05/06/2020
Economy

จากบาซูก้าการคลัง สู่บาซูก้าผังเมือง ข้อเสนอฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ปาริษา มูสิกะคามะ ปรีชญา นวราช ธนพร โอวาทวรวรัญญู
 


บอล 3 ลูกในเมืองหลัง COVID-19

บทความชิ้นนี้เป็นข้อเสนอเชิงออกแบบและบริหารจัดการพื้นที่เมือง โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เพื่อเน้นย้ำว่า ในเมืองกรุงเทพฯนี้ยังเป็นพื้นที่แห่งโอกาสและโอกาสนั้นมีอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมให้ทุกคน โดยเฉพาะโอกาสในการทำกินและการประกอบสัมมาอาชีพ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งคงปฎิเสธไม่ได้ว่าเราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงในความเสี่ยงสุขภาพ ความหวาดระแวงว่าจะติดโรคระบาดหรือไม่ นี่คือผลกระทบด้านด้านสาธารณสุข ตลอดจนการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิต และผลกระทบสืบเนื่องสำคัญที่ตามมาคือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในระดับปากท้องซึ่งกำลังปรากฎชัดและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงเวลาที่แน่นิ่งของเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับการการกักตัวที่ยาวนานกว่าครึ่งปี ดังนั้น จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นที่แน่ชัดว่าเรากำลังจะต้องเผชิญรวมถึงตระเตรียมวิธีการจัดการกับลูกบอล 3 ลูกที่จะตามมาหลังการผ่านพ้นไปของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในครั้งนี้ ประกอบด้วย หนึ่ง-สาธารณสุข สอง-การเงินการคลัง และสาม-ปากท้อง อาชีพ และรายได้

แม้ว่าสถานการณ์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในบ้านเราจะดีขึ้นตามลำดับ และอยู่ในอันดับต้นๆ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นที่น่าพอใจ ทำให้มีอัตราผู้ติดเชื้อต่อแสนประชากรที่ค่อนข้างน้อย แม้ว่าเราจะเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อนอกพื้นที่จีนแผ่นดินใหญ่ และนี่คือความสำเร็จขั้นที่ 1 ในมาตรการด้านสาธารณสุข

หากแต่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้ นอกเหนือไปจากการเยียวยาจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายระดับมหาภาคในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเยียวยาในระดับครัวเรือน ในมาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท และเงินเยียวยาเกษตรกร ซึ่งรวมเรียกได้ว่าเป็นมาตรการด้านการเงินการคลัง เราจะเรียกกว่าเป็น บอลลูกที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในช่วงที่ผ่านมานี้

บอลลูกที่ 3 ถือเป็นบอลลูกที่สำคัญที่สุดในช่วงต่อจากนี้ไป คือเรื่อง ปากท้อง อาชีพ รายได้ และเศรษฐกิจระดับฐานราก ที่ควรต้องเร่งพลิกฟื้น เพื่อให้พลเมืองสามารถลืมตาอ้าปาก และดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ย้อนรอยวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540

ข้อมูลสถิติเเรงงานนอกระบบของไทย จากสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับ WIEGO ซึ่งสำรวจไว้เมื่อปี 2561 พบว่า ปัจจุบัน แรงงานนอกระบบของไทยมีส่วนส่วนกว่า 55.3% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด หรือประมาณ 21.2 ล้านคน สำหรับในพื้นที่เมืองและภาคมหานครพบว่ามีแรงงานนอกระบบอยู่ถึง 42% ในจำนวนนี้ 30% เป็นแรงงานนอกภาคเกษตรกรรม หรือคือกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มำงานเป็นภาคบริการเมืองอยู่ในกรุงเทพมหานคร (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561)

กรุงเทพฯ จึงเป็นพื้นที่โอบอุ้มแรงงานนอกระบบเหล่านี้ ที่พลัดถิ่นจากพื้นที่ชนบมและเมืองขนาดเล็กในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเข้ามาหางานทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงงานนอกระบบ อาทิ คนทำงานที่บ้าน (Home-base worker) คนรับใช้ในงานบ้าน(Domestic Worker) คนขับขี่วินจักรยานยนต์รับจ้าง หางเร่แผงลอย และคนขายของ โดยรวมแล้วกว่า 1 ล้านคน

แม้ว่ากลุ่มแรงงานนอกระบบเหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ซึ่งบางคนอาจมองไม่เห็นกลไกขนาดเล็กเหล่านี้ที่คอยขับเคลื่อนฟันเฟืองเศรษฐกิจของประเทศ หากแต่กลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นกลุ่มคนที่ประสบปัญหาความผันผวนของรายได้ ชีวิตขาดความมั่นคง และมีความเปราะบางต่อความยากจน แรงงานกลุ่มนี้มักต้องทำงานหนัก แต่ได้รับผลตอบแทนจากการทำงานต่ำ แรงงานนอกระบบบางกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการจ้างงานต่อเนื่อง และบางกลุ่มยังมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น การได้รับสารเคมีอันตราย ความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน ปัญหาฝุ่น ควัน เป็นต้น (TDRI, 2563) จึงอาจเรียกได้ว่าแรงงานนอกระบบเหล่านี้ เป็ฯกลุ่มเปราะบางของเมือง ที่ต้องการการดูแลและให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อยังคงรักษาสัดส่วนคนมีงานทำเกินกว่าครึ่งหนึ่งเอาไว้ให้ได้ อันเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของระดับการพัฒนาของประเทศ

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ทั้งประเทศกำลังเปราะบางจากภาวะการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ซึ่งกระทบกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ รายเล็ก กลุ่มคนวัยทำงาน และหนีไม่พ้นคือกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นกลุ่มที่เปราะบางยกกำลังสอง ในช่วงนี้

UddC และเครือข่ายภาคีภาควิชาการ ซึ่งประกอบด้วย นักผังเมือง สถาปนิกผังเมือง นักภูมิสารสนเทศ นักสังคมวิทยาเมือง นักสังคมสงเคราะห์ จึงขอเสนอตัวอย่างแนวคิดในการพลิกฟื้นและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก อันจะเป็นแนวทางในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แสนเปราะบางนี้ โดยจะขอเล่าผ่านกรณีของกิจกรรมการค้าหาบเร่แผงลอย 

หาบเร่แผงลอย กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและปากท้องคนเมือง

การค้าข้างทาง หรือ การค้าหาบเร่แผงลอย เป็นอาชีพที่เรียกได้ว่าเกิดขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตของเมือง สำหรับในประเทศไทยนั้น เริ่มมีการขยายตัวของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยตั้งแต่ช่วงต้นและกลางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จากปัญหาการสร้างรายได้ของภาคเกษตรกรรมที่ตกต่ำผนวกกับโอกาสการสร้างงานสร้างรายได้ที่ดีกว่าในพื้นที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร (นฤมล นิราทร, 2560) จนหาบเร่แผงลอยกลายมาเป็นอาชีพและพื้นที่จับจ่ายอาหาร เครื่องใช้ของคนเมือง ทางเท้าจึงกลายเป็นพื้นที่ืทำกิน สร้างรายได้ และอาชีพให้กับผู้คนจำนวนมาก ตลอดจนหาบเร่แผงลอยได้กลายเป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญของเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศ 

