01/09/2020
Insight

ย่านไหน อยู่เย็นจัง แถมตังค์อยู่ครบ

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


ตลอดเดือนที่ผ่านมา แทบทุกครั้งที่เราเจอคนอื่น คำว่าร้อนมักขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาอยู่เสมอ ในขณะที่ประเทศไทยมีภูมิอากาศร้อนชื้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อุณหภูมิเฉลี่ยก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกไปจากนี้ มหาสมุทรแปซิฟิกในปีนี้มีภาวะเอลนีโญ่ ซึ่งทำให้ประเทศไทยรวมถึงประเทศต่างๆ ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแห้งและร้อนกว่าปกติ

ที่มาภาพ : NOAA Climate.gov

หลายต่อหลายหนความร้อนในประเทศไทยมีพลังสูงส่งทำให้ความคิดอยากเดิน อยากวิ่ง หรืออยากปั่นจักรยานต้องพ่ายแพ้ไปโดยปริยาย บางครั้งเมื่อเราอยากจะอาบน้ำก็ยังต้องรอให้น้ำที่ตากแดดอยู่ในแทงค์น้ำบนหลังคาบ้านหายร้อนก่อนจึงจะอาบได้ มิหนำซ้ำ อาบน้ำเสร็จแล้วก็กลับมาเหงื่อชุ่มอีกเหมือนเดิม โฆษณาการท่องเที่ยวต่างๆ ก็มักจะไม่พ้นคำโปรยว่า “หนีร้อน” เพื่อที่จะชักจูงคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศที่มีอากาศเย็นกว่าบ้านเรา และถึงแม้คำว่า ”แช่แอร์” จะฝืนธรรมชาติแค่ไหนก็ตาม มันก็เริ่มกลายเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในวิถีชีวิตคนไทย

จะว่าไป ฤดูกาลที่แพงที่สุดก็คงหนีไม่พ้นฤดูร้อน ไหนจะค่าหนีร้อนไปเที่ยวทะเลหรือเที่ยวต่างประเทศ ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่สำหรับคนที่ปกติไม่ได้ใช้ หรือค่าน้ำที่สูงขึ้นจากการเล่นน้ำสงกรานต์และการอาบน้ำที่ถี่ขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่สุดในช่วงฤดูร้อนก็คงหนีไม่พ้นค่าไฟฟ้า

กราฟโทนสีแดงด้านล่างแสดงปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนต่อเดือนของพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งรวมถึงพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี และกราฟโทนสีเขียวแสดงปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งรวมถึงจังหวัดที่เหลือในประเทศไทย โดยเส้นสีอ่อนเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าของปีพ.ศ. 2555 และเข้มขึ้นเรื่อยมาจนถึงปีพ.ศ. 2560 เราจะเห็นได้ว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเส้นสีเข้มของแต่ละปีที่จะกว้างออกเรื่อยๆ นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะลดต่ำที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม และจะสูงที่สุดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าความร้อนกับปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กันโดยตรง

เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว การติดเครื่องปรับอากาศ หรือที่เรามักเรียกกันว่าแอร์ ในบ้านเป็นเรื่องที่หาได้ยาก ส่วนมากถ้าจะติดแอร์ก็มักจะใช้สำหรับตอนนอนเท่านั้น แต่ด้วยความร้อนในปัจจุบัน แอร์จึงกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ และบ้านในเมืองต่างๆ จึงมีแอร์อยู่แทบทุกห้อง ในขณะที่การติดแอร์กลายเป็นความจำเป็นมากขึ้น แต่การเปิดแอร์หนึ่งตัวอาจใช้ไฟฟ้าสูงเป็นสิบเท่าของพัดลมเลยทีเดียว

การสำรวจของคณาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เผยแพร่ในวารสารรักษ์พลังงานในปีพ.ศ. 2559 พบว่า อุปกรณ์ในครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดก็คือแอร์ โดยการเปิดแอร์มีสัดส่วนถึง 34-59% ของรอบบิลการใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยที่บ้านในเขตของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีบ้านเรือนถึง 80% ที่มีการติดแอร์ ซึ่งมีปริมาณสูงมากเมื่อเทียบกับบ้านในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่มีเพียง 42% ที่ติดแอร์ในบ้าน

