24/07/2025
Environment

เรื่องเล่าจากแปลงปลูก: จากความท้าทายสู่การขยายผลเกษตรในเมือง

The Urbanis
 


“เกษตรในเมืองเริ่มได้ง่ายด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน” มาร่วมรับฟังเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “เรื่องเล่าจากแปลงปลูก: จากความท้าทายสู่การขยายผลเกษตรในเมือง” จัดโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร บ้านและสวน Garden and Farm และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ในวันนี้ The Urbanis จะพาทุกท่านไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ที่ปรึกษา และเจ้าของสวนเกษตรตัวจริงที่มาร่วมให้คำแนะนำ พร้อมพูดคุยอย่างเป็นกันเองด้วยความสนุกสนานและได้สาระที่ชัดเจน นำโดย (1) อาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี อาจารย์ประจำสาขาการจัดการเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (2) คุณสุพัตรา ไชยชมภู เจ้าของสวนและเพจปูเป้ทำเอง (3) คุณอภิรดี นกสุวรรณ และ คุณพัฐพศิญา ทิพย์สุมณฑา เจ้าของสวนและเพจทำสวนกับมาดาม (4) คุณคมสัน หุตะแพทย์ เจ้าของสวนผักบ้านคุณตา

เป้าหมาย ความตั้งใจ และการลงมือทำจากส่วนเล็ก ๆ

วิทยากรทั้ง 5 ท่านได้เล่าถึงความเป็นมาของสวนตนเองตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าแต่ละท่านมีที่มาที่แตกต่างกัน ทั้งพื้นที่ ข้อจำกัด และปัญหาที่เจอในการทำสวนเกษตร แต่กลับมีทิศทางและแนวคิดที่คล้ายกัน อย่างการมี “เป้าหมาย ความตั้งใจ และการลงมือทำจากส่วนเล็ก ๆ”

คุณคมสัน เล่าว่า จุดเริ่มต้นจากพื้นที่เพียง 100 ตารางวา การทำแปลงผักเพาะปลูกเล็ก ๆ จนสามารถปลูกพืชแบบผสมผสานได้ โดยอาศัยการพึ่งพาแสงแดดตามธรรมชาติ จนตอนนี้มีระบบโซลาร์เซลล์เป็นของตัวเอง รวมถึงระบบน้ำไว้ใช้สำหรับการปลูก ทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจ และความต้องการพัฒนาสวนผักของตนให้เป็น “เกษตรอินทรีย์ในเมืองและศูนย์การเรียนรู้” แก่ประชาชน

ทางด้านคุณอภิรดี และคุณพัฐพศิญา เสริมว่า ทั้งคู่เริ่มจากความตั้งใจในช่วงโควิด-19 ที่การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ต้องหันมาดูแลสุขภาพและรับประทานอาหารที่มีโภชนาการดีเพื่อป้องกันโรคและเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ทำให้ค้นพบว่า “ผักเคล” ตอบโจทย์ชีวิตในเวลานั้น เกิดเป็นแนวคิดการปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน ก่อนจะขยายผลสู่การสร้างโรงเรือนและกลายเป็นฟาร์มของตนเอง

นอกจากนี้ คุณสุพัตรา ได้เล่ามุมของตนว่า แม้การตั้งเป้าหมายจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่การทำเกษตรในเมืองบางครั้งก็เริ่มจากจุดเล็ก ๆ และค่อย ๆ ต่อยอดตามกำลัง เช่น ตัวเธอที่เริ่มสร้างสรรค์สวนผักในพื้นที่จำกัดขนาดย่อมริมระเบียงทาวน์โฮม เพียงเพราะต้องการพื้นที่พักผ่อนและอ่านหนังสือ

จุดเริ่มต้นของวิถีเกษตรในเมืองเกิดขึ้นได้ไม่ยาก และเริ่มได้ด้วยตัวเองจากความชอบ ความตั้งใจ และการค่อย ๆ บ่มเพาะกล้าพันธุ์เล็ก ๆ ให้งอกงามเป็นสวนที่สวยงามในอนาคต แม้หลายคนจะเจอข้อจำกัดเรื่องพื้นที่หรือปัญหาดินฟ้าอากาศ แต่หากมีใจรัก (passion) ในการทำเกษตร นั่นก็นับเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในโลกของเกษตรในเมือง

เกษตรในเมืองสู่การขยายผลที่เป็นมากกว่าตัวเงิน

แม้การทำเกษตรในเมืองดูเหมือนง่ายและเริ่มได้เลย แต่ปัจจัยค่าใช้จ่าย การดูแลรักษา ตลอดจนความเสี่ยงที่ได้รับจากแมลงและศัตรูพืชนั้นเป็นอุปสรรคของการเกษตรทั้งสิ้น จะทำอย่างไรหากเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ หนึ่งมุมมองจาก คุณคมสัน กล่าวไว้ว่า “หากเรามองกลับกันล่ะครับ เราจะมีความสุขกับแปลงผักเรามากขึ้นหรือเปล่า? เราต้องพยายามตระหนักรู้อยู่เสมอถึงความต้องการที่แท้จริงว่า เรามีเป้าหมายในการปลูกเพื่ออะไร เช่น การปลูกกินในครัวเรือนแต่พอเหมาะ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงความเสียหายของพืชผักมากมาย เราสามารถเลือกเด็ดกินแต่ใบที่สมบูรณ์หรือผลที่สุกงอมได้ และเข้าใจว่ามันคือวัฏจักรของธรรมชาติ ก็จะทำให้เรามีความสุขกับมันมากขึ้น”

ต่อมา คุณสุพัตรา กล่าวอีกว่า “อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญของเพจปูเป้ทำเองนั่นก็คือ การแปรรูปพืชผักชนิดต่าง ๆ ด้วยวิธีการและวัตถุดิบที่มีอยู่ในสวน เช่น สวนเป้เองมีต้นมะเขือเทศอยู่ 2 ต้น ที่ออกผลดกมากเต็มต้น จนต้องคิดหาวิธีจัดการผลผลิตเหล่านี้ เรามีการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถึง 3 รูปแบบ คือ น้ำมะเขือเทศสด เส้นพาสต้าจากมะเขือเทศ และซอสมะเขือเทศ” อย่างไรก็ดี คุณสุพัตราก็ยังสรุปในตอนท้ายเสวนาว่า เรื่องรายได้ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับการทำสวนผักของตน เพราะทำด้วยใจรักและเพื่อสุขภาพของตัวเราเองและคนรอบข้าง

คุณอภิรดี และ คุณพัฐพศิญา กล่าวเสริมว่า หลังจากที่ตนได้ค้นพบความสุขของการปลูกผักเคล ที่มีทั้งประโยชน์ เป็นความชอบส่วนตัว และได้สานต่อจากสิ่งที่ร่ำเรียนมา ยังต่อยอดสร้างรายได้และเกิดเป็นโรงเรือนผักเคล ที่สรรค์สร้างเป็นฟาร์มท่ามกลางสวนแบบผสมผสานอีกด้วย ประกอบกับการพัฒนาด้านธุรกิจให้เกิดเป็นคาเฟ่ในฟาร์ม ที่ขายผลผลิตจากสวนจริง และชวนดึงดูดผู้คนให้มาสัมผัส ทั้งคู่ยังให้แนวคิดทิ้งท้ายไว้ว่า “เราทำเกษตรในเมืองด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาสวนเราได้รับทั้งความสุข ความสวยงาม และเห็นการจัดวางที่เป็นระบบ”

อ.เกศศิรินทร์ ได้ชี้ให้เห็นถึง 3 ปัจจัยที่นักปลูกควรคำนึง ได้แก่ (1) การมีเป้าหมายในการปลูก เพื่อให้รู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง เหมือนที่คุณคมสันกล่าว พร้อมทั้งต้องพิจารณากำลังของตนเอง เพื่อวางแผนการปลูกได้อย่างเหมาะสม (2) การจัดการพื้นที่ ซึ่งต้องคำนึงถึงข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ความชุ่มชื้นของดิน แสงแดดที่พืชได้รับ ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่ำ รวมถึงแมลงและศัตรูพืชที่ต้องวางแผนรับมือให้ดี และ (3) การดูแลระยะยาว ต้องพิจารณาบริบทของตนเอง ครอบครัว ชุมชน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ว่ามีความพร้อมเพียงใดในการดูแล เช่น การรดน้ำ พรวนดิน หรือการจัดการเมื่อไม่มีเวลา เพราะผักก็เปรียบเสมือนชีวิตหนึ่งที่ต้องการการเอาใจใส่ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าแม้จะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ การทำเกษตรในเมืองก็สามารถสร้างทั้งรายได้และความสุขทางใจได้ หากอยู่บนพื้นฐานของการวางแผนและความใส่ใจที่ยั่งยืน

