09/04/2021
Insight

กรุงเทพฯ สู่การเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ พรรณปพร บุญแปง
 


เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิตอล ทุกสิ่งทุกอย่างต่างหมุนเร็วขึ้นในทุกมิติ ความรู้เดิมที่เคยมี ไม่สามารถนำเราก้าวไปข้างหน้าได้อีกต่อไป การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงไม่ได้ถูกจำกัดเพียงเเค่ในระบบการศึกษา แต่ยังมีความสำคัญมากขึ้นต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นเพื่อสร้างโอกาสในการเกิดการเรียนรู้ในทุกรูปแบบที่ไม่จำกัดเพียงการเรียนรู้ตามหลักสูตรของโรงเรียน มหาวิทยาลัย เเต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จากชุมชน ที่ทำงาน พื้นที่สาธารณะ และการศึกษาผ่านรูปแบบแพลทฟอร์มออนไลน์  จึงเกิดเป็นเเนวคิด “เมืองเเห่งการเรียนรู้” (Learning City) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับเเนวทาง (UNESCO Institute for Lifelong Learning- UIL) ที่จัดตั้งเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบ SDGs

เพราะการเรียนรู้ > การศึกษา 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ฉายภาพเปรียบความแตกต่างระหว่าง การศึกษา (Education) กับ “การเรียนรู้” (Learning) พร้อมอ้างอิงนิยามของ โจอิ อิโตะ (Joi Ito) ผู้อำนวยการ MIT Media Lab ที่กล่าวว่า “Education is what people do to you. Learning is what you do to yourself” – “การศึกษาคือสิ่งที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณ แต่การศึกษาคือสิ่งคุณปฏิบัติต่อตนเอง”

“Education เรียนแบบคุณเป็นรับ มีหลักสูตรจัดให้ ส่วน Learning คือคุณอยากรู้อะไรคุณไปขวนขวายเอาเอง มีส่วนร่วมในการเรียนและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ ต้องบอกว่าเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของโลก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลความรู้ข่าวสารที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่าเศรษฐกิจฐานความรู้ ที่ใช้ชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันของเมืองและประเทศ

ทุกคนทราบดีว่าทรัพยากรมนุษย์อันพึงประสงค์ในอนาคต ประกอบด้วย ความสามารถการให้เหตุผลในเชิงวิเคราะห์  การแก้ปัญหา และความสามารถในการปรับตัว นอกจากนี้ Digitalization ทำให้เกิดการเรียนรู้ทุกทีทุกเวลา โลกปัจจุบันเปลี่ยยนแปลงเร็ว เราไม่สามารถหยุดเรียนรู้ เพื่อให้เราก้าวออกไปกับโลกสมัยใหม่ได้ เพราะฉะนั้น ความรู้ในระบบการศึกษาและสถานศึกษาอาจไม่เพียงพออีกต่อไป” ผศ.ดร.นิรมลกล่าว

กรุงเทพมหานคร กับ เมืองเเห่งการเรียนรู้

กรุงเทพมหานคร ถือเป็นเมืองที่ที่อุดมไปด้วยสถานศึกษาที่หนาแน่น เต็มไปด้วยพื้นที่เรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาชั้นนำทุกระดับ รวมกว่า 2,500 เเห่ง ประกอบกับการมีแหล่งสาธารณูปการที่สนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ อุทยานที่เป็นสถานที่ของการเรียนรู้ที่หลากหลาย จำนวนรวมกว่า 3,300 แห่ง แม้กระนั้น ถึงเเม้จะมีสถานศึกษาที่หนาเเน่นมากที่สุด และเต็มไปด้วยโอกาสรอบด้าน เเต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสการเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียม ซึ่งมักส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต 

ดังนั้น การขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคนจึงมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอันจะต่อยอดสู่การหารายได้ของประชากรในพื้นที่ ทางทีม UddC Urban Insights จึงได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเมืองแห่งการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร ทั้งด้านมิติตำแหน่งที่ตั้ง และมิติของอัตราส่วนของจำนวนผู้เรียนรู้ เพื่อสะท้อนศักยภาพการเป็นพื้นที่เมืองแห่งการเรียนรู้ โดยแบ่งการวิเคราะห์เป็น 3 ประเภท ตามเเหล่งการเรียนรู้ที่เเตกต่างกันคือ สาธารณูปการในระบบการศึกษา สาธารณูปการสนับสนุนการเรียนรู้ และสาธารณูปการศักยภาพเพื่อการเรียนรู้

