เมืองคนแช่แอร์
01/09/2020
ตลอดเดือนที่ผ่านมา แทบทุกครั้งที่เราเจอคนอื่น คำว่าร้อนมักขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาอยู่เสมอๆ ทั้งที่ประเทศไทยมีภูมิอากาศร้อนชื้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อุณหภูมิเฉลี่ยก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกไปจากนี้ปีนี้เป็นปีที่มหาสมุทรแปซิฟิกมีภาวะเอลนีโญ่ ซึ่งทำให้ประเทศไทยรวมถึงประเทศต่างๆ ทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแห้งและร้อนกว่าปกติ หลายต่อหลายหนความร้อนในประเทศไทยมีพลังสูงส่งทำให้ความคิดอยากเดิน อยากวิ่ง หรืออยากปั่นจักรยานต้องยอมแพ้ไปโดยปริยาย บางครั้งเมื่อเราอยากจะอาบน้ำก็ยังต้องรอให้น้ำที่ตากแดดอยู่ในแทงค์น้ำบนหลังคาบ้านหายร้อนก่อนจึงอาบได้ มิหนำซ้ำพออาบน้ำเสร็จแล้วก็กลับมาเหงื่อชุ่มอีกเหมือนเดิม โฆษณาการท่องเที่ยวต่างๆ ก็มักจะไม่พ้นคำโปรยว่า “หนีร้อน” เพื่อที่จะชักจูงคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศที่มีอากาศเย็นกว่าบ้านเราและแม้คำว่า ”แช่แอร์” จะฝืนธรรมชาติแค่ไหนมันก็เริ่มกลายเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในวิถีชีวิตคนไทย จะว่าไปฤดูกาลที่แพงที่สุดก็คงหนีไม่พ้นฤดูร้อน ไหนจะค่าหนีร้อนไปเที่ยวทะเลหรือเที่ยวต่างประเทศ ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่สำหรับคนที่ปกติไม่ได้ใช้หรือค่าน้ำจากสงกรานต์และการอาบน้ำที่ถี่ขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่สุดในช่วงฤดูร้อนก็คงหนีไม่พ้นค่าไฟฟ้าจากการใช้เครื่องทำความเย็นทั้งหลาย เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว การติดเครื่องปรับอากาศหรือที่เรามักเรียกกันว่าแอร์ในบ้านเป็นเรื่องที่หาได้ยาก ส่วนมากถ้าจะติดแอร์ก็มักจะติดอยู่ในห้องนอนสำหรับตอนนอนเท่านั้น แต่ด้วยความร้อนในปัจจุบันแอร์จึงกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ และบ้านคนชนชั้นกลางในเมืองต่างๆ จึงมักจะมีแอร์ในอยู่ทุกๆ ห้อง แม้การมีแอร์จะเป็นความจำเป็นที่สูงขึ้นแต่แอร์หนึ่งตัวอาจใช้ไฟฟ้าเป็นสิบเท่าสูงกว่าพัดลมเลยทีเดียว นั่นหมายความว่าราคาของค่าไฟฟ้าก็จะพุ่งสูงขึ้นหากเราเปิดแอร์บ่อยขึ้นและที่สำคัญที่สุดประเทศเราในภาพรวมก็ใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ประเด็นสำคัญของการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นคือเรื่องของกำลังและวิธีการผลิต ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงพึ่งการเผาไหม้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากกว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนทางธรรมชาติ ดังนั้นนอกจากที่การเปิดแอร์จะสร้างความร้อนสู่พื้นที่ภายนอกผ่านการระบายความร้อนของเครื่องคอนเดนเซอร์แล้ว การที่เราใช้ไฟฟ้ามากขึ้นต่อครัวเรือนจริงๆ แล้วก็ยังคงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการส่งเสริมภาวะโลกร้อนอยู่ในมุมมองนี้ เมื่อร้อนมากขึ้นเราจึงเปิดแอร์มากขึ้นซึ่งแอร์ก็ทำให้อากาศรอบข้างร้อนขึ้นและไฟฟ้าทีต้องผลิตมากขึ้นก็ทำให้อุณหภูมิโลกสูงและทำให้ร้อนมากขึ้น กลายเป็นว่าเรากำลังสร้างวงจรที่วนลงสู่ความร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ การปรับคงมีทั้งในภาพใหญ่คือการเปลี่ยนวิธีการผลิตไฟฟ้ามาเป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังแสงอาทิตย์ พลังลม พลังน้ำ ฯลฯ แต่กับตัวเราเองเราสามารถทำอะไรได้บ้าง มันคงจะฝืนใจเกินไปถ้าจะบอกให้ทุกคนเลิกใช้แอร์ท่ามกลางอากาศที่ร้อนขนาดนี้ เพราะก็ต้องยอมรับว่าฉันก็นั่งเขียนบทความนี้ในห้องติดแอร์เช่นกัน