21/01/2020
Public Realm

อนาคตของงานบริการกับชีวิตคนเมือง 4.0

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ ธัญชนก โตวารี
 


“ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ” เป็นคำพูดที่เรามักได้ยินมาตั้งแต่เด็ก อาจจะเป็นครอบครัวของเรา เพื่อนบ้าน เพื่อนสมัยเรียน หรือเพื่อนที่ทำงาน ก็คงต้องมีใครสักคนหนึ่งที่เป็นคนที่ “ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ” ก็เพราะว่าเมืองกรุงเทพฯ นั้นเป็นพื้นที่ที่มีงาน พื้นที่เมืองนั้นมีคนทำงานอยู่ตามจุดต่าง ๆ และคนก็ใช้พื้นที่เมืองในการทำงานอยู่ตลอดเวลา

https://lh3.googleusercontent.com/lexx_al40dHbsFF5jXyrs5fUSw9J7MloPxB0hOqO4jMYlHYf7NGFVdLF3G2UlQCHXfo0qWPxzuRdOQEaImpuNZ6xZVjdRS8c7Wv4VZ8r3qFugaUpUxE5UvtW3Vw6SjD3cVUZucph

หากเรามองจากรูป ๆ หนึ่ง เราจะเห็นได้ว่ามีคนหลากหลายอาชีพ ซ้อนอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ของเมือง ไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี่ หรือคนขับวินมอเตอร์ไซค์ ที่ใช้ถนนเป็นพื้นที่สำหรับการทำงาน พ่อค้าแม่ขาย ที่ขายของอยู่ตามข้างทาง หรือพนักงานบริษัท นักกฎหมาย นักบัญชี นักออกแบบ ที่อาจจะนั่งทำงานอยู่ตามตึก หรือร้านคาเฟ่สวย ๆ สักแห่งในภาพนี้

งานต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรืองานอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมือง ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานบริการ ซึ่งงานบริการนั้นสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ งานบริการขั้นพื้นฐาน (Basic Services) เป็นงานบริการที่เกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น คนขับรถ แม่บ้าน หรือคนสวน และงานบริการขั้นส่งเสริม (Advanced Service) เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะด้าน หรือใช้ทักษะหรือเครื่องมือพิเศษในการทำงาน อย่างเช่น หมอ นักออกแบบกราฟฟิก โปรแกรมเมอร์ ต่างก็ให้บริการหรือผลิตงานที่จับต้องไม่ได้แก่ผู้ว่าจ้าง งานบริการทั้งสองกลุ่มนี้รวมกันแล้วมีจำนวนมากเกือบ 50% ของแรงงานทั้งหมดในกรุงเทพมหานครเลยทีเดียว

https://lh5.googleusercontent.com/wo58B9qmWa5rbSxUAWDHPbXXCnIuMRfJNRDiwbJXbkR3HDKQFvyXCW5YAcHXTa7KTKjLHd7us6aLe35QBL1bqTMly2EKb-qFtSlvjiA3i0SjWlRRhnjbXAQEDTLgGtP9RHoW5uWM

ความแตกต่างระหว่างงานบริการขั้นพื้นฐานและงานบริการขั้นส่งเสริม จะแตกต่างกันอยู่ตรงที่อัตราค่าจ้าง รอบเวลาที่ใช้ในการทำงาน (รอบงาน) การเรียนรู้งาน และสถานที่ทำงาน มีรายละเอียดดังนี้ 

https://lh5.googleusercontent.com/ckQhIjI6zLG3E1u3rVoayb7hIno5Q1xA_QE0ddy3OZd__9Hrn3s-9kZV4QIQs2bB0p7BbhO4EPCHtz3acqkUzh21-2ifzFIv25U7e3VsGRG4mipipuvrYCU_3QLLnlspA2RyxhhR

อนาคตของงานบริการกำลังจะเปลี่ยนไป

สิ่งสำคัญที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ การเดินหน้าของเวลา ช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลให้เมืองค่อย ๆ เปลี่ยนไปด้วย คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเปลี่ยนไป วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป ดังนั้นรูปแบบของการทำงานในอนาคตก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน โดยในการเสวนาคนเมือง 4.0 นี้ อ.ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ ได้นำแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมจำนวน 9 เทรนด์มานำเสนอและวิเคราะห์ภาพอนาคตของการทำงานในเมืองที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีแนวโน้มที่น่าสนใจดังนี้

