26/06/2020
Insight

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา: จิ๊กซอว์เชื่อมเมืองด้วยการเดินเท้า

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (Chao Phaya Sky Park) สวนสาธารณะลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของโลก เปิดให้สาธารณะใช้งานอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา หลังกรุงเทพมหานครดำเนินการจนประสบความสำเร็จ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน ด้วยกระบวนการออกแบบวางผังอย่างมีส่วนร่วมผ่านโครงการ “กรุงเทพฯ250” เมื่อ 5 ปีก่อน

นอกจากจะเป็นสวนลอยฟ้าสำหรับคนเดินเท้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของไทยและของโลกแล้ว สวนแห่งนี้ยังทำหน้าที่เชื่อมโครงข่ายเส้นทางการเดินเท้าสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของ 2 พระนคร คือ กรุงเทพ-กรุงธน สามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ เรื่องราว และผู้คนจากทั้ง 2 ราชธานีของไทย และอยู่ในพื้นที่เขตเมืองเก่าในปัจจุบัน

จากโครงสร้าง “สะพาน” ที่เชื่อมระหว่างอะไรบางอย่างโดยความหมายแฝงของมันแล้ว ในบริบทเมือง เราใช้สะพานสำหรับเชื่อมการสัญจร ขยายพื้นที่สำหรับการพัฒนาเมือง เชื่อมเนื้อเมืองสองฝั่งแม่น้ำ สะพานในความหมายใหม่นี้ ยังเป็นองค์ประกอบเมืองที่เติมเต็มวิถีชีวิตเมืองและเเม่น้ำ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นจุดหมายตา และเป็นแลนด์มาร์กของเมืองอีกด้วย

ทีมงาน UddC-Urban Insight จะพาทุกท่านทำความรู้จัก สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ในฐานะ “จิ๊กซอว์” ตัวสำคัญของเมืองที่เชื่อมโครงข่ายการเดินเท้า ทั้งในระดับย่านและระดับเมือง ด้วยโอกาสที่หลากหลายของเมือง จากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และแผนแม่บทในการพลิกฟื้นความมีชีวิตชีวาในแผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์

จุดเริ่มต้นสะพานเชื่อมเมือง เชื่อมการสัญจร

ประวัติศาสตร์การก่อสร้างสะพานเพื่อใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรของทั้งสองฝั่งเเม่น้ำเจ้าพระยา มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 เรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน แต่เป้าประสงค์ของการสร้างสะพานนั้นแตกต่างและมีบริบทที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของการเดินทาง ตั้งแต่การเข้ามาของระบบรางรุ่นแรก เกิดสะพานสำหรับรางรถไฟ เรื่อยมาถึงสะพานรถยนต์ และรวมถึงสะพานสำหรับคนเดินเท้าในปัจจุบัน

สะพานเชื่อมทางรถไฟ

ช่วงปลายรัชสมัย ร.6 มีการก่อสร้างสะพานพระราม 6 ถือเป็นสะพานแห่งแรกที่ทำหน้าที่เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2465 บริเวณตำบลบางซ่อน (ในเขตบางซื่อในปัจจุบัน) เพื่อเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา กระทั่งเปิดทำการในปี พ.ศ. 2470 มีประโยชน์อย่างยิ่งในด้านการขนส่ง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ และหัวเมืองทางภาคใต้อย่างมาก ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานได้ถูกระเบิดทำลายเสียหายอย่างหนัก

สะพานพระราม 6 จึงถือเป็นสะพานแห่งแรกที่ใช้เป็นโครงสร้างของเมืองเพื่อสนับสนุน และอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรของเมือง (พนิต ภู่จินดาและเปี่ยมสุขสนิท, 2562)

สะพานพระราม 6 ขณะดำเนินการก่อสร้าง
ที่มา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

สะพานเชื่อมทางรถยนต์

สะพานเชื่อมเเม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 คือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ราวปี พ.ศ.2472 และเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2475 ในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี ด้วยพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 และถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับรถยนต์แห่งแรก

สะพานพระพุทธยอดฟ้าขณะเรือรบหลวงลอดผ่าน
ที่มาสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

หลังจากนั้นก็มีการสร้างสะพานเพื่อเชื่อมต่อการสัญจรของกรุงเทพ-กรุงธน เรื่อยมาจนถึงการสร้างสะพานพระปกเกล้า เชื่อมระหว่างถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร (ฝั่งพระนคร) กับถนนประชาธิปก แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี เป็นสะพานคู่ขาไปและขากลับ สร้างเคียงข้างขนานกันกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า เนื่องจากการจราจรบริเวณนั้นถึงจุดวิกฤต รัฐบาลในสมัยนั้นจึงเห็นว่าควรมีสะพานอีกแห่งหนึ่งเพื่อช่วยระบายการจราจร โดยได้เว้นที่ช่วงกลางสะพานไว้สำหรับก่อสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินด้วย สะพานพระปกเกล้าเปิดทำการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2527