ที่ผ่านมา การศึกษาเรื่องการใช้พลังงานมักจะพบว่าการใช้พลังงานต่อคนในเมืองจะต่ำกว่าคนในชนบทเนื่องมาจากความกระชับของเมืองและประสิทธิภาพในการแบ่งปันการใช้พลังงาน แต่ในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย ถ้าหากเราปรับกราฟด้านบนให้เป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเฉลี่ยต่อคนระหว่างกฟน. กับกฟภ. ตามกราฟด้านล่างนี้แล้ว การใช้พลังงานไฟฟ้าต่อคนในเมืองกลับยังคงสูงกว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งมีทั้งเขตเมืองและเขตชนบทรวมอยู่ด้วยกัน

ข้อสังเกตนี้ตรงกับงานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่พบว่าจริงๆ แล้ว การใช้ไฟฟ้าครัวเรือนมีความแปรผันตามอุณหภูมิและรายได้ นั่นคือ ยิ่งร้อน ยิ่งรายได้สูง ยิ่งใช้ไฟฟ้ามาก ซึ่งเราสามารถสันนิษฐานต่อได้ว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าจริงๆ แล้วแปรผันตามปริมาณการใช้แอร์ที่มักจะมาพร้อมกับรายได้ที่สูงกว่าของคนเมืองอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นจากการที่เราเปิดแอร์บ่อยขึ้น ประเทศของเราในภาพรวมก็ใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นเช่นกัน โดยประเด็นสำคัญของการใช้ไฟฟ้าคือเรื่องของกำลังและวิธีการผลิต ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงพึ่งการเผาไหม้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากกว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนทางธรรมชาติ ดังนั้น นอกจากที่การเปิดแอร์จะสร้างผลกระทบกับเมืองผ่านการคายความร้อนสู่พื้นที่ภายนอกของเครื่องคอนเดนเซอร์ ดังเช่นในบทความเรื่องเมืองร้อนทำให้คนกินคนของ UddC ที่พูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำจากความร้อนแล้ว การที่เราใช้ไฟฟ้ามากขึ้นต่อครัวเรือนยังคงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการส่งเสริมภาวะโลกร้อนอีกด้วย กลายเป็นว่าการที่เราเปิดแอร์มากยิ่งขึ้น เราก็กำลังสร้างวัฏจักรที่วนเข้าหาความร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

การปรับแก้ไขคงมีทั้งในภาพใหญ่ คือ การเปลี่ยนวิธีการผลิตไฟฟ้ามาเป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังแสงอาทิตย์ พลังลม พลังน้ำ ฯลฯ ซึ่งจากกราฟด้านบน แนวโน้มการพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (สีเขียว) ก็ไปในทิศทางนั้นอยู่ แม้จะมีสัดส่วนที่น้อยมากก็ตาม แต่กับตัวเราเอง มันคงจะฝืนใจกันเกินไปถ้าจะบอกให้ทุกคนเลิกใช้แอร์ท่ามกลางอากาศที่ร้อนขนาดนี้

ทั้งนี้จากมุมของเมือง ปรากฎการณ์หนึ่งที่สังเกตเห็นได้ทั่วไป คือ การที่คนเริ่มหันมาใช้พื้นที่ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ หรือพื้นที่ติดแอร์อื่นๆ ในช่วงหน้าร้อนแทนการอยู่บ้านเพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน พฤติกรรมนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจเนื่องจากเราสามารถมองมันเป็นพฤติกรรมการแบ่งปันพื้นที่ความเย็นได้ การร่วมใช้พื้นที่แอร์ดังกล่าวย่อมหมายความว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อคนจะต่ำกว่าการที่แต่ละคนเปิดแอร์อยู่บ้านคนเดียว

แต่เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มักเป็นพื้นที่ของเอกชน ค่าไฟฟ้าที่หายไปจึงถูกผันมาเป็นค่าบริการอื่นๆ แทน เช่น ค่ากาแฟเพื่อนั่งทำงาน หรือค่าสมาชิกเพื่อเข้าพื้นที่ ทั้งนี้ รูปแบบพื้นที่ที่น่าจะไม่เสียค่าเข้า หรือเสียในปริมาณที่ต่ำมาก ก็คงจะหนีไม่พ้นพื้นที่สาธารณะ แต่คำถามต่อมา คือ พื้นที่สาธารณะที่เรามีในปัจจุบันมันตอบรับกับความต้องการคลายความร้อนของเรามากน้อยขนาดไหน