วิธีการ: คำแนะนำ: และข้อควรรู้เบื้องต้น หากเผชิญวิกฤตที่ท้าทาย

การทำเกษตรในเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับย่อม กลาง หรือขนาดใหญ่ ล้วนไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องแมลงและศัตรูพืช เพราะสภาพแวดล้อมในเมืองมีความหลากหลาย สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และมลภาวะที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของแมลงบางชนิด ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อต่อพืชที่ปลูก โดยเฉพาะนักปลูกมือใหม่ที่อาจท้อใจตั้งแต่ยังไม่ทันได้ผลผลิต วิธีการจัดการแมลงและศัตรูพืชจึงกลายเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์บนเวทีเสวนาแห่งนี้

คุณคมสัน หุตะแพทย์ ได้เสนอแนวทางการดูแลแปลงเกษตรในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพผ่าน 4 วิธีหลัก ได้แก่ (1) การกำจัดโรคอย่างรวดเร็ด เมื่อพืชผักในแปลงเริ่มแสดงอาการของโรค ไม่ว่าจะเกิดจากแมลง เพลี้ย หรือสาเหตุอื่น ผู้ปลูกควรรีบกำจัดส่วนที่เป็นโรคทันที เช่น หากพบเพลี้ยเข้าทำลายใบผัก ก็ควรตัดใบนั้นทิ้งก่อนที่จะลุกลามไปยังส่วนอื่น (2)การบำรุงดิน ซึ่งดินเป็นหัวใจสำคัญของการปลูกพืช การพรวนดินให้ร่วนซุย โปร่ง และสามารถรับแสงแดดได้ดี จะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรง ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความเหมาะสมระหว่างชนิดของดินและพืชที่ปลูก เพื่อให้เกิดความสมดุลและประสิทธิภาพสูงสุด (3) การปลูกพืชผักแบบผสมผสาน และหลากหลายชนิดในแปลงเดียวช่วยลดโอกาสการระบาดของศัตรูพืช อีกทั้งยังเกิดการพึ่งพาระหว่างพืชในระบบนิเวศขนาดเล็ก ส่งเสริมให้แปลงผักเกิดการดูแลกันเองตามธรรมชาติ (4) การใช้สมุนไพรหรือสารชีวภัณฑ์ แม้ว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช แต่คุณคมสันเลือกใช้วิธีนี้ให้น้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อพืชชนิดอื่น รวมถึงป้องกันการทำลายธาตุอาหารในดินโดยไม่จำเป็น พร้อมทิ้งท้ายว่า “เราไม่จำเป็นต้องมีเทคนิคมากมาย เพียงแค่หมั่นหาความรู้ ทำด้วยความรัก เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดี” คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของการทำเกษตรในเมืองที่ยั่งยืน นั่นคือ การใส่ใจทั้งต่อพืช ต่อดิน และต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติในชีวิตประจำวัน

มากไปกว่านั้น กิจกรรมเสวนาสาธารณะนี้ยังโอบล้อมไปด้วยคำแนะนำดี ๆ จาก คุณสุพัตรา ที่ว่า “ประเทศไทยเป็นเมืองที่แดดร้อนและมีฤดูฝนยาวนาน ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ปูเป้อยากฝากเลยคือ การมีกันแดด และ กันฝน ค่ะ เพื่อเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการยืดอายุและดูแลสวนผักของเราได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้เราต้องเรียนรู้ประกอบด้วยว่าพืชแต่ละชนิดนั้นควรปลูกในสภาพแวดล้อมแบบใด บางชนิดชอบแดดจัด ปลูกกลางแจ้งก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่า หรือบางตัวชอบในที่ร่ม เราก็จะได้จัดพื้นที่ให้เหมาะสมให้พวกเขาค่ะ”