อย่างไรก็ตาม หาบเร่แผงลอยเองก็เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ในช่วงการขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ นั้น เมืองขยายตัวไปอย่างไร้ทิศทาง เฉกเช่นเดียวกับการขยายตัวของหาบเร่แผงลอยที่ขาดการบริหารจัดการที่ดีและเหมาะสมกับเมือง ส่งผลให้การมีอยู่ของหาบเร่แผงลอยกลายเป็นปัญหาบนพื้นที่ข้างทางของเมือง ทั้งการเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร ความไม่เป็นระเบียบ ปัญหาคุณภาพของสินค้า รวมไปถึงสุขาภิบาลอาหาร ที่ล้วนแล้วสร้างปัญหาแก่พื้นที่สาธารณะที่คนทั้งเมืองจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แม้ว่าปัญหาจะหาบเร่แผงลอยจะปรากฎอย่างชัดเจนในประเด็นการสร้างปัญหาแก่พื้นที่สาธารณะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีอยู่ของหาบเร่แผงลอยมีความจำเป็นต่อภาพรวมเศรษฐกิจของเมืองและประเทศ เพราะฉะนั้นการสร้างสมดุลของโอกาสและปัญหาโดยการบริหารจัดการพื้นที่และกลุ่มผู้ค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันผลักดันทั้งองคาพยพ

เงื่อนไขที่มากขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

นับตั้งแต่ปี 2557 จากนโยบาย “คืนทางเท้าให้ประชาชน” นโยบายจัดระเบียบทางเท้าผ่านการควบคุมเวลาการค้าบริเวณทางเท้า ส่งผลให้หาบเร่แผงลอยหายไปจากการยกเลิกจุดผ่อนผันและผ่อนทบทวนกว่า 70% ทั่วกรุงเทพมหานคร สร้างผลกระทบให้กับผู้ค้าขายอิสระหลายราย ส่งผลให้มีการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องทวงคืนพื้นที่ทำกินจากกลุ่มผู้ค้า มีการพิจารณาถึงจุดผ่อนปรนในบางพื้นที่ และมีความพยายามที่จะจัดระเบียบเพื่อให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยสามารถกลับมาขายของได้โดยไม่สร้างปัญหาให้กับเมืองอีก 

อีกด้านหนึ่งในมุมมองของคนเดินเท้าในชีวิตประจำวัน ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากนโยบายทวงคืนทางเท้าให้ประชาชน การกลับมาของทางเท้าที่ปราศจาคแผงลอย ทางเท้าที่โล่งขึ้นปราศจากสิ่งกีดขวาง แต่ผลกระทบทราตามมาเป็นโยโย่ ลูกที่ 2 คือการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ จากการศึกษาของ Women in Informal Employment: Globalizing and Organizing-WEIGO ในปี 2018 พบว่า จากการหายไปของร้านค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ กว่า 70% นี้ทำให้กลุ่มแรงงานผู้มีรายได้น้อยมีภาระค่าครองชีพด้านค่าอาหารเพิ่งสูงขึ้นกว่า 357 บาทต่อเดือน (เทียบกับว่าแรงงานรายได้น้อยเหล่านี้ต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีก 1วันในแต่ละเดือน)

ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในการหารือและยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา หากแต่ก็ต้องมาเจอกับวิกฤตการณ์ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาเพิ่มเงื่อนไขการบริหารจัดการพื้นที่ของกลุ่มผู้ค้าหาบแร่แผงลอย กลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของการออกแบบและการบริหารจัดการพื้นที่หาบเร่แผงลอยในเมือง

อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นโอกาสในการสังคายนาปัญหาหาบเร่แผงลอยกับเมืองให้ชัดเจนและเป็นแนวทางในการจัดการปัญหาและพัฒนาในระยะยาว เพื่อสร้างสมดุลของปัญหาและโอกาส รวมถึงเตรียมความพร้อมในการตอบรับการเปลี่ยนแปลง ที่จะช่วยให้หาบเร่แผงลอยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและไม่กลับมาเป็นปัญหาของเมืองอีก

ยังคงเป็น “ทวิภพ” ของหาบเร่แผงลอยในเมือง

ทิม เครสเวลล์ (Tim Cresswell) นักวิชาการด้าน “ความคิดทางภูมิศาสตร์” (Geographical ways of thinking) หรือการศึกษาว่าด้วยการมองโลกผ่านมุมมองทางกายภาพ กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่กายภาพใดๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงเพราะมีคนหลากหลายอยู่ด้วยกัน แต่เป็นเพราะคนแต่ละกลุ่มต่างมีความเข้าใจและภาพทรงจำว่าพื้นที่นั้นๆ เป็นอย่างไรและ ควร จะเป็นอย่างไร (sense of place) ตามวิถีชีวิตการทำงานและการใช้เมืองของแต่ละบุคคลเมื่อแต่ละกลุ่มมีภาพของเมืองที่ต่างกัน ก็ย่อมมีความคิดในการจัดการพื้นที่ที่ต่างกัน ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นความขัดแย้งเรื่องหาบเร่แผงลอยก็เช่นเดียวกัน กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยก็มีภาพของเมืองแบบหนึ่ง มีความเข้าใจว่าพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ทางเท้าสามารถให้ประโยชน์ในทางการค้า กลุ่มคนเดินเท้าผู้ใช้พื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ทางเท้าในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุด ก็ย่อมมีความเข้าใจว่าพื้นที่สาธารณะในมุมมองที่เอื้อความสะดวกในการเดินมากกว่าภาพของคนกลุ่มนี้จึงเป็นไปอีกแบบ จากความเข้าใจที่ต่างกันสู่การปฏิบัติที่ขัดแย้ง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกับผู้เดินเท้าสัญจรไปมาจึงเกิดขึ้นและเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน

หาบเร่แผงลอยบริเวณซอยอารีย์ 1
หาบเร่แผงลอยบริเวณบางขุนเทียน 69

แต่ก่อนที่จะไปถึงข้อเสนอในเชิงพื้นที่ ทางทีมงาน UddC-Urban Insight อยากจะพาทุกท่านไปรู้จักหาบเร่แผงลอยในเชิงทำเลที่ตั้งของเมือง ว่าความจริงแล้วแผงลอยไม่ได้อยู่ทุกที่ในเมือง แต่มีตำแหน่งแห่งที่เฉพาะเจาะจง และตำแหน่งแห่งที่นี้เองจะทำให้เราเข้าใจความเป็นแผงลอย ความต้องการพื้นฐาน และเงื่อนไขที่จะทำให้เราจัดการประเด็นหาบเร่แผงลอยได้อย่างยั่งยืนและตรงประเด็น

