09/08/2022
Public Realm

ยุทธศาสตร์และความร่วมมือคือส่วนผสมเสกย่านน่าอยู่สำหรับทุกคน

ณัทพัฒน เกียรติไชยากร
 


จากบทความ พระโขนง-บางนา ย่านโอกาสแห่งใหม่ใกล้ศูนย์กลางเมือง เราคงได้รู้จักย่านพระโขนง-บางนามากขึ้น และคงมองเห็นถึงโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาย่านนี้ผ่านภาพอนาคต “Downtown Cha Cha Cha” ที่สะท้อนความเป็นย่านเป็นดาวทาวน์แห่งใหม่ที่น่าอยู่ น่าทำงาน และน่าใช้ชีวิตสำหรับผู้อยู่เดิมและผู้อยู่ใหม่ เป็นภาพที่ใครๆ ก็หวังให้เกิดขึ้นในย่านของตนเอง  

แต่การจะสร้างภาพอนาคตที่พึงประสงค์ให้เป็นความจริงคงไม่ใช่เรื่องง่ายหากขาดการวางแผน ขาดยุทธศาสตร์ ขาดนโยบาย และสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยคือ แนวทางความร่วมมือในการพัฒนาย่านร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเขต ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่จะทำให้ย่านแห่งนี้หรือย่านไหนๆ สามารถวิวัฒน์ไปด้วยกันได้

ยุทธศาสตร์พัฒนาย่านพระโขนง-บางนา

ย่านพระโขนง-บางนาเป็นย่านที่มีศักยภาพสูง แต่ในขณะเดียวกันก็มีโจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างการไม่เชื่อมโยงกันของศักยภาพในย่าน ดังนั้นยุทธศาสตร์การพัฒนาย่านพระโขนง-บางนา จึงให้น้ำหนักกับการสร้างการเชื่อมโยงศักยภาพระหว่างพื้นที่ภายในย่านผ่านการพัฒนา 3 แกนจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะดังนี้

  • ระยะสั้น คือแกนแรกที่ต้องพัฒนาในก่อนเลยคือแกนถนนสุขุมวิท ที่จะเน้นปรับปรุงโครงข่ายทางกายภาพอย่าง ทางเท้า พื้นที่สาธารณะ อาคารบ้านเรือนให้ส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจรายย่อย และเศรษฐกิจนวัตกรรม 
  • ระยะกลาง คือแกนถนนศรีนครินทร์ ที่เน้นสร้างการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่กำลังจะเปิดใช้ในอนาด้วยการเดินเท้าที่สะดวก สบาย และปลอดภัย 
  • ระยะยาว คือพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาเพื่อยกระดับย่านพระโขนง-บางนาให้กลายเป็นย่านที่น่าอยู่และย่านนวัตกรรมในระดับโลก

การพัฒนาในแนวแกนตะวันออก-ตะวันตกมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจะเชื่อมต่อการขนส่งสาธารณระบบรางหรือรถไฟฟ้าเข้าไปสู่พื้นที่ด้านใน ตลอดจนเชื่อมพื้นที่ริมน้ำเข้ากับแกนสุขุมวิท เพื่อดึงเอาศักยภาพและทรัพยากรของย่านพระโขนง-บางนาเข้ามามีส่วนในการพัฒนาเมือง สามารถแบ่งพื้นที่การพัฒนาได้ดังนี้ 

