24/03/2022
Public Realm

เพราะเมืองมีปัญหา จึงเป็นที่มาของ 3 ฮีโร่ ผู้ช่วยเหลือคนเมือง

ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
 


“Not All Heroes Wear Capes” เป็นวลีที่มักจะใช้กล่าวชื่นชมผู้คนทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันที่ทำความดี หรือกระทำการที่กล้าหาญหรือน่าประทับใจ เช่นลงไปช่วยลูกหมาที่กำลังจะจมน้ำ ช่วยทำคลอดฉุกเฉินบนรถแท็กซี่ เปรียบเสมือนเป็นฮีโร่ที่เข้ามาช่วยเหลือในยามที่ต้องการ

รู้หรือไม่ว่าในเมืองของเราก็มีฮีโร่ไร้ผ้าคลุมไหล่ที่ใครๆ ก็มักจะเจอในชีวิตประจำวัน แต่บางครั้งเราอาจไม่ทันได้นึกถึงพวกเขาในแง่มุมนี้สักเท่าไหร่ เพราะหลายคนคงเคยชินกับปัญหาภายในเมืองและการมีฮีโร่เหล่านี้ไปเสียแล้ว อย่างเวลาที่เรากำลังจะไปทำงานสายเพราะรถติด คนที่เรานึกถึงคงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากพี่วินมอเตอร์ไซค์ที่จะพาเราไปถึงที่ทำงานได้อย่างฉับไวราวกับมีพลังซุปเปอร์สปีท หรืออย่างเวลาที่เราขี้เกียจออกไปซื้อกับข้าวเพราะตลาดอยู่ไกลเหลือเกิน เรายังมีแม่ค้าพ่อค้ารถกับข้าวหรือรถพุ่งพวงที่มาส่งวัตถุดิบถึงหน้าบ้าน หรืออย่างเวลาที่เราอยากโล๊ะกองกระดาษ เอกสารที่มีอยู่เต็มบ้านเราคงจะนึกถึงซาเล้ง คนรับเก็บของเก่าเป็นแน่  วันนี้ The Urbanis จะพาไปรู้จักกับเหล่าฮีโร่ที่ถือกำเนิดมาจากปัญหาเมืองกัน

ยอดมนุษย์วิน ฮีโร่แห่งความเร็ว

จากบทความ มหานครซอยตัน ได้กล่าวว่า กว่า 45% ของความยาวถนนทั้งหมดในกรุงเทพฯ เป็นซอยตันแม้แต่ในพื้นที่เขตเมืองชั้นในที่ดูเหมือนว่าโครงข่ายถนนจะมีรูปแบบเป็นตารางกริด แต่กลับมีซอยตันแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก และจากผลการสำรวจเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้รถยนต์และการจราจรติดขัดในหลายเมืองในภูมิภาคอาเซียนของ Uber ได้กล่าวว่าคนกรุงเทพจะต้องเสียเวลาไปกับรถติดโดยเฉลี่ย 72 นาทีในแต่ละวัน และอีก 24 นาทีเพื่อวนหาที่จอดรถ แทนที่จะมีเวลาไปสังสรรค์หรือใช้เวลาให้เกิดประโยชน์

คนกรุงฯ กับเรื่องการเดินทางเป็นปัญหาที่แก้ไม่ขาด ตั้งแต่เรื่องของขนส่งสาธารณะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เราต้องรอเก้อเป็นชั่วโมง ปัญหาที่ทำงานไกลบ้าน  ขนส่งไม่เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายเดียว ปัญหารถติด ปัญหาซอยลึกซอยแคบ บ้านห่างจากป้ายรถประจำทางมาก ยิ่งตอนกลางคืนหรือซอยเปลี่ยวๆ ยิ่งไม่กล้าเดินเข้าไปในซอยคนเดียวอีก การนั่งวินมอเตอร์ไซค์จึงเป็นตัวเลือกที่ใครหลายคนเลือกใช้