ทีมงาน UddC Urban Insight จึงลองวิเคราะห์ข้อมูล “แหล่งแช่แอร์นอกบ้าน” ทั้ง 2 ประเภทคือ ประเภทแช่แอร์นอกบ้านฟรีเมี่ยม (Freemium) ที่ยังไงๆ เราก็ต้องเสียเงินแน่นอน เช่น เหล่าบรรดาห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ พื้นที่ทำงานแบบ Co-Working Space รวมทั้งพื้นที่สาธารณะของเมืองอื่นๆ กับแหล่งแช่แอร์ฟรี (Free) ที่ถือเป็นบริการสาธารณะของเมืองที่ให้บริการแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งได้แก่ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ของรัฐ ห้องสมุด เป็นต้น

โดยพิจารณาความหนาแน่นของแหล่งเเช่แอร์แต่ละประเภทภายในกริดหกเหลี่ยม (Hexagon) ขนาด 500 เมตร ในพื้นที่กรุงมหานครและปริมณฑล ซึ่งผลก็เป็นไปตามคาดถึงความแตกต่างของแหล่งแช่แอร์นอกบ้านแบบฟรีเมี่ยมและแบบฟรีที่ค่อนข้างแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อเราพูดถึงพื้นที่เพื่อสาธารณะประโยชน์ เรามักนึกถึงพื้นที่ภายนอกอาคาร เช่น สวนสาธารณะ พื้นที่ริมน้ำ หรือพื้นที่ทางเท้า แม้พื้นที่เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเมืองและลดผลกระทบทางธรรมชาติของเมือง ทั้งยังควรที่จะถูกสนับสนุนให้มีทั้งจำนวนและประสิทธิภาพมากขึ้น แต่พื้นที่เหล่านี้ไม่สามารถตอบรับกับกิจกรรมคนเมืองภายใต้ความร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ พอเราคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นไปพร้อมๆ กับวิถีชีวิตคนเมืองที่หันมาใช้พื้นที่นอกบ้านเพื่อเป็นที่ทำงาน ที่พักผ่อน และที่เรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น จริงๆ แล้วเราน่าจะเริ่มตั้งใจขยายการตีความและการกระจายของพื้นที่สาธารณะของรัฐให้รวมถึงพื้นที่ภายในอาคารด้วย

ที่มาภาพ : ฐานข้อมูล NOSTRA, ปรับปรุงโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง
ที่มาภาพ : ฐานข้อมูล NOSTRA, ปรับปรุงโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง

หากเรายกตัวอย่างพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แท้จริงแล้ว เรามีพื้นที่สาธารณะภายในอาคารกระจายอยู่ทั่วเมือง ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดต่างๆ ตามแผนที่ด้านล่าง แต่เรามักไม่รู้ว่ามันมีอยู่และมักที่จะลืมว่ามันเป็นสิทธิของเราที่จะเข้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ในอีกด้านหนึ่ง ประสิทธิภาพและการให้บริการในพื้นที่ดังกล่าวอาจยังไม่ถูกปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต ความต้องการเชิงพื้นที่ และรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งการที่เราร่วมกันพัฒนาพื้นที่สาธารณะภายในอาคารจากทุนเดิมที่เรามีอยู่แล้วเหล่านี้ ก็น่าจะช่วยส่งเสริมให้คนเมืองที่ต้องแช่แอร์ มามีพื้นที่ในการแชร์ความเย็นร่วมกันให้มากขึ้น เป็นการสร้างสรรค์พื้นที่เหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การใช้พลังงาน และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

อ้างอิงข้อมูล
ประชากรจากการทะเบียน จำแนกตามเพศ ภาค และจังหวัด พ.ศ. 2549 – 2558 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (n.d.).
“Table 5.1-2M: Power Generation Classified by Fuel Type” โดย สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน. (2561), รายงานสถิติพลังงานประจำปี 2561.
“Table 5.3-4Y: Electricity Consumption in MEA Service Areas (Classified by Sector)” โดย สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน. (2561), รายงานสถิติพลังงานประจำปี 2561.
“Table 5.3-5Y: Electricity Consumption in PEA Service Areas (Classified by Sector)” โดย สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน. (2561), รายงานสถิติพลังงานประจำปี 2561.


Contributor