01/09/2020
Insight

ชุมชนเมือง เดินทางไกลไปโรงเรียน

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์
 


ในวัยเด็ก ก่อนมีรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะแบบราง ฉันก็เหมือนเด็กกรุงเทพฯ หลายคนที่อาศัยอยู่ในบ้านอยู่ชานเมือง ต้องพยายามตื่นแต่เช้าตรู่ก่อน 6 โมงทันเวลากับรายการหนูดี แต่ถ้าเจ้าขุนทองมาเมื่อไหร่นั่นก็เท่ากับว่าฉันไปโรงเรียนสายแน่ๆ หลังจากจัดแจงนำตัวเองออกจากบ้านก็ต้องนั่งหลับมาในรถที่คุณพ่อหรือคุณแม่เป็นคนขับ ผ่านถนนรถติดอย่างไม่รู้เรื่องรู้ราวและถูกส่งลงหน้าโรงเรียนทันเวลาพอดิบพอดีกับเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ

เมื่อเลิกเรียนตอนเย็นฉันก็ขึ้นรถแล้วก็หลับๆ ตื่นๆ ด้วยความเหนื่อยล้าจากการตื่นเช้า การเรียน และการเล่นกับเพื่อนหลังเลิกเรียน ผ่านถนนเส้นเดิมที่ติดขนัดเพื่อกลับบ้าน แต่ขากลับของฉันมีความแตกต่างออกมานิดหน่อย เพราะพวกเราจะต้องใช้เส้นทางอีกทางหนึ่งเพื่อเข้าบ้านและเส้นทางนั้นจะต้องผ่านโรงเรียนรัฐบาลในระดับชุมชนแห่งหนึ่ง ซึ่งโดยมากแล้วเนื่องจากฉันมักจะติดพันเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนจนเย็นย่ำ ผนวกกับสภาพรถติดที่เกินเยียวยาทำให้กว่าพวกเราจะกลับถึงละแวกนั้นก็เป็นเวลาหัวค่ำ โรงเรียนแห่งนั้นก็จะกลายเป็นอาคารมืดๆ หลังหนึ่งที่ยืนตระหง่าอยู่ที่ตีนสะพานเล็กๆ ข้ามทางด่วน ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนนอกระบบที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยสังกะสี เศษไม้ ยางรถยนต์และผ้าใบ

ภาพจาก ผู้จัดการ

ในบางโอกาสอันน้อยนิดที่ฉันได้กลับบ้านเร็วหลังเลิกเรียนทันที พวกเราก็จะมาถึงหน้าโรงเรียนดังกล่าวในเวลาที่เด็กๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันกำลังออกจากโรงเรียนที่ถูกนับเป็นโรงเรียนรัฐเหมือนกันกับโรงเรียนของฉัน มิหนำซ้ำฉันยังสังเกตเห็นว่านักเรียนในโรงเรียนนี้แต่งชุดนักเรียนคล้ายกันกับชุดของโรงเรียนฉันอีกเช่นกัน ทั้งนี้ถึงแม้ว่าเราจะดูคล้ายกันเพียงใดความแตกต่างในการศึกษาและโอกาสอื่นๆ ที่ตามมามันคงเทียบกันไม่ได้

แต่ด้วยในวัยเด็กฉันกลับมองเห็นความต่างในความอิสระและความสะดวกสบายของเด็กเหล่านั้นที่สามารถเดินกลับบ้านกันเองได้ ฉันเห็นเด็กหลายคนเดินกลับบ้านกันกับกลุ่มเพื่อนเหมือนในหนังต่างประเทศที่ฉันเคยดูผ่านโทรทัศน์แต่ฉันกลับต้องมีผู้ปกครองไปรับไปส่งในเวลาที่เขาสะดวก แต่ถึงแม้ความคิดในวัยเด็กของฉันจะมองเห็นถึงความสะดวกสบายนั้น แน่นอนความสะดวกสบายสามารถถูกตีความได้ในหลายแง่มุมและความสะดวกในการไปโรงเรียนละแวกบ้านอาจเป็นเพียงผลลัพธ์ของข้อจำกัดทางรายได้และโอกาสของหลายครอบครัวในกรุงเทพฯ

