05/01/2022
Public Realm

ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า กับดาต้าเมือง

The Urbanis อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ บุษยา พุทธอินทร์
 


“ทำไมคนผิวขาวอย่างคุณถึงพัฒนาสินค้าได้มากมายและส่งมายังนิวกินี
แต่พวกเราคนผิวดำมีสินค้าเพียงน้อยนิดเป็นของเราเอง”

— จาเร็ด ไดมอนด์

คำถามเมื่อ พ.ศ.2515 ของยาลี นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวชาวปาปัวนิวกินี ได้จุดประกายให้จาเรต ไดมอนด์ เขียนหนังสือ “ปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า ชะตากรรมของสังคมมนุษย์” ขึ้นใน พ.ศ.2540 ในหนังสือดังกล่าว เขาได้วิพากษ์ถึงเหตุผลในความเหนือกว่าของชาวยูเรเชียและแอฟริกาเหนือ ที่ทำให้พวกเขาสามารถยึดครองผลประโยชน์จากผู้คนที่เหลือบนโลก

ไดมอนด์เสนอว่าความเป็นสังคมเกษตรกรรมตั้งแต่สมัยโบราณทำให้กลุ่มอารยธรรมนี้พัฒนาเทคโนโลยีและวิถีชีวิตที่แข็งแกร่ง คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงปืน เชื้อโรค และเหล็กกล้า ซึ่งต่างก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เอาชนะคนกลุ่มอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย โดยมีปืนอยู่ในฐานะกำลังรบ เชื้อโรคอยู่ในฐานะสิ่งสร้างภูมิคุ้มกัน และเหล็กกล้าอยู่ในฐานะเทคโนโลยีที่สนับสนุนจักรวรรดินิยมในการล่าอาณานิคม

จากการบรรยายเรื่อง “ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า กับดาต้าเมือง” เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2564 บรรยายโดยคุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ฝ่าย Urban Intelligence คุณอดิศักดิ์นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่าง เชื้อโรค พัฒนาการ และระบบการบริหารจัดการเมือง  พร้อมทั้งชี้ให้เห็นความสำคัญของการใช้ข้อมูลเข้ามาประยุกต์เพื่อการบริหารจัดการเมืองในปัจจุบันที่มีความซับซ้อน ให้เกิดการคลี่คลายและวางแผนแก้ไขปัญหาได้

โรคระบาดอยู่คู่อารยธรรม

เชื้อโรค เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือของไดมอนด์ ตลอดเวลาที่โรคระบาดอยู่ร่วมกับมนุษย์ในสังคม พฤติกรรมของเชื้อโรคที่สัมพันธ์กับตำแหน่งและสภาพแวดล้อมส่งผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของอารยธรรม สังคมในระดับย่อย รวมถึงสังคมเมือง

การต่อสู้กับภัยของโรคระบาดดำเนินมาอย่างยาวนาน แนวคิดหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการจัดการโรคระบาดคือแนวคิดว่าด้วย “อายพิศม์” (Miasma) คือความเชื่อว่าโรคเกิดจากอากาศเสีย แนวคิดนี้เป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้สังคมเมืองเริ่มมองการแพร่กระจายของโรคระบาดว่ามีแบบแผนทางพื้นที่ที่อธิบายได้ ไม่ใช่เพียงพระประสงค์ของพระเจ้า (an act of God) นำมาซึ่งการพยายามศึกษาแบบรูปการกระจายตัวของโรคในพื้นที่เป็นครั้งแรก ๆ

การศึกษาหนึ่งที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงคือการศึกษาของจอห์น สโนว์ ใน พ.ศ.2398 เกี่ยวกับการกระจายตัวของอหิวาตกโรคในพื้นที่กรุงลอนดอน ที่เป็นรากฐานของการศึกษาทางระบาดวิทยา รวมทั้งภูมิศาสตร์มนุษย์ที่สำคัญชิ้นหนึ่ง การศึกษานี้มีการใช้กระบวนการทำแผนที่และวิเคราะห์เชิงพื้นที่ แบบเดียวกับที่นักภูมิศาสตร์ใช้วิเคราะห์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เหล่านี้เป็นจุดเปลี่ยนการศึกษาโรคระบาดในช่วงเวลาต่อ ๆ มาอย่างมาก ดังเช่นที่เห็นได้ในปัจจุบัน จากการสังเกตการกระจายของแบคทีเรียแต่ละประเภทในสถานีรถไฟในนครนิวยอร์กเมื่อ พ.ศ.2558 ที่ยังคงมีหลักการทางระบาดวิทยาที่สัมพันธ์กับรูปแบบพื้นที่ในเมือง

