13/09/2021
Public Realm

ศาสตร์และศิลป์ในการสร้างเเมพวิชวลเมือง กับ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


เรียบเรียงโดย ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์

ต้องเกริ่นก่อนว่าบทความในครั้งนี้เกิดจากผู้เขียนได้มีโอกาสได้เข้าไปเรียนในคลาส 154479 : การออกแบบแผนที่ ของนักศึกษาภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งให้เกียรติเชิญ คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ฝ่าย Urban Intelligence และศิษย์เก่าภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร แล้วเกิดไอเดียอยากส่งต่อและถ่ายทอดความรู้ด้านการออกแบบและไอเดียการสรรค์สร้างแมพวิชวลของเมือง เป็นบทความชิ้นนี้

แมพวิชวลในงานเมือง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแผนที่นั้นมีประโยชน์และถูกนำไปใช้งานได้มากมายหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการทหารที่ต้องอาศัยแผนที่ในการดูจุดยุทธศาสตร์และวางแผนการรบ ด้านการท่องเที่ยว ที่ต้องการอาศัยแผนที่ในการดูเส้นทางหรือตำแหน่งของสถานที่ท่องเที่ยว ด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่อาศัยแผนที่ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงหรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ เรียกได้ว่าทุกศาสตร์ทุกแขนงต้องอาศัยแผนที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยเก็บบันทึก ศึกษาและสื่อสารข้อมูล

ในด้านการออกแบบและพัฒนาเมืองเองแผนที่ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่มักจะถูกหยิบมาใช้งาน โดยแผนที่มักจะถูกนำมาใช้ในการแสดงผลของข้อมูลที่ได้มีการเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ นำมาถ่ายทอด หรือ Visualize ให้ข้อมูลเหล่านั้นกลายเป็นเเผนที่เพื่อทำให้ง่ายต่อการเข้าใจเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อไปยังบุคคนทั่วไปที่อาจไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ นอกจากนี้การนำข้อมูลมาแปลงเป็นแผนที่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้

 เช่น การนำแผนที่ข้อมูลแต่ละแบบมาทับซ้อนกัน ซึ่งทำให้สามารถเห็นภาพข้อมูลใหม่ๆที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อนได้ ตัวอย่างเช่น แผนที่อุปสงค์ VS อุปทาน เมืองแห่งการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร ที่มีการนำข้อมูล สาธารณูปการในระบบการศึกษา สาธารณูปการสนับสนุนการเรียนรู้ และสาธารณูปการศักยภาพเพื่อการเรียนรู้ มาทับซ้อนกันเพื่อหาพื้นที่ศักยภาพในการเรียนรู้มากที่สุด รวมถึงสามารถนำไปทับซ้อนกับข้อมูลช่วงวัยของประชากร ทำให้เห็นว่า อุปสงค์และอุปทาน ระหว่างประชากรและแหล่งการเรียนรู้ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการคิดหาวิธีในการแก้ไขปัญหาของเมืองได้

นิยามและความเป็นมาของแผนที่

ตามพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของแผนที่ไว้ว่า แผนที่ คือ สิ่งที่แสดงลักษณะของพื้นผิวโลกทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและที่ปรุงแต่งขึ้น โดยแสดงลงในพื้นแบนราบ ด้วยการย่อให้เล็กลงตามขนาดที่ต้องการและอาศัยเครื่องหมายกับสัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้น

คุณอดิศักดิ์ มองว่านิยามของแผนที่ สามารถอธิบายได้มากมายไม่ตายตัว แล้วแต่ว่าใครเป็นผู้พูด แล้วแต่ภูมิหลัง แล้วแต่ช่วงเวลา แต่โดยหัวใจสำคัญแล้ว แผนที่ถือเป็นเรื่องมือสื่อสาร สิ่งที่เราอยากจะสะท้อนหรือแสดงไปยังผู้รับสาร

“แผนที่อุปมาดั่งหยาดน้ำฟ้า” กล่าวคือ มีหลายสถานะ หลายที่มา และสร้างผลกระทบได้หลากหลาย