  • เส้นทางสีเขียวเชื่อมระหว่างบึงบางกระเจ้ากับบึงหนองบอนซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในระยะกลางและยาว  
  • เส้นทางคลองบางนา ปรับปรุงคลองและเปิดเส้นทางจากวัดบางนาเข้าสู่พื้นที่ด้านในสำหรับผู้ที่ต้องการสัญจรภายในพื้นที่และไม่ต้องการออกสู่ถนนใหญ่ 
  • คลองพระโขนงเชื่อมเส้นทางการสัญจรทางเรือจากมีนบุรีสู่แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นโครงการหนึ่งในแผนของกรุงเทพมหานคร 
  • บริเวณถนนบางนา-ตราด พัฒนาให้สอดรับกับโครงการรถไฟฟ้า LRT ที่กำลังจะมาในอนาคตเพื่อเป็นหน้าบ้านแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากย่านพระโขนง-บางนาสามารถปรับปรุงโครงข่ายตามแนวแกนสุขุมวิทตามยุทธศาสตร์ระยะสั้นที่ได้กล่าวไปข้างต้นส่วนหนึ่งคือ การกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากชึ้นเพราะการเชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่ด้านในจะทำให้ธุรกิจท้องถิ่น หรือทุนขนาดเล็กสามารถดำเนินกิจการได้จากการเข้าถึงที่มากขึ้นด้วยการเดินเท้า การปรับปรุงโครงข่ายนี้จะทำให้ค่าคะแนน GoodWalk ของย่านนี้เพิ่มสูงขึ้นถึง 61 คะแนน จากเดิมที่มีเพียง 35 คะแนน ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะยาวที่จะเกิดขึ้นบริเวณแกนพื้นที่ริมน้ำเพื่อยกระดับย่านพระโขนง-บางนาให้เป็นย่านนวัตกรรมระดับโลกได้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการพัฒนาที่ต่อเนื่อง และการร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน

คนละไม้คนละมือ ทิศทางใหม่ของการพัฒนาเมือง

มีแปลนแล้วก็ต้องมีคนสร้างบ้าน มียุทธศาสตร์แล้วต้องมีคนร่วมทำ ภายหลังการหารือร่วมกันเป็นระยะกว่า 1 ปี ของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เกิดเป็น “พระโขนง-บางนาโมเดล” หรือทิศทางใหม่ในการวางยุทธศาสตร์พัฒนาย่านพระโขนง-บางนาร่วมกัน สู่การเป็นย่านนวัตกรรมน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยแนวคิดสำคัญจากการหารือร่วมกันตลอดทั้งปีสามารถสรุปได้ 11 ข้อดังนี้ แผนพัฒนาระดับย่านจากการมีส่วนร่วม – ย่านทุกย่านจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาของตนเอง 

1. ย่านน่าอยู่ดึงดูดเศรษฐกิจใหม่ – การสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้น่าอยู่เพื่อดึงดูดเศรษฐกิจใหม่อย่างนวัตกรรมและการท่องเที่ยว

2. ย่านเดินได้ย่านเดินดี – ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและความเกื้อหนุนระหว่างเศรษฐกิจเก่า-ใหม่

3. พัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก – อาศัยกลไกภาษีที่ดินและระเบียบที่กรุงเทพมหานครมีเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กให้กระจายอยู่ทั่วเมือง 

4. ปรับปรุงอาคารเก่าเป็นพื้นที่การเรียนรู้ – สินทรัพย์ที่ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่สามารถปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเมืองได้ 

5. พัฒนาที่ดินรอการพัฒนาสู่พื้นที่สร้างสรรค์ – พื้นที่ทิ้งร้างที่สามารถปรับปรุงพัฒนามาทำเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับผู้คนในย่าน

6. พัฒนาพื้นที่ริมคลอง – ปรับปรุงพัฒนาให้พื้นที่ริมคลองสามารถเดินได้ นั่งได้ พักผ่อนได้ และระบายน้ำได้

7. พัฒนาการสัญจรเชื่อม – พัฒนาการเชื่อมต่อในย่านทั้งทางรถ ทางราง และทางเรือ 

8. พัฒนาพื้นที่ทดลองนวัตกรรม – การส่งเสริมให้ย่านพระโขนง-บางนาเป็นพื้นที่ทดลองนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในย่าน

9. พัฒนาโมเดล “จตุรภาคดี” คนละไม้คนละมือ 

10. ทดลองจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) – การทดลองจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่ย่านเพื่อให้การใช้งบประมาณตรงต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัยมากที่สุด

