17/06/2023
Public Realm
ขยะเมืองลดลงได้ เริ่มต้นได้ที่ ‘ต้นทาง’
ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
ปัญหาขยะ กับเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขาดการคัดแยกขยะจากต้นทาง การขนย้าย การจัดการขยะ ด้วยความที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากร 5 ล้านกว่าคน ยังไม่นับรวมประชากรแฝงและนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 4 ล้านกว่าคน เมื่อเทียบกับเมืองหลวงในประเทศอื่นๆ จึงไม่แปลกใจเลยที่ปัญหาขยะจะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของกทม.
ทราบกันหรือไม่ว่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีขยะปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บได้จำนวนทั้งหมด 3 ล้านตัน เมื่อเทียบเป็นรถบรรทุกสิบล้อแล้ว ในแต่ละวันเราทิ้งขยะเท่ากับรถบรรทุกสิบล้อกว่า 360 คันเลยทีเดียว และเมื่อดูงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 พบว่ากทม.มีแผนงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล งบประมาณจำนวน 4,639,731,855 บาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจัดการขยะจะต้องอาศัยโครงสร้างในการบริหารจัดการในกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษี การคัดแยก การเดินรถ การกำจัด แต่สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆ ก็คือการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
วันนี้ The Urbanis จึงอยากพาผู้อ่านมาชมกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ ว่าเขาทำอย่างไรให้ ‘ต้นทาง’ มีการคัดแยกขยะมากขึ้น เพื่อลดภาระปัญหาขยะในกระบวนการต่อๆ ไป
The Green Dot ประเทศเยอรมัน
ที่มาภาพ Legislation: a final point at the Packaging Green Dot (printindustry.news)
ประเทศเยอรมันถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการคัดแยกขยะมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ซึ่งประเทศเยอรมันก็มีวิธีการต่างๆ ในการกำจัดขยะ ตั้งแต่การแบ่งประเภทถังขยะถึง 6 ประเภท การมีนโยบายให้วางถังขยะรีไซเคิลทั่วประเทศ หรือการบังคับใช้กฎข้อบังคับต่างๆ เช่น the Waste Act ซึ่งเป็นข้อบังคับเรื่องขยะโดยครอบคลุมในส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดขยะอีกด้วย
ข้อบังคับดังกล่าวก่อให้เปิดสัญลักษณ์ The Green Dot ขึ้น ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ตามสินค้าต่างๆ ในแถบยุโรปซึ่งแสดงบนบรรจุภัณฑ์ที่รับรองว่าบรรจุภัณฑ์ชิ้นนี้จะถูกนำไปรีไซเคิลอย่างมีคุณภาพ โดยบริษัทผู้ผลิตจะเสียค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทเก็บขยะเอกชนในการรับผิดชอบขยะที่มีสัญลักษณ์นี้ เพราะที่เยอรมันมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง
โดย The Green Dot system เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1991 ในประเทศเยอรมัน โดยบริษัท Duales System Deutschland GmbH (DSD) จุดประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการในการเก็บ คัดแยก และรีไซเคิลบรรจุภันฑ์ ต่างๆ ในเยอรมัน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดสิ่งแวดล้อมที่ต้องการให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์นำเอาบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตมารีไซเคิล จนปัจจุบัน The Green Dot ถูกนำไปใช้แล้วกว่า 29 ประเทศ
TOwaste app ประเทศแคนาดา
ที่มาภาพ TOwaste