เมื่อย้อนมองดูความหมายของแผนที่ในแต่ละบริบท จะพบได้ว่า ตั้งแต่สมัยอดีตกาล แผนที่คือพลังและอำนาจ เห็นได้จากในยุคสมัยล่าอาณานิคม ที่แผนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล่าอาณานิคมหรือแสวงหาพื้นที่ใหม่ๆ เช่น แผนที่ในการเคลื่อนทัพของนโปเลียน แผนที่ใช้ในการเดินเรือของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส หรืออย่างกรณีพิพาททะเลจีนใต้ แผนที่ Nine(eleven)-dash-line ที่ถูกใช้กำหนดขอบเขตของพื้นที่ทางทะเลของประเทศต่างๆ และเป็นแผนที่ที่จีนใช้เป็นเครื่องมือในการขยายอาณานิคม รวมถึงปลูกฝังความคิดนี้ให้กับประชากรผ่านการบรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ใกล้ตัวและหลายคนอาจจะทันกับเหตุการณ์ คือ กรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งมีการใช้แผนที่ L7018 และ L708 ในการอ้างอิงเขตแดนปราสาทเขาพระวิหารกับศาลโลก

แผนที่เขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งถูกใช้เป็นหลักฐานยื่นศาลโลก กรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร

แผนที่คือศิลปะและวิทยาศาสตร์

แผนที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่ซึ่งแผนถูกวาดด้วยมือ ซึ่งต้องเทคนิคและทักษะทางศิลปะในการวาด เช่น แผนที่สาแหรกครอบครัว (Family Tree) ซึ่งเป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่ถูกนำมาใช้หลากหลายจนถึงปัจจุบัน แผนภูมิศริสตจักร (Complete Ecclesiastical) ซึ่งเป็นแผนที่บันทึกความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ รวมถึงแผนที่แสดงผลวิจัยและค่าสถิติต่างๆ แผนที่เหล่านี้ถูกนำไปใช้ในด้านการเรียนการสอน เพราะแผนที่ไม่ใช่แค่การวาดภาพ แต่เป็นการบอกข้อเท็จจริงที่ถูกบันทึกก่อนแปลงเป็นแผนที่ 

แผนที่ในฐานะที่เป็นศิลปะ โดย คุณหฤษฎ์ ธรรมประชา

แผนที่ คือ สื่อ 

แผนคือสื่อที่พบเห็นได้มากในปัจจุบัน ซึ่งมีการเสริมแทรกมิติที่หลากหลายโดยส่วนมากจะถูกออกแบบมาให้มีความสวยงาม มีความน่าดึงดูด มักจะอยู่ในสื่อการเรียนการสอน สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น แผนที่ของ National geography หรือ แผนที่ Covid-19 Outbreak ที่เป็นสื่อในการให้ข้อมูลข่าวสารหรือให้ความรู้

ตัวอย่างแผนที่ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อ (Media)

อะไรคือจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องแผนที่?

ก่อนที่จะเข้าเนื้อหาหลัก เรามาทำความรู้จักกับคุณอดิศักดิ์ ถึงจุดเริ่มต้นความสนใจเรื่องแผนที่กันสักหน่อย โดยคุณอดิศักได้เล่าถึงที่มาที่ไปของความสนใจ มารู้จักจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่อง เริ่มมาจากในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีวิชาที่สอนเรื่องแผนที่มากมาย โดยในขณะที่เรียนวิชาธรณีวิทยาหรือภูมิศาสตร์กายภาพ ก็ได้มีการเขียนแผนที่ชุดลายควานสักและลักษณะสัณฐาน (Landform) ประกอบกับความชอบด้านศิลปะที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ทำให้มองว่าการทำแผนที่ก็เป็นเรื่องของศิลปะเสียมากกว่า ทำให้เริ่มเกิดความชอบในแผนที่ขึ้น ต่อมาจึงได้เริ่มศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง จนกระทั่งได้มีโอกาสอ่านหนังเล่มที่ถือได้ว่าพลิกมุมมองในเรื่องนี้คือหนังสือชื่อว่า  มองโลกผ่านแผนที่ ร้อยแผ่นร้อยเรื่องราว เขียนโดย เดนิส วูด, วอร์ด แอล. ไกเซอร์ และ บ็อบ อะบรามม์ส แปลโดย อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ ซึ่งเปิดโลกความชอบของแผนที่และสร้างความประทับใจเรื่องแผนที่มาจนถึงปัจจุบัน