สะพานพระปกเกล้าก่อนการก่อสร้างสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
ที่มา ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง

พัฒนาการของการก่อสร้างสะพานในฐานโครงสร้างระบบคมนาคมขนส่ง ที่อำนวยความสะดวกในการข้ามไปมาด้วยรถไฟ รถยนต์ และการเดินเท้ามีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในอดีเราจะพบว่าการก่อสร้างสะพานเพื่อการเชื่อมต่อหรืออำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งนี้ เป็นไปเพื่อสนับสนุนการเดินทางหลักในสมัยนั้น นั่นคือ รถยนต์ เป็นหลัก แม้สองข้างของสะพาน จะมีทางเดินเท้าหรือทางสำหรับคนเดินด้วยก็ตาม

แผนที่การเปลี่ยนผ่านสะพานและการพัฒนาเมือง-การสัญจร
ที่มา กรมแผนที่ทหาร, หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และ ESRI Imagery

ภาพแผนที่ด้านบนแสดงให้เห็นพัฒนาการของเมืองและการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ในในช่วงก่อนและหลังการสร้างสะพานเพื่อเชื่อมเส้นทางการสัญจร ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2439 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นพัฒนาการและการเติบโตของเมือง รวมถึงเส้นทางคมนาคมขนส่งของเมืองที่เชื่อมผสานกันทั้งฝั่งกรุงเทพและกรุงธนเรื่อยมา

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
ที่มา ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง

สู่สะพานสำหรับคนเดินเท้าและจักรยาน

จากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมต่อการสัญจรทางราง ในปี 2470 ผ่านสะพานพระราม 6 และสะพานพุทธเพื่อเชื่อมต่อการสัญจรทางถนน (รถยนต์) ในปีพ.ศ. 2475 ผ่านมาอีก 88 ปี จนถึงปัจจุบันนี้ เราได้มีสะพานขา้มแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นการเชื่อมเส้นทางการสัญจรด้วยการเดินเท้าผ่าน “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” แห่งนี้

สืบเนื่องจากการสร้างสะพานพระปกเกล้าและการก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟฟ้าลาวาลิน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว สู่การพัฒนาโครงการปรับปรุงโครงสร้างทิ้งร้างดังกล่าวเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าและสะพานสำหรับคนเดินเท้า ถือเป็นการเชื่อมโครงข่ายเส้นทางการเดินเท้าจากฝั่งพระนครสู่ฝั่งธนบุรีเป็นครั้งแรก

ในรัศมี 1 กิโลเมตรของสวนลอยฟ้าเจ้าพระยานับจากปลายสะพานทั้งสองข้าง แวดล้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม ศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์ทั้งสองฝั่งรวมกว่า 200 แห่ง ด้วยเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์อันเป็นที่ตั้งของทั้งสองราชธานีทั้งกรุงเทพมหานครและกรุงธนบุรี สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาจึงช่วยเชื่อมต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนมรดกวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ที่เรียงรายทั้งสองฝั่งแม่นน้ำเจ้าพระยาได้ด้วยการเดินเท้า

แต่ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่เมืองเก่าหรือในย่านเกาะรัตนโกสินทร์เริ่มเงียบเหงา เพราะขาดกิจกรรมทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ในฝั่งตรงกันข้ามของย่านกะดีจีน-คลองสาน ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยซึ่งกำลังได้รับการขนานนามว่าเป็นพื้นที่ที่มีมรดกวัฒนธรรม 3 ศาสนา 4 ความเชื่อเรียงรายไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งมรดกวัฒนธรรมชุมชน พิพิธภัณฑ์ รวมถึงยังคงความเป็นชุมชนและอัตลักษณ์ของชาวย่านฝั่งธนเอาไว้ หากแต่เมื่อพิจารณาด้านโครงข่ายทางเดินเท้าและทางจักรยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะพบว่ายังขาดการเชื่อมต่อโครงข่ายทางเดินเท้าทางเดินริมน้ำ จักรยานตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

มากไปกว่านั้น การเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน ยังมีความยากลำบากของเส้นทางการเดินเท้าเป็นไปได้ยากยิ่ง แม้จะมีสะพานพุทธที่มีทางเดินเท้าขนาด 2 ข้างและสะพานพระปกเกล้าที่อยู่ในละแวกเดียวกันก็ตาม สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาจึงถือเป็นสะพานเชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งกรุงเทพฯและฝั่งธนบุรีเข้าด้วยกันด้วยเส้นทางการเดินเท้า ซึ่งเป็นมากกว่าสะพานข้ามแม่น้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เดินทอดน่องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ชมดวงอาทิตย์ตกดิน หรือพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของทั้งชาวฝั่งธนและฝั่งพระนคร รวมถึงจะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯและคนไทย

