26/06/2023
Mobility

มองเมืองจากทางเดินเท้า: กรุงเทพฯ เมืองวุ่นวาย ซับซ้อน และไม่สำคัญ

ธนธรณ์ คล้ายจินดา สิทธิกานต์ สัตย์ซื่อ
 


หากกล่าวถึงกรุงเทพมหานคร เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้คนส่วนใหญ่คงนึกถึงมหานครที่มีกิจกรรมอันหลากหลาย ทว่าคับคั่งไปด้วยความแออัดของผู้คน แม้จะมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะครอบคลุมในหลายพื้นที่ของเมือง แต่ก็มีปัญหาการจราจรที่ติดขัดจากการใช้พาหนะส่วนตัว จนก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศเช่นปัจจุบัน

ในอีกแง่มุมหนึ่งกรุงเทพมหานครกลับเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการเดินเท้าด้วยองค์ประกอบและสาธารณูปโภค-สาธารณูปการต่าง ๆ ภายในเมือง เช่น การกระจุกตัวของสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงร้านค้ารายทาง การมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่เข้าถึงได้ การที่มีไฟส่องสว่างที่สร้างความรู้สึกปลอดภัยในช่วงเวลากลางคืน หรือการมีต้นไม้คอยให้ร่มเงาตลอดทางเดินในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ผู้คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครไม่นิยมที่จะสัญจรด้วยการเดินเท้า สืบเนื่องจากหลายปัจจัย อาทิสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองที่ไม่เอื้อต่อการเดินทาง เช่น ความปลอดภัยบนทางเท้า สภาพทางเท้าที่ชำรุดทรุดโทรม ทางเท้าที่แคบเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง-หาบเร่แผงลอยที่ไม่เป็นระเบียบ หรือกระทั่งผิวทางที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้ทาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้พิการ

บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอถึงลักษณะทางเท้าที่เหมาะสมควรมีลักษณะอย่างไร? ทำไมเราจึงให้นิยามทางเท้าของกรุงเทพฯ ว่า “วุ่นวาย ซับซ้อน และไม่สำคัญ” เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาของทางเท้า กรณีศึกษาในต่างประเทศ และแนวทางแก้ไขปัญหา ให้สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาเมืองที่ดีได้ในอนาคต

กรุงเทพฯ เมืองวุ่นวาย ซับซ้อน และไม่สำคัญ

หากนิยามทางเดินเท้ากรุงเทพฯ ด้วย 3 คำสั้นๆ คงหนีไม่พ้นคำว่า “วุ่นวาย ซับซ้อน ไม่สำคัญ”

“วุ่นวาย” สภาพปัญหาบนทางเท้าในกรุงเทพมหานครมีความวุ่นวาย จากการที่ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ของการใช้ชีวิต เป็นทั้งบ้าน ที่ทำงาน ที่เรียน ที่เที่ยว ยิ่งช่วงเวลาเร่งด่วนมักจะเจอกับการขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้าอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องปัญหาของสายสื่อสารที่ระโยงระยาง ปัญหาหาบเร่แผงลอย ขนาดทางเท้าที่แคบ เป็นหลุมเป็นบ่อ ทั้งสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการเดิน ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ทางเท้าในกรุงเทพมหานครไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินที่เหมาะสม

“ซับซ้อน” กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อน หลากหลาย ทั้งในด้านกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แห่งโอกาสและความเหลื่อมล้ำ ในส่วนของทางเท้าในกรุงเทพมหานครทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานกรุงเทพมหานครและกระทรวงคมนาคม มีการแบ่งส่วนรับผิดชอบให้แต่ละฝ่าย โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองรับผิดชอบถนนสายหลัก สำนักงานเขตรับผิดชอบทางเท้า ตรอก ซอย และถนนที่มีขนาดเล็ก ด้วยความที่ทั้งสองหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน ทำให้อาจเกิดความสับสนว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ นอกจากนี้ความซับซ้อนอาจรวมไปถึงกายภาพของเมืองที่มีตรอกซอกซอยมากมาย ทำให้ยากต่อการที่จะไปยังจุดหมายที่ต้องการ

“ไม่สำคัญ” กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด 1,569 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ถนน 113.06 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ทางเท้ามีเพียง 5.4 ตารางกิโลเมตร เปรียบเทียบจากปริมาณสัดส่วนพื้นที่ถนนกับพื้นที่ทางเท้า คิดเป็นเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ชี้ให้เห็นว่ากรุงเทพมหานคร มุ่งเน้นการปรับปรุงและขยายถนนมากกว่าทางเท้า ซึ่งตรงข้ามกับประเทศอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับทางเท้ามากกว่าถนน นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีกฎหมายหลายฉบับที่เอื้อต่อผู้สัญจรโดยรถยนต์มากกว่าทางเดินเท้า ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 104 ระบุไว้ว่า คนเดินเท้าต้องใช้ทางม้าลาย สะพานลอย หรือทางข้ามถนนอื่น ๆ หากมีสิ่งเหล่านั้นอยู่ในระยะ 100 เมตร ถ้าฝ่าฝืนปรับ 200 บาท แต่ถ้าพิจารณาตามบริบทจะเห็นได้ว่า กฏหมายทำให้ผู้ไม่สมัครใจข้ามสะพานลอยกลายเป็นผู้กระทำความผิดตามกฏหมาย

