01/09/2020
Insight

น้ำไร้ทางออกจนตรอกอยู่ใต้บาดาล

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์
 


หลายคนคงจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า วันที่น่ากลัวที่สุดของกรุงเทพฯ คือ “วันศุกร์ สิ้นเดือน ที่ฝนตก” ส่วนผสมของ 3 ปัจจัยที่ลงตัวที่สุดนี้ทำให้การจราจรหนาแน่น แน่นิ่ง และเนิ่นนาน จนกลายเป็นเรื่องขนหัวลุกของคนกรุงเทพฯ แทบทุกคน บางครั้งการเดินทางเพียง 15 นาทีในขณะที่ไม่มีการจราจรหนาแน่นก็สามารถถูกยืดให้กินเวลายาวนานถึง 3 ชั่วโมงได้อย่างง่ายดาย

ในขณะเดียวกัน เมืองและวิถีชีวิตของผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อก่อนตอนที่คนส่วนมากทำงานประจำในบริษัท วันศุกร์ก่อนวันหยุดสุดสัปดาห์จึงเป็นเหมือนวันปลดล็อกชีวิตให้ได้เริ่มพักผ่อนและวันสิ้นเดือนที่เงินเดือนออกจึงกลายเป็นวันที่ควรค่าแก่การให้รางวัลตนเอง ถึงแม้วิถีชีวิตดังกล่าวยังเป็นเรื่องปกติของหลายต่อหลายคน แต่คนเมืองอีกส่วนหนึ่งได้เริ่มหันมาทำงานในอาชีพอิสระรวมถึงทำงานนอกเวลาเสริมกับงานหลักของตนมากขึ้น

ความสำคัญของคืนวันศุกร์ก็อาจจะค่อยๆ ลดลงในวิถีชีวิตของแต่ละคน บางคนอาจได้พักแค่ในวันอาทิตย์ บางคนอาจต้องทำงานวันเสาร์อาทิตย์แล้วได้พักในวันธรรมดาแทน หรือบางคนอาจไม่มีวันพักผ่อนที่แน่นอนเลยก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานอิสระ เช่น ฟรีแลนซ์ และคนทำงานนอกระบบอื่นๆ นอกจากนี้กระแสรายได้สำหรับคนที่ทำงานหลากหลายและคนที่ทำงานอิสระก็เริ่มไม่สัมพันธ์กับช่วงเวลาสิ้นเดือนอีกต่อไป เมื่อแต่ละคนมีวันว่าง วันพักผ่อน หรือวันให้รางวัลตนเองไม่เหมือนกัน ความหนาแน่นของการออกมาใช้เมืองและท้องถนนจึงมีความกระจัดกระจายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความสำคัญของวันศุกร์และช่วงสิ้นเดือนเริ่มลดลงในบริบทของวิถีชีวิตและการใช้เมืองที่ต่างไป

ที่มาภาพจาก PPTV

จากส่วนผสมความน่ากลัวของรถติดทั้ง 3 ด้านที่กล่าวไว้ ปัจจัยที่ยังคงเหลืออยู่และดูจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นก็คงจะหนีไม่พ้นฝน จนกลายเป็นคำพูดใหม่ติดปากคนกรุงเทพฯ ที่เหลือเพียงสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “ฝนตกรถติด” ในช่วงมรสุมของทุกปีอย่างที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเดือนที่ผ่านมานี้ ฝนและน้ำท่วมจะคอยกลับมาเป็นประเด็นทางสังคมอยู่เรื่อยๆ ซึ่งในบทความนี้จะไม่พูดถึงเรื่องการจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมจากฝนมากนัก เนื่องจากเป็นประเด็นที่ถกกันในภาคสังคม ภาควิชาการ และภาคการเมืองมาอย่างมากแล้ว แต่ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) และจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่เพิ่มความท้าทายต่อการจัดการน้ำฝนและการดำรงอยู่ของเมืองกรุงเทพฯ คือ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น (Sea-Level Rise)

