01/11/2019
Mobility

กรุงเทพฯ: เมืองใหญ่ ถนนน้อย ทางเท้าด้อยคุณภาพ

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


กรุงเทพฯ เมืองโตเดี่ยวตลอดกาลของประเทศไทยและจะยังคงเป็นเฉกเช่นนี้ไปอีกนาน ด้วยขนาดของเมืองในระดับมหานคร (Mega Cities) ที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยกว่า 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 6 ของคนทั้งประเทศ ไม่แปลกที่กรุงเทพฯ จะมีความพลุกพล่านของผู้คนและการสัญจร เคยมีผลการสำรวจคนกรุงเทพฯ เรื่องของการใช้เวลาในการเดินทางพบว่า เราใช้เวลาอยู่ในรถนานกว่า 800 ชั่วโมงต่อปี (1 เดือนต่อปี) หรือคิดเป็นกว่า 1 ปี ในรอบ 12 ปี และนี่คือ ผลของการจราจรที่ติดขัดและเป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน

ในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของยอดจดทะเบียนรถยนต์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 กว่า 350,000 คัน แต่ทว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมากรุงเทพฯ แทบไม่มีพื้นที่ถนนเพิ่มขึ้นเลย การสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับรถยนต์มากกว่าการเดินเท้าทำให้เรามีทางสัญจรน้อยเช่นนี้คงไม่ใช่ทางออกที่ดีของเมืองกรุงเทพฯ แน่ๆ เพราะฉะนั้น “การสร้างเมืองให้เดินได้-เดินดี” คือคำตอบ!!!

สัดส่วนพื้นที่ถนน คือ ดัชนีชี้วัดคุณภาพเมือง

มาตรฐานเมืองที่ดีซึ่งจะทำให้เกิดการจราจรที่สะดวกและไม่เกิดปัญหารถติด เราเชื่อว่าต้องมีสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-25 หลายเมืองจึงใช้เกณฑ์มาตรฐานของสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองเป็นตัวชี้วัดคุณภาพเมืองด้านโครงสร้างสัณฐานเมือง เพราะนอกจากถนนจะเป็นพื้นที่สำหรับการสัญจรด้วยรถยนต์แล้ว พื้นที่ถนนในที่นี้ยังหมายรวมถึงพื้นที่ในส่วนเขตทางทั้งหมด อันประกอบไปด้วยพื้นผิวจราจรและพื้นผิวทางเท้า

ซึ่งถือเป็นพื้นที่สาธารณะของเมืองอีกด้วย และสำหรับเมืองที่ขาดแคลนพื้นที่สาธารณะที่ดีอย่างกรุงเทพฯ ก็คงต้องยิ่งให้ความสำคัญกับสัดส่วนพื้นที่ถนนและเขตทางนี้ให้เป็นพิเศษ เพราะสัดส่วนของพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองนี้ นอกจากจะสะท้อนความสะดวกในแง่ของการสัญจรแล้วอีกมิติหนึ่ง มันยังสะท้อนของการมีพื้นที่สาธารณะของเมืองอีกด้วย และมากไปกว่านั้นการมีระบบโครงข่ายถนนที่ดี และมีความพรุนสูง หรือมีสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองสูงนั้นยังเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการเชื่อมต่อ และการเพิ่มโอกาสการพบปะของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองอีกด้วย (ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดในบทความหน้าเกี่ยวกับเรื่องขนาดของบล็อกถนน)  

ตัวอย่างของเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่มีค่าสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองที่สูงกว่าค่ามาตรฐาน เช่น กลุ่มเมืองในสหรัฐอเมริกา ชิคาโก บอสตัน พอร์ทแลนด์ นิวยอร์กหรือกลุ่มเมืองในยุโรป เป็นต้นว่ามหานครปารีสของฝรั่งเศส กรุงเวียนนาของออสเตรีย หรือกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เมืองเหล่านี้ล้วนมีสัดส่วนของพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองสูงกว่ากรุงเทพทั้งสิ้น

กรุงเทพฯ เมืองใหญ่ถนนน้อย แต่ทางเท้ามีน้อยกว่า

กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด 1,569 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ถนน 113.06 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 7.2 ของพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานกว่า 3 เท่า โดยเขตที่มีสัดส่วนพื้นที่ถนนมากที่สุด 5 อันดับคือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 16.7% เขตบางรัก 15.4%เขตราชเทวี 14.3% เขตปทุมวัน 14.1% และเขตพระนคร 13.5%

ซึ่งใน 7.2% นี้มีพื้นที่ถนนที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครประมาณ 58.46 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51.7 ของพื้นที่ถนนทั้งหมด (ร้อยละ 3.7 ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร) 

โดยแบ่งเป็นพื้นที่ผิวจราจร (ทางที่ให้รถสัญจร) จำนวน 84.85 ตารางกิโลกเมตรหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.41 และคิดเป็นพื้นที่ทางเท้าเพียง 22.55 ตารางกิโลเมตรหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.44 ของสัดส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด

หรือจะพูดให้ชัดเจนขึ้นคือ พื้นที่เมืองกว่า 1,569 ตารางกิโลเมตร เรามีพื้นที่ถนนรวมเพียง 7.21% และใน 7.21% นั้นมีเพียง 1.44% ที่เป็นทางเดินเท้า

โดยหากจำแนกสัดส่วนพื้นที่ถนนรายเขตตามข้อมูลที่กองนโยบายและแผน สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครได้เก็บรวมรวบไว้พบว่า เขตราชเทวี มีสัดส่วนถนนเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของเขตมากที่สุด คิดเป็นกว่าร้อยละ 52.10 รองลงมาคือ เขตป้อมปรามศัตรูพ่าย คิดเป็นร้อยละ 15.77 เขตพระนครคิดเป็นร้อยละ 13.48 เขตสัมพันธวงศ์ คิดเป็นร้อยละ 12.18 และเขตดุสิตคิดเป็นร้อยละ 11.61

หากเปรียบเทียบสัดส่วนของพื้นที่ทางเท้ารายเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ทางเท้ากับพื้นที่ถนนในแต่ละเขต ผลที่ได้จากการศึกษาพบว่า เขตพระนครมีสัดส่วนพื้นที่ทางเท้ามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 35.75 ของพื้นที่ถนนทั้งหมดในเขต รองลงมาเขตสาทร คิดเป็นร้อยละ 34.61 ของพื้นที่ทั้งหมดในเขต  เขตบางรัก คิดเป็นร้อยละ 34.08 ของพื้นที่ทั้งหมดในเขต เขตบางคอแหลม คิดเป็นร้อยละ33.36 ของพื้นที่ถนนทั้งหมดในเขต และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ร้อยละ 33.05 ของพื้นที่ถนนทั้งหมดในเขต

และเมื่อเราต้องเดิน…ทางเท้าก็ยังด้อยคุณภาพอีก 

และคำถามแรกๆ ที่ผุดขึ้นเมื่อชวนใครสักคนเดินไปที่ใดที่หนึ่งก็คือ “ทำไมต้องเดิน?” ในเมื่อเรามีวิธีการสัญจรอื่นที่เร็วกว่า สะดวกกว่า และปลอดภัยกว่าการเดินบนทางเท้าที่เป็นประหนึ่งบททดสอบความแข็งแกร่งของชีวิตคนเมืองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน 

ผลการศึกษาจากโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ในระยะที่ 1 พบว่า เหล่ามนุษย์เมืองโหวตให้สิ่งที่พวกเขาต้องประสบดังต่อไปนี้เป็น 5 อุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นจากการเดินเท้าในกรุงเทพมหานครที่ทำให้ “ไม่อยากเดิน

อันดับที่ 5 : ทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อ 

อันดับที่ 4 : ทางเท้าสกปรก มีขยะมูลฝอย 

อันดับที่ 3 : ทางเดินมีแสงสว่างไม่เพียงพอ

อันดับที่ 2 : ขาดร่มเงาบังแดดบังฝน

และ อันดับที่ 1 : มีสิ่งกีดขวาง เดินไม่สะดวก

ความที่เรามีสัดส่วนถนนน้อยในเมืองที่ใหญ่โตขนาดนี้ ส่งผลถึงปัญหารถติด การจราจรเป็นอัมพาต ทางเท้าก็มีน้อยตามไปด้วย และยิ่งไปกว่านั้น ทางเท้าที่มีอยู่ก็ยังเต็มไปด้วยปัญหาที่กำลังรอการแก้ไข ดูเหมือนว่าการเดินเท้าในเมืองกรุงเทพฯ ช่างเป็นวิธีการเคลื่อนที่ที่แสนยากลำบากเสียจริง ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นเรืองพื้นฐานที่เมืองควรให้บริการแก่เราได้อย่างอิสระ 

ไม่มากก็น้อย ทุกคนคงผ่านพบกับปัญหาการเดินเมืองเหล่านี้มาบ้าง มาร่วมกันแชร์ประสบการณ์ #เดินเท้า ของคุณเพื่อร่วมสะท้อนเรื่องที่เกิดขึ้นจนเราอาจจะเผลอชาชินได้ที่นี่หรือร่วมโพสต์รูปวิถีเดินเท้าใกล้ตัวคุณพร้อมติดแฮชแท็ก #GoodWalkThailand เพื่อร่วมติดตามการเปลี่ยนแปลงเมืองที่จะเกิดขึ้นผ่านการสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการเดินเท้าไปกับเรา โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ในระยะที่ 3 ที่เรากำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้

อ้างอิง:

สำนักงานจราจรและการขนส่ง กรุงเทพมหานคร

การวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์


Contributor