สะท้อนให้เห็นว่าโรคระบาด หรือเชื้อโรค มีความสัมพันธ์กับการจัดการเมืองตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

จากเชื้อโรคและโรคระบาด สู่แนวคิดการบริหารจัดการสุขภาวะเมือง

เนื่องจากโรคระบาดมักเกิดขึ้นกับสังคมที่มีความเป็นเมืองมาก การแก้ปัญหาสุขภาวะในเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก แนวคิดอายพิศม์ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างกลายเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเมือง มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการปฏิรูปสาธารณสุขในสหรัฐฯ การวางระบบสาธารณูปโภค และการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการย้ายสุสานออกจากเมือง เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะในเมืองเพื่อสร้างอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการและการออกแบบวางผังเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของเมือง

ในเวลาถัดมา กรุงเทพฯ ก็ได้มีการปฏิรูประบบสาธารณสุขเช่นกัน ว่าด้วยการควบคุมและจัดการ “ความโสโครก” จากการประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) เพื่อป้องกันภยันตรายของมหาชน…ในกรุงเทพฯ โดยสังกัดกระทรวงนครบาล มีข้าราชการประจำคือ เสนาบดีกระทรวงนครบาล นายช่างหรือเจ้าพนักงานโยธาธิการ และนายแพทย์ ร่วมปฏิบัติหน้าที่ 4 ประการ ได้แก่

  1. การกำจัดขยะเยื้อฝอย 
  2. การจัดการเรื่องเว็จ การถ่ายอุจาระ ปุสสาวะ 
  3. การรักษาความสะอาดของบ้านเรือนประชาชน
  4. การป้องกันและการห้ามทำความโสโครก

เป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาในที่สาธารณะ เหล่านี้เป็นการกระทำเพื่อรักษาสุขภาวะของผู้อาศัยในกรุงเทพ และรวมไปถึงการลดสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์อีกด้วย

เมื่อโลกพัฒนาขึ้น สังคมกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ปัญหาสุขภาวะและพิบัติภัยต่าง ๆ ในพื้นที่เมืองก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กรณีเหตุการณ์โรงงานโฟมระเบิด ซอยกิ่งแก้ว ไฟไหม้ตลาดร้อยปีบ้านแพ้ว ย่านไนท์บาซาร์เชียงใหม่ช่วงสถานการณ์โรคระบาดที่มีความซบเซา ดังนั้น การรับมือกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นยิ่งต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ในทำนองเดียวกันหากเมืองไม่เป็นระบบระเบียบก็จะยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้น ถึงแม้เราจะได้เห็นนวัตกรรมท้องถิ่นที่ใช้รับมือกับสาธารณภัยในเมือง แต่การข้อมูลเมืองก็เป็นสิ่งมีคุณค่าและสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้มากทีเดียว

เมืองซับซ้อนขึ้น ข้อมูลเมืองจึงสำคัญ: ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล

ในการทำความเข้าใจเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและพื้นที่นั้นสำคัญอย่างมาก ดังนั้น ข้อมูลที่เก็บและนำออกมาใช้ได้ในปัจจุบันนี้จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ โดยข้อมูลเมืองที่ใช้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. ข้อมูลทางด้านกายภาพ 
  2. ข้อมูลทางด้านประชากร 
  3. ข้อมูลทางด้านพฤติกรรม

ข้อมูล 3 ประเภทนี้สามารถสะท้อนประเด็นทางกายภาพของพื้นที่ และพฤติกรรมของผู้คนได้เป็นอย่างดี จะช่วยในการวางแผน บริหารจัดการเมืองในปัจจุบัน รวมถึงประเด็นด้านการระบาดวิทยาและการสาธารณสุขก็สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน 