ตำแหน่งแห่งที่ สัณฐานเมือง และหาบเร่แผงลอย

จากฐานข้อมูลหาบเร่แผงลอย โดยสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร ในปี 2561 ซึ่งรวบรวมและสังเคราะห์โดย UddC ผ่านโครงการ Open Data for a more Bangkok Inclusive City พบว่า มีตำแหน่งหาบเร่แผงลอย ซึ่งอยู่ในพื้นที่อนุโลมชั่วคราวก่อนหน้านี้ คือ จุดผ่อนผัน และจุดผ่อนปรน รวมกว่า 667 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร รวมจำนวนแผงค้ากว่า 19,000 แผง รวมระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร

โดยข้อมูลล่าสุดของสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร ระบุว่า มีจุดทำการค้าหาบเร่แผงลอยที่ได้รับการขยายเวลาให้ทำการค้าไปจนกว่าสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 จะคลี่คลาย จำนวน 175 จุด หรือคิดเป็น 26% ที่เหลืออีก 492 จุด ทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการยกเลิกตามนโยบายคือทางเท้าให้ประชาชน โดยดำเนินการไล่รื้อและยกเลิกจุดทำการค้ามาตั้งแต่ ปี 2557 เรื่อยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพิจารณาเชิงทำเลที่ตั้ง (Site and Situation) และการกระจายตัวทางพื้นที่ (Spatial Destribution) ของหาบเร่แผงลอย จะพบว่า มีลักษณะสำคัญทางทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถแบ่งจุดทำการค้าหาบเร่แผงลอยออกเป็น 4 ประเภท คือ 

ประเภทที่ 1 หาบเร่แผงลอยที่ตั้งอยู่ในระยะรัศมี 500 เมตร จากพื้นที่ตลาดสดหรือตลาดนัด ลักษณะเช่นนี้ แผงลอยเป็นส่วนหนึ่งของจุดหมายปลายทาง ซึ่งก็คือตลาด อันเป็นแหล่งอาหารของเมือง

ประเภทที่ 2 หาบเร่แผงลอยที่ตั้งอยู่บริเวณแหล่งงานหรือสถานศึกษา ซึ่งโดยนัยยะแล้วพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่จุดหมายปลายทาง (Urban Destination) ของการเดินทางที่เกิดขึ้นในเมือง 

ประเภทที่ 3 หาบเร่แผงลอยที่อยู่ในบริเวณโหนดของพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่สำคัญของเมือง ก่อนที่จะเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ห่างออกไปของเมือง

ประเภทที่ 4 หาบเร่แผงลอยที่อยู่ในย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่น และมีการใช้ประโยชน์อาคารแบบผสมผสาน

นอกจากนี้ เมื่อนำมาซ้อนทับกับผลการวิเคราะห์แผนที่ศักยภาพการเดินเท้าหรือแผนที่เมืองเดินได้  พบว่า กว่าร้อยละ 95% ของตำแหน่งแผงลอย ล้วนอยู่ในพื้นที่เดินได้ (Walkable Area) (พื้นที่สีเขียวในแผนที่ด้านล่างนี้และสามารถ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม www.goodwalk.org ) และลักษณะทางทำเลที่ตั้งดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างย่านเดินได้ หรือเรียกอีกหนึ่งอย่างว่าเป็นย่านละแวกกับการกระจายตัวของจุดทำการค้าหาบเร่แผงลอย โดยสามารถกำหนดเป็นหลักการความต้องการพื้นฐานด้านทำเลที่ตั้งของกิจกรรมการค้าหาบเร่แผงลอย นั่นคือ การเป็นพื้นที่ที่มีความพลุกพล่านของผู้คนและกิจกรรม นั่นหมายถึง ปริมาณการสัญจรด้วยการเดินเท้า (Foot Traffic) ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการมีปฎิสัมพันธ์ที่มีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน ดังกรณีคลาสสิกที่กล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในเรื่องของ หาบเร่แผงลอย ที่เป็นทั้ง จุดดึงดูด และ อุปสรรค ในการเดินเท้าในคราเดียวกัน 

หากขาดความเข้าใจพื้นฐานเรื่องนี้แล้ว การบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย โดยเฉพาะการเสนอให้มีการย้ายจุดทำการค้า จะไม่สมประโยชน์และไม่มีความยั่งยืน เพราะขาดลักษณะของการสัญจรอิสระ (Natural Movement) ที่จะนำพาปริมาณการสัญจรไปสู่พื้นที่ทำการค้า ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามกระบวนการเศรษฐสัญจร (Movement Economy Process) ดังนั้น หากจะจัดการหาบเร่แผงลอยที่เป็นทั้ง เสน่ห์ ปัญหาความขัดแย้งในเชิงพื้นที่ และถือเป็นทรัพยากรที่เป็นขุมพลังทั้งทางด้านเศรษฐกิจและแหล่งงานของเมือง เราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องความต้องการพื้นฐานเหล่านี้เสียก่อน เพราะถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การจัดการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างยั่งยืนได้

เพราะเมืองนี้มีที่ทำกินเพียงพอสำหรับทุกคน

เราเชื่อว่าเมืองนี้มีที่ทำกินสำหรับทุกคน และเมืองนี้ต้องให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งในมุมมองของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และในมุมมองของคนเดินเท้า ผู้ใช้งานทางเท้าสาธารณะ UddC จึงได้จัดทำเป็นข้อเสนอแนวทางการออกแบบและการจัดการเชิงพื้นที่ของหาบเร่แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการในระยะเร่งด่วนพิจารณาการอนุโลมให้สามารถทำการค้าต่อไปได้บนพื้นที่ทางเดินเท้า ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขเชิงพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนด และมาตรการในระยะยาวคือการวิเคราะห์และมองหาพื้นที่ศักยภาพอื่นๆ ของเมืองที่จะสามารถรองรับได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำการค้าบนทางเท้าสาธารณะ ดังนี้

มาตรการระยะเร่งด่วน อนุโลมให้ทำการค้าบนพื้นที่ทางเท้า

ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดเชิงพื้นที่ อ้างอิงประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาพื้นที่ โดยอนุโลมให้สามารถทำการค้าบนทางเท้าได้ต่อไป โดยมีเงื่อนไขเชิงพื้นที่ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลำดับศักย์ของถนนและทางเท้าสาธารณะ ดังนี้