พอย้ายเข้ามาเรียนอยู่มหาลัย เพื่อนของฉันหลายต่อหลายคนเพิ่งย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จากการเอ็นทรานซ์ติดมหาวิทยาลัยที่กระจุกตัวอยู่ในมหานครแห่งนี้ และมีอีกหลายคนที่ย้ายเข้ามาตั้งแต่สมัยมัธยมต้นหรือมัธยมปลายเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในคุณภาพของอาจารย์และการศึกษา ฉันจึงเริ่มเข้าใจว่ากรุงเทพฯ ในสายตาของวัยรุ่นและคนเป็นพ่อแม่ในจังหวัดอื่นมีนัยของการเป็นศูนย์รวมความรู้ วิทยาการ และการศึกษาซ่อนอยู่ ทำให้การเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ กลายเป็นก้าวสำคัญต่ออนาคตของใครต่อใครอีกหลายคน

พอเริ่มทำงาน ฉันมีโอกาสเข้าไปในโรงเรียนรัฐบาลต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งที่อยู่คู่ชุมชนหรือที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้า ทั้งที่อยู่ใจกลางเมืองและชานเมืองเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การจัดเวิร์กชอปการเรียนรู้ การช่วยงานวิจัยของคนอื่น รวมไปถึงการเข้าไปศึกษาโอกาสและความท้าทายทางด้านการศึกษาในรั้วโรงเรียน ในทุกคราวฉันเริ่มเห็นถึงโลกคู่ขนานของวิถีชีวิตนักเรียนและโรงเรียนรัฐในระดับชุมชนที่เกิดขึ้นเป็นพลวัตของเหตุและผลระหว่างคุณภาพนักเรียน คุณภาพการศึกษา และงบประมาณในการสนับสนุนด้านต่างๆ จากรัฐ

ซึ่งประเด็นเชิงคุณภาพของการศึกษาในระบบเป็นประเด็นที่สังคมไทยอภิปรายกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วฉันจึงจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ ทั้งนี้เมื่อฉันเริ่มมาศึกษาประเด็นต่างๆ ภายในเมืองผ่านมุมมองเชิงพื้นที่ ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่าหากเรามองว่าการศึกษาเป็นหนทางที่สำคัญต่อการพัฒนาชีวิตเพื่อก้าวข้ามความยากจน กรุงเทพฯของเราที่มีภาพลักษณ์เป็นศูนย์รวมความรู้และวิทยาการของประเทศ มีประเด็นเชิงพื้นที่อะไรบ้างไหมที่มีส่วนเพิ่มความท้าทายหรือสร้างอุปสรรคให้การเข้าถึงการศึกษาของผู้มีรายได้น้อยในเมืองเป็นไปได้ยากกว่าที่มันควรจะเป็น และส่งผลให้ความเป็นศูนย์กลางความรู้ของกรุงเทพฯ ดังกล่าวกลายเป็นเรื่องไกลตัวต่อผู้มีรายได้น้อยที่จริงๆ แล้วอาศัยอยู่ในศูนย์กลางของมหานครแห่งนี้

เมื่อคิดถึงการศึกษาในมุมมองของพื้นที่ ฉันจึงเลือกใช้ข้อมูลสาระสนเทศภูมิศาสตร์สาธารณะของกทม. (BangkokGIS.com) ที่มีข้อมูลที่ตั้งโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นตัวแทนของโรงเรียนรัฐในระดับชุมชนต่างๆ ที่จะเป็นเครื่องมือทางการศึกษาที่สำคัญในการส่งเสริมให้คนกรุงเทพฯ ผู้มีรายได้น้อยสามารถพัฒนาทักษะและความรู้ของตนเป็นพื้นฐานของการประกอบอาชีพในอนาคต ผนวกกับข้อมูลที่ตั้งอาคารสงเคราะห์ชุมชนบ้านมั่นคงและชุมชนทั่วไปในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครเพื่อแสดงถึงตำแหน่งของที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ

โดยการวิเคราะห์ ฉันตั้งพื้นฐานของการเข้าถึงโรงเรียนในระยะของการเดิน เพราะเป็นวิธีการที่ประหยัดที่สุด โดยมีสมมติฐานว่าระยะดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าการเดินได้ตามที่ UddC ได้เคยวิเคราะห์ไว้ที่ 800 เมตรอยู่หน่อยหนึ่ง เนื่องจากมองว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องจำเป็น ผนวกกับข้อจำกัดทางรายได้จึงอาจจะทำให้ความอดทนในการเดินสำหรับผู้มีรายได้น้อยมีสูงกว่าเกณฑ์ปกติ

จากแผนที่การวิเคราะห์ข้างต้น เราจะเห็นได้ว่ามีชุมชนอยู่ถึง 1,038 ชุมชน หรือ 47% ของชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดทั่วกรุงเทพฯ ที่ไม่อยู่ในระยะที่เดินไปโรงเรียนได้โดยสะดวก ทั้งนี้การวิเคราะห์นี้ยังไม่ได้จำแนกการเชื่อมต่อที่อาจถูกกีดขวางด้วยถนนใหญ่ ถนนที่ไร้ทางเดินเท้า หรือข้อจำกัดอื่นๆ ที่อาจส่งผลทำให้การเดินไปโรงเรียนเป็นไปได้ยากขึ้นอีกระดับหนึ่ง

ในทางกลับกัน เมื่อคำนึงถึงชุมชนต่างๆ ที่อยู่นอกบริเวณเดินได้จากโรงเรียนแล้ว อีกระบบหนึ่งที่คอยตอบรับระยะห่างเชิงพื้นที่นี้ก็คงหนีไม่พ้นการขับขี่มอเตอร์ไซค์ ในสมัยเรียนเพื่อนของฉันหลายคนที่อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนักก็ต้องซ้อนมอเตอร์ไซค์ของคุณพ่อคุณแม่มาเรียนและทุกเช้าเราก็ถูกส่งลงหน้าโรงเรียนในทำนองเดียวกัน การที่คุณพ่อคุณแม่ของเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ต้องขับรถมอเตอร์ไซค์ส่งลูกจึงกลายเป็นภาพธรรมดาที่แสนจะชินตาของวิถีชีวิตในมหานครแห่งนี้

แต่ความต่างหนึ่งกับนักเรียนในโรงเรียนรัฐระดับชุมชน คือ การรู้จักมักคุ้นกันระหว่างคนในละแวกใกล้เคียงและนอกจากนี้เนื่องจากผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยส่วนมากจำเป็นต้องทำงานในเวลาที่ลูกของตนเข้าเรียนและเลิกเรียน หลายคนจึงต้องพึ่งพาบริการวินมอเตอร์ไซค์ที่สนิทสนมกันให้เป็นตัวแทนผู้ปกครองในการไปรับไปส่งบุตรหลาน

ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน กรมขนส่งทางบกกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งอัตราค่าโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้างมาตรฐานอยู่ที่ไม่เกิน 25 บาทภายใน 2 กิโลเมตรแรก ซึ่งหากเราตั้งสมมติฐานไว้ว่า 20 บาทคือค่าเฉลี่ยของราคาบริการวินในระยะ 2 กิโลเมตรแรก เราจะสามารถคำนวนได้ว่า หลายครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่ระยะระหว่าง 1-2 กิโลเมตรออกจากโรงเรียน คงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้บุตรหลานของตนโดยเฉลี่ยถึง 40 บาทต่อวัน เมื่อรวมเป็นค่าเดินทางไปโรงเรียนเพียงอย่างเดียว นับเป็น 200 วันต่อปี ค่าใช้จ่ายต่อปีอาจสูงถึง 8000 บาทต่อลูกหนึ่งคนเลยทีเดียว

ถึงแม้ในสายตาหลายต่อหลายคนอาจมองว่าค่าใช้จ่ายนี้ไม่มากนัก แต่หากเราเทียบกับรายได้ขั้นต่ำในกรุงเทพฯ ในกรุงเทพฯ 325 บาทที่เพิ่งปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2561 (ThaiPBS) เพียงแค่ค่าเดินทางส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนก็นับเป็นกว่า 6% ของรายได้ผู้ปกครองสองคนแล้ว ในกรณีที่เป็นคุณพ่อหรือคุณแม่ที่เลี้ยงลูกคนเดียวค่าใช้จ่ายนั้นก็นับเป็นถึง 12% ของรายได้ของตนเลยทีเดียว