  1. คนทำงานอิสระมากขึ้น ในปัจจุบันกรุงเทพมีคนทำงานอิสระมากกว่า 2 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 3 – 6 แสนคนต่อปี และหากเราลองสำรวจคนรอบข้าง เราก็มักจะเจอกับคนทำงานอิสระสักคนหรือสองคน หรือเราเองก็อาจจะเคยทำงานอิสระเช่นกัน ซึ่งคนทำงานอิสระแต่ละคนอาจมีเหตุผลในการเข้ามาเป็นแรงงานอิสระแตกต่างกัน แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มดังนี้
  • Business Builders กลุ่มคนที่เข้ามาทำงานอิสระเพื่อหาประสบการณ์ก่อนที่จะเปิดธุรกิจของตนเอง หรือเปิดธุรกิจใหม่
  • Career Freelancers กลุ่มคนที่ทำงานอิสระเพื่อเป็นอาชีพหลักของชีวิต
  • Side Giggers กลุ่มคนที่ทำงานอิสระเป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่ม
  • Passionistas กลุ่มคนที่ใช้งานอิสระในการหาโอกาสทำงานในสิ่งที่ตนเองรัก
  • Substituters เป็นการทำงานอิสระแทนการจ้างงานเต็มเวลาในรูปแบบเดิม
  1. สังคมสูงวัยและครอบครัวเล็ก สังคมที่มีผู้สูงวัยมากขึ้นและอัตราการแต่งงานลดลง นั่นอาจหมายความว่า ในบ้านหนึ่งหลังจะมีลูกที่ต้องดูแลพ่อและแม่เพียงลำพัง หรือในทางกลับกันด้วยครอบครัวที่เล็กลงครอบครัวที่มีลูกก็ต้องดูแลลูกด้วยตนเองไม่สามารถให้ปู่ย่าตายายช่วยกันดูแลได้อย่างสมัยก่อน รายได้ที่คนวัยแรงงานหามาได้จึงมักไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลคนในครอบครัว กลายเป็นแนวโน้มสำคัญที่ผลักดันให้คนหลายคนต้องการหารายได้เพิ่ม
  2. บริษัทหดตัวให้แข่งขันได้ดี การแข่งขันที่สูงขึ้นจากเสรีทางการค้าและการเกิดขึ้นของบริษัทใหม่ ๆ ทำให้แต่ละบริษัทจำเป็นจะต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยวิธีหนึ่งที่จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ คือการจ้าง Outsource มาทำงานแทนการจ้างพนักงานประจำมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทในระยะยาว
  3. ธุรกิจแพลตฟอร์มมีมากขึ้น เมื่องานอิสระและเศรษฐกิจกิ๊กเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น ธุรกิจแพลตฟอร์มจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในการสร้างโอกาสการว่าจ้างให้กับทั้งงานบริการขั้นพื้นฐานและขั้นส่งเสริม ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการได้มาเจอกัน เช่น บริการรถรับส่ง ผ่านแอพพลิเคชั่น Grab หรือ Line man บริการจ้างแม่บ้านผ่านเว็บ Seekster หรือ Promaid ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ 
  4. ความต้องการพื้นที่ทำงาน ทุกวันนี้หลายคนมีการทำงานที่หลากหลายไม่ได้ทำงานแค่หนึ่งอย่างในหนึ่งวันอีกต่อไป ทำให้คนเมืองต้องการพื้นที่ทำงานในเมืองที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในบริษัทเหมือนเดิม หลายคนมักใช้การพึ่งพิงร้านกาแฟที่มีการปรับตัวเองให้สามารถเป็นสถานที่สำหรับนั่งทำงานได้มากกว่าการขายอาหารและเครื่องดื่ม ในขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ ก็เริ่มมี Co-working space เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2019 คาดว่ามีการเพิ่มขึ้นของ Co-working space ถึง 40% เลยทีเดียว
  5. ภาวะโลกร้อน น้ำทะเลหนุน และน้ำท่วมบ่อยขึ้น เมื่อดูแผนที่แสดงความหนาแน่นทางกายภาพของเมืองกรุงเทพฯ ควบคู่กับแผนที่พื้นที่น้ำท่วมกระจายของ New York Times จะเห็นได้ว่าแหล่งงานมีการกระจุกตัวอยู่ในเมืองซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับพื้นที่ที่มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วม แสดงว่าแหล่งงานและที่อยู่อาศัยของทำงานมากมายจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ความเสียหายต่อทรัพย์สินและการปรับปรุงบ้านหลังน้ำท่วมของแรงงานในเมืองจะกลายเป็นรายจ่ายที่คนทำงานจะต้องแบกรับและเผื่อไว้โดยการหารายได้ให้ตนเองมากขึ้น
https://lh6.googleusercontent.com/XPmJtIOfwjzSqXM40WQlMxdfWInsbOdKumcHEIK80mQY_RHTRvacGdR9uk7uYD_nyoPMjXdjKr3gYC71ZEAUIg7iyVMOmxhs-bOQqt1YX8HN6ntnI5VI09gKrJceSzWAdqc_wf4L
  1. การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4th Industrial Revolution (4IR) ในครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนจากส่วนแบ่งสู่ไร้รอยต่อ คือ เส้นที่เคยแบ่งไว้ชัดเจนจะเริ่มจางลงเรื่อย ๆ คนกับสิ่งของเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เวลาในชีวิตไม่ได้ถูกแบ่งเป็นเวลางานและพักผ่อนอย่างตัดขาดอีกต่อไป พื้นที่พักผ่อน เดินทาง และการทำงานก็กลายมาเป็นพื้นที่เดียวกันได้เช่นกัน กลายเป็นว่าคนเมืองทุกวันนี้สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ อาจจะทำงานที่ร้านกาแฟพร้อม ๆ ไปกับการพักผ่อน หรือทำงานบนบีทีเอสระหว่างเดินทาง มากไปกว่านั้น เรายังสามารถทำงาน “ในเมือง”โดยที่ตนเองอยู่ที่ไหนก็ได้บนโลก
  2. หุ่นยนต์อัตโนมัติ ในปัจจุบันความสามารถในการทำงานของหุ่นยนต์เริ่มใกล้เข้าระดับที่สมองที่เราใช้งานมากขึ้นทุกที แต่ก็ยังคงมีคำถามว่าหุ่นยนต์อัตโนมัติจะมาแทนที่คนได้จริงหรือไม่? บริษัทหรืองานจะยังต้องการทักษะความสามารถบางอย่างของมนุษย์ในการทำงานมากน้อยขนาดไหน
  3. การเข้าระบบหรือรัฐสวัสดิการ สิ่งนี้เป็นปัจจัยเหวี่ยงเนื่องจากรัฐยังไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่าจะเป็นไปในทิศทางไหนในอนาคต