กรณีที่ 1 อนุโลมให้ทำการค้าได้ในพื้นที่ทางเท้ากว้างตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป โดยกำหนดให้มีทางสัญจรที่เป็นทางเท้าสาธารณะไม่น้อยกว่า 2 เมตร และมีระยะแนวกันชนจากขอบถนน 50 ซม. ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนถนนสายประธาน (Principle/Major Arterial) และถนนสายหลัก (Minor Arterial) โดยมีช่องทางการสัญจรตั้งแต่ 4 ช่องจราจรขึ้นไป จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ พบว่า มีจุดทำการค้าหาบเร่แผงลอยกว่า 101 จุด ที่ผ่านเกณฑ์อนุโลมในกรณีที่ 1  ซึ่งคิดเป็น 15% ของจำนวนจุดทำการค้าทั้งหมด ซึ่งสามารถรองรับจำนวนแผงค้าได้ถึง 3,026 แผง

สำหรับทางเท้าที่มีความกว้างตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไปนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่พรีเมียมมากๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งนี้เพราะตามเกณฑ์มาตรฐานผังเมืองรวม พ.ศ.2549 กำหนดให้ทางเท้าในพื้นที่ย่านธุรกิจ-พาณิชยกรรม ย่านอุตสาหกรรม ย่านที่อยู่อาศัยและโรงเรียน ต้องมีความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร ซึ่งนั่นหมายถึงระยะที่คนเดินเท้าสามารถเดินสวนทางกันได้ หรือมาตรฐานการออกแบบถนนในเขตเมืองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจัดทำโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในคู่มือ มาตรฐานถนน ทางเดิน และทางเท้า กำหนดความกว้างทางเท้าไว้มากสุดที่ 3 เมตร สำหรับถนนชั้นที่ 1 (2 เมตร สำหรับถนนชั้นที่ 2 และ 1.5 เมตร สำหรับถนนชั้นที่ 3-4) ทั้งนี้ จากการสำรวจขนาดความกว้างทางเท้าในกรุงเทพมหานคร ของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ในปี 2558 ซึ่งได้เก็บรวบรวมข้อมูลความกว้างทางเท้าบนถนนกว่า 1000 เส้นทั่วกรุงเทพมหานคร พบว่า มีค่าเฉลี่ยความกว้างทางเท้าเพียง 1 เมตรเท่านั้น

เพราะฉะนั้นทางเท้าที่กว้าง 4 เมตรนี้จึงถือว่าเป็นสิ่งที่พิเศษ และเป็นขนาดที่เพียงพอที่จะใส่กิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นทางเดินเท้า ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการสร้างถนนที่มีชีวิตและสร้างความน่าสนใจ เพราะความจริงแล้ว พื้นที่ทางเท้าในเมืองถือเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่สามารถเป็นได้มากกว่าทางเดินเท้าเท่านั้น

กรณีที่ 2 อนุโลมให้ทำการค้าได้ในพื้นที่ทางเท้ากว้างตั้งแต่ 2.5 เมตรขึ้นไป ในถนนสายรอง (Collector Street) และสายย่อย (Local Street) ซึ่งมีการจราจรที่เบาบาง จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่พบว่า มีจุดทำการค้าหาบเร่แผงลอยกว่า 64 จุด ที่ผ่านเกณฑ์อนุโลมในกรณีที่ 2 นี้ คิดเป็น 10% ของจำนวนจุดทำการค้าทั้งหมด

ซึ่งเมื่อรวมการอนุโลมในระยะเร่งด่วน ตามเกณฑ์ทั้ง 2 กรณี จะพบว่าสามารถบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าสามารถกลับมาทำการค้าได้ถึง 25% หรือร่วมกว่า 165 จุด จำนวนกว่า 4,738 แผง

ข้อเสนอแนวทางการออกแบบทางเท้าในพื้นที่อนุโลมทำการค้าหาบเร่แผงลอย

นอกจากระยะความกว้างของทางเท้าที่ต้องมากกว่า 4 เมตรขึ้นไปแล้ว ยังมีกรอบในการจัดวางและออกแบบแผงค้า ตามประกาศกรุงเทพมหานคร  (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137, 28 กุมภาพันธ์ 2563) ที่สำคัญ ดังนี้

  • การจัดวางแผงค้าต้องเว้นระยะสำหรับทางเดินเท้าสาธารณะอย่างน้อย 2 เมตร
  • กำหนดระยะแนวกันชนจากขอบทางสัญจรเป็นระยะ 50 ซม. เพื่อความปลอดภัย โดยไม่จัดวางของ สัมภาระ ให้เกะกะ รกรุงรัง
  • ในพื้นที่โดยรอบพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วัง และอนุสาวรีย์ ในระยะ 150 เมตร ห้ามมีการจัดตั้งแผงค้า
  • การจัดวางแผงค้า กำหนดให้มีการเว้นระยะ 5 เมตร ทุกการจัดวางแผงค้า 10 แผง เพื่อเป็ฯทางเดินเข้าออกฉุกเฉินและอำนวยความสะดวกแก้คนเดินเท้า
  • กำหนดให้มีการกำหนดโซน และแยกประเภทสินค้า เช่น โซนอาหาร โซนเสื้อผ้า โซนเบ็ตเตล็ด เป็นต้น
  • กำหนดระยะถอยร่นจากสถานี ศาลาผู้พักโดยสาร ทางขึ้นลงสถานี สะพานลอย ในระยะ 10 เมตร
  • กำหนดระยะแนวกันชนบริเวณเขตทางม้าลายข้างละ 3 เมตร ให้เป็นพื้นที่ห้ามตั้งวางแผงค้า
  • กำหรดระยะแนวกันชนบริเวณทางร่วมทางแยกข้างละ 10 เมตร ให้เป็นพื้นที่ห้ามตั้งวางแผงค้า
  • กำหนดระยะแนวกันชนจากทางเข้าออกอาคาร ในระยะ 5 เมตร
  • นอกจากนี้ ยังกำหนดระยะแนวกันชนของห้องสุขาสาธารณะ และจุดจ่ายน้ำดังเพลิง ในระยะ 3 เมตร และบริเวณโดยรอบตู้โทรศัพท์ ตู่ไปรษณีย์ ในระยะ 1 เมตร

ผลจากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว สามารถนำมาเป็นเงื่อนไขในการออกแบบและจัดวางพื้นที่ทำการค้าหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าได้ เพื่อยังประโยชน์ทั้งการเป็นบทบาทของทางเดินเท้าสาธารณะ และการอนุโลมเป็นพื้นที่ทำการค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งทางทีม UddC ได้จำลองการออกแบบในพื้นที่นำร่อง ที่มีศักยภาพและผ่านเกณฑ์มาตรฐานขั้นต้น คือเป็นจุดข่ายที่มีขนาดความกว้างทางเท้ามากกว่า 4 เมตร บนถนนสายหลัก ในพื้นที่บางขุนเทียน 69 และพื้นที่ที่มีขนาดความกว้างทางเท้าตั้งแต่ 2.5 เมตร บนถนนสายรอง ในพื้นที่ซอยอารีย์

