05/08/2021
Environment

อย่าให้วิกฤตมันเสียเปล่า : ถอดบทเรียนเหตุระเบิดโรงงานพลาสติก กับการจัดการพื้นที่อุตสาหกรรมในเขตเมือง

บุษยา พุทธอินทร์ พิชนา ดีสารพัด หฤษฎ์ ทะวะบุตร
 


วิกฤตโควิด-19 ยังไม่ทันจางหาย คนกรุงเทพฯ กลับได้เจอวิกฤตซ้อนวิกฤต หลังเกิดเหตุระเบิดขนาดใหญ่ที่โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 สร้างความเสียหายให้กับโรงงานและอาคารที่พักอาศัยโดยรอบมหาศาล ความรุนแรงของเพลิงไหม้ส่งผลให้การควบคุมสถานการณ์กินเวลายาวนานมากกว่า 24 ชั่วโมง ผู้คนมากมายในย่านต้องสูญเสียทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย ต้องลำบากกับการอพยพออกจากที่พัก และมีผู้เสียชีวิต 1 รายระหว่างควบคุมเพลิง

กระแสของความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ได้รับผลกระทบเกิดขึ้นควบคู่กับความไม่พึงพอใจในการบริหารสถานการณ์ของภาครัฐ แต่ประเด็นที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กันคือข้อกังขาในผังเมืองของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับคำถามที่ว่าทำไมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารเคมีอันตรายถึงตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนและเขตที่พักอาศัยได้? ความขัดแย้งกันของการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมนี้เกิดจากอะไร? และยังมีความเสี่ยงอะไรจากภาคอุตสาหกรรมที่ซุกซ่อนอยู่ในพื้นที่ของเมืองอีกหรือไม่? 

เพื่อไม่ให้วิกฤตสูญเปล่า ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ภายใต้ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CE.US) และ ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกันจัดเวทีเสวนา มุมมองทางผังเมืองกรณีระเบิดโรงงานกิ่งแก้ว เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร โดยได้เกียรติจากคณาจารย์ประจำภาคผังเมืองฯ ร่วมแลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกัน ประกอบด้วย รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย และ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย และ อาจารย์ ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ เมื่อค่ำวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

มาก่อนอาจไม่ผิด: เพราะโรงงานไม่ได้ตั้งใจสร้างกลางชุมชน

ผู้คนจำนวนมากสงสัยถึงการก่อสร้างโรงงานในเขตพื้นที่พักอาศัย ว่าสามารถทำได้อย่างไร แล้วเมื่อพิจารณาผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ พ.ศ. 2556 จะเห็นว่าโรงงานซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่พาณิชยกรรม นั่นเกิดขึ้นได้อย่างไร? แล้วมีที่มาอย่างไร เหตุใดพื้นที่ตรงนี้ถึงเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม? หลายคำถามจากเหตุการณ์นี้ มีคำตอบรออยู่ 

แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2537
แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2544

คำตอบคือนั่นเพราะว่า โรงงานแห่งนี้มีมาก่อนผังเมืองรวมสมุทรปราการฉบับแรกนั่นเอง โดยโรงงานเกิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2532 แต่ผังเมืองรวมฯ ฉบับแรกนั้นเกิดขึ้นใน พ.ศ.2537 ดังนั้น เมื่อโรงงานที่มาก่อน กฎหมายจึงไม่มีผลย้อนหลัง หากไม่ขัดกับความปลอดภัยสาธารณะ สุขอนามัยสาธารณะ และความเป็นอยู่ที่ดีสาธารณะ

และเหตุใดพื้นที่ตรงนี้จึงกลายเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมสีแดงผืนใหญ่ 

เมื่อไล่ย้อนไทม์ไลน์ จะพบว่า ผังเมืองรวมฯ ฉบับแรกเกิดขึ้นใน พ.ศ.2537 โดยพื้นที่เกิดเหตุ หรือ บริเวณโรงงานหมิงตี้ยังเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ใกล้ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีกิจกรรมนำเข้า-ส่งออก ในขณะเดียวกันก็ได้ปรากฏเขตพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงเช่นเดียวกัน 

ต่อมาในผังเมืองรวมฯ ฉบับ พ.ศ.2544 มีการปรับเปลี่ยนจากพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมที่มีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงงานทุกประเภท อนุญาตเพียงโรงงานขนาดเล็กที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีจุดน่าสนใจ คือการให้ใช้ประโยชน์เป็นสถานที่เก็บสินค้า ที่เก็บพักหรือขนถ่ายสินค้า หรือสิ่งของเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรืออุตสาหกรรม การบริการเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าหรือการขนส่งโดยอากาศยาน ที่กล่าวได้ว่า เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมที่มีความพิเศษ