ภาพอนาคตของงานบริการ

จากแนวโน้มและปัจจัยผลักดันทั้ง 9 ประเด็นที่กล่าวมานั้น มีอยู่ 2 ประเด็นที่มีความไม่แน่นอนสูงแต่จะส่งผลกระทบต่อสังคมและแรงงานสูงเช่นกัน คือ การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ และนโยบายรัฐสวัสดิการ จึงจัดให้กลายเป็นแกนของความเป็นไปได้ 2 แกน ได้แก่ แกนที่ 1 “การพึ่งตนเอง” คือ การที่ทุกคนต้องพึ่งรายได้ของตนเองต่อความเสี่ยงในชีวิตด้านต่าง ๆ – “รัฐสวัสดิการ” คือ รัฐเข้ามาช่วยเหลือและรับความเสี่ยงแทนเราในบางกรณี เช่น ด้านสุขภาพ ด้านที่อยู่อาศัย ฯลฯ และแกนที่ 2 “มนุษย์ขับเคลื่อนเมือง” คือ การที่คนจ้างยังให้คุณค่ากับปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ในงานบริการอยู่มากทำให้หุ่นยนต์เข้ามาทดแทนได้ยาก – “หุ่นยนต์ครองเมือง” คือ การที่คนให้คุณค่ากับความแม่นยำและประสิทธิภาพของงานมากจนไม่เห็นคุณค่าของคนในงานอีกต่อไป ทำให้เกิดภาพอนาคตหรือฉากทัศน์ 4 ภาพ คือ หมาป่าโดดเดี่ยว หมาข้างถนน หมาในบ้าน และฝูงหมาป่า

https://lh6.googleusercontent.com/-ugFU1rz20VrTRfz3pCcp44snl1vdQOYk5PDgWT_wYuMF4jrgcXvsA96R6MKRUyTUNJs2TMGfGWTIGyymAfgp3fQIjZDevX7TwamAttIhUrfTuKzy9H0RMtypIcV9zJ6QUnLU-Oa