หรือหากพูดถึงเเรงบันดาลใจจากแผนที่ซื่อก้องโลกที่เขาได้อ่านหรือเคยผ่านตาไม่ใช่เพียงกราฟิกบนแผนที่แต่เป็นเรื่องราวของแผนที่ต่างหาก คงหนีไม่พ้น แผนที่การเคลื่อนทัพของนโปเลียน ของ Minard ที่แสดงรูปแบบข้อมูลในมิติที่หลากหลายลงไปบนแผนที่ฉบับนั้น ทั้งจำนวนทหารที่หายไประหว่างทาง จนถึงอุณหภูมิในแต่ละช่วงเวลาและสถานที่ที่ต่างกัน อันเป็นสาเหตุหลักของการตายของเหล่าทหาร ซึ่งต่อมาถูกเรียกหรือได้รับยกย่องให้เป็นแผนที่ในระบบของไมนาร์ด (Minard System) อีกแผนที่เป็นแผนที่การเก็บข้อมูลจำนวนผู้ป่วยจากโรคอหิวาตกโรคในย่านโซโห ลอนดอน ของ จอร์น สโนว์ ซึ่งคงผ่านตากันอย่างมากในช่วงของการระบาดของโควิดในระยะที่ผ่านมา ซึ่งนั่นคือ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวแมพวิชวลเมืองของเขา

ประเภทของแผนที่นั้นมีอะไรบ้าง

แผนที่โดยทั่วไปอาจเเบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ 

1.Topographic Map คือ แผนที่ภูมิประเทศ เป็นแผนที่ที่แสดงลักษณะภูมิประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความชันของภูเขา ตำแหน่งแม่น้ำ ถนน พื้นที่สีเขียว พื้นที่ทะเลทราย เป็นต้น

2.Political Map/Reference Map คือ แผนที่รัฐกิจ เป็นแผนที่ที่พัฒนาจากแผนที่ภูมิประเทศ โดยแผนที่นี้จะเพิ่มรายละเอียดเขตแดนต่างๆ เช่น ขอบเขตจังหวัด ขอบเขตประเทศ แสดงให้เห็นขอบเขตต่างๆสิ้นสุดตรงไหน มีอาณาเขตติดต่อกับใครบ้าง แผนที่ประเภทนี้จึงมักจะถูกใช้เป็นแผนที่ในการอ้างอิง

3.Thematic Map คือแผนที่เฉพาะเรื่องหรือที่คุณอดิศักดิ์เรียกว่า แมพวิชวล แผนที่นี้เป็นแผนที่ที่แสดงเนื้อหาข้อมูลเฉพาะสิ่งที่สนใจในบริเวณพื้นที่ภูมิศาสตร์นั้นๆ เช่น แผนที่แสดงจำนวนประชากรในแต่ละเขตของกรุงเทพฯ แผนที่แสดงตำแหน่งคลัสเตอร์โควิด 19 เป็นต้น  โดยปัจจุบันแผนที่ประเภทนี้เป็นแผนที่ที่ได้รับความนิยมและถูกใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบัน

โดยคุณอดิศักดิ์ได้มีการอธิบายเพิ่มเติมถึงสัดส่วนของเนื้อหาภายใน Thematic Map ซึ่งดูได้จาก 2 ด้านหลักๆ คือ Theme ซึ่งก็คือธีมหรือจุดเด่นที่เราอยากหยิบยกขึ้นมาเล่า เช่น แผนที่ป่าไม้ก็จะมีการเน้นแสดงเรื่องป่าไม้เป็นหลัก และ Base ซึ่งก็คือข้อมูลพื้นฐานทั่วไปภายในแผนที่ เช่นการแสดงข้อมูล ถนน แม่น้ำ เป็นต้น ซึ่งสัดส่วนของ Thematic Map สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ Theme>Base Theme=Base และ Theme<Base

