17/03/2022
Life

Zero Waste เกตุไพเราะ 3,4,5 และบทบาทผู้พัฒนาชุมชนเมือง กับคุณสุธี มากพิชัย

พุทธิพร ณ ศรี อภิชยา ชัยชิตามร
 


จากข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยของปีงบประมาณพ.ศ. 2564 พบว่ากรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะสูงถึง 8,674.73 ตัน ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่ากรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองขยะจริงไหม ? จากการที่เราเห็นขยะกองสูงที่ล้นอยู่ข้างริมฟุตบาท พร้อมเพื่อนซี้หนูท่อคู่ใจที่มักจะโผล่มาจากกองเหล่านั้นทุกวันในตอนที่เดินกลับจากที่ทำงาน บ้าน โรงเรียน  มองไปทางไหนก็ไม่สบายตา คิดว่าหลายคนคงจะรู้สึกอยากให้สิ่งไม่น่าอภิรมย์เหล่านี้หายไป  

แล้วถ้าจะให้กรุงเทพฯ กลายเป็น ‘เมืองปลอดขยะ’ จะสามารถเกิดขึ้นอย่างไรได้บ้าง ?

หากลองคิดเล่น ๆ ว่า เขตทุกเขต ชุมชนทุกชุมชนในกรุงเทพมหานคร สามารถจัดการขยะภายในพื้นที่ของตนเองได้ คำว่าเมืองปลอดขยะคงจะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า แต่การจัดการขยะมหาศาลเหล่านั้นจะสามารถเริ่มต้นได้ที่เราจริงหรือ ? จะมีพื้นที่ไหน หรือชุมชนแบบไหนที่สามารถเริ่มจัดการปัญหานี้ได้  หลายคนคงจะนึกไม่ออกว่าชุมชนเล็ก ๆ จะสามารถจัดการขยะภายในพื้นที่ของตนเองได้อย่างไร  

วันนี้ The Urbanis จะพามารู้จักกับชุมชนเกตุไพเราะ 3,4,5 ชุมชนที่อยู่คู่กับการพัฒนาชุมชนเมืองกรุงเทพ ฯ และการเจริญเติบโตของย่านพระโขนง-บางนา มานานนับกว่าหลายสิบปี มีดีกรีในเรื่อง ‘การจัดการบริหารตัวเอง’ และได้รับการการันตีว่าเป็น ‘ชุมชนปลอดขยะ’ หรือ ‘Zero Waste’ ผ่านบทความสัมภาษณ์เชิงลึกกับ คุณสุธี มากพิชัย เลขาและคณะกรรมการชุมชนเกตุไพเราะ 3,4,5 ผู้ร่วมพัฒนาชุมชนพร้อมบทบาท และประสบการณ์ที่หลากหลายด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้น – กระบวนการดำเนินงาน Zero Waste เกตุไพเราะ 3,4,5 

‘ชุมชนเกตุไพเราะ 3,4,5 เป็นชุมชนที่มีจุดทิ้งขยะที่เดียว และเป็นชุมชนปลอดถังขยะ’  

ชุมชนเกตุไพเราะเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนแหล่งน้ำ กิจวัตรของผู้คนส่วนใหญ่จึงดำเนินไปด้วยการใช้ชีวิตอยู่เหนือน้ำ การทิ้งขยะลงบริเวณรอบบ้านตนเองจึงกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่แปลกนักที่ใต้น้ำจะอัดแน่นไปด้วยขยะ วัชพืช เศษอาหาร ทำให้สัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดขึ้นบ้านของคนในพื้นที่ จึงมีการจัดการประชุมเกิดขึ้นและได้ข้อสรุปว่าจะมีการรณรงค์ทำความสะอาดชุมชน เกิดเป็น D-day เก็บขยะ ในช่วงระยะเวลาเดียวกันเมื่อปี พ.ศ. 2551 มีการประกวดโครงการรักษ์เจ้าพระยา ทางชุมชนเกตุไพเราะได้มีส่วนร่วมในการเข้าแข่งขันและได้รางวัลชนะเลิศเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุผลว่า ‘ชุมชน รักษาแหล่งน้ำที่ตนอยู่’ การพัฒนาและจัดการขยะได้ทำมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัล ชุมชนปลอดขยะ ‘Zero Waste บริหารจัดการขยะเป็นรูปธรรม’ กับ รางวัลชุมชนประชาธิปไตย เป็นรางวัลของกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2554

หากพูดถึงหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชุมชนได้รับรางวัล และประสบความสำเร็จจนได้รับขนานนามว่าเป็นชุมชนจัดการตัวเอง คงหนีไม่พ้นปัจจัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่ร่วมดำเนินงานต่าง ๆ คุณสุธี กล่าวว่า ลูกบ้านทุกคนที่อยู่รู้ว่าต้องทำอะไร เพราะอยู่ด้วยกันมาหลาย 10 ปี  เวลามีปัญหาเกิดขึ้น พวกเราก็ต้องนำปัญหามาแก้ไข พัฒนา เราใช้วิธีพูดคุยกัน พอถึงเวลาประชุมก็จะมีประชาสัมพันธ์ นัดหมาย แล้วก็มานั่งแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ลูกบ้านจะมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเขามองว่าสิ่งที่เราทำกันมันดีอยู่แล้ว การมาทำงานตรงนี้ ถ้าลองสัมผัสก็จะกล้าคิด กล้าทำมากขึ้น  ‘เราต้องทำให้เขาเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำก่อน และให้เขาได้ลองสัมผัสด้วยตัวเอง ถ้าเขามั่นใจแล้ว เขาจะเริ่มหวงแหน รักษาความสะอาด ในพื้นที่ที่เขารัก สุดท้ายความสะอาดก็จะเข้ามา’

การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการและลูกบ้าน มีคณะกรรมการที่จริงจัง และมีองค์ความรู้ ถือเป็นศักยภาพของชุมชนเกตุไพเราะ 3,4,5 อย่าง ‘พี่บัง’ หรือคุณสุรเชษฐ์ ชุ่มชื่น หนึ่งในคณะกรรมการชุมชน ผู้ดูแลชุมชนที่สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งในเบื้องหลังที่คอยดูแลและให้ความร่วมมือทุกกระบวนการทำงาน ผู้เป็นทั้งคนชักลากขยะของชุมชน งานตัดหญ้า หรืองานนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ต่อ ล้วนแต่เป็นฝีมือของพี่บัง ที่ทำให้ชุมชนสามารถรักษาและจัดการความสะอาดต่อมาได้เรื่อยมา

พื้นที่ต้นแบบ – ปัจจุบัน – อนาคต แหล่งเรียนรู้ทางสิ่งแวดล้อมของพระโขนง-บางนา

ภายในชุมชนมีการแยกขยะชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะสัญจรที่มาจากที่อื่นมาทิ้งที่พื้นที่นั้น ๆ และขยะอินทรีย์ คนในชุมชนจะจัดการกันเองภายในครัวเรือน ตอนเย็นจะมีคนชักลากขยะเข้าไปเก็บตามซอยในชุมชนเอาไปให้ปลา ให้วัวควาย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์

และขยะอีกประเภทที่คุณสุธี ได้นิยามขึ้นมาใหม่ คือ ‘ขยะลอยฟ้า’

‘ขยะลอยฟ้า’ ในความหมายของคุณสุธี มากพิชัย เป็นขยะที่อยู่สูงกว่าพื้นดิน อย่างป้ายร้านหมูกะทะ ซ่อมแอร์ กู้เงินด่วน ที่ติดตามเสาไฟฟ้า ตู้จดหมาย กำแพงบ้าน ทำให้เจ้าของพื้นที่เสียเปรียบ ทรัพย์สินเสียหาย เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่มาติดไม่ได้ขออนุญาตและทำให้ถูกต้อง

สิ่งแวดล้อมคือหัวใจของพวกเรา

สำหรับกิจกรรมในชุมชน ช่วงเย็นจะมี ‘ตลาดบ่อปลา’ ของชุมชน พื้นที่สำหรับการค้าขาย กลวิธีก็คือ ไม่ให้ถังขยะเป็นของตัวเอง แต่ให้มาทิ้งขยะที่เดียว ‘พี่บัง’ คนชักลากขยะของชุมชน จะเอาถังเปล่าใส่รถเข็นเดินรอบ ชุมชน ให้ทุกบ้านเอาขยะออกมาทิ้ง เก็บทุกซอยของชุมชน 3,4,5 ‘สิ่งสำคัญที่สุดเลยคือ ทุกชุมชนควรมีคนชักลากขยะชุมชน  ต้องเก็บขยะทุกวัน เราไม่อยากให้มีขยะตกค้าง เราไม่ควรทิ้งขยะหน้าบ้านและวางไว้ทุกหน้าบ้าน ผมเคยเป็นภาคภาคีเสนอว่าชุมชนต้องมีคนชักลากขยะ’ 