ปัจจุบันการพัฒนาในพื้นที่ย่านพระโขนง-บางนาเกิดขึ้นตามบริเวณสี่แยก และตามจุดต่างๆ (node) ประกอบกับทางเท้าที่ไม่สามารถเดินได้ หรือเดินได้ก็เดินไม่ดี ทำให้การพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ด้านในได้การกระจายตัวของความมั่งคั่งและกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ไม่เกิดขึ้นในบริเวณด้านใน  การสร้างการเชื่อมต่อให้มากขึ้นด้วยการปรับปรุงถนนเส้นสุขุมวิทส่วนใต้สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่นๆ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการ สร้างการเชื่อมต่อระหว่างทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก จึงเป็นโจทย์สำคัญหนึ่งของย่านนี้สำหรับการดึงดูดนวัตกร และภาคเอกชนให้เข้ามาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่  

โจทย์สำคัญอีกประการหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ย่าน ไม่เฉพาะกับย่านพระโขนง-บางนาเท่านั้น หลายย่านยังประสบกับปัญหา “เสียงที่หายไป” ของสินทรัพย์ที่สำคัญของเมืองอย่างประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการพัฒนาเมือง แต่ความต้องการ ความคิดเห็น และข้อมูลที่มีอยู่มากมายเหล่านี้กลับไปไม่ถึงการวางผังเมือง การสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยง ร้อยรวมสินทรัพย์มีค่าเหล่านี้ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองจึงเป็นโจทย์สำคัญอีกโจทย์หนึ่ง

สลายการทำงานแบบแยกส่วนด้วยจตุรภาคีพระโขนง-บางนาโมเดล

อย่างที่ทราบกันดีว่าการทำงานที่แยกส่วนต่างคนต่างทำ (SILO) นั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสูงได้ หนึ่งในปัญหาที่ว่านี้คือปัญหาเรื่องเมืองที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั้งที่อยู่ในพื้นที่ และเดินทางไปมาในพื้นที่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด เมืองล้วนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “พระโขนง-บางนาโมเดล” โมเดลซึ่งมีลักษณะเป็นจตุรภาคีโมเดล (4Ps) ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐส่วนกลาง ภาครัฐท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน 

พระโขนง-บางนาโมเดลมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปีในระยะที่ 3 พ.ศ.2566 – 2570 ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการบูรณาการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งย่านพระโขนง-บางนาเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมอย่างมากที่จะเป็นพื้นที่ทดลองด้านนโยบาย (Policy sandbox) ทั้งในด้านศักยภาพ และคุณสมบัติที่ตรงตามเงื่อนไขของยุทธศาสตร์บูรณาการของกรุงเทพมหานครทั้ง 5 มิติ ได้แก่ 

1. มิติการบูรณาการพื้นที่ของ 2 เขตหลักคือเขตพระโขนง และเขตบางนา รวมถึง 4 เขตรองได้แก่ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตวัฒนา และเขตคลองเตย 

2. มิติการบูรณาการ 2 วาระหลักของแผนพัฒนากรุงเทพมหานครคือยุทธศาสตร์มหานครกะทัดรัด และมหานครประชาธิปไตย 

3. มิติการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในกทม. หลายหน่วยงาน 

4. มิติการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานรัฐ และเอกชนในพื้นที่

5. มิติการบูรณาการร่วมกันกับภาคประชาชน

นอกจากพระโขนง-บางนาโมเดลนี้จะเชื่อมโยงกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปีได้แล้ว โมเดลนี้ยังสอดคล้องกับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี หรือกรุงเทพ 9 ดี ของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบันอันได้แก่ ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เดินทางดี สุขภาพดี โครงสร้างดี เรียนดี และบริหารจัดการดี ทำให้พื้นที่ย่านพระโขนง-บางนานี้ยิ่งมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นพื้นที่ทดลองเชิงนโยบาย 

ก้าวข้ามการทำงานแบบแยกส่วนสู่การบูรณาการพัฒนาระดับพื้นที่ เชื่อมโยงภาคี มองเห็นโอกาส เพื่อพัฒนาศักยภาพร่วมกัน