24 มิถุนายน 2563 วันเปิดสะพาน “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา”

หลังจากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปี ในที่สุดสวนสาธารณะข้ามแม่น้ำแห่งแรกของไทยและของโลกก็ดำเนินการประสบผลสำเร็จ และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ทำให้เส้นทางการเชื่อมต่อของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเป็นเส้นทางเชื่อมที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงเส้นทางการเดินเท้าเส้นทางการท่องเที่ยวเส้นทางการเดินทางในชีวิตประจำวันของเด็กนักเรียนจากฝั่งธนและฝั่งพระนคร รวมถึงผู้คนที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

ทีมงาน UddC-Urban Insight จะพาท่านข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาแห่งนี้ในมุมมองของนักผังเมืองและนักภูมิศาสตร์เมือง โดยใช้ข้อมูลสารสนเทศเมืองที่แสดงให้เห็นศักยภาพการเชื่อมต่อของพื้นที่ด้วยเส้นทางการเดินเท้า เรียกว่า แผนที่ GoodWalk แสดงให้ทุกท่านเห็นว่าเพียงการเชื่อมเส้นทางการเดินเท้าจาก 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้ทำให้ศักยภาพการเดินเท้าหรือการเข้าถึงการที่ส่งเสริมการเดินเท้าในชีวิตประจำวันของพื้นที่โดยรอบสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า

จาก 49 เป็น 76 คะแนน

ศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการส่งเสริมการเดินเท้าเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อสามารถสร้างการเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาในวันนี้ เป็นการเติมเต็มโครงข่ายเส้นทางการเดินเท้าทั้งจากฝั่งพระนคร ซึ่งค่อนข้างสมบูรณ์ในระบบกริด กับพื้นที่ฝั่งธนบุรีบริเวณย่านกะดีจีน-คลองสาน ซึ่งเดิมค่อนข้างเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพการเดินเท้าต่ำ หรือหมายถึงมีโครงข่ายเส้นทางการเดินเท้าที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเข้าถึงได้ยากเพราะเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงลักษณะทางสัณฐานของเมืองด้วยเป็นเมืองฐานน้ำมาก่อนและมีการเดินทางโดยทางเรือเป็นส่วนใหญ่ในอดีต ทำให้ระบบทางเดินเท้าบริเวณฝั่งคลองสานยังมีการเชื่อมต่อที่ไม่ดีนัก แม้จะมีการเชื่อมจากสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาแล้วก็ตาม

จากการวิเคราะห์ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ด้วยการวิเคราะห์โครงข่ายระบบการเดินเท้า พบว่า ถ้าคะแนนการเดินได้เพิ่มขึ้นจาก 49 คะแนนเป็น 76 คะแนนหลังมีการเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางการเดินเท้าของสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา คะแนนหลังมีการเชื่อมต่อโครงข่ายเส้นทางการเดินเท้าของสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา จะเห็นได้อย่างชัดเจนบริเวณย่านยาดีจีนคลองสานโดยเฉพาะ บริเวณตรอกดิลกจันทร์ ซึ่งอยู่บริเวณปลายสะพานฝั่งธนบุรีรวมถึงฝั่งบริเวณวัดประยุรวงศาวาส และพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำฝั่งกะดีจีนซึ่งแต่เดิมมีโครงสร้างของทางเดินริมน้ำอยู่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับฝั่งทางเดินริมน้ำคลองสานซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการพัฒนา ยังมีหลายจุดที่ขาดการเชื่อมต่อทำให้พื้นที่ริมน้ำบริเวณคลองสานยังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกมากนัก

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงโครงสร้างทิ้งร้างของรางรถไฟลาวาลิน ให้กลายเป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเดินเท้า อันจะเป็นประโยชน์และส่งเสริมให้เกิดย่านเดินเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่เขตเมืองชั้นใน หากแต่ยังต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อมและโครงสร้างอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ทางข้าม ทางม้าลาย ไฟฟ้าส่องสว่าง ซึ่งตรงตามนโยบายของกรุงเทพมหานครในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาในการพยายามปรับเปลี่ยนพื้นที่ถนนและทางเดินเท้าให้น่าเดินสะดวกสะอาดและมีความปลอดภัย

จากสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาสู่เส้นทางลัดเลาะรอบกรุง

จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวถึงการกระจุกตัวของแหล่งท่องเที่ยวและมรดกวัฒนธรรมแหล่งนันทนาการบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้าทั้งสองฝั่ง จะพบว่าสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาสามารถสร้างเส้นทางโครงข่ายการเดินเท้า สำหรับการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจรอบเกาะรัตนโกสินทร์ รวมถึงพื้นที่เมืองเก่าฝั่งธนบุรีย่านกะดีจีน-คลองสานได้อีกด้วย

ในระยะการเดินเท้า-จักรยานเพียง 1 กิโลเมตร สามารถเชื่อมต่อพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวแหล่งนันทนาการของเมืองได้มากกว่า 200 จุด เพียงลงมาจากสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาในฝั่งพระนครบริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า สามารถเชื่อมต่อไปยัง ทางเดินริมคลองโอ่งอ่าง ซึ่งปัจจุบันได้รับการปรับปรุงจากกรุงเทพฯให้มีความสวยงาม สะดวกสบายทั้งการเดินเท้าและจักรยาน กลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ท่องเที่ยวให้กับคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนภาพจำของคลองโอ่งอ่างแต่เดิมไปอย่างสิ้นเชิง

สาธารณูปโภคและนันทนาการโดยรอบสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา

การเชื่อมต่อจากเชิงสะพานพระปกเกล้าสู่พื้นที่เขตเมืองเก่าหรือในเกาะรัตนโกสินทร์ สามารถเดินลัดเลาะจากคลองโอ่งอ่างเข้าสู่พื้นที่สวนบูรพาภิรมย์ จากนั้นเดินไปตามเส้นทางคลองคูเมืองเดิมเข้าสู่ถนนพระอาทิตย์ และวกกลับเข้ามาบริเวณท่าช้างท่าเตียนท่าพระจันทร์ หรือสามารถเดินเท้าเชื่อมต่อข้ามสะพานพุทธไปฟังธนบุรีได้อีกด้วย

กรุงเทพมหานครร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง มีโครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมการเดินเท้าในชีวิตประจำวัน ในนาม “โครงการระเบียงธรรม 3 ศาสนา” เป็นความพยายามร้อยเรียงและเชื่อมต่อโครงข่ายทางเดินเท้าของฝั่งกะดีจีนและคลองสาน ซึ่งจะทำให้คะแนนการเดินได้สูงยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถเชื่อมโยงมรดกวัฒนธรรมสถานที่ท่องเที่ยว ศาสนสถาน วัดวาอาราม รวมถึงมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อาทิ วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นของชุมชนซึ่งมีความพิเศษและหลากหลาย

พื้นที่สาธารณะริมน้ำที่สามารถเข้าถึงได้ จากสะพานกรุงธน-สะพานกรุงเทพ
ที่มา โครงการริมน้ำยานาวา

นอกจากนี้ ยังมีแนวความคิดขยายพื้นที่โครงการนำร่อง “ระเบียงธรรม 3 ศาสนา” เชื่อมโยงมายังฝั่งพระนครตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตพระนครและสัมพันธวงศ์ เพื่อเชื่อมโครงข่ายเส้นทางการเดินเท้าของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มพื้นที่การเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองในโครงการริมน้ำยานนาวา เมื่อปี พ.ศ. 2558 พบว่า ตั้งแต่แนวสะพานกรุงธนถึงสะพานกรุงเทพ มีพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงริมน้ำได้เพียง 15% เท่านั้น

สวนลอยฟ้า จุดเริ่มต้นสำคัญในการเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินเท้า

แม้จะเป็นเพียงเส้นทางเดินลอยฟ้า (สวนสาธารณะ) ที่มีความยาวเพียง 280 เมตร ความกว้าง 8.5 เมตร แต่สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาโครงการเพื่อสาธารณะของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย และการให้ความสำคัญกับการเดินเท้า ส่งเสริมให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเดินได้เมืองเดินดีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ท่านใดต้องการข้อมูล โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี เพิ่มเติมสามารถติดตามได้ทาง www.goodwalk.org หรือศึกษาผ่านหนังสือที่จะพาทุกท่านเข้าสู่โลกของสองเท้า “Let’Walk พาบางกอกออกเดิน”

ที่มา
พนิต ภู่จินดา และเปี่ยมสุข สนิท. (2562). แผนผังพระนคร พ.ศ.2475. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ.
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง. (2558). โครงการริมน้ำยานนาวา. สนับสนุนโดยสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ. กรุงเทพฯ.
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง. (2562). โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี. สนับสนุนโดยสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ. กรุงเทพฯ.
นิรมล เสรีสกุล และอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้. (2562). Let’s Walk พาบางกอกออกเดิน. สนับสนุนโดยสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ. กรุงเทพฯ.


Contributor