14/05/2025
Environment
สุขภาพที่ดีเริ่มต้นได้ที่บ้าน จุดเริ่มต้นการปลูกผักของคุณแม็กซีน
The Urbanis

หลังจากบทความก่อนหน้านี้ได้ทำการพูดคุยกับ คุณนคร ลิมปคุปตถาวร แห่งบ้านเจ้าชายผัก ที่มีการพัฒนาและเปิดห้องเรียนให้ความรู้ในการทำเกษตรทางเลือก หรือการทำเกษตรในเมือง
The Urbanis เลยอยากชวนชาวเมืองมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งบุคคลที่น่าสนใจ “คุณอินทิพร แต้มสุขิน หรือ คุณแม็กซีน” เจ้าของสวนผักคุณแม็กซีน ซึ่งได้รับความรู้ในการทำสวน จาก คุณปริ๊น แห่งบ้านเจ้าชายผัก และยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายหรือที่ขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งสองคนรู้จักกันจากการสนับสนุนเกษตรกร วิสาหกิจเกษตรกร และผ่านอีเว้นท์ต่าง ๆ
“จุดเริ่มต้นในการเป็นเจ้าของปลูกสวนผักเกษตรในบ้าน”

สวนผักคุณแม็กซีน เริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัว และความใส่ใจในสุขภาพของคนในครอบครัว ในตอนแรกคุณแม็กซีนได้ซื้อบ้านอาศัยอยู่กับคุณแม่ และมีพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้งาน ทั้งสองคนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและชื่นชอบการทำอาหารเป็นประจำ จึงได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายในบ้านของตนเอง จนได้ข้อสรุปว่า “สุขภาพที่ดีเริ่มต้นได้ที่บ้าน” และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารที่บริโภค (food safety)
ดังนั้นจึงได้เริ่มต้นทำสวนผักที่เน้นปลูกผักสวนครัวและใช้เป็นประจำ อย่างกะเพราและพริก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักใช้บ่อยในครัวไทย การปลูกผักเองนอกจากจะช่วยให้มั่นใจในความสะอาดและปลอดภัยของวัตถุดิบแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความสุขจากการได้ดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยตัวเองอีกด้วย
“ความท้าทายของการทำสวนเกษตรในบ้าน”
หลังจากคุณแม็กซีนและคุณแม่เริ่มทำสวนผักมาระยะหนึ่ง ก็พบว่าการปลูกพืชก็มีความท้าทายเป็นอย่างมาก แม้จะฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ในทางปฏิบัติที่ลงทำจริงนั้นไม่ใช่แค่การหว่านเมล็ดแล้วรอเติบโต แต่ต้องใส่ใจในวิธีการดูแลรักษา พร้อมทั้งต้องศึกษาถึงความต้องการของพืชที่แตกต่างกันออกไปในแต่ชนิด แล้วยังก็มีการถกกันเรื่องความเชื่อว่า “คนมือร้อนปลูกอะไรจะไม่ขึ้น” แต่ก็เลือกที่จะมีการลองผิดลองถูก และสังเกตผลลัพธ์ด้วยตัวเอง
การลองปลูกพืชหลายชนิด ทำให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำสวน แต่คือความรู้สึกสนุกและมีความสุขไปกับการเห็นสิ่งมีชีวิตเติบโตขึ้นด้วยมือตัวเอง แม้บางครั้งโอกาสรอดจะมีน้อย แต่ก็ทำให้รู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความต้องการของปริมาณน้ำและแสงแดด อย่างในบางชนิดที่ต้องการแดดจัดและเหมาะกับพื้นที่ที่ได้รับแสงตลอดทั้งวัน ขณะที่บางชนิดเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีแสงแค่ช่วงเช้า
นอกจากนี้ คุณแม็กซีนและคุณแม่ได้ทำการขยายแปลงผัก โดยปลูกพืชหลายชนิดพร้อมกัน และจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมมากขึ้น รวมถึงการจัดการเศษอาหารผ่านกระบวนการนำมาทำปุ๋ย ถือเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ที่ทำให้เกิดผลรับในการทำการเกษตร”

