14/06/2021
Public Realm

รู้จัก Gay Village และพลวัตเมืองจากการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ

สรวิชญ์ ธรรมรติวงศ์ หฤษฎ์ ทะวะบุตร
 


เรียบเรียง : สรวิชญ์ ธรรมระติวงศ์, หฤษฎ์ ทะวะบุตร

ภาพปก : ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต

เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ที่หลายเมืองให้ความสนใจและกำหนดเป็นเป้าหมายของการพัฒนานั้น นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กลไกการบริหารจัดการ ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีสารสนเทศ หากประกอบที่สำคัญไม่แพ้กันคือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็น Smart People และสภาพที่แวดล้อมที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น สภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้คนที่หลากหลายอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและเป็นสุข

บทความชิ้นนี้ตั้งใจบอกเล่าเกี่ยวกับย่านและเมืองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในเมืองบนโลกปัจจุบัน ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนิยมอยู่อาศัยและเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว เพราะเป็นย่านในเมืองหรือเมืองที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับพวกเขาในสภาพสังคมปัจจุบันที่หลายๆ ประเทศ อาจจะยังไม่เปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากนัก

Gay Village กำเนิดย่านของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

พื้นที่เมืองอันเป็นย่านของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “Gay Village” พบได้ทั่วไปในมหานครทั่วโลก มีลักษณะสำคัญคือเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก (LGBTQ+ Urban Space) และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่าง คลับ บาร์ ซาวน่า ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ร้านหนังสือ ร้านอาหาร และอื่น ๆ อีกมากมาย ในช่วงแรก Gay Village ยังไม่ได้มีความชัดเจนมากขนาดที่จะตีขอบเขตชัดเจนได้ เนื่องจากในอดีต ความหลากหลายทางเพศยังถือเป็นสิ่งต้องห้ามรุนแรงกว่าในปัจจุบันค่อนข้างมาก

เช่นในมหานครนิวยอร์กที่ก่อนหน้านี้การอยู่ร่วมกันของเกย์ถือเป็นสิ่งผิดกฏหมาย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 1969 เคยเกิดเหตุการณ์ตำรวจบุกผับเกย์ที่ชื่อว่า “Stonewall Inn” จนก่อให้เกิดเหตุการณ์ Stonewall Incident หรือการเรียกร้องความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่สำคัญที่สุด และเป็นหมุดหมายสำคัญสู่การเรียกร้องความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และด้วยเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ย่านของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำเป็นต้องปกปิดตัวเองอีกต่อไปจนเกิด Gay Village ทั่วโลก

ดังคำกล่าวของนักสังคมวิทยาชาวสเปน Manuel Castells ที่ว่า “from the bars to the streets, from nightlife to daytime, from ‘sexual deviance’ to an alternative lifestyle”

ผับ Stonewall Inn ที่ปัจจุบันถูกจัดเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา (U.S. National Historic Landmark) ในฐานะเป็นเสมือนตัวแทนของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมของสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกา
ภาพจาก www.biography.com/news/stonewall-riots-history-leaders

ปัจจุบัน Gay Village ที่มีชื่อเสียง อาทิ ย่าน Greenwich Village, Hells kitchen และ Chelsea ในมหานิวยอร์กของสหรัฐฯ ย่าน Chueca ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ย่าน Schöneberg ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ถนน Gay Street ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี รวมถึงเมือง Brighton ประเทศอังกฤษ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในอังกฤษ ที่พื้นที่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศขยายใหญ่ขึ้นไปพร้อมกับสิทธิความเท่าเทียมที่พวกเขาควรได้รับ