เนื่องจากถูกวางแผนไว้เพื่อรองรับการพัฒนาจาก The Aerotropolis หรือ โครงการเมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ ที่เมื่อแล้วเสร็จจะเป็น gateway ระดับนานาชาติ โดยหลักการและแนวคิดแล้ว พื้นที่ดังกล่าวนั้นจะต้องมีบทบาทเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนของประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นั่นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

แต่ในการพัฒนาเป็นจริง กลับไม่เป็นแบบนั้น

เมื่อมีการปรับปรุงผังเมืองรวมฯ ฉบับ พ.ศ.2544 มีการปรับพื้นที่อุตสาหกรรมเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ประกอบกับการปรากฏเขตพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางตั้งแต่ พ.ศ.2537 และการกลายเป็นเมืองที่เกิดขึ้นจนกระทั่งปัจจุบัน ทำให้บริบทของพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองมีโรงงานผลิตโฟมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้

ปัญหาที่ตามมาคือ โรงงานไม่ได้ถูกสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับการกลายเป็นเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งนี้กฎหมายผังเมืองบอกว่า หากโรงงานอยู่มาก่อนสามารถอยู่ได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อสาระสำคัญ 3 ตัว ได้แก่ 1) ความปลอดภัยสาธารณะ (public safety) 2) สุขอนามัยสาธารณะ (public health) และ 3) ความเป็นอยู่ที่ดีสาธารณะ (public welfare)แต่หากเป็นโรงงานที่ขัดต่อสาระสำคัญข้างต้น จะต้องมีกลไกในการจ่ายค่าตอบแทน โดยหลักต้องเก็บจากคนที่ได้ประโยชน์ หรือมีภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน แต่ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่เคยนำกลไกนั้นมาปรับใช้

ศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย และ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

เครื่องมือที่ไร้พลัง: ผังเมืองรวมยังมีช่องโหว่ ทั้งยังขาดกลไกในการจัดการ

ในภาพรวม กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในประเทศไทยนั้นกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ค่อนข้างผสมผสานขึ้นอยู่กับบริบท การกำหนด Zoning กล่าวคือ มีความเป็นไปได้ที่ในบางเขตพื้นที่ ที่มีการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่พาณิชยกรรมจะอนุญาตให้ปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กบางประเภทได้ เป็นต้น 

นอกจากนี้มีจุดเล็กที่น่าขบคิด โดยในผังเมืองรวมฯ ฉบับ พ.ศ.2556 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน พื้นที่บริเวณ พ.4 ในผังเมืองรวมสมุทรปราการนี้ ถึงแม้มีการกำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อพาณิชยกรรมก็จริง แต่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็น การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ในขณะเดียวกันยังมีการอนุญาตให้สามารถสร้างโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติก อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างได้เช่นกัน อาทิ การทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่างๆ ดังกรณีนี้ จึงเป็นที่น่าขบคิดไม่น้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นการพัฒนาในปัจจุบัน ก็อาจเกิดการเข้ามาตั้งโรงงานใกล้พื้นที่ชุมชน ซึ่งย่อมทำได้ เมื่อบ้านเรือนตั้งอยู่ประชิดกับอุตสาหกรรมเคมี ก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติภัยดังเช่นกรณีโรงงานหมิงตี้ได้เช่นเดียวกัน 

เมื่อมองในภาพรวมของปัญหา จะพบว่า เรามีกลไกที่ยังไม่ถูกนำมาปรับใช้เพื่อรองรับการเยียวยา เมื่อมีการใช้อำนาจกำหนดให้เจ้าของที่ดินต้องหยุดดำเนินกิจการ หรือเคลื่อนย้ายกิจการของตนเองที่ดำเนินการมาโดยชอบธรรมนั้น แน่นอนว่าควรมีการชดเชย แลกกับการจำกัดสิทธิของเจ้าของเดิมนั้นลง แต่อำนาจของข้อกำหนดทางผังเมืองนี้ ก็ไม่ได้ระบุไปถึงที่มาของทุนที่จะนำมาชดเชยนั้นเลย เครื่องมือชิ้นสำคัญชิ้นนี้จึงดูเหมือนจะไม่มีแหล่งพลังงานที่ขับเคลื่อน ทำให้เราไม่ค่อยเห็นการแก้ไขปัญหาการย้ายโรงงานอุตสาหกรรมออกจากพื้นที่ชุมชน