จากแผนที่ศักยภาพเมืองแห่งการเรียนรู้ จะพบว่าพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวและมีความหนาแน่นของสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเมืองทั้ง 3 ประเภทนั้น มีค่าคะแนนสูงบริเวณพื้นที่เมืองชั้นใน และค่อยๆ ลดลงตามระยะทางที่ไกลออกไปจากพื้นที่ศูนย์กลางเมือง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาสาธารณูปการรายประเภทแล้วต่างมีความแตกต่างหันตามบริบทพื้นที่ของเมือง

นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ภาพรวมของระยะการเข้าถึง และการกระจายตัวของแหล่งเรียนรู้ทั้ง 3 ประเภท พบว่ามีการกระจุกตัวบริเวณเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะเขตปทุมวัน-เขตบางรัก ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและพาณิชยกรรม และ เขตธนบุรี- เขตคลองสาน เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน ทั้ง 2 พื้นที่นี้จึงถือเป็นสถานที่ที่มีศักยภาพสูงของกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

สาธารณูปการในระบบการศึกษา

สาธารณูปการในระบบการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา เป็นการศึกษาที่มีการกำหนดจุดมุ่งหมาย หลักสูตร ระยะเวลาการศึกษา การวัดผลและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล  โรงเรียนสามัญ และมหาวิทยาลัย เป็นต้น

จากการวิเคราะห์ภาพรวมของระยะการเข้าถึง พบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีระยะการเข้าถึงอนุบาลเฉลี่ย 1 กิโลเมตร โรงเรียนสามัญ 1 กิโลเมตร และอุดมศึกษา 5 กิโลเมตร และมีพื้นที่ศักยภาพคลอบคลุมกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองชั้นในทั้งฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี

สาธารณูปการสนับสนุนการเรียนรู้

นอกจากสาธารณูปการในระบบการศึกษาทั่วไปที่เรานึกถึงแล้ว ในเมืองมีสาธารณูปการอื่นๆ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกสถานศึกษา นั่นคือ กลุ่มที่เป็นแหล่งการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา ที่สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยเปิดโอกาสให้ทุกวัยที่ต้องการเรียนรู้ได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในด้านที่สนใจได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิต ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือแม้กระทั่ง แกลเลอรีงานศิลปะ หรืออื่นๆ มากมายที่กระจายอยู่ทั่วเมือง เป็นต้น 

จากการวิเคราะห์ระยะการเข้าถึงพบว่าร้านหนังสือมีระยะเข้าถึงเฉลี่ย 2 กิโลเมตร ห้องสมุด 4 กิโลเมตร และพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี 5 กิโลเมตร และมีพื้นที่ศักยภาพคลอบคลุมกว่าร้อยละ 35 ของพื้นที่ โดยมักตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานคร 

สาธารณูปการศักยภาพเพื่อการเรียนรู้

ประเภทสุดท้าย คือกลุ่มสาธารณูปการอื่นๆ ของเมืองซึ่งมีทั้งที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในระบบการศึกษาอย่างวัดวาอาราม ศาสนสถานของศาสนาต่างๆ รวมไปถึงพื้นที่อื่นๆ ในเมือง ก็สามารถที่จะมองเป็นสาธารณูปการที่มีศักยภาพในการช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ในเมือง

สาธารณูปการศักยภาพเพื่อการเรียนรู้นั้นเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลักเพื่อต่อยอดประสบการณ์การเรียนรู้ เพิ่มความรู้ ทักษะ และศักยภาพของแต่ละบุคคลอันจะสามารถพัฒนาตนสู่การเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่ สวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว สนามเด็กเล่น อาคารสำนักงาน สถาบันศาสนา จากการวิเคราะห์ระยะการเข้าถึงพบว่ามีระยะการเข้าถึงเฉลี่ยน้อยกว่า 1 กิโลเมตร แสดงให้เห็นว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งมีพื้นที่ศักยภาพคลอบคลุมกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ โดยกระจายอยู่ทั้งเขตเมืองชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก 

จะเห็นได้ว่าสาธารณูปการของเมืองประเภทสุดท้ายนี้ แท้จริงแล้วกระจายไปทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากแต่ในปัจจุบันยังไม่ได้ถูกพัฒนาและเปิดกว้างที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ในเมืองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่นี่คือโอกาสที่จะเพิ่มศักยภาพทางด้านสินทรัพย์ของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร

อุปสงค์ VS อุปทาน เมืองแห่งการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร

เมื่อวิเคราะห์ระหว่างอุปสงค์เมืองแห่งการเรียนรู้ของประชากรวัยเรียน วัยทำงาน และผู้สูงวัย และอุปทานเมืองแห่งการเรียนรู้ พบว่าสัดส่วนประชากรในวัยเรียนไม่สอดคล้องกับแหล่งการเรียนรู้ที่กระจุกเพียงเขตเมืองชั้นใน โดยเฉพาะเขตปทุมวัน และเขตบางรัก ในขณะที่สัดส่วนประชากรในวัยเรียนประมาณร้อยละ 25 ของประชากรวัยเรียนทั้งหมด อาศัยบริเวณเขตชั้นนอก ได้แก่ เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน ทำให้วัยเรียนต้องเดินทางเข้าในเมืองเพื่อเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ในขณะที่เด็กวัยเรียนที่ประสบปัญหายากจนนั้น การเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ไกลจากที่อยู่อาศัย ยิ่งลดโอกาสการเรียนรู้ และเพิ่มช่องว่างของความเหลื่อมล้ำแนวราบมากขึ้น

ความเหลื่อมล้ำด้านระยะทางของแหล่งศึกษากับที่อยู่อาศัยไม่ได้จำกัดแค่วัยเรียนเท่านั้น ยังพบในวัยทำงานด้วยเช่นกัน เนื่องจากหลังจากจบการศึกษา และเข้าสู่วัยทำงาน การเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ร้านหนังสือ ถือเป็นสิ่งสำคัญของวัยทำงานในการเพิ่มทักษะ ความรู้ และพัฒนาศักยภาพการทำงาน แต่เมื่อวิเคราะห์ระหว่างสัดส่วนประชากรในวัยทำงาน และแหล่งสาธารณูปการสนับสนุนการเรียนรู้ พบว่าสัดส่วนประชากรในวัยทำงานส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 ของประชากรวัยทำงานทั้งหมด มักอาศัยบริเวณเขตชั้นกลาง และเขตชั้นนอก ได้แก่ เขตคลองสามวา เขตลาดกระบัง เขตดอนเมือง เขตสายไหม เขตบางเขน เขตบึงกุม เป็นต้น

ในขณะที่แหล่งงาน และแหล่งเรียนรู้ กระจุกตัวบริเวณเขตชั้นใน ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตธนบุรี และเขตคลองสาน ซึ่งถึงแม้ว่าแหล่งที่ทำงาน และแหล่งเรียนรู้ จะอยู่บริเวณพื้นที่เดียวกัน ประชากรวัยทำงานสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้หลังเลิกงานได้ แต่ความเป็นจริงแล้วโดยส่วนมากมักกลับบ้านหลังจากเลิกงานเพื่ออยู่กับครอบครัว และพักผ่อน ในขณะที่วันหยุดพักผ่อนการเดินทางจากบ้านไปยังแหล่งเรียนรู้เป็นสิ่งที่ยาก เนื่องจากไกลบ้าน จึงมักหลีกเลี่ยงการเดินทางระยะไกลในวันพักผ่อน ทำให้คนวัยทำงานมักขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ และอุปทานเมืองแห่งการเรียนรู้ไม่สอดคล้องกัน

เช่นเดียวกับอุปสงค์เมืองแห่งการเรียนรู้ของผู้สูงวัย จากการวิเคราะห์สัดส่วนประชากรสูงวัย พบว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตชั้นใน ได้แก่ เขตบางพลัด เขตบางกอกใหญ่ เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตปทุมวัน และเขตบางรัก มากที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วนประชากรร้อยละ 30 ของประชากรสูงวัยทั้งหมด ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของสาธารณูปการศักยภาพเพื่อการเรียนรู้ แต่ด้วยแนวความคิด ปัจจัยต่างๆที่ปิดกั้นการเรียนรู้ของผู้สูงวัย เช่น ความคิดที่ว่าผู้สูงวัยควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หรือปัญหาด้านสุขภาพ สังคม ทำให้ขาดโอกาสการเรียนรู้ รวมถึงขาดการสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษา ดังนั้นการผลักดันพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นกลไกสำคัญช่วยให้เกิด “สังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ”