ผังและทัศนียภาพ พื้นที่ซอยอารีย์หรือพหลโยธินซอย 7

มาตรการระยะยาว เพื่อส่งเสริมอาชีพและโอกาสในการทำกินของคนเมือง

นอกเหนือจากมาตรการในระยะเร่งด่วน ซึ่งพิจารณาอนุโลมให้สามารถทำการค้าได้บนทางเท้าที่มีความกว้างตามเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนดแล้ว ในส่วนของมาตรการระยะยาวเพื่อเยียวยาผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกจุดทำการค้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์กว่า 75% หรือประมาณ 492 จุด

UddC จึงพิจารณาเสนอมาตรการในการลงทุนของภาครัฐเพื่อปากท้องประชาชนอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการฟื้นฟูเมือง โดยการพลิกฟื้นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์งไม่เต็มประสิทธิภาพของเมือง อาทิ พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ และพื้นที่ของส่วนราชการต่างๆ เป็นต้น 

เพื่อพลิกฟื้นและสร้างข้อเสนอแนวทางการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ เพื่อรองรับกิจกรรมการค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อเยียวยาและสร้างโอกาสในการทำมาหากินและสร้างอาชีพแก่พลเมืองที่ด้อยโอกาส โดยเสนอการปรับปรุงพื้นที่ในลักษณะของผังแม่บทพัฒนาพื้นที่ที่ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ทำการค้าหาบเร่แผงลอยเท่านั้น แต่ยังเสนอการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะ และเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินเท้าและจักรยานในพื้นที่ใจกลางเมืองอีกด้วย

ในการจำลองความต้องการพื้นที่เพื่อรองรับและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยที่กล่าวไปข้างต้น  จะพิจารณาอุปสงค์ด้านพื้นที่ จากจำนวนแผงค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 492 จุด รวมจำนวน 14,158 แผง ซึ่งต้องการพื้นที่รวมประมาณ 70 ไร่ ในการรองรับแผงค้าให้ได้ทั้งหมด

ซึ่งจุดทำการค้าเหล่านี้ ล้วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านลักษณะทางกายภาพตามมาตรการระยะสั้น (ความกว้างทางเท้าน้อยกว่า 4 เมตร) นั่นหมายถึงแผงค้าที่ไม่สามารถทำการค้าได้บนพื้นที่ทางเดินเท้า เป็นไปตามเงื่อนไขด้านความปลอดภัย ความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้การสัญจรบนทางเท้าของประชาชนเป็นไปอย่างสะดวกและมีความปลอดภัย  

กลับมาดูฝั่งอุปทานด้านพื้นที่ของเมือง ที่มีความเป็นไปได้ในการนำมาปรับปรุงเพื่อรองรับกิจกรรมดังกล่าว นั่นคือ พื้นที่ใต้ทางด่วน ในเขตเมืองชั้นใน ซึ่งมีกว่า 600 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ยังไม่เต็มศักยภาพ นอกจากจะสามารถเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมการค้าหาบเร่แผงลอยแล้ว ยังสามารถพลิกฟื้นและเชื่อมโยงเส้นทางโครงข่ายทางเดินเท้าทางจักรยาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อของโครงข่ายทางเดินเท้าและการสัญจรภายในเขตพื้นที่เมืองชั้นใน

ปริมาณการสัญจรผ่าน คือความต้องการพื้นฐานของหาบเร่แผงลอย

เงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการรองรับและกำหนดตำแหน่งจุดทำการค้าหาบเร่แผงลอยนั้น คือ พื้นที่เหล่านั้นจำเป็นต้องมีปริมาณการสัญจรผ่านที่เพียงพอ เพื่อให้กิจกรรมการค้าขายเกิดขึ้นได้ เราคงเคยได้ยิน กรณีของการเสนอย้ายพื้นที่ทำการค้าหาบเร่แผงลอยไปยังพื้นที่ใหม่ แต่กิจกรรมการค้าหาบเร่แผงลอยกลับอยู่ไม่ได้ นั่นเพราะขาดการพิจารณาความสามรถในการเข้าถึงพื้นที่ที่สะดวก และต้องเป็นจุดผ่านของการสัญจร

อนึ่ง เนื่องด้วยรูปแบบของการค้าหาบเร่แผงลอย ไม่ว่าจะเป็นประเภทอาหาร หรือของชำร่วย ของใช้จิปาถะนี้ มีลักษณะที่เป็น สินค้าทั่วไป (Normal Goods) นั่นหมายถึง ลักษณะของสินค้าที่ไม่มีความแตกต่างและลักษณะเฉพาะ ที่ดึงดูดให้ผู้ซื้อต้องเดินทางไปถึง (Move to) แต่กิจกรรมการซื้อของหาบเร่แผงเลยเป็นไปในรูปแบบของความบังเอิญ บังเอิญผ่าน บังเอิญซื้อ และความสะดวกคือเงื่อนไขสำคัญของผู้ซื้อ ดังนั้น รูปแบบการสัญจรเพื่อเข้าหากิจกรรมหาบเร่แผงลอยเป็นไปในลักษณะของการสัญจรผ่าน (Move thought) ยกเว้นว่าจะมีร้านค้าหรืออาหารที่พิเศษ พิศดาร หรือมีความเฉพาะตัว ที่ทำให้ผู้ซื้อมีความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงที่จะไปซื้อ ตัวอย่างเช่น กิจกรรมการค้าหาบเร่แผงลอยถนนเยาวราช หรือถนนข้าวสาร ซึ่งมีความเฉพาะและมีเอกลักษณ์ที่ยืดโยงกับพื้นที่

ดังนั้น พื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดเป็นพื้นที่ทำการค้าหาบเร่แผงลอยใหม่นี้จะต้องตอบโจทย์กับเงื่อนไขทั้ง 2 ประการข้างต้น นั่นคือ ต้องเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณการสัญจรผ่านที่เพียงพอ และมีความสะดวกในการเข้าถึง ซึ่งทั้งสองประการนี้สามารถจัดการได้ผ่านการพิจารณาเชิงทำเลที่ตั้ง ประกอบกับใช้การออกแบบย่านและเมืองเพื่อส่งเสริมให้เกิดปริมาณการสัญจรผ่านและสร้างความะสดวกในการเข้าถึงพื้นที่ (ซึ่งจะกล่าวต่อไปอย่างละเอียดในบทความฉบับหน้า)