หากจะพูดเรื่องระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ก็คงต้องเริ่มจากประเด็นของภาวะโลกร้อน ซึ่งนานาชาติได้มีข้อตกลงปารีสไปเมื่อปี 2559 เป็นข้อตกลงเพื่อให้ทุกๆ ประเทศช่วยกันทำทุกวิถีทางให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกคงอยู่ภายใต้ 2 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยพยายามกันไว้ให้ไม่เกิน 1.5 องศา แต่เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา IPCC หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change ซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติ ทำหน้าที่คอยประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศได้เผยแพร่รายงานพิเศษชื่อ โลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส (Global Warming of 1.5 ºC)

แสดงถึงผลกระทบที่มนุษยชาติจะได้รับซึ่งจะร้ายแรงกว่าที่เคยคาดไว้ในข้อตกลงปารีส ในเรื่องระดับน้ำทะเล รายงานพิเศษของ IPCC ได้กล่าวโดยสรุปไว้ว่า ที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5 องศา ภายในปีพ.ศ. 2643 ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นถึง 0.26-0.77 เมตร แต่สำหรับอ่าวไทย คณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิจัยไว้ในปี 2556 พบว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1985-2009 มีค่าสูงขึ้นในอัตราคงที่ที่ 5 มม.ต่อปี ซึ่งค่อนข้างตรงกันกับแบบจำลองการคาดการณ์ของ IPCC เรื่องระดับน้ำทะเลตามภาพในรายงานด้านล่าง

ที่มาภาพ: IPCC

ในขณะเดียวกันกับที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ ระดับดินของเราก็ลดต่ำลง โดยอีกงานวิจัยหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พบใน TCIJ) พบว่าระดับดินในกรุงเทพมหานครมีอัตราการทรุดตัวอยู่ที่ 1 ซม./ปี ในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และ 1.1 ซม./ปี ในฝั่งตะวันตก ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากน้ำหนักของอาคารราว 50% และจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อีก 50%

เมื่อความสำคัญของประเด็นโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นเรื่องที่แน่นอนและสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตทุกคนแล้ว การอ่านงานวิจัย สื่อ ข่าว และรายงานทั้งหลาย ยิ่งชวนทำให้เราจินตนาการนึกถึงกรุงเทพฯ ในอนาคต ที่ดูเหมือนจะจมอยู่ใต้บาดาลน้ำทะเล หรือกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเต็มไปด้วยอาคารเก่า เป็นเหมือนดั่งป่าโกงกางที่สร้างด้วยคอนกรีต

ภาพจินตนาการทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ความเสี่ยงของกรุงเทพฯ กับความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำทะเลและระดับผิวดินมันมีมากน้อยขนาดไหนและพื้นที่ใดบ้างที่จะได้รับการกระทบเป็นพิเศษ บทความนี้จึงอยากลองวิเคราะห์อย่างง่ายๆ เพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยดังกล่าว ซึ่งหากจะวิเคราะห์อย่างละเอียดคงจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์มาเป็นผู้วิเคราะห์อีกทีหนึ่ง

การวิเคราะห์นี้เลือกใช้ข้อมูล SRTM (Shuttle Radar Topography Mission) ที่เก็บเมื่อปีพ.ศ. 2543 ด้วยจานดาวเทียม เป็นฐานข้อมูลจากสาธารณะระดับโลกที่บ่งบอกถึงระดับความสูงของพื้นที่ต่างๆ จากระดับน้ำทะเล หรือที่เรียกว่าข้อมูล DEM (Digital Elevation Model) โดยข้อมูล SRTM มีขนาดความละเอียดแนวดิ่งอยู่ที่ 1 เมตร และความละเอียดแนวราบโดยประมาณอยู่ที่ 90 x 90 เมตร แสดงให้เห็นว่าข้อมูล SRTM มีข้อจำกัดทั้งด้านความละเอียดและด้านความเก่าของข้อมูล นอกจากนี้ หากดูจากแผนที่ระดับความสูงของผืนดินกรุงเทพฯ