วินมอเตอร์ไซค์ได้เข้ามาเป็นตัวเลือกสำคัญในการเดินทางในชีวิตประจำวันของคนเมือง ตั้งแต่การออกจากบ้านไปยังป้ายรถประจำทางที่นอกจากจะไกลแล้ว ทางเดินก็อาจจะไม่มีหรือมีแต่ก็ไม่น่าเดินสักเท่าไหร่ การที่เราต้องรอรถสาธารณะที่มาช้า แม้บางวันเผื่อเวลาแล้วแต่ก็ยังสาย สุดท้ายก็ต้องนั่งวินฯ อยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้นในเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติดแบบสุดๆ ยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนแล้ว ยานพาหนะที่ดีที่สุดคงจะหนีไม่พ้นมอเตอร์ไซค์ที่สามารถซอกแซกได้อย่างชับไว หรือในช่วงดึกที่ซอยบางซอยทั้งเปลี่ยว ทั้งมืดเพราะไม่มีไฟข้างทางเลย เราก็จำเป็นต้องนั่งวินฯ เข้าไป หรือกรณีที่เส้นทางที่เราไปจำเป็นต้องข้ามถนน บางคนอาจจะเลือกนั่งวินเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินข้ามหรือขึ้นสะพานลอย ด้วยเหตุของความปลอดภัยหรือว่าตนเองไม่สามารถที่จะเดินขึ้นสะพานลอยได้ ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ปัญหาเรื่องการเดินทางภายในเมือง ตั้งแต่การออกแบบผังเมือง การบริหารจัดการขนส่งสาธารณะ ไปจนถึงทางเท้า ที่ทำให้วินมอเตอร์ไซค์เหมือนเป็นอัศวินขี่ม้าขาวสำหรับคนเมืองไปเสียแล้ว

ยอดมนุษย์พุ่มพวง ฮีโร่แห่งความสะดวก

ก่อนที่ฟู้ดเดลิเวอรี่จะได้รับความนิยม ก่อนหน้านี้ชาวเมืองมี รถกับข้าวหรือรถพุ่มพวง ที่ทำหน้าส่งตรงวัตถุดิบสำหรับทำอาหารถึงหน้าบ้านทุกเช้าหรือทุกเย็น เรียกได้ว่าเป็นรถขวัญใจแม่บ้านพ่อบ้านคุณย่าคุณยายในหมู่บ้านกันเลยทีเดียว ด้วยความสะดวกสบายที่ไม่ต้องปั่นจักรยานหรือเดินไปถึงตลาดซึ่งก็อาจจะไกลจากที่อยู่อาศัยไม่น้อย นอกจากนี้วัตถุดิบยังมีราคาถูก บางครั้งเราสามารถสั่งจองสินค้าหรือฝากแม่ค้าหาวัตถุดิบบางอย่างที่ยากจะเจอในซุปเปอร์มาเก็ตได้อีกด้วย บางคนสั่งบ่อยเป็นลูกค้าประจำจนซี้กับแม่ค้าไปแล้วก็มี

จากบทความ ตลาด แหล่งอาหารและพื้นที่ชีวิตของเมือง ในกรุงเทพมหานครมีชุมชนกว่า 1,200 ชุมชนที่ตั้งอยู่ในระยะ 1.5 กิโลเมตรจากตลาด และในชุมชนเหล่านั้น มีถึง 840 ชุมชนที่อยู่ใกล้ตลาดในระยะ 1 กิโลเมตรแต่อีก 65 ชุมชนที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตลาด หรือแหล่งอาหารและวัตถุดิบ  นอกจากระยะทางระหว่างที่อยู่อาศัยกับตลาดแล้ว ยังมีเรื่องของการเดินทางที่เป็นปัญหาเนื่องจากไม่มีทางจักรยานหรือทางเท้าที่เดินได้สะดวก ซึ่งรถพุ่มพวงได้เข้ามาแก้ไขในจุดนี้ เป็นการเชื่อมให้ผู้คนเข้าถึงแหล่งอาหารและวัตถุดิบได้ง่ายขึ้น โดยที่ราคายังคงจับต้องได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนไม่สามารถเดินทางได้หรือเดินทางไม่สะดวก เช่น ผู้สูงวัย ผู้พิการ กลุ่มคนงานตามไซต์งานก่อสร้างและโรงงาน เป็นต้น ด้วยปัญหาระยะทางและการเดินทางที่เป็นอุปสรรค แม่ค้าพ่อค้ารถพุ่มพ่วงจึงเป็นเหมือนฮีโร่ในสายตาผู้ที่ทำอาหารกินเองและกลุ่มชาวบ้านในซอยลึกเป็นอย่างมาก