แผนที่ตำแหน่งที่สะท้อนถึงปริมาณการสัญจร

ผลการวิเคราะห์พื้นที่ ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยด้านปริมาณการสัญจรผ่าน และความสะดวกในการเข้าถึง โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ และการวิเคราะห์โครงข่ายในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อประเมินศักยภาพของพื้นที่ใต้ทางด่วนที่มีความเหมาะสม พบว่า พื้นที่ใต้ทางด่วนที่มีความเหมาะสมในการเป็นแหล่งกิจกรรมการค้าหาบเร่แผงลอย คือ บริเวณแนวพื้นที่ใต้ทางด่วนศรีรัช ช่วงตั้งแต่แยก อุรุพงษ์-แยกสาทร และบริเวณพื้นที่ใต้ทางด่วนบริเวณถนนพหลโยธิน 1 ตั้งแต่สวนพญาไทภิรมย์ ถึง ทางขึ้นทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีพื้นที่รวมกว่า 130 ไร่ ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับแผงค้าทั้ง 14,158 แผง อีกทั้งยังมีพื้นที่เหลือที่จะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองเพิ่มได้อีกด้วย ถือว่าเป็นการปรับปรุงพื้นที่เมืองที่ได้ประโยชน์ยิ่ง ถือเป็นการ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว”

แผนที่พื้นที่ศักยภาพใต้ทางด่วน

จากพื้นที่รกร้าง สู่พื้นที่เศรษฐกิจฐากราก และพื้นที่สร้างงานในระดับย่าน

หนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองแต่ไม่ได้มีการใช้งาน และถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ นั่นคือพื้นที่ใต้ทางด่วน ลักษณะเดิมของโครงสร้างรกร้างนี้ ประกอบด้วยพื้นที่ว่างมหาศาล มืดและอับ ซึ่งกลายสภาพเป็นกำแพงที่ตัดขาดผู้คน ย่านและเมืองออกจากกัน ทั้งปัญหาการขาดการรับรู้ของพื้นที่ ความไร้ชีวิตชีวาที่อาจก่อให้เกิดอาชญากรรมได้ง่าย สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่สัญจรผ่านไปมา แต่จะดีแค่ไหนหากพื้นที่ว่างมากมายมหาศาลเหล่านี้ ที่ถูกทิ้งไร้ประโยชน์ ถูกพลิกฟื้นให้มีบทบาทเป็นพื้นที่สาธารณะที่เชื่อมต่อเมือง ผู้คน และเป็นพื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะให้แก่คนเมือง ผ่านแนวคิดการออกแบบ 5 ประการ 

1.การสร้างการเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ ในระดับพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็น ย่านที่อยู่อาศัย ย่านศูนยกลางเศรษฐกิจ ย่านประวัติศาสตร์ ย่านพาณิชยกรรม ย่านสถาบันราชการ ย่านการท่องเที่ยว และย่านสร้างสรรค์ เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะแบบไร้รอยต่อ สร้างความเชื่อมโยงทางสังคม เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ สร้างสุขภาวะคนเมือง 

2.การสร้างการรับรู้ให้แก่พื้นที่ โดยการออกแบบพื้นที่ให้เชื่อมต่อกับทุกทิศทาง สร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ มีช่องทางจักรยาน ทางเท้า เพื่อนำไปสู่พื้นที่กิจกรรม 

3.การสร้างความมีชีวิตชีวา และความรู้สึกปลอดภัย การออกแบบพื้นที่ให้เกิดกิจกรรม มีการใช้งานจริง มีความหลากหลายของผู้คน ลดมุมอับและปลอดโปร่ง จะก่อให้เกิดพลวัตและสร้างชีวิตชีวาให้แก่พื้นที่โดยรอบ อีกทั้งการออกแบบทางข้ามที่กว้างเป็นมิตรต่อคนเดิน เพื่อลดอำนาจบทบาทของรถยนต์ รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ประกอบถนนที่ดูแลรักษาง่าย มีแสงไฟส่องสว่าง

4.การสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยการออกแบบพื้นที่ใต้ทางด่วนที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางสัญจรผ่าน แต่เป็นพื้นที่ที่สร้างประสบการณ์ร่วมกันระหว่างผู้คน และการสร้างกิจกรรมระหว่างทาง

5.การพลิกฟื้นย่าน สร้างกิจกรรมให้เกิดการดึงดูด น่าใช้งาน และสอดคล้องแก่บริบท

ภารกิจพลิกโฉม พื้นที่ใต้ทางด่วนศรีรัช ช่วงอุรุพงษ์-สาทร สู่พื้นที่เศรษฐกิจละแวกบ้าน และเส้นทางจักรยานเชื่อมเมือง

พื้นที่ใต้ทางพิเศษศรีรัช ช่วงตั้งแต่แยกอุรุพงษ์ ถึงแยกสาทร ระยะทางรวม 4.5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ใต้ทางด่วนที่อยู่ในเขตเมืองชั้นใน ซึ่งเชื่อมพื้นที่ส่วนต่างๆ ของเมืองที่สำคัญ อาทิ พื้นที่ย่านที่อยู่อาศัยหนาเเน่นในย่านพระรามที่ 6 รองเมือง หัวลำโพง เจริญกรุง และย่านพาณิชยกรรมของเมือง อย่างย่านสาทร-สีลม บางรัก สี่พระยา เป็นต้น ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศษสตร์ของเมืองทำให้ในแต่ละวันมีผู้คนทั้งที่อยู่อาศัยในพื้นที่ละเเวก และผู้ที่เดินทางสัญจรผ่านย่านนี้จำนวนมากกว่าวัละ 1 ล้านคน ในย่านจึงเต็มไปด้วยพลังของผู้คน ความหลากหลาย และวิถีชีวิตเมืองที่พลุกพล่าน

หากแต่สภาพการใช้งานในปัจจุบันของพื้นที่ใต้ทางด่วนช่วงอุรุพงษ์-สาทรนี้ มีการใช้งานเป็นโกดังขนถ่ายสินค้าชั่วคราว อู่ซ่อมรถ ลานกีฬา พื้นที่ล้อมรั้วทิ้งร้าง พื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐ (The Walking Street สินค้าเครื่องประดับย่านเจริญกรุง) เป็นต้น

ในระดับเมือง การทิ้งพื้นที่ที่ไม่มีการใช้งานอย่างเติมประสิทธิภาพนี้เอาไว้ถือเป็น ต้นทุนค่าเสียโอกาสของเมืองในการที่จะพลิกฟื้นและต่อยอด ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมือง(Central Business District-CBD)  ในระดับย่านการปล่อยทิ้งร้างของพื้นที่ใต้ทางด่วนที่มีการใช้งานและเว้นว่างไว้บางจุดที่มีลักษณะเป็นท่อนๆ เช่นนี้ ทำให้พื้นที่กลายเป็ฯจุดอับของเมือง เสี่ยงต่อการเกิดอาชญกรรม รวมถึงเป็นแหล่งเสื่อมโทรม พื้นที่เพาะพันธ์เชื้อโรคและยุงลาย อีกทั้งในเชิงพื้นที่โครงสร้างทางด่วนเหล่านี้กลายเป็ฯปราการที่ตัดขาดปฎิสัมพันธ์เชิงพื้นที่ของย่านละเเวกด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ทาง UddC จึงมองเห็นข้อจำกัด สภาพปัญหา และโอกาสในการพัฒนา พลิกฟื้นพื้นที่ใต้ทางด่วนที่ยังมีการพัฒนาและใช้งานอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ให้กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ใหม่ทางเศณษฐกิจของเมือง โดยสอดคล้องกับแนวคิดในการออกแบบทั้ง 5 ประการที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งมีโปรแกรมการออกแบบในพื้นที่นำร่อง บริเวณพื้นที่ใต้ทางด่วนย่านอุรุพงษ์-สาทร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่วงตามความแตกต่างของบริบทพื้นที่ ดังนี้

