ว เช่น พื้นที่เมืองเก่าในเทศบาลเมืองต่างๆ ของประเทศไทย แรงดึงดูดทางเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่เมืองเหล่านั้นก็จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อพื้นที่เหล่านั้นขาดความคึกคักขาดลูกค้า งานบริการก็จะค่อยๆ จืดจางหายไปตามๆ กัน  แล้วความเป็นเมืองก็สามารถที่จะหดตัวลงและหมดความสำคัญในตนเองได้เช่นกัน

ในทำนองนี้ ถึงแม้ธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องเน้นนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันจะมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของเมืองต่างๆ CityLab ได้ลงบทความที่ชวนคนกลับมาให้สำคัญงานสำหรับผู้เก็บรักษา (Maintainers) แทนที่จะไปให้ความสำคัญกับเพียงผู้สร้างนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว (Innovators) อีกด้วย

จากลักษณะการพึ่งพิงของงานและเมืองเช่นนี้เราจึงสามารถพูดได้ว่า นอกจากที่งานจะทำให้เราอยู่รอดแล้วงานยังมีหน้าที่บริการให้เมืองอยู่รอดอีกด้วยและที่สำคัญคืองานบริการที่ตามมาจากธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ย่อมเสริมสร้างให้เศรษฐกิจของเมืองแข็งแรงยิ่งขึ้นไป เมื่อเราเห็นความสำคัญระหว่างงานกับเมืองคำถามต่อมาที่เราควรถามคือเมืองมีบทบาทในการบริการเราในฐานะคนทำงานมากน้อยขนาดไหน

หากเราย้อนกลับไปดูการใช้เวลาในหนึ่งวันของคนกรุงเทพฯ นอกจากการพักผ่อนและการทำงานในวันปกติแล้ว เราอาจสันนิษฐานได้ว่ามีหลายคนที่ใช้เวลาส่วนมากของเวลาที่เหลือไปกับการเดินทางเพื่อไปทำงาน แต่เมื่อสถานที่ทำงานกระจุกตัวอยู่ใจกลางเมืองและย่านที่พักอาศัยกระจายตัวอยู่ในชานเมือง สิ่งที่หลายต่อหลายคนต้องประสบปัญหาก็คือความหนาแน่นของการจราจร ไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์บนทางด่วนที่ไม่ด่วน หรือแม้กระทั่งรถไฟฟ้าที่มีปริมาณผู้ใช้ล้นหลามในยามเร่งด่วนของผู้คน

อ้างอิง:
ข้อมูลเชิงพื้นที่ ตำแหน่งอาคารสำนักงาน โดย Nostra Map, (2557).
สำรวจ​​​​​​การใช้เวลาของ​ประชากร โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ, (2558).
EC_RL_009_S4 ภาวะการทำงานของประชากร จำแนกตามประเภทธุรกิจ (ISIC Rev.4) โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย, (2562).


Contributor