ดังที่จะเห็นได้จากบทความ “สุสานคนเป็น : ความเสี่ยงในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้สูงวัยในเมือง” เป็นหนึ่งในตัวอย่างการใช้ข้อมูลทางกายภาพด้านสาธารณสุข ข้อมูลประชากรสูงวัย รวมทั้งข้อมูลเชิงพฤติกรรมคนเมืองอย่างจุดจราจรติดขัด นำข้อมูลเหล่านี้มาซ้อนทับและทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกมาเป็นข้อเสนอแนะหรือแนวทาง รวมทั้งข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการเมืองได้อย่างถูกต้องแม่นยำ สะท้อนการวางแผนผ่านการขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล

นอกจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ คาดการณ์ และวางแผนสาธารณสุข หรือการบรรเทาสาธารณภัยแล้ว การใข้ข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถขยายผลไปถึงการสร้างความปกติสุขให้แก่ชาวเมือง หรือกระทั่งการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวได้ด้วย เช่นการวางแผนรับมือภัยพิบัติเพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือการจัดการการเยียวยาทางเศรษฐกิจในสถานการณ์โรคระบาด เป็นต้น

ตัวอย่างการวิเคราะห์ข้อมูลเมืองในบทความ สุสานคนเป็น

เมืองมีความซับซ้อนหลากหลายมิติ รวมถึงมิติของอำนาจในการบริหาร การมีส่วนร่วม เมื่อมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างซับซ้อนแล้ว การจัดเก็บข้อมูลเมืองเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ การจัดสรรไว้อย่างเป็นระบบ  มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการโครงสร้างของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เราไม่เพียงแค่อยู่ในพื้นที่เมืองที่เรียกว่า ศตวรรษแห่งเมือง เท่านั้น แต่เรายังอยู่ในยุคความเป็นเมืองที่ต้องใช้ข้อมูลขับเคลื่อน อีกด้วย การนำข้อมูลมาใช้ประกอบการบริหารเมืองนี้เป็นกระแสที่ได้รับความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า Data-driven Urbanism เป็นความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลและความเป็นเมืองร่วมสมัย 

ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในยุคสมัยแห่งการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนเมือง แต่การได้มาซึ่งข้อมูลและการนำข้อมูลเข้ามาใช้ประกอบกับการบริหารเมืองในประเทศไทยยังมีน้อยมากเนื่องจากข้อจำกัดการเข้าถึงข้อมูล ระบบผูกขาดข้อมูลจากท้องถิ่น เทศบาลไปจนกระทั่งรัฐส่วนกลาง โดยข้อมูลทั้งหมดที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการเมืองที่มี ได้ถูกจัดเก็บเอาไว้กับหน่วยงานรัฐแค่ไม่กี่แห่ง ขาดการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยและมีความครอบคลุม ไม่ได้มีการแบ่งปัน และวัฒนธรรมการเปิดกว้างให้ข้อมูลถูกนำไปใช้ได้สะดวก ขัดกับกระแสหลักของการพัฒนาเมืองในโลกยุคปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเมือง หรือการส่งเสริมความเจริญของอารยธรรมให้เมืองเกิดการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างการใช้ข้อมูลเมืองในมิติต่างๆ

การขับเคลื่อนเมืองโดยใช้ข้อมูลช่วยในการตั้งคำถาม เปิดพื้นที่หารือ ช่วยในการบริหารและตัดสินใจ

เมืองมีผู้คนที่หลากหลาย การเอาข้อมูลเมืองมาใช้ให้เกิดประโยชน์  จะต้องมีการจัดการข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างระบบการจัดการ วางแผนเมืองที่ดี โดยการจัดการข้อมูลแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้ข้อมูล 2) ตัวข้อมูล 3) บริบทเมือง สามสิ่งนี้จะทำเกิดการสร้างสมดุล และความเชื่อมโยงในการจัดการข้อมูลทุกระดับ

แบบจำลองการพัฒนาฐานข้อมูลจากผู้กระทำ ส่วนหนึ่งในโครงการสังเกตการณ์เมืองเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0

เมื่อข้อมูลเมืองมีความสำคัญ ทุกคนจึงมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ตั้งคำถาม ร่วมพูดคุย บริหารจัดการและตัดสินใจร่วมกัน ยกตัวอย่างการจัดการข้อมูลในระดับเมืองที่มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ในโครงการคนไทย 4.0 เป็นโครงการศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมเมืองเชียงใหม่ โดยมองว่าคนที่มีส่วนร่วมในเมืองนั้นหลากหลายมาก ไม่เพียงแค่ภาครัฐ แต่ภาคประชาสังคมก็มีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองมากเช่นกัน