ที่แสดงข้อมูล DEM ด้านล่าง จะพบว่าพื้นที่ใจกลางเมืองปรากฏเป็นสีแดง (มีความสูงในแนวดิ่งมาก) ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้สูงกว่าที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ สักเท่าไหร่นัก แสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องอีกด้านว่าข้อมูลจากนี้น่าจะนับรวมความสูงอาคารเข้าไปด้วย ทั้งนี้ SRTM เป็นข้อมูลที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีและน่าจะเพียงพอต่อการศึกษาในภาพรวมเพียงพอให้เราเห็นภาพรวมของความเป็นไปได้ใสถานการณ์น้ำทะเลท่วมเมืองในอนาคตเท่านั้น การวิเคราะห์ข้อมูลในบทความนี้จึงไม่ได้เน้นที่ความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ แต่เน้นชวนให้เกิดจินตนาการร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในอนาคต

จากงานวิจัยสองส่วนที่เล่าให้ฟังข้างต้น หากอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลคงที่อยู่ที่ 5 มม./ปี เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ผนวกกับการทรุดตัวของแผ่นดินที่ 1 ซม./ปี การเปลี่ยนแปลงระหว่างระยะห่างของแผ่นดินกับน้ำทะเลโดยรวมจะอยู่ที่ 1.5 ซม./ปี นอกจากนี้เนื่องจากข้อมูล DEM ที่ใช้เป็นข้อมูลของปี 2543 เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา

เราจึงอาจจะคำนวนได้ง่ายๆ ว่าพื้นที่ของกรุงเทพฯ ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1 เมตร คงจะกลายเป็นพื้นที่ที่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเลภายในไม่ถึง 60 ปีข้างหน้า [(100 ซม./1.5 ซม.ต่อปี) – 9 ปีของความเก่าข้อมูล = 58 ปี] แสดงไว้เป็นสีน้ำเงินเข้มในแผนที่กรุงเทพฯ… ผืนดินกินบาดาลด้านล่างนี้ ทั้งนี้หากความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นอัตราก้าวหน้า กรุงเทพฯ ก็อาจจะจมน้ำเร็วกว่าระยะเวลาดังกล่าวก็เป็นได้

เมื่อเรามุ่งเน้นไปที่พื้นที่ที่มีความสูงไม่เกิน 1 เมตรจากระดับน้ำทะเล เราก็เริ่มที่จะเห็นถึงการกระจายของความเสี่ยงที่ไม่เท่ากันตามเขตและแขวงต่างๆ ของกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑลโดยรอบ แผนที่พื้นที่ลุ่มเท้าจุ่มบาดาลด้านล่างแสดงให้เห็นว่าแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียนเป็นแขวงที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมากที่สุด โดยมีพื้นที่ถึง 45% ที่สูงไม่เกิน 1 เมตรจากน้ำทะเล

ซึ่งในอดีตและปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวก็เป็นพื้นที่ของป่าโกงกางที่ชุ่มน้ำกร่อยอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันพื้นที่ที่ได้ผลกระทบรองๆ มาส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ในเขตลาดกระบัง เช่น แขวงขุมทอง (28%) แขวงลำปลาทิว (22%) แขวงทับยาว (22%) แขวงคลองสองต้นนุ่น (21%) และแขวงคลองสามประเวศ (20%) ซึ่งถึงแม้พื้นที่ดังกล่าวจะมีความต้องการในการเติบโตในด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่มาก แต่ความเสี่ยงต่อการจมน้ำทะเลในพื้นที่ดังกล่าวก็มีอยู่สูงเช่นกัน

เมื่อเห็นความเสี่ยงที่กระจายอยู่โดยรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว เราควรที่จะต้องเริ่มเห็นการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างจริงจังมากขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ในเชิงนิเวศเราอาจสร้างเกราะป้องกันด้วยเข็มขัดเขียวของป่าโกงกางตามแบบธรรมชาติเช่นในแขวงท่าข้ามหรือในเชิงวิศวกรรมเราอาจสร้างกำแพงกันน้ำตลอดแนวชายฝั่งหรือสร้างประตูน้ำตลอดแนวอ่าวไทยยาว 88 กิโลเมตร ตามภาพในบทความของ Financial Times ด้านล่าง ซึ่งคงเป็นเรื่องทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ต้องหารือร่วมกันอีกทีหนึ่ง

