16/07/2025
Environment
Rooftop Farming คุณปารีณากับภารกิจเปลี่ยนเมืองด้วยขยะอาหาร
The Urbanis

หลังจากได้ฟังเรื่องราวสวนผักบนดาดฟ้าของคุณแพรี่ พาย ที่มีการประยุกต์การเกษตรให้เข้ากับพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ ซึ่งแนวคิดการปลูกผักบนดาดฟ้ามีความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน
วันนี้ The Urbanis จึงขอเชิญชวนทุกคนไปพูดคุยกับ คุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บางกอก รูฟท็อป ฟาร์มมิ่ง จำกัด เป็นหนึ่งในองค์กรที่สรรสร้างระบบฟาร์มแบบครบวงจร ทั้งบนพื้นที่ดาดฟ้าและภาคพื้นดิน โดยเฉพาะการนำเศษอาหารที่เหลือจากการกินของชาวเมืองมาพัฒนาปรับเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านการเกษตร พร้อมผลักดันให้เมืองมีสุขภาวะที่ดี ดังนั้น Rooftop Farming มีบทบาทในการขับเคลื่อนเมืองอย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน
“เมื่อขยะอาหารอันไร้ประโยชน์ของมนุษย์เป็นส่วนสำคัญในการเกิดสวนผักปลอดสารบนดาดฟ้า”
คุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ ได้เล่าว่า ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์อย่างเช่นปัญหา food waste ในปัจจุบันขยะเศษอาหารของเมืองมากขึ้นในทุกวัน บริเวณที่เป็นอาคารพาณิชย์มักจะมีร้านอาหารมากกว่า 100 ร้าน ยิ่งจำนวนร้านอาหารมากเท่าไหร่ปริมาณเศษอาหารก็ยิ่งมากขึ้นตามมา การแยกขยะของคนไทยยังไม่ดีเท่าที่ควร และพนักงานต่อพื้นที่รับผิดชอบที่ไม่เพียงพอ จึงก่อให้เกิดมลภาวะทางกลิ่น กระทบสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสุขภาพอนามัยของผู้คนในพื้นที่ ตราบใดที่ไม่ให้ความร่วมมือกันทุกฝ่ายปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่หายไป

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ คุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ สนใจในการปรับเปลี่ยนสิ่งที่ทุกคนคิดว่าไม่สามารถเกิดประโยชน์ได้มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างการคิดค้นสูตรปุ๋ยหมักจากเศษอาหารที่เหมาะสมกับการปลูกต้นไม้และปลูกดอกไม้ คุณปารีณาได้มีโอกาสไปทำโครงการในส่วนการจัดวางพื้นที่ที่กัวดองเบลอ และได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมาออกแบบ แก้ไขปัญหา พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เกิดการเปลี่ยนจากดาดฟ้าห้างที่โล่งกว้าง สู่การออกแบบและปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นฟาร์มผักปลอดสารพิษบนดาดฟ้าใจกลางเมืองหลวง การผลักดันเรื่อง Urban farming และจัดการ food waste ที่ไร้ประโยชน์ให้กลายเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าทางการเกษตร ในตอนนั้นคุณปารีณาก็ได้มีมีความคิดว่าเมื่อมีสูตรปุ๋ยหมักที่ดีแล้วหากได้มีฟาร์มผักที่ปลอดสารพิษที่อยู่บนตึกสูงในกลางเมืองคงดีไม่น้อยที่เดียว ซึ่งพื้นที่ที่สนใจในครั้งนี้คือบริเวณดาดฟ้าห้าง “Center One”
“จากพื้นที่ดาดฟ้าที่ว่างเปล่าสู่การเป็นพื้นที่เกษตรใจกลางเมือง”
คุณปารีณา เล่าว่า กว่าจะเกิดเป็นฟาร์มผักบนดาดฟ้าในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องย้อนไปที่กลุ่มคนรักอนุสาวรีย์ของสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทำงานในเกี่ยวกับความร่วมมือพลเมืองมาราว 20 ปี โดยเน้นไปที่การทำ Area Base ได้มีการเขียนเรื่องเมือง ทำให้มีคนสนใจจนได้มีสมาชิกเข้ามา และหลังจากนั้นก็ได้มีการนั่งคุยหารือกันกับทางห้าง

คุณรัชพล ไกรจิรโชติ กรรมการบริหารของ Center One เห็นด้วยกับแนวคิดการสร้างฟาร์มผักบนดาดฟ้าของห้าง เนื่องจากปริมาณเศษอาหารจากห้างซึ่งมีมากหลายร้อยกิโลต่อวัน ในอนาคตอาจเกิดปัญหาหรือไม่สามารถจัดการได้ดี คงเป็นเรื่องน่ายินดีหากเศษอาหารจำนวนมากนั้นสามารถเกิดประโยชน์ได้ การตัดสินในร่วมหัวจมท้ายครั้งนี้ จึงทำให้เกิดการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการทำเกษตรบนดาดฟ้าแห่งนี้