ที่มา: tawatchai07

กรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบูรณาการ และการมีส่วนร่วมกันในการพัฒนาย่านร่วมกันคือ ย่านมารูโนอูจิ (Marunouchi) ย่านเศรษฐกิจสำคัญใจกลางโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ย่านนี้เป็นโครงการพัฒนาย่านที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งประกอบไปด้วย (1) สภาเพื่อการพัฒนาและจัดการพื้นที่ของย่านโอเตมาจิ มารูโนอูจิ และยูรากูโจ (2) บริษัทรถไฟ (3) รัฐบาลกรุงโตเกียว และ
(4) เขตชิโยดะ โดยทั้ง 4 องค์กรนี้ได้มีส่วนร่วมในการสร้างแผนการพัฒนาย่านในชื่อ “City Planning Guideline for the Redevelopment of the Area” โดยหัวใจสำคัญ 3 ประการที่ทำให้แผนพัฒนาย่าน Marunouchi ประสบความสำเร็จคือ การกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน การสร้างข้อกำหนดและบทบาท และการคิดวิธีการลงมือปฏิบัติ

ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันในการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาย่านของภาครัฐและภาคเอกชนทำให้ปัจจุบันย่าน Marunouchi เป็นแหล่งอำนวยความสะดวกด้านธุรกิจในระดับนานาชาติหรือ (Amenity Business Core) ย่าน Marunouchi ได้พัฒนาจากย่านธุรกิจที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงด้านสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นย่านที่มีศักยภาพสูง ต่อมาถูกพัฒนาต่อยอดด้วยแผนการพัฒนาย่านให้กลายเป็นย่านธุรกิจและแหล่งอำนวยความสะดวกด้านธุรกิจอันดับต้นๆ ของโลก

ปัจจุบันมีอาคารในย่านมารูโนอูจิมากกว่าร้อยอาคารเป็นพื้นที่กว่า 700 เฮกตาร์ รวมถึงมีธุรกิจในพื้นที่มากกว่า 4,000 ธุรกิจ ส่งผลให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำงานในพื้นที่มากกว่า 230,000 คนต่อวัน จำนวนรถไฟเข้าออกเมืองจึงต้องเพิ่มเที่ยวไป ทำให้สถานีรถไฟฟ้าในย่านนี้มีจำนวนเที่ยวมากที่สุดในญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในปีสองปี แต่เป็นการพัฒนาที่ใช้เวลามากกว่า 34 ปี เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1988 จากการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา OMY และจัดทำข้อเสนอการฟื้นฟูพื้นที่ ก่อนจะมีการขยายตัวของภาคี และเริ่มการทำโครงการระยะสั้นเพื่อเรียนรู้กันและกัน ก่อนจะมีการปรับแก้แผนพัฒนาอยู่เป็นระยะ 

บทเรียนสำคัญจากกรณีศึกษาการพัฒนาย่านมารูโนอูจิจึงเป็นการให้ความสำคัญบูรณาการ และการมีส่วนร่วมกันในการพัฒนาย่านร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนการปรึกษาหารือปรับปรุงแผนการพัฒนาเป็นระยะเพื่อให้แผนการพัฒนาสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และความต้องการของผู้อาศัย

ท้ายที่สุดย่านพระโขนง-บางนานั้นเป็นย่านหนึ่งที่มีศักยภาพสูง แต่ยังขาดแผนการพัฒนาย่านอันเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ผังยุทธศาสตร์ และพระโขนง-บางนาโมเดลอันเกิดจากความร่วมมือในการออกแบบของทุกฝ่ายจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยพัฒนาย่านของเราให้เป็นย่านแห่งอนาคต และย่านในฝันของเรา

ที่มาข้อมูล

เบื้องหลังการพัฒนาย่าน Marunouchi จากยุทธศาสตร์ co-creation ของรัฐบาลและเอกชน

นโยบายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

การนำเสนอสาธารณะพระโขนง-บางนา 2040: อนาคต ความฝัน ย่านของเรา


Contributor