มีการประยุกต์ใช้ข้อมูล ในการศึกษาพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงเมืองและเครือข่ายเมืองเชียงใหม่ เพื่อดูพัฒนาการของกลุ่มเครือข่าย และเครือข่ายเสมือน ถึงการมีส่วนร่วมต่อประเด็นการพัฒนาเมืองในแต่ละปี พบว่า ภาคประชาสังคมและสังคมออนไลน์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนตรงนี้เป็นการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไปบริหารจัดการเมืองต่อ สิ่งที่ทำถัดมาได้มีการทำแบบจำลองการพัฒนาฐานข้อมูลเมือง ด้วยการดูว่าภาคประชาสังคมมีความสนใจประเด็นการขับเคลื่อนเมืองเรื่องใดบ้าง ซึ่งก็ได้แก่ ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม นิเวศธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว กิจกรรม เศรษฐกิจ และการพัฒนาสุขภาวะเมือง ประเด็นเหล่านี้จะถูกถอดออกมาเป็นโครงสร้างกลุ่มชุดข้อมูลเมือง 3 ส่วน ได้แก่ 1) กลุ่มชุดข้อมูลกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน 2) กลุ่มชุดข้อมูลประชากรและพลเมือง 3) กลุ่มชุดข้อมูลพฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการใช้ข้อมูลขับเคลื่อน บริหารจัดการเมืองเชียงใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบวางผัง

ตัวอย่างการใช้ข้อมูลนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างความสัมพันธ์ในระดับเมือง ตั้งแต่การสร้างการรวมกลุ่ม การประสานความสัมพันธ์ การใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการ แล้วหลังจากนั้นจึงใช้ข้อมูลเป็นฐานในการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ สร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นการขับเคลื่อนเมืองโดยใช้ข้อมูลช่วยในการตั้งคำถาม เปิดพื้นที่หารือร่วมกันระหว่างประชาชนมาสู่ภาครัฐ เพื่อช่วยในการบริหารและตัดสินใจร่วมกัน

ความสำคัญของดาต้ากับเมืองร่วมสมัยในบริบทไทย

ข้อมูลสามารถนำมาอธิบายปรากฎการณ์ หรือลักษณะความเป็นเมืองร่วมสมัยของกรุงเทพฯ หรือ “Bangkok as Contemporary Urbanism” ว่าทำไมเมืองถึงเป็นไปในแบบที่เป็น รวมถึงเสนอแนวทางในการจัดการ และวางแผนในอนาคตต่อไปได้ 

ตัวอย่างการใช้ข้อมูลเหล่านี้ได้แก่ ข้อมูลการกระจายตัวและสัณฐานของซอยตัน เพื่ออธิบายลักษณะโครงสร้างทางกายภาพของเมือง การกระจายตัวของสถานีจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อเข้าใจและวางแผนการขนส่งระดับ Feeder การกระจายตัวของคลังเชื้อเพลิงและขอบเขตการบริการของสถานีดับเพลิง เพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงภัย ดัชนีความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการพัฒนาเมือง หรือการกระจายตัวและความต้องการพื้นที่สีเขียวในเมือง ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารเมืองได้ การใช้ข้อมูลมาประกอบจะทำให้เราตัดสินใจได้แม่นยำมากกว่าการอ้างอิงจากความรู้สึกหรือประสบการณ์

จากที่จอห์น สโนว์ ได้ทำไว้เมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ข้อมูลที่แสดงลักษณะของพื้นที่ ประกอบกับข้อมูลที่แสดงลักษณะของผู้คน สามารถใช้อธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพื้นที่ได้ ลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยตั้งแต่อดีตกระทั่งในปัจจุบัน เราสามารถศึกษาเรื่องต่าง ๆ ในเมืองของเราได้มากมายด้วยความสัมพันธ์ของปัจจัยแบบเดียวกันนี้ โดยอาศัยการประยุกต์ใช้ข้อมูลเมือง ซึ่งเป็นมรดกอีกสิ่งหนึ่งที่ “เชื้อโรค” ในอดีต ได้สร้างพัฒนาการไว้ จนมาถึงสังคมเมืองร่วมสมัยในปัจจุบัน


Contributor