“ปลูกผักเปลี่ยนอาชีพ จากวินมอเตอร์ไซค์เป็นเกษตรกรสวนผักสร้างเงิน”
เคยมีคนบอกว่า urban farming เป็นสิ่งที่นักธุรกิจไม่สนใจ เพราะใช้ทุนสูง ใช้แรงเยอะ ใช้คนเยอะ และใช้เวลาเยอะ แต่ผลตอบแทนที่ได้น้อย ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน คุณปารีณา เข้าใจถึงเป้าหมายและสิ่งที่เป็นข้อจำกัดในการสร้างซูเปอร์มาร์เก็ตฟาร์มของขอบเขตถนน แต่เกิดปัญหาโควิดขึ้นเสียก่อน จึงทำให้ต้องเปลี่ยนแผนที่วางไว้หลายๆอย่าง ภายใต้ความโชคร้ายทางสถานการณ์โรคระบาดก็ยังมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้น อย่างการได้ลองชวนวินมอเตอร์ไซค์มาปลูกผัก ปรากฏว่าวินมอเตอร์ไซค์รู้สึกชอบและอินไปกับมันเป็นอย่างมาก เพราะรายได้ต่อเดือนจากฟาร์มผักเป็นเงินหมื่นบาท ซึ่งมากกว่ารายได้ที่ทำงานวินมอเตอร์ไซค์ คุณปารีณายังบอกอีกว่า “คนที่มาปลูกกับเราบางคนก็เลิกอาชีพวินมอเตอร์ไซค์กลับไปทำฟาร์มที่บ้านเลยก็มี” ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างงานในเมือง
“ปัญหาและอุปสรรคของการสร้างฟาร์มบนดาดฟ้า”
ด้วยโครงสร้างของดาดฟ้าและฟาร์มที่ไม่มีรูปร่างในตอนแรก หลังคาที่มีคือหลังคาในเมือง ฝนตกลงมาชะใบแตกหมด อีกทั้งยังไม่มีใครเชี่ยวชาญในด้านเกษตร ทุกคนในตอนนั้นอยู่ได้ด้วย Passion การเรียนรู้ปรับตัวตามสถานการณ์และปรับแก้ที่เกิดขึ้นไปทีละจุด อย่างเช่นการหาโรงเรือนประมาณ 2 – 3 เรือน หากเป็นช่วงหน้าฝนจะไม่สามารถตั้งได้ เพราะการยึดของตัวโรงเรือนที่ไม่แน่นอน และไม่สามารถเจาะทุบในพื้นที่ได้ เป็นกฎห้ามของทางตึก จึงค่อยปรับเปลี่ยนเรียนรู้ว่าแต่ละเดือนสภาพอากาศเป็นอย่างไร อากาศแบบนี้ต้องใส่สแลงกี่เปอร์เซ็น ควรเอาสแลงออกช่วงไหน เกิดการลองผิดลองถูกจนเป็นฟาร์มผักบนดาดฟ้าในปัจจุบัน

“แผนการต่อยอดฟาร์มผักบนดาดฟ้าในอนาคต”
สิ่งที่คาดหวังในอนาคตของฟาร์มผักบนดาดฟ้า หรือ Rooftop Farming นั้น คุณปารีณา คาดหวัง ที่จะขยายผลการทำเกษตรที่ตอนนี้อยู่เพียงภายในเมืองออกไปในระดับเขต แบ่งสัดส่วนออกเป็นแต่ละชนิดผัก อาทิ ส่วนหนึ่งเป็นฟาร์มพริก อีกส่วนเป็นฟาร์มผักชนิดอื่น จนกลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตผักของเขตถนน

แม้การทำฟาร์มผักบนดาดฟ้า หรือ Rooftop Farming จะไม่สามารถสำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว หลายอย่างต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้พัฒนา หาคำตอบและทางออกที่ดีที่สุด การทดลองปลูกผักที่เริ่มจากจำนวนน้อย เพียงจำนวน 10 โต๊ะ ค่อยๆศึกษาและพัฒนา ตลอดจนในอนาคตที่จะมาถึงล้วนแต่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและความตั้งใจ ปุ๋ยหมักจากเศษอาหารที่เหลือทิ้ง นำมาผลิตเป็นปุ๋ยไร้สารเคมี เกิดเป็นผักปลอดสารพิษที่ดีต่อสุขภาพผู้บริโภค ลดปริมาณ Food waste และท้ายที่สุดคือการสร้างพื้นที่เมืองให้เกิดประโยชน์พร้อมกับสุขภาพที่ดี
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะด้วยแนวคิดเกษตรในเมือง: กลไกบูรณาการเชิงนโยบายเพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะ และพื้นที่ส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)