TOwaste app แอพริเคชั่นของเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เป็นแอพริเคชั่นที่จะช่วยให้ผู้ใช้ง่านจัดการกับขยะได้ง่ายขึ้น เพราะแอพนี้จะช่วยระบุให้ว่าขยะชิ้นไหนจะใส่ใส่ถึงอะไร ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่การคัดแยกขยะนั้นมีกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อนเรื่องจากในขยะ 1 ชิ้น อาจจะแยกใส่ถึงคนละถัง หรือแม้มองดูแล้ววัสดุคล้ายๆกันก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องลงถังเดียวกันเสมอไป
นอกจากแอปพลิเคชันนี้จะบอกว่าขยะแบบไหนต้องลงถังอะไรแล้ว ทำให้ประชาชนลดความผิดพลาดในการแยกขยะต่างๆ ให้ถูกถัง แอพริเคชั่นนี้ยังบอกอีกด้วยว่าถังขยะแต่ละประเภทตั้งอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วรถขยะจะมาเก็บวันไหน ซึ่งผู้เข้าใช้สามารถตั้งเวลาเตือนก่อนรถขยะมาเก็บได้เลย ภายในแผนที่ยังบอกถึงจุดทิ้งขยะเฉพาะประเภทอันตรายแยกเอาไว้อีกด้วย และที่น่าสนใจคือแอพนี้มีบอกจุดโลเคชั่นสำหรับการบริจาคหรือซื้อสิ่งของมือสองได้อีกด้วย
Garbage Clinical Insurance ประเทศอินโดนีเซีย
ที่มาภาพ Garbage Clinical Insurance – Gamal Albinsaid – YouTube
Garbage Clinical Insurance (GCI) โครงการนี้เกิดขึ้นโดย Dr. Gamal Albinsaid เป็นโครงการประกันสุขภาพขนาดเล็กที่ใช้ขยะรีไซเคิลแทนการใช้เงินสด โดยชุมชนสามารถชำระค่าบริการทางการแพทย์ได้จากเงินในโครงการประกันที่มีการแลกเปลี่ยนกับขยะรีไซเคิล โครงการนี้มุ่งเป้าไปที่คนเก็บขยะและชุมชน ในการนำขยะของตนเองมาแลกเป็นการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพให้กับสมาชิกในชุมชน
ด้วยประเทศอินโดนีเซียเผชิญกับปัญหาขยะมากมาย ในปี 2010 ขยะพลาสติกกว่า 3.23 ล้านตันบนชายฝั่งอินโดนีเซีย บวกกับปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ Garbage Clinical Insurance จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ผู้เข้าสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาขยะในเมือง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เชื่อมไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพหากขยะถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการจัดเก็บ
แล้วประเทศไทย เรามีต้นแบบในการจัดการขยะอย่างไรบ้าง
จากกรณีศึกษากรุงเทพมหานคร พบว่ากทม. มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งเน้นจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพแบบครบวงจรทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง และยังคงการเดินหน้าลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการที่รณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า หยุดจ่ายและจำหน่ายถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อ โดยการจัดการขยะที่ต้นทางจะเน้นไปที่การคัดแยกจากแหล่งกำเนิด การจัดการขยะที่กลางทางจะเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการขนย้าย และที่ปลายทางจะเน้นไปที่เพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดและแปรรูปมูลฝอยเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์
เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ทางกทม. ได้มีการเปิดตัวนโยบาย “ไม่เทรวม” ที่เชิญชวนให้ประชาชนในพื้นที่นำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตหนองแขม เขตปทุมวัน และเขตพญาไท ทำการแยกขยะออกเป็น 2 ประเภทแบบง่ายๆ คือแยกขยะเศษอาหารและขยะทั่วไปออกจากกัน พร้อมทั้งบรรจุขยะทั้ง 2 ประเภทในถุงขยะที่แตกต่างกันเพื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการแยกขยะทั้ง 2 ประเภทออกจากกัน จะช่วยทำให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลาในการส่งขยะไปรีไซเคิลทำปุ๋ยหมัก หรือ ส่งขยะไปทำเชื้อเพลิงแบบ RDF ได้มากขึ้น ลดการฝังกลบขยะที่จะก่อให้เกิดปัญหาอีกมากมาย โดยที่ทางกทม. จะมีการจัดเก็บแบบ ‘ไม่เทรวม’ อย่างที่แล้วๆ มา ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการจัดการกับปัญหาขยะตั้งแต่ ‘ต้นทาง’