ด้านของ คุณอภิรดี และ คุณพัฐพศิญา สนับสนุนแนวทางการปลูกพืชผักแบบผสมผสานหลาย ๆ ชนิด เพราะนอกจากจะช่วยหลอกล่อแมลงได้แล้วยังทำให้เกิดความหลากหลายทางระบบนิเวศ และเพิ่มสีสันให้แปลงผักดูมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น และได้เล่าประสบการณ์สวนตัวเองว่า นอกจากการทำโรงเรือนผักเคลแล้วนั้น ตนยังได้ปลูกเลม่อน สมุนไพร และผักสลัดอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการนำวิธีข้างต้นมาปรับใช้กับสวนมาดามแห่งนี้อย่างลงตัว

เกษตรในเมืองกับการสานต่อที่ยั่งยืนในระยะยาว

แม้การเสวนาจะครอบคลุมหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ทว่าท้ายที่สุด ความต้องการของมนุษย์ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลกที่หมุนเร็วและท้าทาย สังคมเมืองยังจำเป็นต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง และการทำเกษตรในเมืองก็มีวิธีการที่แตกต่างกันไป ตามปัญหาเชิงพื้นที่ที่แต่ละชุมชนต้องเผชิญ หากผู้คนหันมาใส่ใจการปลูกผักกินเองมากขึ้น โลกใบนี้อาจมีผักปลอดสารพิษเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันชุมชนเมืองก็อาจ “ใจดี” ขึ้น เพราะเกิดปฏิสัมพันธ์ผ่านแปลงผักชุมชน แต่ถึงอย่างไร การให้ความรู้และการสั่งสมประสบการณ์จากการปลูกอย่างสม่ำเสมอก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

อาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี ได้สรุปแนวทางจากการเสวนาของวิทยากรทุกท่านไว้เป็น 4 แนวปฏิบัติหลัก ดังนี้
(1) หลีกเลี่ยงการปลูกพืชชนิดเดียวกัน ควรปลูกพืชเหลื่อมฤดู (Relay Cropping) และพืชหมุนเวียน (Crop Rotation) ผสมผสานในแปลง เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และลดปัญหาศัตรูพืช
(2) หากพบโรคจากแมลงหรือศัตรูพืช ควรกำจัดทิ้งทันที เช่น เด็ดใบหรือส่วนที่เป็นโรคทิ้งให้ไกล ไม่ควรทิ้งไว้ใต้ต้น เพราะส่วนที่เสียหายเหล่านั้นมักมีเชื้อราสะสม ซึ่งจะกลับมาทำลายพืชผักได้อีก
(3) การทำโรงเรือนหรือใช้มุ้งคลุม ไม่ใช่คำตอบสำหรับพืชทุกชนิด เพราะบางพืชต้องการแสงแดดและอากาศถ่ายเทอย่างเต็มที่ จึงควรศึกษาลักษณะของพืชก่อนปลูก เพื่อจัดพื้นที่ให้เหมาะสม
(4) “สุขภาพดินดี สุขภาพพืชก็ดี” คือหลักคิดสำคัญ ดินที่อุดมสมบูรณ์คือรากฐานของการเติบโตที่แข็งแรง

#ร่วมด้วยช่วยปลูก #PlantableBangkok #กรุงเทพมหานคร #กทม. #UDDC #UDDC_CEUS 
#สสส #สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ #บ้านและสวน #GardenAndFarm 
#มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร

บทเรียนจากเรื่องเล่าของผู้มีประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญ และเกษตรกรในเมืองยุคใหม่ ความสำคัญคือการ “มีใจรัก มีความตั้งใจ มีเป้าหมาย และพร้อมลงมือทำจากจุดเล็ก ๆ” ก็สามารถต่อยอดเป็นอาชีพ ศูนย์การเรียนรู้ หรือแม้เพียงเป็นที่พักใจท่ามกลางความวุ่นวายของเมือง

นอกจากนี้ นักปลูกยังได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากวิทยากรทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลผลิตเพื่อต่อยอดเป็นสินค้า การปลูกผักแบบผสมผสานเพื่อหลอกล่อแมลง เทคนิคการจัดการเชิงพื้นที่ และการเผชิญปัญหาทรัพยากรที่สัมพันธ์กับวัฏจักรธรรมชาติ

ท้ายที่สุด บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “เรื่องเล่าจากแปลงปลูก” ภายใต้โครงการร่วมด้วยช่วยปลูก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะด้วยแนวคิดเกษตรในเมือง: กลไกบูรณาการเชิงนโยบายเพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะ และพื้นที่ส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของกรุงเทพมหานคร 


Contributor