ย่านแห่งการเรียนรู้

จากการวิเคราะห์อุปสงค์ และ อุปทาน เมืองแห่งการเรียนรู้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร  ในเขตปทุมวัน-เขตบางรัก และเขตธนบุรี- เขตคลองสาน  เป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยเเหล่งการเรียนรู้ แต่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ขาดโอกาสในเข้าถึง จึงเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในการขับเคลื่อนให้เป็นเมืองการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระบบ ชุมชน พื้นที่สาธารณะแห่งการเรียนรู้ 

สาระสำคัญส่วนหนึ่ง อ้างอิงผลการศึกษาของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) ที่พบว่า เขตบางรักมีค่าคะแนนการเดิน (GoodWalk Score) หรือ ความสามารถในการเดินเท้าถึงพื้นที่เป้าหมาย สูงที่สุดในกรุงเทพฯ หากวัดเฉพาะย่านเจริญ-บางรัก ค่าคะแนนการเดินต่ำกว่าย่านสยามสแควร์ ขณะที่ผลการศึกษาของโครงการอนาคตเมืองแห่งการเรียนรู้ พบว่า ย่านเจริญกรุง-บางรักมีสาธารณูปการทางปัญญาหนาแน่นที่สุดในกรุงเทพฯ และที่สุดในประเทศ ทั้งสถานศึกษาในระบบและแหล่งเรียนรู้ด้วยตัวเอง อาทิ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ เป็นต้น 

ประกอบกับ มีศักยภาพเดิมของย่าน อาทิ โครงข่ายการเดินทางด้วยระบบราง-เรือ ตลอดจนธุรกิจดั้งเดิมของท้องถิ่น เครือข่ายศิลปิน-นักออกแบบ และ โครงการของ CEA เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในเชิงกายภาพพบว่า ย่านเจริญกรุง-บางรัก ยังขาดการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพด้วยการเดินเท้าที่ “สะดวก ปลอดภัย และน่าเดิน” ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผสานศักยภาพด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งช่วยส่งเสริมการเชื่อมต่อเครือข่ายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และขยายโอกาสของเศรษฐกิจท้องถิ่น

“คิดว่าย่านเจริญกรุงเต็มไปด้วยโอกาสและเป็นอนาคตของกรุงเทพฯ หากสิ่งแรกที่ต้องดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนสู่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สามารถเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจเดิมในย่าน คือการทำให้ย่านเดินได้เดินดี ย่านเจริญกรุง-บางรักเป็นย่านที่มีสินทรัพย์ครบถ้วน ทั้งในด้านกายภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เครือข่าย กลุ่มคนอันหลากหลายในย่าน แต่จะเชื่อมโยงสินทรัพย์เหล่านี้อย่างไรให้เกิด synergy ภายในย่าน พร้อมกับสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการดึงดูดแรงงานทักษะขั้นสูงให้เข้ามาทำงานและใช้ชีวิต เพื่อให้เกิดนิเวศของคนทำงานกลุ่มนี้ อันเป็นการสร้างพลวัตของการอุปโภคบริโภคที่คึกคักตลอดทั้งปี” นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS กล่าว

บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาบทบาท ศักยภาพ และพัฒนาดัชนีชี้วัดการขับเคลื่อนเมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ซึ่งเล็งเห็นความสาคัญในการศึกษาเชิงลึกและทาความเข้าใจสภาพการณ์ของ “เมืองกับบทบาทและศักยภาพ ในการขับเคลื่อนนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้” โดยมีคำถามวิจัยคือ กลไกในระดับเมืองมีบทบาทและศักยภาพ อย่างไรในปัจจุบัน และมีแนวทางอย่างไรในการขับเคลื่อนเมืองในประเทศไทยสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อศึกษาสถานการณ์ความพร้อมในการขับเคลื่อนสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย และเมืองกรณีศึกษากรุงเทพมหานคร และนครสวรรค์

บทวิเคราะห์ศักยภาพเมืองแห่งการเรียนรู้นี้ เพื่อทำความเข้าใจในสถานการณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าใจระบบการศึกษาและระบบการเรียนรู้ของเมืองหรือในระดับประเทศที่เกิดขึ้น ซึ่งผลการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้จะเป็นอย่างไรนั้น รอติดตามได้ในครั้งถัดไป


Contributor