“เรื่องขยะ” ผมบอกเสมอว่า ‘ทำให้เป็นมิตร ติดเป็นนิสัย’ เราต้องทำ ไม่ใช่ว่าเห็นขยะแล้วเราปล่อยปะละเลย ถ้ามีใครทิ้งขยะไว้ ก็จะบอกให้เก็บ หรือไม่ก็กวาดเอง เราทำให้มันสบายใจ

ในเขตพระโขนงจะมีผม (สุธี) กับท่านประธาน (คุณเกียรติพงษ์ เกตุลอย) 2 คน เป็นวิทยากรสิ่งแวดล้อมของเขตพระโขนง เพราะฉะนั้น ‘เรื่องสิ่งแวดล้อมคือหัวใจของพวกเรา’  บ้านผมจะสกปรกแค่ไหนก็ได้ แต่ขอให้ชุมชนเราสะอาดไว้

สำหรับรูปแบบบริหารจัดการชุมชน คุณสุธีมองว่าชุมชนเกตุไพเราะมี ‘การบริหารจัดการตัวเอง’ ที่เป็นต้นแบบ พื้นที่ หรือชุมชนอื่นสามารถนำไปประยุกต์ ต่อยอดเพื่อพัฒนาในพื้นที่ของตนเองได้ เพื่อที่จะได้เกิดแหล่งเรียนรู้ และเกิดการพัฒนาในมิติอื่นอย่างสร้างสรรค์ 

“ถ้าถามว่า ‘Zero Waste’ ที่ชุมชนทำ สร้างพลังอะไรบางอย่างให้กับตัวเรา หรือกลุ่มภาคประชาชนไหม ผมคิดว่าสร้างให้ทุกคน สำหรับตัวผม ได้ความภาคภูมิใจ คนที่เข้ามาในชุมชน ชมว่า “ชุมชนน่าอยู่ ชุมชนสะอาด” บางครั้งชาวต่างชาติที่ปั่นจักรยานมาซื้อของในตลาดหยุดถ่ายรูปชุมชน ผมก็มั่นใจว่าเขาคงคิดว่าทำไมชุมชนนี้สะอาด”

แล้วสิ่งที่เราประทับใจที่สุด คือ หลายสถานศึกษา นักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่าง อเมริกา ญี่ปุ่น มาศึกษาดูงานที่ชุมชนนี้เป็นต้นแบบ ทีนี้ทำให้รัฐบาลตื่นตัว เทศบาล 43 แห่ง ในประเทศไทย หน่วยงานราชการทหารตำรวจ รายการทีวีก็มาดูงานที่ชุมชนนี้ทั้งหมด

ชุมชนเกตุไพเราะ 3,4,5 กับ การจัดการโควิด-19

พูดถึงก่อนโควิด คนจะเข้ามาหาเราเยอะ แต่ปัจจุบันมีโควิดก็ไม่มีการรวมตัวกันเท่าเมื่อก่อน หน่วยงานใหม่ ๆ ก็ไม่มีเข้ามา ถ้าพูดถึงตอนนี้งานที่เราทำมันอยู่ตัว เพราะเราทำทุกวัน และสถานการณ์โควิดสำคัญที่สุด  เพราะฉะนั้นต้องโฟกัสตรงนี้ก่อน แล้วโควิดในชุมชนมีน้อยมาก ถ้าเกิดบ้านหลังไหนติดโควิด ให้มาแจ้งกับทางเรา จะมีการติดต่อเขตและกระทรวงสาธารณะสุขให้ เราก็จะคอยช่วยเหลือกัน

สำหรับขยะติดเชื้อต้องแจ้งฝ่ายสิ่งแวดล้อมของเขตพระโขนง จะมีเจ้าหน้าที่มาเก็บ เรามีจุดถังขยะเอาไว้ทิ้งหน้ากากอนามัยและถุงมือ ให้สำหรับแม่ค้า ลานตลาดชุมชนจะมีการจัด SWAP จมูก ฉีดวัคซีน แม่ค้าเขาก็ให้ความร่วมมือดี เพราะว่าเราอยู่ที่นี่แบบพึ่งพาอาศัยกัน รักแม่ค้าเหมือนกับญาติพี่น้อง