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนพื้นที่ทางเท้าของกรุงเทพมหานครมีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ถนน แสดงให้เห็นว่า กฏหมายหลายฉบับของประเทศนั้นได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเดินเท้าน้อยกว่าเรื่องของการใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง ซึ่งสวนทางกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป หรือในเอเชียอย่าง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงค์โปร หรือเกาหลีใต้ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยบนทางเท้า คุณภาพของทางเท้า การจัดระเบียบทางเท้า ทำให้ทางเท้ามีความเป็นระเบียบ ไม่วุ่นวาย ผู้คนจึงในประเทศหันมาเดินเท้ากันมากขึ้น

ลักษณะทางเท้าที่ดีควรเป็นอย่างไร?

ถ้าเมืองมีทางเดินเท้าที่ดี ผู้คนก็จะหันมาใช้ทางเดินเท้ามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของคนเมือง เนื่องจากถ้าเราหันมาใช้ทางเดินเท้ามากขึ้นก็จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน (Ken R และคณะ, 2008) อีกทั้งมลพิษทางอากาศในเมืองก็จะลดลง ดังนั้นเรามาลองเปรียบเทียบกันระหว่างทางเท้าในประเทศและต่างประเทศ ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันยังอย่างไร?

กรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น (Japan)

ที่มา https://thaihitz.com

ประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับทางเท้าเป็นอย่างมาก การสร้างทางเท้าในประเทศญี่ปุ่นเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยทางเท้าในประเทศญี่ปุ่นต้องมีความกว้างอย่างต่ำ 2 เมตร เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นสวนกันได้ และถ้ามีการอนุญาตให้มีการขี่จักรยานบนทางเท้าบริเวณนั้นต้องมีความกว้างอย่างต่ำ 3 เมตร วัสดุที่ใช้ในทางเท้าญี่ปุ่นจะมีความเรียบสม่ำเสมอเพื่อทำให้คนเดินได้อย่างปลอดภัย ส่วนบริเวณที่เป็นจุดตัดทางเท้า ประเทศญี่ปุ่นจะทำเป็นทางลาดเพื่อให้สามารถเดินได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องก้าวขึ้น ก้าวลง ในเรื่องสิ่งกีดขวางประเทศญี่ปุ่นพยายามลดสิ่งที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด เหลือเพียงสิ่งที่จำเป็น อาทิ ป้ายรถเมล์ ต้นไม้ ป้ายจราจร และจุดจอดจักรยาน นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เดินไปกินไป ทำให้บนทางเท้าในญี่ปุ่นไม่เศษขยะ หรือถังขยะตั้งอยู่บริเวณทางเท้า

กรณีศึกษาประเทศไต้หวัน (Taiwan)

ที่มา https://th.rti.org.tw/news/view/id/71407

ประเทศไต้หวันเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความปลอดภัยบนทางเท้าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกับคนชรา เด็ก สตรี ผู้พิการ ทำให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยบนทางเท้าค่อนข้างเข้มงวด ส่งผลให้พฤติกรรมการขับขี่ของคนไต้หวันปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยทางเท้าที่ประเทศไต้หวันจะมีการตีเส้นและแสดงสัญลักษณ์สำหรับการสัญจรไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ประเทศไต้หวันยังออกกฎหมายที่ว่า ถนนทุกเส้นต้องมีพื้นที่สำหรับการสร้างทางเท้า

กรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์ (Singapore)

ที่มา http://www.rideabikenews.com/column-detail.php?id=140

ประเทศสิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ให้ความสำคัญเรื่องทางเท้าเป็นอย่างมาก โดยบริเวณทางเท้าที่สิงคโปร์มีความกว้าง พื้นผิววัสดุมีความเรียบสม่ำเสมอ และได้มีการปลูกต้นไม้ตามแนวทางเดิน เพื่อลดปัญหาเรื่องความร้อนภายในเมือง ประเทศสิงคโปร์ได้มีการจัดสถานที่สำหรับหาบเร่แผงลอยไว้ให้สำหรับผู้ค้าขายที่เรียกว่า Hawker Center นอกจากนี้สิงคโปร์ยังขึ้นชื่อเรื่องกฏหมายที่มีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการขับรถบนทางเท้าอาจมีโทษจำคุก หรือถ้ามีการทิ้งขยะไม่เป็นที่อาจโดนปรับสูงสุดถึง 300,000 บาท