Image result for ft keep water at bay bangkok
ที่มาภาพ Financial Times

ในขณะเดียวกัน ประเด็นของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและระดับดินที่ลดต่ำลงอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดน้ำท่วมด้วยตัวของมันเองก็ได้ จากมุมมองของเมืองแล้ว ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นแปลว่าเมืองจะสามารถระบายน้ำออกทะเลได้น้อยลงถึงไม่ได้เลย เมื่อน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ กรุงเทพฯ ก็จะมีสภาพกลายเป็นบ่อรับน้ำไปโดยปริยาย คือ ในช่วงน้ำหลาก จะมีน้ำส่วนหนึ่งมาจากแม่น้ำทางทิศเหนือ อีกส่วนมาจากน้ำทะเลจากทิศใต้ แถมยังมีฝนที่ตกลงมาจากฟากฟ้า ทำให้น้ำในเมืองไร้ทางออก แล้วเมืองก็จะจนตรอกอยู่ใต้บาดาล เมื่อถึงสถานการณ์ดังกล่าว ฝนตกรถติดคงกลายเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับการเป็นอัมพาตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่ต้องหยุดชะงักเนื่องมาจากน้ำท่วม ซึ่งหลายส่วนของกรุงเทพฯ ก็เคยเจอมาแล้วในปี 2554

ในพื้นที่เมืองใหญ่ติดทะเลหลายแห่งที่เล็งเห็นปัญหาน้ำท่วมเหล่านี้ การพยายามแก้ไขที่ต้นเหตุอาจเป็นเรื่องไม่ทันการณ์และไม่เหมาะสมไปเสียแล้ว หลายเมืองเริ่มมองถึงการปรับตัว (Adaptation) ให้สามารถอยู่คู่กับปัญหาเหล่านี้แทนการพยายามป้องกันหรือหลีกเลี่ยงให้ไม่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 2014

เมืองบอสตันได้วางแผนนโยบายสำหรับสภาพอากาศ (Climate Action Plan) โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การกำหนดกฎหมายควบคุมอาคารที่กำลังจะสร้างใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานภายในทั้งตึกได้ ถึงแม้ชั้น 1 ของอาคารจะมีน้ำท่วม ประเด็นนี้รวมไปถึงระบบน้ำ ไฟฟ้า และอากาศ (HVAC) ของอาคารทั้งหมด นอกจากนี้สำหรับอาคารเก่า เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว หรืออื่นๆ ได้มีการศึกษาหาแนวทางว่าอาคารเหล่านั้นจะมีทางเลือกในการปรับ (Retrofit) โครงสร้างและชิ้นส่วนอย่างไรบ้างเพื่อให้อาคารสามารถอยู่คู่กับสภาพน้ำท่วมได้

ในสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในระดับโลก เมืองคงจะต้องเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดในการพัฒนาตนเอง จากเดิมที่คิดว่าเมืองจะใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติได้อย่างไรบ้าง มาเป็นจะทำอย่างไรให้เมืองลดการสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด และจากเดิมที่คิดว่าเมืองจะป้องกัน (Prevent) หรือหลีกเลี่ยง (Mitigate) ไม่ให้เกิดภัยพิบัติได้อย่างไรบ้าง มาเป็น เมืองจะปรับตัว (Adapt) อยู่คู่กับความรุนแรงทางธรรมชาติที่นับวันจะผันผวนมากขึ้นได้อย่างไรแทน เราอาจจะต้องเริ่มมองถึงระบบต่างๆ ที่สำคัญต่อกิจกรรมของเมือง ทั้งการปรับตัวของที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน ระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ขึ้นกับสภาพการจราจร เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือแม้กระทั่งเรือโดยสาร โดยตั้งหมุดหมายสำคัญของแผนเป็นภาพของคนเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่จนตรอกแม้วันที่เมืองจมอยู่ใต้บาดาล

อ้างอิง
Digital Elevation Model (DEM) โดย ID: SRTM3N13E100V2 Acquired on 11 February 2000
 Published on 1 October 2012.


Contributor