การแบ่งธีม (Theme) และ เบส (Base) ของแผนที่เฉพาะเรื่อง (Thematic Map)

หัวใจของการทำแมพวิชวล

หัวใจสำคัญของการทำแมพวิชวล อาจจะไม่ได้อยู่ที่การออกแบบกราฟฟิคให้สวยงามเท่านั้น แต่เป้าหมายหลักที่สำคัญของการทำแผนที่ คือ ความพยายามในการสร้างภาพแทนเพื่อการส่งสารผ่านการตีความเนื้อหาข้อมูล เพื่อทำให้เห็นเป็นภาพ 

ขั้นตอนแรก คือ ขั้นตอนการ Framing หรือการกำหนดโจทย์ว่าโจทย์ที่เราต้องการจะสื่อคืออะไร จากนั้นจึงคิดในเชิงระบบ (Systeming) ว่าแผนที่ของเราจะมีระบบในการแสดงข้อมูลให้ออกมาเป็นแผนที่อย่างไร จากนั้นเราจึงค่อยมีการออกแบบกระบวนการทำให้เห็นเป็นภาพ (Visualize) และในขั้นตอนสุดท้ายเราจึงค่อยนำแผนที่นั้นมาวิพากษ์หรือสังเคราะห์ (Synthesis) ลองตีความแผนที่ของเราเพื่อดูว่าแผนที่ที่เราทำนั้นมันมีความถูกต้องหรือไม่ ดี-ไม่ดีอย่างไร สิ่งที่เราต้องการจะสื่อนั้นมันถูกถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจนแล้วหรือยัง

ยกตัวอย่าง การทำแผนที่มหานครซอยตัน ที่มีการกำหนดโจทย์คือแสดงจำนวนซอยตันที่อยู่ในกรุงเทพฯ ต่อมามีการคิดในเชิงระบบ คือ ในระบบถนนซึ่งเป็นระบบโครงข่าย เมื่อมองในแบบทฤษฎีกราฟ หรือ network จะเห็นได้ว่า vertex หรือ node ก็เปรียบเสมือนเป็นสถานที่หรือจุดหมายปลายทาง ส่วน edge หรือ link ก็เปรียบเหมือนเป็นถนนที่เชื่อมต่อสถานที่นั้นๆ เมื่อเรากลับมามองที่โจทย์และทฤษฎีเบื้องหลัง สามารถแปลงได้ว่า ซอยตันก็คือ vertex หรือ node ที่เชื่อมกับ vertex หรือ node เพียงเส้นเดียว ซึ่งตรงกับความเป็นจริงของซอยตันที่สามารถเดินทางเข้าออกได้เส้นทางเดียว ไม่ได้เชื่อมต่อกับซอยอื่นๆนั่นเอง

ทฤษฎีเบื้องหลังการทำแผนที่มหานครซอยตัน
แผนที่ รูปแบบซอยตัน

กายวิภาคของแมพวิชวล

คุณอดิศักดิ์ได้อธิบายถึงหลักการในการออกแบบแผนที่ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญทั้งหมด 4 องค์ประกอบ คือ ตัวอักษร สีและสัญลักษ์ องค์ประกอบและการจัดวาง และเนื้อหาแผนที่

1.ตัวอักษร (Text, Typography, Heading)

ไม่ว่าจะเป็นชื่อแผนที่ ข้อความบรรยายต่างๆบนแผนที่ ต้องมีการเลือกใช้ตัวหนังสือ การเลือก Typography และการตั้งชื่อแผนที่ให้มีความน่าสนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเพราะชื่อของแผนที่ เพราะเป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับแผนที่ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าแผนที่นั้นมีลักษณะเป็นทางการหรือไม่