ช่วงถนนสีลม-สุรวงศ์ เชื่อมต่อกับย่านศูนยกลางเศรษฐกิจ

  • ช่วงที่ 1 บริเวณสี่แยกถนนสีลม โดยมีโปรแกรมให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ดึงดูดการใช้งาน ให้เป็นถนนคนเดินและการค้า (commercial street) 
  • ช่วงที่ 2 ให้เป็นตลาดอาหารแบบยืดหยุ่น มีกิจกรรมการช็อปปิ้ง และเดินชิมอาหาร อีกทั้งในช่วงเทศกาลสามารถจัดพื้นที่ให้เป็นนิทรรศการอาหารได้ หรือเป็นการรวบรวมร้านอาหารดังภายในย่าน (Market food/Festival food)
  • ช่วงที่ 3 ให้เป็นพักผ่อนหย่อนใจ นั่งพัก และมีห้องสมุด (relax pocket)

ช่วงถนนสุรวงศ์ เชื่อมต่อกับย่านเจริญกรุง ย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่ มีโปรแกรมให้พื้นที่ สวนหย่อม หรือพื้นที่ออกกำลังกายขยาดย่อม เพื่อส่งเสริมสุขภาพในละแวกย่าน (Cultural pocket)

ช่วงสี่พระยา เชื่อมต่อกับย่านสร้างสรรค์บางรัก ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ (creative & learning space)

ผังแม่บทพัฒนาพื้นที่ทางด่วนย่านอุรุพงษ์-สาทร
ทัศนียภาพต้นแบบการปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วน บริเวณพหลโยธิน 1

หลักยุติธรรมหรือความเป็นธรรมในการจัดการพื้นที่สาธารณะของเมือง

ในการตัดสินใจกำหนดหลักการเพื่อออกแบบนโยบายพื้นที่สาธารณะเมืองเพื่อกิจกรรมการค้าริมทางและแนวทางการบริหารจัดการ เราควรเริ่มต้นจากการตั้งคำถามสำคัญว่า พื้นที่สาธารณะเมืองนั้นแท้จริงแล้วเป็นทรัพย์สินของใคร ใครควรรับบทบาทเป็นผู้บริหารจัดการ และการบริหารจัดการควรมีบทบาทเช่นไรบ้างเพื่อสนับสนุนความเป็นชุมชนเมืองที่เปิดโอกาสให้ทุกคน (Inclusive City) สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรม

ตามกรอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ พื้นที่สาธารณะถือเป็นทรัพยากรร่วมหรือทรัพย์สินร่วมของเมือง ที่ในเชิงอุดมคติแล้วจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนในเมืองมีสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ถูกกีดกัน อย่างไรก็ตาม เรามักพบว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น การใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะเมืองของคนบางกลุ่มอาจส่งผลกระทบทางลบต่อคนอีกหลายกลุ่ม เช่น กรณีการใช้พื้นที่สาธารณะของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของคนเดินเท้าและประชาชนทั่วไป ปัญหาดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐในฐานะผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายต้องทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกับผู้ค้าริมทาง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ค้าริมทางกลายเป็นคู่ขัดแย้งมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีโดยที่ชุมชนและประชาชนทั่วไปถอยหลังออกมาเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์

อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลไม่จำเป็นต้องเป็นภาระของเจ้าหน้าที่รัฐแต่เพียงอย่างเดียว เพราะแท้จริงแล้วรัฐควรเปิดโอกาสให้ชุมชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ เจ้าของอาคารพาณิชย์ต่างๆ ตลอดจนผู้ใช้ทางเดินเท้าขาประจำ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในการประกอบกิจกรรมหาบเร่แผงลอยเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลในรูปแบบของคณะกรรมการกำกับดูแลการใช้พื้นที่สาธารณะเฉพาะจุด ข้อเสนอดังกล่าวนี้เป็นไปตามแนวคิดเรื่องการกำกับดูแลทรัพยากรร่วมโดยชุมชนของนักเศรษฐศาสตร์สถาบันรางวัลโนเบล Elinor Ostrom ที่เชื่อว่าชุมชนมีศักยภาพกำกับดูและทรัพยากรรร่วมของตนเองได้หากมีการพัฒนาสถาบันทางสังคม ซึ่งในที่นี้หมายถึงกฎ กติกา มารยาทที่เข้มแข็ง Ostrom อธิบายว่าการบริหารจัดการกันเองภายในชุมชนจะก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และเกิดระบบสอดส่องที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการควบคุมโดยองค์กรภายนอก เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ ในทางกลับกัน การบังคับใช้กฎกติกาจากรัฐกลับจะทำให้ชุมชนมีความร่วมมือกันโดยสมัครใจน้อยลง

คำถามต่อมาคือกฎกติกาแบบไหนกันที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์บนพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นธรรม ในประเด็นนี้เราคงต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึงหลักการตั้งต้นว่าเหตุใดเราจึงยินยอมให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะเพื่อการค้าหาบเร่แผงลอย หากนั้นเป็นเพราะเรากำลังเปิดโอกาสให้กลุ่มคนยากจนในเมืองจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสประกอบอาชีพสุจริต เพื่อช่วยเหลือปากท้องของแรงงานยากจนและชนชั้นกลางในเมืองอีกจำนวนหนึ่งในการดำรงชีพในเมืองใหญ่ที่มีต้นทุนค่าครองชีพสูง การกำหนดกติกาในเรื่องขอบเขตของบุคคลที่เข้าถึงสิทธิการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะเพื่อการค้าหาบเร่แผงลอยก็คงต้องให้ความสำคัญต่อฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ค้าที่มีฐานะยากจนเป็นลำดับต้น โดยการประเมินความยากจนนั้นก็คงต้องอาศัยหลักการต่างๆ ทั้งที่รัฐและภาคส่วนต่างๆ นำเสนอมาพิจารณาประกอบร่วมกัน 

ประเด็นต่อมาคือสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะของผู้ค้าควรมีระยะเวลาเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ในการนี้ควรพิจารณาด้วยเหตุผลในหลากหลายมิติ อาทิ 