ย่าน Greenwich ในมหานครนิวยอร์ก ในภาพเป็นป้ายที่ตั้งอยู่บริเวณถนน Gay Street (คำว่า Gay นี้มากจากชื่อของผู้ที่เคยเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณนี้ในสมัยก่อน ไม่ได้หมายถึงคำว่ากับคำว่าเกย์ที่เป็นกลุ่มหนึ่งในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ที่ตั้งอยู่ในย่าน Greenwich ซึ่งในเดือน Pride Month ปี 2019 ถนนแห่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อชั่วคราวเป็น “Acceptance Street” เพื่อสนับสนุนถึงการยอมรับ และสนับสนุนในความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (ที่มาภาพ https://secretnyc.co/gay-street-in-greenwich-village-temporarily-changes-name-to-be-more-inclusive-acceptance-street/)

Brighton เมืองหลวงแห่งความหลากหลายทางเพศ

Brighton ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลทางใต้ของอังกฤษ มีบทบาทเป็น “stylish seaside resort” หรือ เมืองตากอากาศที่มีสไตล์ ผับบาร์ที่เป็นจุดนัดพบกันของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อเสียงด้านการเป็นเมืองตากอากาศที่แตกต่างไม่เหมือนใครของ Brighton ได้กระจายไปสู่ผู้คนในอังกฤษ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ย่อมได้ยินเสียงที่เลื่องลือนี้ และพากันมองว่าเมือง Brighton น่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การเปิดเผยเพศวิถี หรือความเป็นตัวเองของพวกเขา 

ปัจจุบันประชากรผู้ใหญ่กว่า 11-15% ใน Brighton ระบุว่าตัวเองเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และนอกจากเมืองแห่งนี้จะมีผับบาร์เป็นที่นิยมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกคือ เมืองแห่งมีบริการต่าง ๆ สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่าง Allsorts Youth Project, the Brighton & Hove LGBT Switchboard และ Sussex Beacon ที่คอยให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงให้ความรู้กับคนในสังคมเพื่อนำไปสู่การเปิดกว้างความคิดเพื่อยอมรับพวกเขาให้มากขึ้น

นอกจากนี้ทุกเดือนสิงหาคมจะมีเทศกาล Brighton Pride เพื่อส่งเสริมความเสมอภาค ความหลากหลาย และขจัดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในเทศกาลจะมีการเดินขบวนไปทั่วทุก Gay Village โดยศูนย์กลางของเทศกาลอยู่ที่ย่าน Kemp Town มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การบรรเลงดนตรี การเต้นคาบาเรต์ และอื่น ๆ นี้เองที่ทำให้เมืองแห่งนี้เป็นสถานที่พิเศษไม่เหมือนใคร เปิดกว้างต่อทุกคนในสังคม อันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมหานครยุคใหม่

Gaytrification เมื่อเมืองยุคใหม่ทำลายย่านของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

หนึ่งในคำที่คงเป็นที่คุ้นหูเมื่อพูดถึงการพัฒนาเมืองยุคใหม่คือ Gentrification หรือการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูย่านในเมือง

ทั้งนี้ Gentrification มักเจาะจงถึงการฟื้นฟูโดยกลุ่มทุนและผู้อาศัยใหม่ที่มั่งคั่ง มีศักยภาพในการสร้างพื้นที่ให้สวยงามและปลอดภัยมากกว่า เหตุนี้เองที่ทำให้ Gentrification มักเป็นกระบวนการที่เป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสม ว่าด้วยการทำลายเอกลักษณ์ทางพื้นที่ และลบล้างเครือข่ายของชุมชนที่มีอยู่มาก่อนหน้า

Gay Village ในมหานครหลายแห่งทั่วโลกก็กำลังประสบกับชะตากรรมเช่นเดียวกับชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่เมือง เมื่อค่าเช่าและค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสมาชิกของชุมชนเดิม ทั้งผู้คน และธุรกิจ ต้องย้ายออกไปอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม The Guardian ชี้ให้เห็นถึงสภาวะที่น่าเป็นห่วงมากกว่าในชุมชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ประการแรก ย่านของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังประสบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่สูงกว่าปกติ จากการศึกษาเปรียบเทียบ พื้นที่ที่มีประชากรชายอยู่กินร่วมครัวเรือนกัน มีอัตราการเพิ่มมูลค่าที่ 14% พื้นที่ที่มีประชากรหญิงอยู่ร่วมครัวเรือนกัน มีอัตราการเพิ่มมูลค่าที่ 16.5% ในขณะที่อัตราการเพิ่มมูลค่าเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 10% เท่านั้น