การเลือกตัวอักษรนั้นต้องมีเหมาะสม อ่านง่าย จากภาพตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าสีของตัวอักษรตัดกับพื้นหลังของแผนที่ มีการใช้กรอบตัวอักษรสีขาวเพื่อทำให้เห็นชัดเจนขึ้นไม่กลืนไปกับบัพเฟอร์ มีการให้ค่าลำดับศักดิ์ ใหญ่-เล็ก ตามข้อมูลความหนาแน่นสถานบันเทิง 

ตัวอย่างการใช้ตัวอักษรบนแผนที่ในการสื่อข้อมูล

2.สีและสัญลักษณ์ (Color and Legend) 

หลักการในการเลือกใช้สีมีแนวคิดที่สำคัญอยู่ 3 ปัจจัย ได้แก่ Theory หรือแนวคิดเชิงทฤษฎีการใช้สี Rules แนวคิดเชิงกฎเกณฑ์ เช่น ในทางธรรมชาติ แม่น้ำต้องเป็นสีฟ้า ป่าต้องเป็นสีเขียว เป็นต้น และ สุดท้าย คือ Inspiration แนวคิดจากแรงบันดาลใจ เป็นปัจจัยที่เราเลือกสีตามแต่จะจินตนาการ ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว 

ตัวอย่างการใช้สีในงานเมืองที่มี Norm เบื้องหลังซึ่งใช้เป็นมาตรฐาน

Tips and Trick

มักมีความลักลั่นและเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง กับการใช้ข้อมูล 2 ประเภท คือ ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการใช้ที่ดินในผังเมืองรวม ซึ่งมีระบบ Code นิยามของสีที่แตกต่างกัน อาทิ พื้นที่เกษตร ในระบบวิธีคิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน (กรมพัฒนาที่ดิน) ส่วนใหญ่จะใช้สีเหลือง ส่วนในทางผังเมือง (กรมโยธาธิการและผังเมือง) จะใช้สีเขียว เป็นต้น

Color Theory หรือทฤษฎีสี ก็เป็นทฤษฎีที่มักถูกใช้เป็นหลักการพื้นฐานในงานออกแบบหรือวิจิตรศิลป์ โดยหลักๆแล้วระบบสีจะมีอยู่ 3 ระบบ คือ แม่สีแสง (RGB) แม่สีธรรมชาติ (CMYK) และระบบค่าสีขาวดำ (Grayscale) ในการเลือกใช้คู่สีที่เข้ากัน (Color combinations) จะถูกแบ่งออกเป็น 6 รูปแบบ ได้แก่ Complementary คือการเลือกสีที่ตรงข้ามกันในวงล้อสี (Color wheel) Analogous คือการเลือกที่อยู่ข้างๆกันในกงล้อสี Triadic และ Split-Complementary คือการใช้สีที่แตกต่างกัน 3 สี ในกงล้อสี มีลักษณะการเลือกเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าและสามเหลี่ยมหน้าจั่ว Square และ Tetradic คือการใช้สีที่แตกต่างกัน 4 สี ในกงล้อสี มีลักษณะการเลือกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือการเลือกสีเพื่อส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึก เช่น หากผลิตภัณฑ์ของเราเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ มีการใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราก็มักจะใช้สีเขียวเพื่อแสดงถึงความเป็นธรรมชาติของผลิตภัณฑ์

สำหรับรูปแบบการใช้สีในแผนที่จะมีรูปแบบหลักๆอยู่ 3 รูปแบบ คือ

1. แบบ Qualitative เป็นการใช้สีเพื่อแบ่งประเภทข้อมูลเชิงคุณภาพ หรือ มาตรนามบัญญัติ (Nominal-scale variable) เช่น เพศ ประเภทของการใช้ประโยชน์อาหาร ประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น โดยแต่ละสีที่เลือกใช้จะเป็นสีที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

