29/04/2021
Economy

เบื้องหลังการพัฒนาย่าน Marunouchi จากยุทธศาสตร์ co-creation ของรัฐบาลและเอกชน

ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


ภาพปกโดย City photo created by tawatchai07 – www.freepik.com

เคยสงสัยไหมว่าถ้ารัฐบาลทำโปรเจกต์ร่วมกับเอกชนหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร? 

เราอยากชวนทำความรู้จักโครงการพัฒนา ย่านมารูโนอูจิ (Marunouchi) ย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจใจกลางเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักย่านนี้คร่าวๆ กันก่อน 

Marunouchi เป็นย่าน office builing แห่งแรกของญี่ปุ่น ตั้งอยู่ระหว่างพระราชวังอิมพีเรียล และสถานีรถไฟสำคัญอย่างสถานีรถไฟโตเกียว สถานีรถไฟที่มีจำนวนรถไฟระหว่างเมืองเข้าออกคับคั่งที่สุดอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น (มากกว่า 3,000 เที่ยวต่อวัน) Marunouchi ยังอยู่ติดกับย่านกินซา (Ginza) ย่านพานิชยกรรมขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และย่านคาซูมิงาเซกิ (Kasumigaseki) อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานราชการจำนวนมาก ย่านคันดะ (Kanda) ที่เป็นย่านการศึกษา และย่านนิฮงบาชิ (Nihonbashi) ที่เป็นย่านการค้าขายและย่านประวัติศาสตร์ 

ปัจจุบัน Marunouchi มีอาคารในพื้นที่ทั้งหมดราวๆ 700 เฮกตาร์ มีอาคารกว่าร้อยอาคาร มีธุรกิจในพื้นที่กว่า 4,000 ธุรกิจ และมีผู้คนเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้กว่า 230,000 คนต่อวัน เห็นได้ว่าย่านมารูโนอูจิ Marunouchi เป็นย่านหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในโตเกียวและด้วยเหตุนี้เองทางบริษัท Mitsubishi Jisho Sekkei จึงเห็นถึงความสำคัญที่จะพัฒนาย่านนี้ให้เป็นย่านธุรกิจที่มีเอกลักษณ์ทั้งทางกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

บริษัท Mitsubishi Jisho Sekkei ได้ทำโปรเจคพัฒนา Marunouchi โดยอาศัยความร่วมมือในการเป็น public-private partnerships (P.P.P.) ระหว่างหน่วยงานราชการและเจ้าของที่ดิน ซึ่ง 1 ใน3 ของพื้นที่ Marunouchi นั้นก็เป็นของเครือบริษัท Mitsubishi Estate นั้นเอง โดยการร่วมงานในครั้งนี้ทั้งรัฐบาลและเอกชนประกอบไปด้วย 4 องค์กรหลัก คือ 1.The Council for Area Development and Management of Otemachi, Marunouchi, and Yurakucho มีสมาชิกเป็นเจ้าของที่ดินของย่าน Otemachi-Marunouchi-Yurakucho (OMY) 2.Railway Company 3.Tokyo Metropolitan Government 4.Chiyoda City ทุกองค์กรได้มีส่วนร่วมในการออกความเห็นอย่างเท่าเทียมในการสร้างแผนการพัฒนาย่าน Marunouchi ชื่อว่าแผน “City Planning Guideline for the Redevelopment of the Area” 

ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนทำให้ในปัจจุบัน Marunouchi ไม่ได้เป็นแค่ย่านศูนย์กลางธุรกิจธรรมดา แต่กลายเป็นย่าน ABC หรือย่าน Amenity Business Core หรือแหล่งศูนย์กลางการอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจระดับนานาชาติที่ดึงดูดผู้คนที่มีความหลากหลายให้เดินทางเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่

ยุทธศาสตร์ “City Planning Guideline for the Redevelopment of the Area” ทำให้ย่าน Marunouchi ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?  Planning Guideline ประกอบไปด้วยหัวใจหลักคือ 

1) กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน 

2) สร้างข้อกำหนดและบทบาท

3) คิดวิธีการลงมือปฏิบัติ 

หลังจากที่ทุกฝ่ายลงมติเห็นชอบแผนนี้แล้วทั้ง 3 องค์ประกอบก็นำไปสู่การลงมือทำแบ่งเป็นการพัฒนาในเชิงกายภาพ เช่น การปรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้เกิดการใช้งานพื้นที่ที่คุ้มค่าและมีความหลากหลาย การควบคุม Townscape ทำให้เส้นขอบฟ้าเกิดความสวยงามและไม่บดบังทัศนียภาพพระราชวัง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างการออกแบบที่ผสมผสานอาคารประวัติศาสตร์เข้ากับอาคารสมัยใหม่ การสร้างให้เกิดโครงข่ายพื้นที่สาธารณะให้เกิดการเชื่อมต่อถึงกัน และการพัฒนาในเชิงการดำเนินงาน เช่น การสร้างให้เกิดกิจกรรมต่างๆในพื้นที่สาธารณะ เช่น ตลาดนัดสุดสัปดาห์ เทศกาลอาหาร เทศกาลดนตรี ฯลฯ การบริหารจัดการพื้นที่รถยนต์ การสร้างโครงข่ายคนส่งสาธารณะในพื้นที่ การโปรโหมดธุรกิจ startup และ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) และอื่นๆอีกมากมาย เพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่และคงเอกลักษณ์ย่านที่สดใสและมีชีวิตชีวานี้ต่อไป

การผสมผสานกันของอัตลักษณ์ทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เข้ากับการสร้างโครงข่ายสาธารณะทำให้ย่าน Marunouchi นั้นมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ ทั้งยังมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เข้ากับการเจริญเติบโตของเมืองและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ในภายภาคหน้าย่าน Marunouchi จะมีแนวคิดในการพัฒนาย่านของตนต่อไปอย่างไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคตอีกด้วย สามารถติดตามรับชมได้จากการบรรยาย The process of regenerating Marunouchi, Tokyo” โดย Mr.Koji Terada และ Mr.Isamu Sugeno ผู้บริหารบริษัท Mitsubishi Jisho Sekkei ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

หมายเหตุ : บทความเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยาย MUS X UDDC INTERNATIONAL LECTURE SERIES 2021 : Urban Regeneration Strategy EP.12 “The process of regenerating Marunouchi, Tokyo” โดย Mr.Koji Terada และ Mr.Isamu Sugeno ผู้บริหารบริษัท Mitsubishi Jisho Sekkei ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564

ท่านสามารถรับฟังย้อนหลังได้ทาง https://web.facebook.com/276255902507371/videos/753377622039233

การบรรยายสาธารณะ MUS X UDDC INTERNATIONAL LECTURE SERIES 2021 เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติ Master of Science on Urban Strategies (MUS) ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 4 มีนาคม – 4 พฤษภาคม 2564 ร่วมดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสื่อใหม่ Thai PBS และ The Urbanis


Contributor