  • มิติทางเศรษฐกิจ: ผู้ค้าควรจะมีโอกาสในการประกอบอาชีพนานพอที่จะสามารถสั่งสมประสบการณ์การประกอบอาชีพค้าขาย การสร้างฐานลูกค้า และสะสมทุนได้มากพอที่จะขยับขยายไปสู่พื้นที่การค้าในระบบได้
  • มิติทางสังคมและวัฒนธรรม: ผู้ค้าควรได้รับระยะเวลาในการประกอบอาชีพนานพอที่จะเข้าสู่กระบวนการรวมกลุ่มทางสังคม เพื่อให้การรวมกลุ่มพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางสังคมในการสอดส่องและตรวจสอบพฤติกรรมระหว่างผู้ค้าด้วยกันเองตามแนวคิดการกำกับดูแลทรัพยากรร่วมของ Ostrom 

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาของสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะของผู้ค้าริมทางก็ไม่ควรนานเกินไปจนทำให้เกิดข้อครหาว่าสิทธิดังกล่าวตกเป็นสมบัติของกลุ่มคนบางกลุ่มชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่อประชาชนที่มีฐานะยากจนอีกจำนวนมากที่ต้องการเข้าถึงสิทธิดังกล่าว ดังนั้น การกำหนดกติกาเรื่องคุณลักษณะของผู้มีสิทธิและระยะเวลาของสิทธิจึงควรตั้งอยู่บนหลักสัดส่วนที่สมดุลระหว่างความเป็นธรรมและความยุติธรรมโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำกับดูแล ในเชิงรูปธรรม คณะกรรมการกำกับดูแลการใช้พื้นที่สาธารณะเฉพาะจุดซึ่งมีชุมชนเป็นส่วนร่วมอาจพัฒนากติกาในเรื่องดังกล่าวนี้ โดยกำหนดให้ระยะเวลาของการได้สิทธิในการประกอบอาชีพการค้าหาบเร่แผงลอยอยู่ที่ช่วงเวลา 1-2 ปี เพื่อให้เกิดการจัดสรรสิทธิใหม่ตามช่วงเวลาดังกล่าว โดยการจัดสรรสิทธิใหม่ควรจะต้องคำนึงถึงต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากการรวมกลุ่มในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้น การแบ่งสัดส่วนสิทธิเพื่อให้มีการผสมผสานระหว่างกลุ่มผู้ค้าเก่าและใหม่อยู่เสมอจึงน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ โดยสัดส่วนของสิทธิระหว่างผู้ค้าเก่าและใหม่นั้นอาจแปรผันได้ตามปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ในชุมชนที่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยล้วนแต่เป็นคนเก่าแก่ที่อยู่อาศัยในละแวกชุมชนและมีบทบาทในการผลักดันกลไกทางสังคมในการกำกับดูแลพื้นที่ การให้สัดส่วนของผู้ค้าเก่ามากกว่าผู้ค้าใหม่ก็ถือว่าเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อกลไกการกำกับดูแลทางสังคม แต่ถ้าหากว่าพื้นที่การค้าตั้งอยู่ในย่านการค้าที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกทางเศรษฐกิจมากกว่ากลไกทางสังคม การกำหนดให้มีสัดส่วนของผู้ค้าหน้าใหม่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าผู้ค้าหน้าเก่าก็น่าจะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมและยุติธรรมตามกลไกทางเศรฐกิจและสังคมในพื้นที่นั้น

ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญคือการกำหนดให้ผู้ค้ามีต้นทุนที่เหมาะสมกับความสามารถในการจ่ายและผลประโยชน์ที่เขาพึงจะได้รับจากสิทธิดังกล่าว รัฐควรพัฒนาระบบการจัดเก็บรายได้และค่าบำรุงท้องที่ที่เป็นธรรมและโปร่งใสจากผู้ค้า ที่สำคัญคือรายได้ทั้งหมดนี้ควรส่งตรงกลับมายังพื้นที่เพื่อใช้ในการทำความสะอาด ทำนุบำรุงสถานที่ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การหมุนเวียนรายได้กลับมาสู่ชุมชนโดยตรงเช่นนี้จะช่วยลดแรงกดดันจากผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากการประกอบการค้าของผู้ค้า และจะช่วยสนับสนุนให้ความสัมพันธ์ทางสังคมในระหว่างชุมชนเป็นไปอย่างราบรื่นและยั่งยืนขึ้น

ท้ายที่สุดนี้ ข้อเสนอทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากรัฐไม่ให้การยอมรับในสิทธิของชุมชนในการจัดการพื้นที่สาธารณะอันเป็นทรัพยากรร่วมของพวกเขาเอง หากรัฐยังยืดถือว่าพื้นที่สาธารณะคือสมบัติ “ของหลวง” ไม่ใช่สมบัติร่วมของประชาชน การสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสาธารณะสมบัติของชาติก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะทุกคนเลือกที่จะนิ่งดูดายต่อหน้าที่ดังกล่าวนั้นเอง

อาวุธลับปรับเมืองหลัง COVID-19

ความปรกติใหม่ของเมือง (Urban Newnormal) หลังเหตการณ์แพร่ระบาดครั้งนี้ เป็นทั้งวิกฤติและโอกาสในการปรับเปลี่ยน และสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการเมือง ที่ต้องสะท้อนความร่วมมือทั้ง 3 ฝ่าย สอดคล้องกับแนวคิดสามประสาน (Tripple Helix) ของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชน กลุ่มประชาสังคม และชุมชน พลเมือง ที่ต้องร่วมกันเสนอแนวทางที่สมประโยชน์ เป็นธรรม ยุติธรรม และก่อให้เกิดความยั่งยืนของการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการบริหารจัดการเมืองในภาพรวมอีกด้วย

ข้อเสนอแนวทางการออกแบบและกลไกเชิงสถาบันการจัดการที่ทาง UddC เสนอนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยในการใช้ศาสตร์ทางด้านการออกแบบและการพัฒนาเมือง ร่วมกับการใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลเมือง และความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา การสังคมสงเคราะห์ เพื่อผสานส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและเสนอทางออกของเมือง ในเรื่องของการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ของกิจกรรมการค้าหาบเร่แผงลอยในเมือง เพื่อยังประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง โอกาสของการสร้างงาน สร้างอาชีพของผู้คนที่อยู่ในเมือง ด้วยการประการลงทุนของภาครัฐและความร่วมมือของหน่วยงานระดับท้องถิ่น พร้อมกับการสร้างความเข้าใจสาธารณะที่ถูกต้องและเป็นกลาง

ที่มาและข้อมูล

ข้อเสนอจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ. (2563). ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137, ตอนพิเศษ47ง (28 กุมภาพันธ์): 17-23

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และบุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์. (2563). แรงงานนอกระบบ กรณีค้าขายข้างถนน. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

Wissanee., Poonsab., Joann Vanek and Françoise Carré. (2019). Informal Workers in Urban Thailand: A Statistical Snapshot WIEGO Statistical Brief no. 20

ฐานข้อมูลจุดทำการค้าหาบเร่แผงลอย ปี 2562. (2562). สำนักงานเทศกิจ กรุงเทพมหานคร


Contributor