ยอดมนุษย์ซาเล้ง ฮีโร่แห่งความสะอาด

รู้หรือไม่ว่าปริมาณมูลฝอยของของกรุงเทพในปี 2564 มีจำนวนเฉลี่ย 8,674.73 ตัน/วัน เทียบเท่ากับรถบรรทุก 6 ล้อราวๆ 578 คัน/วันเลยทีเดียว และจากข้อมูลปี 2564 พบว่าสำนักสิ่งแวดล้อมได้รับงบประมาณกว่า 75,500 ล้านบาท แบ่งเป็นงบด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 13,664 ล้านบาท คิดเป็น 18.10 เปอร์เซนต์ เป็นสัดส่วนสูงสุดอันดับที่ 2 รองจากงบการบริหารจัดการทั่วไปที่ 32.07 เปอร์เซ็นต์

เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯ มานานหลายสิบปีแต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะถูกแก้ไข แม้ว่าในปัจจุบันคนจะหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็ตาม เพราะต้นเหตุของปัญหาขยะล้นเมืองนั้นมีที่มาจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงระบบการจัดเก็บและจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยโครงสร้างของปัญหาขนาดใหญ่นี้ มีฮีโร่กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่คอยช่วยบรรเทาปัญหาขยะในเมืองอยู่เสมอ คือซาเล้งหรืออาชีพนักรับเก็บขยะของเก่าไปขาย จากขยะตามบ้านเรือน ตามตรอกซอกซอย ซาเล้งจะเป็นผู้เก็บรวบรวมและคัดแยกขยะเหล่านี้อย่างละเอียด เพื่อนำไปขายตามร้านรับซื้อของเก่า โดยการเอาของที่ผู้คนทิ้งมาคัดแยกและนำไปขายตามร้านรับซื้อของเก่า 

ด้วยความชำนาญและประสบการณ์ในการคัดแยก บวกกับรถขนาดเล็กสามารถเข้าถึงตรอกซอกซอยได้ง่าย ทำให้ขยะที่วางกองไว้หน้าอาคารบ้านเรือนมีจำนวนลดน้อยลง แล้วยังทำให้มีปริมาณขยะถูกนำไปรีไซเคิลมากขึ้น ปริมาณขยะฝังกลบลดลง เป็นการลดระยะเวลาในกระบวนการกำจัดขยะอีกด้วย ฉะนั้นแล้วซาเล้งจึงเหมือนเป็นฮีโร่ที่ช่วยแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองที่ถึงแม้จะเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาที่ใหญ่และต้องอาศัยทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐในการแก้ไข แต่การแยกขยะตั้งแต่ต้นทางก็เป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ฮีโร่เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเมืองของเรามีปัญหามากมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุ ปัญหาลากยาวมาเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการแก้ไข จนทำให้เกิดเป็นอาชีพเหล่านี้ขึ้น จนบางครั้งทำให้เราเคยชินกับวิถีชีวิตที่อยู่ไปพร้อมกับปัญหาเหล่านี้ จนลืมตั้งคำถามไปว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติ และปัญหาควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม ปัญหาเมืองเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐที่คอยขับเคลื่อนและพร้อมแก้ปัญหาอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นเหตุของปัญหา เพราะฮีโร่ต่อให้มีมากเพียงใดก็มิอาจแก้ปัญหาให้หมดไปได้แต่เพียงผู้เดียว

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS

ที่มาข้อมูล

คนกรุงเสียเวลากับรถติดวันละ 72 นาที

ข้อมูลแสดงปริมาณมูลฝอย ปีงบประมาณ 2555 – ปีงบประมาณ 2564

กทม. ขอใช้งบ ปี 2564 กว่า 7.5 หมื่นล้านบาท มุ่งพัฒนาเมือง-เสริมคุณภาพชีวิตคนกรุง

จากซาเล้งถึงโรงงาน ส่องความเปราะบาง-ข้อจำกัดของธุรกิจรีไซเคิล

ตามติดชีวิตซาเล้ง ในวันที่ขยะ (อาจ) จะเป็นของนำเข้า


Contributor