มุมมองทางเท้าในกรุงเทพมหานคร

ในกรุงเทพมหานครเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาทางเท้ามากขึ้น ซึ่งได้มีพื้นที่ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขบ้างแล้ว โดยมีการนำสายไฟลงดิน การจัดระเบียบทางเท้า การขยายขนาดทางเท้าให้มากกว่า 1.5 เมตร ตามที่กรมทางหลวงกำหนด นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงจุดตัดระหว่างทางเดินให้เป็นทางลาด เพื่อความสะดวกสบายของผู้พิการที่ต้องใช้รถเข็น และมีการปูกระเบื้องเพื่อคนพิการทางสายตา (Directional Tile)  เพื่อให้เดินทางได้อย่างปลอดภัย  ถึงอย่างไรพื้นที่ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขก็ยังถือว่าเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับสัดส่วนทางเท้าทั้งหมดในกรุงเทพฯ ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาและเป็นปัญหา นอกจากนี้พฤติกรรมของคนไทยชอบที่จะเดินไปกินไป แล้วทิ้งขยะตามข้างทาง ทำให้เกิดเศษขยะบนทางเท้า ส่งผลให้ปัจจุบันทางเท้าในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ทางเลือกที่ผู้คนส่วนใหญ่จะเลือกเดินทาง

การสร้างทางเท้าให้น่าเดินควรมีการสร้างความเชื่อมโยงกันในแต่ละจุดที่สามารถเดินถึงกันได้ในระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที หรือระยะทางประมาณ 800 เมตร (นิรมล เสรีสกุล, อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้, 2562, น.49) ซึ่งการออกแบบเท้าที่ดีควรคำนึงถึงผู้คนทุกช่วงวัยที่จะได้ใช้งาน โดยมีหลักในการออกแบบให้แนวการเดินอยู่ตรงกลางของพื้นที่ ไม่มีสิ่งกีดขวางบนเส้นทางการเดิน พื้นผิวทางเดินเรียบไม่ขรุขระ มีไฟส่องสว่างที่ทั่วถึง มีกล้องวงจรปิดตามจุดเสี่ยง และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ เช่น ทางลาด หรือแผ่นทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากนี้อุปกรณ์ประกอบถนน พืชพรรณต่าง ๆ ควรมีการจัดสรรอย่างเป็นระเบียบไม่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเดินเท้า มาตรฐานทางเท้าปกติหนึ่งคนเดินจะใช้ความกว้างอยู่ที่ประมาณ 0.6 เมตร ดังนั้นความกว้างทางเท้าที่น้อยที่สุดจึงควรไม่ต่ำกว่า 1.2 เมตร เพื่อให้คนเดินสวนกันได้ และมาตรฐานสากลได้ระบุไว้ว่า ทางเดินเท้าบริเวณย่านการค้า ย่านธุรกิจ และย่านอุตสาหกรรมควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.5 เมตร ในส่วนย่านที่พักอาศัยควรไม่น้อยกว่า 1.2 เมตร (ทรรศชล ปัญญาทรง, 2551, น.14) ด้วยเหตุนี้เราจึงควรมีโครงการพัฒนาที่เกี่ยวกับกับทางเท้าอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้คนหันมาสนใจในการเดินมากยิ่งขึ้น และผลดีต่อสุขภาพของผู้คนในเมืองอีกด้วย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

Better City Starts With a “Good Walk” : ภารกิจเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ย่านของเราเป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี”

ทางเท้าไทย VS ทางเท้าต่างประเทศ สภาพและการจัดการต่างกันตรงไหน?

กรุงเทพฯ: เมืองใหญ่ ถนนน้อย ทางเท้าด้อยคุณภาพ

ณิชนันทน์บุญอ่อน, วงศ์พันธ์ลิมปเสนีย์. (2563). การพัฒนาทางเท้าเพื่อกรุงเทพมหานครเมืองสะดวก: กรณีศึกษา ทางเท้าตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (สายสีลม)

ปรีชญะ โรจน์ฤดากร. (2555). วิจัยเรื่อง ภูมิทัศน์ถนนกับวิถีชีวิตคนกรุงเทพมหานคร

ทรรศชล ปัญญาทรง. (2551). แนวทางการออกแบบเพื่อพัฒนา ทางเท้าในย่านพาณิชยกรรมอโศกกรุงเทพมหานคร

นิรมล เสรีสกุล, อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้. (2562). What about Bangkok กรุงเทพฯ เดินได้ไหม. โตมร ศุขปรีชา (บ.ก.), LET’S WALK พาบางกอกออกเดิน. (น.45-66). บริษัท โอ.เอส.พรินติ้งเฮ้าส์ จำกัด.

Ken R. Smith, Barbara B. Brown, Ikuho Yamada, Lori Kowaleski-Jones, Cathleen D. Zick, Jessie X. Fan. (2008). walkability and body mass index. American Jornal of Preventive Medicine


Contributor