ในมุมมองของ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย และ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า ทุนที่จะนำมาใช้ในการชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่ต้องย้ายออกนั้นควรจะมาจากผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ที่ดินรูปแบบใหม่โดยรอบ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาใหม่เหล่านั้นจะเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการย้ายกิจการเดิมที่มีความเสี่ยงออกไปจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมส่วนนี้จากเจ้าของที่ดินที่มาทีหลังนั้นไม่เคยเกิดขึ้น และถือเป็นสิ่งที่ยังไม่เป็นปกติในการจัดการผังเมืองในประเทศไทย

ภาพจากสำนักข่าว INN

ไม่ใช่ทุกที่ที่พร้อมดูแลโรงงาน: ปัญหาของเมืองที่ยังขาดการวางระบบร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน

การมีอุตสาหกรรมกระจายตัวปะปนกับชุมชนอย่างไม่เป็นระบบสร้างความยากลำบากให้กับการดูแลและบริหารเมืองในหลายด้าน โดยทั้งหมดมีรากฐานมาจากความไม่เป็นระบบในการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริการกิจกรรมบนพื้นที่แต่ละแบบ 

การใช้ประโยชน์ที่ดินที่รวมอยู่กันเป็นบริเวณอย่างเหมาะสม ทำให้การวางโครงสร้างพื้นฐานสามารถทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การตัดถนน การตัดทางด่วน แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ระบบบำบัดน้ำเสีย การจัดการขยะ และเครื่องมือเพื่อรับมือกับอุบัติภัย เป็นต้น เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละแบบมีความต้องการพื้นฐานที่แตกต่าง การจัดการที่ไม่เป็นระบบย่อมทำให้เกิดอันตราย และการสะสมของมลพิษ หรือสิ่งไม่พึงประสงค์ในชุมชนเมืองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากภาคอุตสาหกรรม

เหล่านี้เป็นเหตุของปัญหาด้านสำคัญอีกประการหนึ่งเช่นกัน คือการใช้สาธารณูปโภคที่ผิดประเภท เช่น การมีรถบรรทุกหนักใช้ถนนเล็กในชุมชน หรือการมีรถขนสินค้าจำนวนมากวิ่งผ่านซอยในหมู่บ้าน เหล่านี้ล้วนเกิดจากการก่อสร้างโดยไม่ได้มีแผนกำหนดไว้ก่อน หรือการกำหนดแผนที่ไม่ได้ลงรายละเอียดมากพอ ไม่มีการทำผังเมืองเฉพาะในส่วนที่ควรทำ ฯลฯ เช่นในกรณีของย่านกิ่งแก้วนี้เช่นกัน ที่จะเห็นได้ถึงการกำหนดแค่แนวถนนระหว่างเมือง-ระหว่างย่าน และไม่ได้กำหนดพื้นที่ภายในบล็อกเลย พื้นที่ภายในจึงมีทั้งหมู่บ้าน ร้านรวง และโรงงานกระจุกกันอยู่ในซอยเล็ก ๆ ที่คดเคี้ยว ทำให้เกิดเป็นความเสี่ยง ในแง่ที่สามารถลำเลียงความช่วยเหลือผ่านเข้า-ออกได้ยาก และทำให้เกิดคอขวดในเวลาจำเป็นได้อย่างที่เห็น

การปะปนกันระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมและชุมชนในบล็อกนี้ ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวเมืองลดลงมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนที่ขาดความสงบ การจราจรที่หนาแน่นเกินจำเป็น หรือความเสี่ยงภัยของการเดินทางภายในย่าน ยิ่งทำให้เมืองไม่อาจพัฒนาเป็นเมืองแห่งพื้นที่สาธารณะ เมืองอันสวยร่มรื่น หรือเมืองเดินได้เดินดีดังที่เราวาดฝันไว้ได้

อาจารย์ ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ไร้กลไก ก็ขาดสมดุลและความเป็นธรรม: เมื่อการสร้างผลเสียไม่มีราคาที่ต้องจ่าย 