2. แบบ Sequential เป็นการใช้สีเพื่อแบ่งข้อมูลเชิงปริมาณ หรือ มาตรอันดับ (Ordinal-scale variable) เช่น ข้อมูลจัดอันดับมาก-น้อย สูง-ต่ำ เป็นต้น โดยจะเลือกใช้แค่สีgfup;แต่มีการไล่ลำดับความเข้ม-อ่อนตามข้อมูล

3.แบบ Diverging เป็นการใช้สีเพื่อแบ่งแยกข้อมูลคู่ตรงข้าม เช่น เพศชาย-หญิง เลือกตั้งระหว่าง 2 พรรคการเมือง หรือการแสดงผลของอุณหภูมิจากร้อนที่สุดไปหาเย็นที่สุด ซึ่งสีที่เลือกใช้ก็มักจะเป็นสีที่อยู่ตรงข้ามกันของกงล้อสี

นอกจากการใช้สีแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องของการเลือกใช้สัญลักษณ์ต่างๆบนแผนที่

การออกแบบแผนที่ที่ดีนั้นปัจจัยด้านสีและสัญลักษณ์จะต้องทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาของแผนที่ได้ง่าย เช่น มีการใช้สี รูปทรงและพื้นผิว (Texture) ที่แตกต่างกันในแต่ละสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้อ่านสามารถแยกประเภทได้ง่ายมากขึ้น การกำหนดความหนา-บาง การใช้เส้นประ-ไม่ประ ความโปร่งแสง-ทึบแสงของสัญลักษณ์ เพื่อแยกให้เห็นความแตกต่างและลำดับความสำคัญของข้อมูลว่าอะไรมาก่อนมาหลัง สำคัญมากสำคัญน้อย

ตัวอย่างการใช้สี รูปทรงและลายเส้น ของสัญลักษณ์ต่างๆ บนแผนที่

ตัวอย่างโครงการแรกที่หยิบยกมาคือ โครงการ GoodWalk เมืองเดินได้ เมืองเดินดี จากภาพจะสังเกตุได้ว่าการทำแผนที่หรือสื่อต่างๆในโครงการ มีการใช้ Brand CI หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า Corporate Identity หรือ Brand Identity คือ อัตลักษณ์ขององค์กรหรือแบรนด์ ที่กำหนดไว้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดและเพื่อสร้างการจดจำให้กับผู้บริโภคนั้นๆ โดยสื่อในตัวโครงการ GoodWalk ทั้งหมด จะมีการใช้กระดานสี (Color palette) เดียวกัน คือ ส้ม-เขียว ไม่ว่าจะเป็นในเว็บไซต์ วีดิทัศน์ หรือตัวแผนที่เองก็ตาม เพื่อช่วยในการสร้างอัตลักษณ์ให้ผู้คนสามารถจดจำโครงการได้ง่ายขึ้น 

3.องค์ประกอบและการจัดวาง (Composition) คือการจัดวางองค์ประกอบต่างๆบนแผนที่ให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น เช่น การวางตำแหน่งเนื้อหาที่เราอยากให้ผู้อ่านเห็นเป็นอันดับแรกควรวางไว้ตำแหน่งใด ควรมีขนาดประมาณไหน เป็นต้น 

โดยทั่วไปนักเรียนแผนที่หรือกลุ่มที่จบทางด้านภูมิศาสตร์ มักถูกกรอบของการวางองค์ประกอบแผนที่ในรูปแบบของแผนที่ภูมิประเทศ ที่ต้องมีองค์ประกอบแผนที่ครบถ้วน เช่น ชื่อแผนที่ ขอบระวางแผนที่ สัญลักษ์ ทิศทาง มาตราส่วน หรือองค์ประกอบอื่นๆ ตามการจัดวางแผนที่ภูมิประเทศ