ประการที่สอง กลุ่มธุรกิจ เช่น ร้านอาหาร บาร์ คลับ ที่เน้นการบริการเฉพาะกลุ่มและเป็นศูนย์กลางชุมชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีปริมาณไม่มากอยู่เป็นทุนเดิม และด้วยมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นนำไปสู่การปิดตัวของสถานที่เหล่านี้ ทั้งสองสาเหตุอาจทำให้พื้นที่ทางกายภาพที่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนี้สูญหายไปโดยสิ้นเชิงได้ในอนาคต

“Gaytrification” หรือภาวะของ Gentrification ที่เกิดขึ้นอย่างเฉพาะในชุมชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นที่สันนิษฐานว่ามีรากฐานมาจากการสร้างความเชื่อมั่นในการยอมรับความหลากหลายของผู้คน ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การยอมรับความหลากหลายของผู้คนเป็นคุณค่าที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21

การสร้างความเชื่อมั่นไม่ว่าผ่านการจัดเทศกาล เครือข่ายในชุมชน หรือไอเดียธุรกิจใหม่ จึงเป็นตัวดึงดูดการขยายตัวของชุมชนและเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่มากเป็นพิเศษ กระทั่งพื้นที่เริ่มเป็นที่สนใจของกลุ่มทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับแนวคิดแรกเริ่มหรือไม่ก็ตาม การหลั่งไหลเข้ามาของธุรกิจและผู้คนมากมายจึงทำให้ย่านเกิดการสูญเสียเอกลักษณ์ไปในที่สุด

ย่าน Soho ในกรุงลอนดอน เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอาศัยอยู่หนาแน่น ย่าน Soho ในปัจจุบันเต็มไปด้วยผับ บาร์ และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมากมาย ผลักดันให้ค่าเช่าและราคาที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ภาพโดย Paul The Archivist บน Wiki Commons)

อย่างไรก็ตาม Gaytrification อาจจะไม่ได้เลวร้ายไปเสียทุกด้าน คนหลายกลุ่มเชื่อว่าการกระจุกตัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันลดลง เมื่อสังคมยอมรับความหลากหลายได้มากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเปิดเผยตัวตน และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างไม่ต้องถูกแบ่งแยกอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป รวมถึงยังมีการเคลื่อนไหวและการสร้างเครือข่ายผ่านทางออนไลน์ ทำให้กระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศทำได้เป็นปกติ และเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

ที่สุดแล้ว พื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ทุกแห่งสมควรได้รับการรักษาไว้ และไม่ควรมีใครต้องลำบากจากการปรับปรุงเมืองเพื่อกลุ่มทุนที่ใหญ่ขึ้น หรือผู้ที่มีฐานะดีขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่พลวัตของเมืองดังนี้ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในฐานะผู้ที่ยืนหยัดเพื่อความหลากหลาย และผู้ที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเพื่อนมนุษย์ทุก ๆ คน

แหล่งข้อมูล

The ‘gaytrification’ effect: why gay neighbourhoods are being priced out

Why is Brighton the LGBTQ Capital of the UK?

Is ‘Gaytrification’ a Real Phenomena?

Between “ghettos”, “safe spaces” and “gaytrification”: exploring the specificities of LGBT neighbourhoods in Southern Europe

Castells, Manuel. (1983). Cultural identity, sexual liberation and urban structure. The gay community in San Francisco in The city and the grassroots. A cross-cultural theory of urban social movements. Berkeley : University of California Press, p. 138-170.


Contributor