“หมาป่าโดดเดี่ยว” (พึ่งตนเอง และมนุษย์ขับเคลื่อนเมือง) จินตนาการถึงภาพคนที่ต้องทำงานเพื่อดูแลตัวเอง ในกลุ่มผู้ให้บริการขั้นพื้นฐาน เงินเก็บจะน้อยเพราะรายได้ไม่มาก แต่ต้องช่วยเลี้ยงดูครอบครัว ส่วนผู้ให้บริการขั้นส่งเสริม อาจจะมีเงินเก็บมากขึ้นมาบ้าง กลางวันทำงานบริษัท เลิกงานอาจต้องทำงานเสริม ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ เนื่องจากทำงานมากจนเกินไป ธุรกิจแพลตฟอร์มจะไม่มีจูงใจให้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เพราะไม่ได้ถูกกำหนดเป็นกฎหมาย ไม่มีการตั้งสหภาพแรงงาน เพราะไม่มีคนรู้จักกัน ส่วนพื้นที่เมือง คนเริ่มเดินทางและรถติดตลอดวัน แหล่งงานเริ่มกระจายไปตามรอบนอกเมือง เพราะคนเริ่มเดินทางไม่ไหว ทำให้เกิดศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ๆ และมีพื้นที่ทำงานสาธารณะกระจายตามย่านและชุมชนต่าง ๆ

“หมาข้างถนน” (พึ่งตนเอง และหุ่นยนต์ครองเมือง) จินตนาการถึงภาพที่อยู่อาศัยที่มีหุ่นยนต์คอยดูแลทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อย นั่นหมายความว่าผู้ให้บริการขั้นพื้นฐานจะมีชีวิตอยู่บนความเสี่ยงที่งานจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ในกรณีนี้ ถ้าหากตกงานก็จะหางานใหม่ไม่ได้ ความยากแค้นอาจส่งผลให้เกิดจลาจลกลางเมืองได้ในที่สุด ส่วนผู้ให้บริการขั้นส่งเสริม อาจมีความสัมพันธ์ข้ามกลุ่มสังคมน้อยมาก เพราะมีปฏิสัมพันธ์เพียงแค่กับหุ่นยนต์แทนมนุษย์ แต่งานขั้นส่งเสริมบางกลุ่มก็อาจจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ได้เหมือนกัน ทำให้กลุ่มคนทำงานบริการขั้นพื้นฐานต้องหาเรียนเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้โดนไล่ออก ธุรกิจแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนเป็นโมเดลจากการเป็นพื้นที่กลางในการว่าจ้าง เป็นบริษัทสั่งการแรงงานหุ่นยนต์ให้ไปทำงานตามที่ต่าง ๆ โดยให้ความสัมพันธ์กับแรงงานน้อยที่สุด พื้นที่เมืองจะมีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง ทั้งในเชิงรายได้ สังคม และความคิด หลายคนอาจเลือกทำงานในบ้านหรือพื้นที่ดี ๆ เพื่อที่จะไม่ต้องเห็นภาพความเหลื่อมล้ำดังกล่าว

“หมาในบ้าน” (รัฐสวัสดิการ และหุ่นยนต์ครองเมือง) จินตนาการถึงภาพที่หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ ในขณะที่รัฐก็คอยคุ้มครองความเสี่ยงต่าง ๆ กลุ่มแรงงานขั้นพื้นฐานหากตกงานก็จะยังสามารถหางานทำใหม่ได้ เนื่องจากได้รับการพัฒนาทักษะอื่นรอไว้แล้วจากสวัสดิการรัฐ ส่วนคนที่หางานไม่ได้ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ได้ เพราะมีรัฐคอยให้การช่วยเหลือดูแลด้วยบริการต่าง ๆ จนอาจทำให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจไม่ทำงานเลย ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการขั้นส่งเสริมจะมีสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน เพราะว่าหุ่นยนต์มาช่วยทำงานอื่น ๆ และอาจจะตัดสินใจไม่ทำงานเลยเช่นกัน เนื่องจากมีรัฐคอยดูแล ทำให้คนที่จ่ายภาษีสูงเริ่มไม่พอใจสังคมที่สร้างให้คนขี้เกียจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ธุรกิจแพลตฟอร์มอาจมีการจ้างแรงงานขั้นพื้นฐานที่มีประสบการณ์การให้บริการและมีทักษะเพียงพอในการปรับปรุงหุ่นยนต์ และเป็นตัวกลางในการให้ข้อมูลแรงงานต่อรัฐ และให้สวัสดิการแก่พนักงาน ส่วนพื้นที่เมือง คนใช้ชีวิตในเมืองจะราบรื่น เป็นเมืองอัจฉริยะ คนจะคุ้นเคยกับการปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์มากกว่ากับคนกันเอง