สำหรับคุณแม็กซีน แม้ไม่ได้มีแรงบันดาลในจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ระยะเวลาประสบการณ์ในวัยเด็กของคุณแม็กซีน ขณะที่อาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา ได้พบเจอกับสังคมชุมชนแห่งหนึ่ง ที่นั้นได้มีการทำสวนแปลงผักทั้งในส่วนกลางของหมู่บ้านทั้งในพื้นที่บ้านส่วนบุคคล และในหมู่บ้านยังมีกิจกรรมที่สามารถให้เด็กที่เข้าไปเยี่ยมได้ไปร่วมปลูก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของแปลงผักหรือต้นไม้ ซึ่งจะที่นั้นจะมีล็อคเล็กๆให้ได้ทำกิจกรรมลงมือทำจริง ซึ่งประสบการเหล่านั้นทำให้คุณแม็กซีนมองว่าการเกษตรนั้นเป็นเรื่องง่ายไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ใหญ่เสมอไป การทำเกษตรในมืองเกิดขึ้นได้จริงหากมีการหาความเหมาะสม และลงมือทำ
“โอกาสเชิญชวนเพื่อนบ้านปลูกสวนผักจากในบ้านสู่ชุมชนของคุณแม็กซีน”
คุณแม็กซีนนั้นเคยมีโอกาส ได้ชวนเพื่อนบ้านร่วมกันปลูกผักในพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นความคิดที่ดีและเป็นโครงการที่อยากจะให้ทุกคนในหมู่บ้านได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรทางหมู่บ้านก็อยากที่จะให้ส่วนกลางยังคงมีความสวยงามตามเอกลักษณ์และรักษาความเรียบร้อย จึงเข้าใจถึงความต้องการของหมู่บ้านและเห็นว่าเรื่องของความสวยงามและการรักษาพื้นที่ส่วนกลางเป็นเรื่องสำคัญ คุณแม็กซีนตัดสินใจให้ข้อแนะนำกับเพื่อนบ้านที่สนใจ และแนะนำให้มีการทำสวนอยู่ภายในบ้าน
“กระบอกเสียงการปลูกผักสวนครัว”
คุณแม็กซีนมีการทำในส่วนของเรื่องสื่อ ซึ่งเป็นช่องทางที่หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจในเรื่องของการทำเกษตรแบบง่าย เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยตัวเอง ได้ลองปลูกพืชผัก ในพื้นที่รอบบ้าน หรือทำพื้นที่ที่มีอยู่อย่างว่างเปล่าให้เกิดประโยชย์มากขึ้น ได้ทำการเรียนรู้กับพืชต่างชนิดกัน และที่จริงแล้วพืชอาจไม่ต้องลงดินลงกระถาง อาจจะทำการปลูกเริ่มต้น เป็นสิ่งที่ง่ายอย่างปลูกอย่างถั่วงอกก่อนก็ได้
นอกจากนี้ยังสร้างความตระหนักรู้และเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ทดลอง เพราะบางครั้งสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการนั้น เราต้องเห็นตัวอย่างที่จับต้องได้จริง ๆ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น นอกจากพื้นที่เกษตรที่ใช้สำหรับปลูกอาหารแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ การเล่น และการทดลองสิ่งใหม่ๆ อย่างเช่น เด็ก ๆ ยิ่งทุกนี้โลกที่พัฒนาไปไกล ทำให้สิ่งรอบตัวมีแต่เทคโนโลยี แต่ธรรมชาติกลับน้อยลง จึงอยากให้ทุกคน สามารถสัมผัสดินและธรรมชาติได้จริงๆ
“ตลอดห้าปีที่ผ่านมากับการปลูกผัก เห็นผลในเชิงประจักษ์จากประสบการณ์จริงและประโยชน์ที่ได้รับ”

การทำสวนปลูกผักในเวลาห้าปีที่ผ่านมา สำหรับคุณแม็กซีนนั้นเป็นการกระทำที่ได้ประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนั้น สิ่งที่เราได้ตอบแทนมากับมานั้นมีทั้งเรื่องของสุขภาพดี มั่นใจว่าอะไรที่เราใส่ลงไปปลอดภัยแน่นอน ความสุขที่ได้ทำอาหารจากสิ่งที่คอยเฝ้ามองการเจริญเติบโตจากการใส่ใจของเราเอง และเหมือนเป็นสิ่งที่ได้ทำกันภายในครอบครัว มานั่งคุยกันว่าไปซื้อดินเพิ่มไหม จะปลูกอะไร ซึ่งทั้งสองคนอยากเห็นโครงการนี้เกิด แต่มองว่าต้องมีพาร์ทเนอร์ อย่างศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) แล้วคิดว่าต้องลองดู ถ้าหากไม่รอดก็ลองใหม่ ไม่ได้มีทางลัด คุณจะพบว่าแบบสิ่งที่เล็กน้อย ที่คุณทำมานั้น ผลลัพธ์น่าชื่นใจมากเลย
“ข้อความจากคุณแม็กซีน ถึงผู้อ่านที่ยังไม่เคยลองปลูกผัก”
อยากให้คุณลองจินตนาการดูนะคะ… ขณะที่คุณกำลังทำกับข้าวหรือว่าอาหารจานโปรดสักอย่าง กลิ่นหอมอบอวลไปทั่วครัว และเมื่อคุณหันไป คุณสามารถเอื้อมมือเด็ดผักสดๆ จากสวนของตัวเองมาเติมลงในจาน ผักที่คุณปลูกเอง ดูแลเอง และเป็นชนิดที่คุณชอบที่สุด แค่คิดก็รู้สึกภูมิใจและมีความสุขแล้วใช่ไหมคะ?
อยากชวนให้ทุกคนลองปลูกผักที่ตัวเองชอบสักต้น จะเป็นผักที่กินประจำ หรือเป็นส่วนประกอบของเมนูที่คุณรักก็ได้ ลองดูค่ะ! แล้วคุณจะรู้ว่าการได้เก็บเกี่ยวผลผลิตจากสวนเล็กๆ ของตัวเอง สามารถเติมเต็มความสุขและความภาคภูมิใจขนาดไหน
“เริ่มต้นง่าย ๆ ที่บ้านตัวเอง แล้วคุณจะหลงรักการปลูกผัก”
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะด้วยแนวคิดเกษตรในเมือง: กลไกบูรณาการเชิงนโยบายเพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะ และพื้นที่ส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)