ความผิดพลาดในการอนุญาตกิจการประเภทอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชน จะส่งผล 4 ประการ คือ 1) ส่งผลต่อขีดความสามารถในการรองรับการคมนาคมขนส่ง 2) ส่งผลต่อการใช้สาธารณูปโภค อาทิ น้ำ ไฟ เกิน 3) ส่งผลต่อการเกิดมลภาวะโดยรอบมากเกินไป 4) ส่งผลต่อความปลอดภัย เมื่อกิจการใดก็ตาม มีความเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติภัยขึ้นได้เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องตระหนักถึงตรงนั้นเสมอ

อาจารย์ ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การจัดการโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นระบบนั้นสามารถทำได้สำเร็จในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง เช่นในกรณีของประเทศญี่ปุ่นที่มีการย้ายภาคอุตสาหกรรมเข้าอยู่รวมกันในนิคมเป็นหลัก เหลือไว้เพียงกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็กแบบกึ่งหัตถกรรม การจะทำให้เกิดการย้ายภาคอุตสาหกรรมในเมืองเป็นการใหญ่จนเป็นภาพแบบที่ญี่ปุ่นได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานจากภาครัฐเพื่อดำเนินการในเชิงรุก คือกำหนดให้มีพื้นที่ใหม่ที่เพียงพอ เสนอโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่จูงใจให้โรงงานอุตสาหกรรมย้ายไปในพื้นที่ใหม่เหล่านั้น

ไม่เพียงแค่แรงทางบวกเหล่านี้เท่านั้นที่ยังต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ ข้อกำหนดผังเมืองในไทยกำลังงดเว้นแรงทางลบ หรือ “ราคา” ที่เจ้าของกิจการภาคอุตสาหกรรมควรต้องจ่าย แลกกับการอยู่นอกพื้นที่ที่จัดให้เป็นการเฉพาะ 

“กลไกตลาดยังไม่ครบสมบูรณ์ คุณอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม คุณผลักผลกระทบภายนอกออกมาให้สังคมรับไปหมด ไม่ต้องแบกรับเข้าไป เวลาคนจะตั้งหน่วยผลิตที่ไหนก็ตามก็ต้องการจุดที่ราคาถูกที่สุด ในกรณีญี่ปุ่นถ้าตั้งข้างนอกจะแพง…แต่ของบ้านเรานั้นไม่ต้องจ่าย ให้สังคมรับไป” รศ.ดร.พนิต กล่าว

ราคาเหล่านี้คือการจ่ายเพื่อชดเชยกับมลพิษที่ส่งต่อให้ชุมชน เพื่อแลกกับระบบดูแลความปลอดภัยที่หน่วยงานในท้องถิ่นต้องจัดหามาให้เพิ่ม และเพื่อแลกกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้งานที่หนักกว่าบ้านเรือน เมื่อไม่มีราคาที่ต้องจ่ายเหล่านี้ การย้ายเข้าอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมกลับกลายเป็นสิ่งที่มีราคาแพงกว่า ด้วยต้องมีการจ่ายค่าส่วนกลางเพื่อดูแลความเรียบร้อยเหล่านี้เป็นปกติ ในขณะผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องจ่ายอะไร และปล่อยให้ความเสี่ยงและความเสียหายตกไปอยู่กับชุมชนและท้องถิ่นนั้น 

ว่าด้วยเรื่องการสมดุลระหว่างแรงทางบวกและลบนี้ ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำเสนอว่า หากมีการวางแผนอย่างดีพอ การดำเนินการเชิงรุกเพื่อดึงดูดให้มีการย้ายกิจการโรงงานเข้าสู่นิคมนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่ภาครัฐต้องจ่ายเพียงอย่างเดียว แต่มีแนวโน้มจะเป็นกิจการที่ทำให้เกิดผลตอบแทน ที่สามารถนำไปใช้เป็นต้นทุนสำหรับการจัดการผังเมืองส่วนอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ราคาของความเสี่ยงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครต้องจ่าย กลายเป็นความเคยชินของผู้ประกอบการและชุมชน เกิดเป็นความปกติที่ไม่ปกติ ที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขต่อไป โดยต้องอาศัยข้อกำหนดที่ครอบคลุมจากผังเมือง และการดำเนินการอย่างเหมาะสมโดยหน่วยการปกครองท้องถิ่นแต่ละระดับในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงความตระหนักและความร่วมมือจากภาคประชาชนอีกด้วย 

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

เมืองไม่ปลอดภัย: แผนท้องถิ่นสำคัญมากต่อการรับมือกับภัยพิบัติ

“การเตรียมแผนท้องถิ่นสำคัญมาก ระบุเป็นรายการว่าในพื้นที่เรามีความเสี่ยงอะไรบ้าง เหล่านี้สามารถใช้ได้หมดกับทั้งเพลิงไหม้ น้ำท่วม แต่เป็นสิ่งที่ท้องถิ่นไทยยังขาดไปมาก” อ.ดร.พรสรร ระบุ