“ฝูงหมาป่า” (รัฐสวัสดิการ และมนุษย์ขับเคลื่อนเมือง) จินตนาการถึงภาพเมืองที่บริการโดยคนยังสำคัญอยู่ นอกจากนี้รัฐยังคอยดูแลและคุ้มครองความเสี่ยงต่าง ๆ ผู้ให้บริการขั้นพื้นฐานมีแหล่งงานรองรับกรณีตกงาน และได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการดูแลบ้านและคนในครอบครัว ทุกคนเริ่มจ่ายภาษี เพื่อเป็นรายได้เข้างบประมาณรัฐสวัสดิการ ผู้ให้บริการขั้นส่งเสริมจะทำงานแบบไม่เครียด เพราะมีสวัสดิการจากรัฐ และมีความรู้สึกเท่าเทียมกันระหว่างผู้ให้บริการขั้นพื้นฐานและขั้นส่งเสริม ธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นผู้ว่าจ้างรายใหญ่ เป็นภาคีสำคัญที่ภาครัฐใช้ในการเก็บภาษี และให้สวัสดิการต่าง ๆ พื้นที่เมืองจะมีคนเดินทางตลอดวัน คนเดินเท้ามากขึ้นและใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพราะรัฐมองว่าการเดินทางเป็นสวัสดิการ ทำให้ขนส่งมวลชนคึกคักกว่าเดิม พื้นที่สาธารณะเมืองกระจายตามย่านและชุมชน

ภาพอนาคตของการทำงานที่อยากให้เกิดขึ้น

จากภาพอนาคตทั้ง 4 ภาพ จะเห็นได้ว่า ภาพหมาป่าโดดเดี่ยว เป็นภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต หากเรายังคงปล่อยให้สถานการณ์หรือโครงสร้างเมืองเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนภาพหมาในบ้าน และภาพหมาข้างถนน เป็นสองภาพที่มีความเป็นไปได้ แต่ก็อาจจะเป็นภาพที่ไม่ค่อยน่าอภิรมณ์มากนัก ส่วนภาพที่น่าจะอยากให้เกิดขึ้นคือ ภาพฝูงหมาป่า เพราะเมืองจะโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คนมีปฎิสัมพันธ์กันตามท้องถนน เมืองเริ่มมีข้อมูลต่าง ๆ มาเอื้อให้เราทราบมากขึ้น และพื้นที่ทำงานอาจจะไม่ใช่ออฟฟิศอย่างเดียว แต่เป็น co-working space ที่มาแชร์เศรษฐกิจและความรู้ งานบางประเภทอาจจะยังอยู่ งานบางประเภทอาจหายไป แต่ก็จะมีงานใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาทดแทน อย่างเช่น  นักกฎหมายดิจิตอล นักวิทยาศาสตร์ นักออกแบบ โปรแกรมเมอร์ ซอฟต์แวร์ดีเวลอปเปอร์ นักตกแต่งต้นไม้แนวตั้ง คนเก็บบรรจุภัณฑ์ ร้านนวดไทย หรือ อาหารข้างถนน

https://lh3.googleusercontent.com/S564ZJD0lR516oh-v9OWwtJ3p5eZr6apeh4AGwHAO06Rqdu7g-e1sJ-9SA7ZyVn9boHzIsQnNaymHBy0NPB2JOJmYAe9ew7GGkXcWUIdz14GUZsDVmtUFliD6RnNpt92SBSwaYy4

ในอนาคตหากจะให้ฉากทัศน์ ฝูงหมาป่า เกิดขึ้นจริงในเมือง ก็คงจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม ชุมชน และเราทุกคน เพื่อให้เกิดสังคมที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการให้สวัสดิการแก่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังคอยสนับสนุนให้เกิดโอกาสการเรียนรู้ พัฒนาทักษะของตนเองให้พร้อมที่จะเป็นหมาป่าเพื่อรอการเข้าฝูง ร่วมกันผลักดันให้เกิดการรัฐสวัสดิการที่ดี และเอื้อประโยชน์ให้ทุกคนได้อย่างเหมาะสม


Contributor