ที่มาภาพ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นอกจากนี้ ในบางพื้นที่บางชุมชนในประเทศไทยเองก็มีการผลักดันในเรื่องการจัดการขยะ โดยเฉพาะการจัดการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอยู่ ตัวอย่างเช่น ชุมชนเกตุไพเราะที่ The Urbanis ได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์คุณสุธี มากพิชัย เลขาและคณะกรรมการชุมชนเกตุไพเราะ 3,4,5 ชุมชนต้นแบบ Zero Waste แห่งแรกในกทม. ที่อาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนในจัดการปัญหาขยะร่วมกัน คนในชุมชนมีการคัดแยกขยะโดยมีการแยกขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปเอาไปทำประโยชน์ให้กับชุมชน เช่น เป็นอาหารปลา ทำปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ ส่วนขยะประเภทอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว ก็จะมี “คนชักลากขยะ” ซึ่งก็เป็นคนในชุมชนเองที่มาคอยดูแลขยะเหล่านี้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Zero Waste เกตุไพเราะ 3,4,5 และบทบาทผู้พัฒนาชุมชนเมือง กับคุณสุธี มากพิชัย)
ที่มาภาพ sataranacitizen
หรือในกรณีของเมืองหาดใหญ่ที่มีไอเดียการติด “Tag แยกขยะ” เพื่อช่วยแก้ปัญหาขณะในชุมชนและร้านอาหาร โดยถุงขยะจะมีการติดป้าย Tag ที่จะช่วยแบ่งประเภทขยะในถุงได้ตามสีและสัญลักษณ์ดังนี้ ป้ายสีเหลืองหมายถึงขยะรีไซเคิล ป้ายสีน้ำตาลหมายถึงขยะพลาสติก ป้ายสีเขียวหมายถึงขยะเศษอาหาร และป้ายสีฟ้าหมายถึงขยะทั่วไป ซึ่งขยะป้ายสีเหลืองและสีน้ำตาลจะถูกส่งต่อไปยังรถซาเล้งและรถพ่วงเพื่อนำไปผ่านกระบวนการต่างๆ ให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ส่วนป้ายสีเขียวจะถูกต่อให้ร้านรับซื้อเศษอาหาร เพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหรือเป็นอาหารสัตว์ และป้ายสีฟ้าจะเป็นถุงขยะที่เทศบาลจะมาเก็บแล้วนำไปทำลาย ซึ่งวิธีการเหล่านี้ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ปัญหาขยะถูกแก้ได้ตั้งแต่ต้นทาง
จากกรณีศึกษาที่ได้หยิบยกขึ้นมา แต่ละประเทศก็มีวิธีการจัดการกับปัญหาที่แตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ ความสะดวก สภาพสังคม แต่สิ่งที่ทุกประเทศล้วนให้ความสำคัญคือวิธีการที่จะจัดการปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อช่วยร่นระยะเวลาและเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในขั้นตอนต่อๆ ไป แต่อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาขยะภายในเมืองก็จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างแบบองค์รวมตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง ควบคู่ไปด้วยกับการใช้กฎระเบียบข้อบังคับและความร่วมไม้ร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ที่มาข้อมูล
เปิดสถิติประชากรไทยสิ้นปี 2565 กทม. ครองแชมป์สูงสุดกว่า 5 ล้านคน
ตีตรงจุด : สำรวจคุณภาพชีวิตประชากรแฝงในเมืองกรุง
Legislation: a final point at the Packaging Green Dot
Zero Waste เกตุไพเราะ 3,4,5 และบทบาทผู้พัฒนาชุมชนเมือง กับคุณสุธี มากพิชัย
เปิดนโยบาย “ไม่เทรวม” ชวนประชาชนแยกเศษอาหาร ไม่ทิ้งปนขยะทั่วไป นำร่อง 3 เขต