ถึงกระนั้นก็ตาม จากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ที่ขยายขอบเขตมาเป็น 2 กิโลเมตรจากโรงเรียน ก็ยังมีชุมชนคงเหลืออีก 359 ชุมชนหรือ 14% ของชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดทั่วกรุงเทพฯ ที่ยังคงไม่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับเขาเหล่านั้น เพียงราคาของการเดินทางพาบุตรหลานของตนเข้าโรงเรียนที่มากกว่า 8,000 บาทต่อปีก็ย่อมจะกลายมาเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เขาเข้าถึงการศึกษาได้อย่างยากลำบาก หรือถึงแม้จะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ก็เป็นการศึกษาที่เต็มไปด้วยความกังวลและกระอักกระอ่วนใจ

ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงและขยายตัวของเมืองก็เริ่มมีบทบาทในการทำให้การเข้าถึงโรงเรียนรัฐบาลของชุมชนเหล่านี้เป็นไปได้ยากขึ้น ในกรณีของโรงเรียนรัฐบาลที่ฉันเล่าถึงข้างต้น ซึ่งฉันยังต้องนั่งรถมอเตอร์ไซค์ผ่านทุกวันเพื่อออกจากซอยบ้านไปขึ้นรถไฟฟ้าที่ถูกต่อเติมออกมาถึงย่านชานเมืองเดิม โรงเรียนแห่งนี้เคยถูกรายล้อมด้วยชุมชนที่อยู่อาศัยนอกระบบ เป็นชุมชนที่มักจะติดไฟประดับถนนเมื่อถึงวันสำคัญต่างๆ ของประเทศ มีลูกหลานที่เดินเข้าไปเรียนในโรงเรียนดังกล่าว มีกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในซอกหลืบของความเป็นที่อยู่อาศัย

ในปัจจุบันได้กลายไปเป็นพื้นที่ของคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเติบโตของมหานครกรุงเทพฯ ชุมชนนอกระบบของผู้มีรายได้น้อยก็ถูกไล่ที่ให้ไปอยู่ที่อื่น ในขณะที่โรงเรียนรัฐแห่งนั้นยังเปิดให้การศึกษาต่อลูกหลานของคนที่ยังอยู่รอดในบริเวณข้างเคียง เช่น วินมอเตอร์ไซค์ แม่บ้าน หรือยามในละแวก ภาพของนักเรียนที่เดินกลับบ้านหลังเลิกเรียนก็เริ่มหดหายลงและกลายเป็นกลุ่มนักเรียนที่ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ออกจากโรงเรียนแทน

เมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนกลุ่มผู้ใช้งานพื้นที่ให้กลายเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงขึ้น หรือที่ใช้คำว่า Gentrification กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หลายส่วนก็มักจะต้องจำนนยอมย้ายออกไปอาศัยอยู่ในที่ใหม่ที่ห่างไกลออกไป ภาระของการกระจายการศึกษาเพื่อรองรับนักเรียนเหล่านี้ก็จะตกไปอยู่ในจังหวัดอื่นๆ ในปริมณฑลของกรุงเทพฯ ตามมา ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากรของมหานครแห่งนี้ การให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อพื้นที่ทางการศึกษาเข้ากับชุมชน จึงอาจจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะทำให้คนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้เห็นว่าโอกาสต่างๆ ที่มาพร้อมกับการศึกษาเป็นอนาคตที่เขาเองก็สามารถเดินไปถึงได้เช่นกัน

อ้างอิงข้อมูล
ที่ตั้งโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานคร, 24 กรกฎาคม 2562.
ที่ตั้งอาคารสงเคราะห์ของกรุงเทพมหานคร โดย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานคร, 24 กรกฎาคม 2562.
ที่ตั้งชุมชนบ้านมั่นคงในเขตกรุงเทพมหานคร โดย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานคร, 24 กรกฎาคม 2562.
ที่ตั้งชุมชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร โดย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานคร, 24 กรกฎาคม 2562.


Contributor