15/02/2022
Mobility
กรุงเทพฯ เมือง(อุบัติเหตุ) 15 นาที
ณัฐชนน ปราบพล พรรณปพร บุญแปง อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
ปี 2561 มีคนกว่า 1.3 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และ 93% อยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ความสูญเสียอันมหาศาลนี้ กลายเป็นประเด็นท้าทายระดับโลก ที่ต้องการลดความสูญเสียนี้ลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ภายใต้การรณรงค์ชื่อว่า “Decade of Action for Road Safety 2021-2030” นำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
สำหรับประเทศไทยกับอุบัติเหตุจากจราจร คงหนีไม่พ้นคำสุภาษิตที่ว่า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”
เพราะเรามักจะได้เห็นข่าวความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสนใจที่สังคมให้ความสำคัญเพียงช่วงเวลาที่เกิดความสูญเสียเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปประเด็นเหล่านี้ก็จะถูกลืม วินัยการจราจรก็กลับไปหย่อนยานเช่นเดิมจนกว่าจะมีข่าวใหม่และเหยื่อหน้าใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งที่จริงแล้ว ความสูญเสียจากการใช้รถใช้ถนนเกิดขึ้นทุกวัน จนกลายเป็นปัญหาสุดคลาสสิกที่ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย กลายเป็นว่า เรายังต้องเห็นโลงศพและหลั่งน้ำตากันอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
เป็นที่ทราบกันดีว่า ไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน แม้ว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลดลงจาก 38 คนต่อแสนประชากรในปี 2554 เหลือ 32 คนในปี 2562 แต่ก็เป็นการลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้ง ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า (องค์การอนามัยโลก, 2563) และกรุงเทพฯ ก็ยังคงครองแชมป์เมืองที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนมากที่สุดของไทย
เมืองเป็นเหตุให้ชีพจรลงเท้า
ด้วยสถานการณ์ของกรุงเทพฯ ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน (รวมปริมณฑล และประชากรแฝง) ประกอบกับลักษณะของเมืองที่พื้นที่แหล่งงานกับแหล่งที่อยู่อาศัยไม่สมดุลกัน (jobs-housing unbalance) อย่างกรณีของกรุงเทพฯ คือ แหล่งงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่เฉพาะใจกลางเมืองเพียงแห่งเดียว ทำให้คนจำเป็นต้องเดินทางเข้า-ออกเมืองเป็นประจำทุกวัน โดยการสำรวจข้อมูลการเดินทางของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พบว่า ปี 2560 การเดินทางในกทม.และปริมณฑล มีปริมาณรวมกว่า 32 ล้านเที่ยว-คนต่อวัน ซึ่ง 31 ล้านเที่ยวคน หรือ 97% เป็นรูปแบบการเดินทางที่ต้องใช้ถนนและทางเท้าเพื่อการสัญจร มีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นการสัญจรด้วยระบบรางและเรือ ยิ่งไปกว่านั้น การวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองการขนส่งระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (eBUM) ยังคาดการณ์ไว้อีกว่า ในพ.ศ.2585 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ปริมาณการเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านเที่ยวคนต่อวัน (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, 2561) ประกอบกับการจดทะเบียนยานพาหนะรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนั่นหมายถึง ยิ่งมีผู้ใช้รถและถนนเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนก็จะยิ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
กรุงเทพฯ เมืองอุบัติเหตุ 15 นาที
10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึง 2564 เกิดอุบัติเหตุบนถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ เกือบ 4 แสนครั้ง เฉลี่ยแล้วปีละ 35,500 ครั้ง และเป็นสาเหตุให้ 830 คนเสียชีวิตทุกปี หรือสรุปง่าย ๆ ว่า ในแต่ละวันจะเกิดอุบัติเหตุบนถนนในกรุงเทพฯ เกือบ 100 ครั้ง หรือทุก ๆ 15 นาที และจะมีคนตายบนท้องถนนทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2-3 คน (ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ, 2564)
จากตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน “รถจักรยานยนต์” เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดถึง 90% รองลงมา คือ รถยนต์ 10% ทำให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและสร้างการสูญเสียมากที่สุดบนท้องถนน อาจจะด้วยลักษณะพาหนะที่คล่องตัว รวดเร็ว และลักษณะเหมือน “เนื้อหุ้มเหล็ก” ขาดอุปกรณ์การป้องกันสำหรับผู้ขับขี่และโดยสาร ประกอบกับการใช้รถจักรยานยนต์เพื่อรับ-ส่งสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ขับต้องแข่งขันกับเวลา ยิ่งทำให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยสาเหตุในการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่เป็นหลัก โดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด ซึ่งคิดเป็น 87% ของเหตุการณ์ทั้งหมด เกิดจากคน รถ และสัตว์ ตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด 6% และเกิดจากการฝ่าฝืนสัญญาณไฟ-เครื่องหมายจราจร หรืออุปกรณ์ยานพาหนะบกพร่อง 3% (กระทรวงคมนาคม, 2564)
แค่รณรงค์คงไม่พอ
เห็นได้ชัดว่า อุบัติเหตุบนถนนส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากความประมาทและฝ่าฝืนกฎจราจรสูงถึง 90% ฉะนั้น หากต้องการจะลดความสูญเสียนี้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การรณรงค์ผ่านแคมเปญที่มาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ หรือตั้งสติก่อนสตาร์ท นั้นคงไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยการปลูกฝังวินัยการจราจร การออกแบบกายภาพและโครงสร้างของถนนที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย และที่สำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะช่วยสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด
ท้ายที่สุดแล้ว ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนถนนที่ดูเป็นเรื่องคุ้นชินของสังคมไทยนั้น ที่จริงแล้วกลับเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปที่คน ๆ หนึ่งกลายเป็นผู้พิการหรือเสียชีวิต จากอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทเพียงชั่วพริบตา แล้วในอนาคตที่หากปริมาณการเดินทางเพิ่มมากขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เป็นไปได้ว่า เราอาจจะต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมแบบนี้มากขึ้นและถี่ขึ้นแน่นอน หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างจริงจัง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
.
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS
ที่มาข้อมูล
ThaiRSC ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน
Mortality caused by road traffic injury is estimated road traffic fatal injury deaths per 100,000 population, World Bank (2019)
รายงานสำรวจข้อมูลการเดินทาง, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (2560)