แผน – ทิศทาง การดำเนินงานในอนาคตของชุมชนเกตุไพเราะ 

สำหรับแผนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ชุมชนจะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ  และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเชื่อว่าที่นี่จะช่วยส่งเสริมให้เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ในระดับวงกว้างที่ดึงดูดให้ผู้คนนอกพื้นที่ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้ ในขณะเดียวกันหลาย ๆ อย่างที่ทำขึ้นมาก็เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนในชุมชน อย่าง ‘เครื่องปั่นเพิ่มค่าออกซิเจนน้ำ’ เราเรียกว่าสิ่งนี้ว่า ‘นวัตกรรมชุมชนของเรา’ เป็นสิ่งที่พวกเราทำร่วมกัน ด้วยมือตัวเอง ไม่ได้ใช้ไฟฟ้า ปั่นแล้วเพิ่มค่าออกซิเจน และได้ออกกำลังกายด้วย กับ ‘ที่ดองบุหรี่’ ตอนสูบก็หยอดขี้บุหรี่ลงไปข้างใน ด้านในเป็นน้ำ หลังจากที่เราดองบุหรี่ กำหนดไว้เดือนนึงเปิดออกเอาไปผสมน้ำ ใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้

คุณสุธียังบอกอีกว่า เราได้ตรงนี้มา ไม่ได้เพราะฟลุ๊ค เราทำด้วยมือ อย่างที่ผมบอกเรื่องขยะมันเป็นเรื่องหัวใจ’ 

สุดท้ายนี้ คุณสุธีได้ทิ้งท้ายไว้ในเรื่อง ‘บทบาทของผู้พัฒนาชุมชนเกตุไพเราะในอนาคต’ ที่จะมาสานต่อวิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชนสีเขียวอย่างยั่งยืน ว่า “พวกผมคุยกันเสมอเลยว่าถ้ารุ่นเราหมดไปแล้ว จะหารุ่นไหนมาทำต่อ แต่ถ้ามันถึงเวลาคงได้เอง” และเชื่อว่าจะต้องทำเป็นต้นแบบให้คนรุ่นหลังได้เห็น

เหมือนอย่างที่คุณสุธีได้กล่าวไปในตอนแรก ‘เราต้องทำให้เขาเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำก่อน และให้เขาได้ลองสัมผัสด้วยตัวเอง ถ้าเขามั่นใจแล้ว เขาจะเริ่มหวงแหน รักษาความสะอาด ในพื้นที่ที่เขารัก สุดท้ายความสะอาดก็จะเข้ามา’

จากบทสัมภาษณ์คงทำให้ผู้อ่านได้เห็นกระบวนการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะของชุมชน โดยเริ่มจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ วิสัยทัศน์ของคณะกรรมการชุมชนที่มุ่งหวังให้เกิดการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม และมีความหวังว่าพื้นที่อื่น ๆ จะสามารถร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน  ตลอดจนการนำทรัพยากรในพื้นที่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างเครื่องปั่นเพิ่มออกซิเจนน้ำ หรือ ที่ดองบุหรี่ ที่ได้พูดถึงไปข้างต้น มองดูผิวเผินอาจเป็นกระบวนการพัฒนาทั่วไป แต่แท้จริงแล้วนั้น สิ่งนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น ‘นวัตกรรมทางสังคม’ กล่าวคือ นวัตกรรมทางสังคมไม่จำเป็นที่จะต้องมีความ High-Tech เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่อาจเป็นเพียงสิ่งที่คนในชุมชนสามารถนำมาปรับใช้และสร้างการพัฒนาขึ้นภายในชุมชนร่วมกันได้ สิ่งนั้นก็สามารถเรียกได้ว่าเป็น ‘นวัตกรรมทางสังคม’ ได้เช่นกัน 

The Urbanis เชื่อว่าการพัฒนาชุมชนมีความสำคัญต่อการพัฒนาย่าน ซึ่งจะส่งผลไปในระดับการพัฒนาเมือง อนึ่ง การดึงเอาศักยภาพและข้อจำกัดของชุมชนมาปรับให้เข้ากับบริบทของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมไปกับการติดตามผลและปรับปรุงอยู่เสมอ จะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน น่าอยู่และมีประสิทธิภาพได้ต่อไป

โครงการนี้เป็นโครงการศึกษาและออกแบบอย่างมีส่วนร่วม โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับ สตูดิโอการฟื้นฟูย่าน ภาคผังเมือง จุฬาฯ และโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

ข้อมูลแสดงค่าเฉลี่ยปริมาณมูลฝอย ปีงบประมาณ 2555 – ปีงบประมาณ2564


Contributor