แน่นอนว่าแบบรูปการใช้ที่ดินในเมืองเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง แต่กระนั้น การดำเนินการหลายประการเพื่อลดความเสี่ยงในกรณีของอุบัติภัยในเมืองก็เป็นสิ่งที่ทำได้ในระยะสั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นได้บ้างในขณะที่ผังเมืองยังไม่ลงตัว และเป็นสิ่งที่เริ่มทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอโครงการใหญ่ หรือกฎหมายข้อใหม่จากรัฐบาล 

การเตรียมการนี้ควรรวมไปถึงการจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงภัยแต่ละประเภทที่อาจเกิดขึ้นได้ในอาณาบริเวณ รวมถึงมีการวางแผน และซักซ้อมการปฏิบัติการในกรณีฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอ เหล่านี้สามารถทำได้เองระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าของกิจการ และผู้อาศัยในพื้นที่ เพื่อสร้างความตื่นรู้ของประชาชน ว่าตัวเองอยู่โซนไหน มีความเสี่ยงอะไรบ้างมากน้อยแค่ไหน ผู้ที่มาอยู่อาศัยใหม่จะได้ตัดสินใจถูก

ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ หยิบยกกรณีของประเทศญี่ปุ่น ที่มีการกำหนดพื้นที่โล่งไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่สำหรับการอพยพเพื่อหลบภัยจากแผ่นดินไหวและเพลิงไหม้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเป็นพื้นที่สำหรับกันไฟ ซึ่งข้อกำหนดในการพัฒนาเหล่านี้ไม่ได้จบอยู่แค่การใช้พื้นที่เท่านั้น แต่ยังลงรายละเอียดไปถึงลักษณะ และวัสดุที่สร้างอาคารแต่ละแห่งอีกด้วย

การจะทำให้เกิดแผนและผังของเมืองที่ปลอดภัยในระยะสั้นของไทยยังคงมีอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะในส่วนของความร่วมมือจากผู้อยู่อาศัย

“ลักษณะของพื้นที่เป็นชุมชนล้อมรั้ว (gated community) บางครั้งคนเมืองที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรเอง ข้างบ้านเองก็ยังมีปัญหา คือไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ ไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกันได้” ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว 

ข้อกังวลดังนี้เน้นย้ำถึงปัญหาของเมืองที่แยกขาดออกจากกันจากการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ และการปิดกั้นชุมชนออกเป็นชุมชนล้อมรั้ว หลาย ๆ แห่ง ทำให้โจทย์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นต่อการสร้างโครงสร้างเมืองให้สามารถรับมือกับอุบัติภัยได้ คือการสร้างความรู้สึกร่วมของชุมชน ที่ทำให้เกิดความเข้าใจ และทำงานร่วมกันได้ ระหว่างคนบ้านใกล้เรือนเคียงกันได้เป็นอันดับแรก

ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ประธานหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการผังเมือง กลไกและการจัดการเมืองในไทยยังต้องมีการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติม และต้องเป็นการปรับปรุงในระดับโครงสร้าง ที่จะทำให้เราสามารถพัฒนา ควบคุมและมีการจัดการอุบัติภัยได้จริง ตลอดจนการวางแนวทางการควบคุมที่เหมาะสมแก่บริบทมากยิ่งขึ้น ภายใต้เงื่อนไข ความปลอดภัยสาธารณะ สุขอนามัยสาธารณะ และความเป็นอยู่ที่ดีสาธารณะ ตลอดจนการสร้างกลไกตลาดที่สมดุลและเป็นธรรม สามารถผลักดันและจัดการกับความเสี่ยงในเมืองได้ 

ระหว่างทางนั้น เราทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งรัฐ หน่วยการปกครองท้องถิ่น เอกชน และประชาชน ในการผลักดันการพัฒนาเมืองที่เป็นระบบสมบูรณ์ได้ และปล่อยให้เมืองที่ดีนั้น สร้างชีวิตที่ดีให้กับพลเมืองทุกคนได้ต่อไป

ผู้สนใจสามารถฟังเสวนา “มุมมองทางผังเมืองกรณีระเบิดโรงงานกิ่งแก้ว เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ย้อนหลังได้ทาง https://web.facebook.com/276255902507371/videos/121511423393903


Contributor