หากแต่เมื่อเรามองการออกแบบแผนที่ เป้นการออกแบบหรือการสร้างงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เราควรมองการจัดวางองคืประกอบแผนที่ ในลักษณะเช่นเดียวกับการจัดวาง องค์ประกอบศิลป์ ซึ่งมีหลักการจัดองค์ประกอบพื้นฐานทั้งหมด 7 ข้อ ได้แก่ สัดส่วนของภาพ (Proportion) ความสมดุลของภาพ (Balance)จังหวะลีลาของภาพ (Rhythm) การเน้นหรือจุดเด่นของภาพ (Emphasis) เอกภาพ (Unity) ความขัดแย้ง (Contrast) และความกลมกลืน (Harmony)

โดยทั่วไปแล้วสายตาของคนเรามาจะมองบริเวณด้านบนกึ่งกลางกระดาษก่อน หรือมองเห็นองค์ประกอบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก่อนที่จะเลื่อนสายตาไปยังจุดอื่นๆ เพราะฉะนั้น ในการวางองค์ประกอบแผนที่ก็สามารถประยุกต์ใช้หลักการเหล่านี้ เพื่อช่วยถ่ายทอดข้อมูลให้เป็นไปตามที่เราต้องการ เช่น หากอยากให้ผู้อ่านเห็นเป็นอันดับแรก ก็มีการจัดวางบริเวณตรงกลาง ส่วนข้อมูลที่มีความสำคัญน้อย ก็จัดวางไว้ด้านล่างแล้วทำให้มีขนาดเล็กที่สุด เป็นต้น

ตัวอย่างการใช้องค์ประกอบศิลป์

4.ตัวแผนที่และเนื้อหาสาระ (Map Detail) เป็นเรื่องของการทำแผนที่ให้ออกมาเข้าใจง่าย (Simplification) ครอบคลุมสารที่ต้องการจะสื่อ(Generalization) และ เห็นเป็นภาพ (Visualization) ซึ่งจะทำให้เนื้อข้อมูลในแผนที่นั้นสามารถถูกถ่ายทอดไปยังผู้รับสารได้ง่ายมากขึ้น จากการผ่านกระบวนการแปลงข้อมูลเหล่านั้นออกมาเป็นแผนที่ ที่ทำให้อ่านได้ง่ายและไม่ซับซ้อนจนเกินไป มีความเข้าใจข้อมูลที่ต้องการจะสื่อได้อย่างครบถ้วน ตรงประเด็น 

ในปัจจุบันแผนที่มีรูปแบบหน้าตาที่เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมากและไม่ได้อยู่ในแพลตฟอร์มอย่างหน้ากระดาษอีกต่อไป ตอนนี้แผนที่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ถือเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากสามารถอัพเดทข้อมูลได้ตลอดเวลา มีฟังก์ชันการโต้ตอบ (Interactive) การมีลูกเล่นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแนวเล่าเรื่องทั้ง Storytelling Scrollytelling และ Maptelling ทำให้การอ่านแผนที่ในปัจจุบันนั้นไม่น่าเบื่อและเข้าถึงง่าย ในอนาคตข้างหน้า รูปแบบของแผนที่ก็อาจจะมีรูปแบบที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็เป็นได้

สุดท้ายนี้ ไม่มีแผนที่ใด หรือ เเมพวิชวลใด ที่จะมีความสถูกต้องสุงสุด เพราะแผนที่นั้น ท้ายที่สุด คงเป็นเพียงภาพแทนของชุดข้อมูล จินตนาการในประเด็นหรือเรื่องหนึ่งๆ เท่านั้น อีกทั้งด้วยความที่แผนที่มีการแสดงข้อมูลในหลายระดับ ในหลายๆ ครั้ง เราไม่สามารถตีความได้ว่าแผนที่นั้นถูกหรือผิดได้ 100% เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า จุดประสงค์ของผู้ทำแผนที่คืออะไร ดังนั้น ในมุมมองที่เราเป็นผู้ดูหรือทำแผนที่ เราจึงไม่ควรตัดสินแผนที่นั้นๆ จากการตีความเพียงมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น

แผนที่จึงเป็นภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของความจริงที่หลากหลาย

“maps are rarely right or wrong but simply different versions of the truth”

(kenneth Field,2021)


Contributor