04/11/2019
Insight

สุสานคนเป็น : ความเสี่ยงในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของผู้สูงวัยในเมือง

ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


กรณีศึกษา: คุณยายของฉันอายุเก้าสิบเศษ ท่านเป็นคนร่างเล็กแต่แข็งแรงและร่าเริง คุณยายชอบย้ายไปพักบ้านลูกหลานเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ บ้านของฉันเป็นบ้านหนึ่งที่คุณยายชอบมา วันนั้น ฉันกลับบ้านมาราวๆ หกโมงเย็น กำลังเดินขึ้นไปชั้นบนของบ้าน ทันใดนั้นฉันก็ได้ยินเสียงโครมครามตามด้วยเสียงร้องของคุณยาย เมื่อวิ่งลงมาดูเหตุการณ์ ฉันเห็นคุณยายล้มหงายอยู่บนพื้นคอนกรีตที่จอดรถ ที่หน้าผากมีแผลลึกอาบเลือดที่ไม่มีท่าทีว่าจะหยุด คุณยายเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าที่ยังตกใจอยู่ว่าพลาดล้มจากบันไดหน้าบ้าน สิ่งเดียวที่ฉันต้องทำให้เร็วที่สุด คือพาคุณยายไปยังโรงพยาบาล แต่คำถามก็คือ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหน และฉันควรใช้เส้นทางไหน ถึงจะพาคุณยายไปถึงมือหมอให้ได้เร็วที่สุด

คำถามเหล่านี้ เกิดขึ้นภายใต้กรอบของเวลาหกโมงเย็น หรือช่วงเวลาที่รถติดที่สุดในกรุงเทพฯ

คุณยายในกรณีศึกษาข้างต้น เป็นเพียงหนึ่งในผู้สูงอายุของสังคมกรุงเทพฯ และประเทศไทย ซึ่งเราทราบกันดีว่ากำลังกลายเป็นสังคมที่มีประชากรสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ แผนที่ด้านล่างแสดงให้เห็นถึงพื้นที่เขตต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ตามสัดส่วนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยพื้นที่ที่มีสีแดงเข้มหมายถึงพื้นที่ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุจดทะเบียนอาศัยอยู่มาก และลดน้อยลงเรื่อยๆ ตามความจางของสี แผนที่ดังกล่าวทำให้เราทราบว่าพื้นที่ใจกลางเมือง มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในสัดส่วนที่มากที่สุดและลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อห่างออกไปในพื้นที่ชานเมือง

จะว่าไป คนแก่กับสถานพยาบาลถือเป็นของคู่กัน เพราะนอกจากสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ผู้สูงวัยหลายคนยังต้องเข้าสถานพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายตามที่หมอนัด บางคนยังมีนัดพิเศษกับหมอเฉพาะทางเพิ่มเติมจากการนัดทั่วไปด้วย บางคนที่มีโรคร้ายแรง และต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด สถานพยาบาลอาจกลายเป็นบ้านหลังที่สองเลยก็เป็นได้

ดังนั้น เมื่อสังคมกลายเป็น Aging Society ที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น สถานบริการสาธารณสุขต่างๆ จึงมีบทบาทในเมืองและชุมชนเพิ่มขึ้น ถ้าเราศึกษาพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เราจะพบว่า ตำแหน่งของสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ บนแผนที่ จะไปกระจุกตัวอยู่ตามพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีความหนาแน่นสูงเสียมาก ส่วนย่านชานเมืองมีการกระจายตัวออกมา

พบว่าการกระจายตัวดังกล่าว คล้ายคลึงกับการกระจายตัวของพื้นที่อาศัยของผู้สูงอายุ โดยในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย จะมีสถานบริการสาธารณสุขน้อยตามไปด้วย ซึ่งหากนำมาคิดเป็นตัวเลขสัดส่วน ดูเผินๆ อาจคล้ายว่าสถานบริการสาธารณสุขเหล่านี้เพียงพอต่อผู้สูงอายุในพื้นที่ต่างๆ แล้ว

แต่ยังมีปัญหาอื่นอีกหรือเปล่า?

ข้อสังเกตดังกล่าวอาจจะตรงไปตรงมาในเชิงพื้นที่และตัวเลข แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่พื้นที่ชานเมืองมีสถานบริการสาธารณสุขความหนาแน่นต่ำ แปลว่าพื้นที่บริการจะต้องกินบริเวณกว้างขวางกว่าสถานบริการสาธารณสุขในใจกลางเมืองด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าอยู่ในย่านชานเมืองและต้องการเดินทางไปสถานบริการสาธารณสุข อาจต้องเดินทางไกลกว่านั่นเอง

ถ้าสังเกตจากแผนที่ขอบเขตบริการของสถานพยาบาลที่เป็นระยะประมาณการเข้าถึงสถานพยาบาล บริเวณใจกลางเมืองมีระยะที่สั้น แทนด้วยสีน้ำเงิน-เหลือง ส่วนระยะทางที่เพิ่มขึ้นจะมีสีส้ม-สีแดง หมายถึงการที่ต้องใช้เวลาและระยะทางที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งถ้ามองจากมุมของผู้ใช้บริการ พื้นที่ที่กว้างขวางย่อมหมายถึงระยะทางการเข้าถึงสถานบริการสาธารณสุขที่ ‘ไกล’ กว่าการเข้าถึงสถานบริการสาธารณสุขในใจกลางเมือง

ระยะทางที่ว่า ย่อมส่งผลต่อการเข้าถึง (accessibility) โดยเฉพาะถ้าต้องเผชิญกับการจราจรที่หนาแน่น นอกไปจากนี้ ระยะทางยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับระยะเวลาและราคาของการเดินทางด้วย หลายครั้งในยามฉุกเฉิน ความสามารถในการจ่ายค่าเดินทางก่อให้เกิดคือความเสี่ยงถึงชีวิตได้ แต่ถ้าไม่ฉุกเฉินมากนัก เงินที่ต้องจ่ายไปอาจหมายถึงค่ามิเตอร์แทกซี่ หรือค่าเสียโอกาสของผู้สูงอายุที่ยังต้องทำงานเพื่อดูแลตนเอง ซึ่งยิ่งไปถ่างกว้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสถานพยาบาลที่ของคนต่างเศรษฐานะกัน อันเป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้าม

จากข้อมูลรายงานด้านความเป็นธรรมทางสุขภาพและความครอบคลุมของสังคมไทย ปี 2559 โดยธนาคารโลก ระบุว่า แม้ว่าประชาชนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพ แต่ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงและใช้บริการทางสุขภาพจากค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการรักษา เช่น การขาดผู้ดูแลและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมายังสถานพยาบาล โดยเฉพาะผู้สูงอายุยากจนและผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทโดยเฉพาะ การเดินทางจึงเป็นอีกอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้สูงอายุ

ทีม UddC Urban Insight เลือกที่จะวิเคราะห์พื้นที่บริการของสถานบริการสาธารณสุขภายใต้กรอบของระยะทางการเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิเคราะห์การเข้าถึงจากถนนเส้นต่างๆ ผ่านเทคนิค Network Analysis ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) โดยการกำหนดขอบเขตระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากสถานบริการสาธารณสุข ให้เป็นระยะทางที่ยังมีประสิทธิภาพในการเดินทาง

ระยะทาง 5 กิโลเมตรนี้ หมายถึงใช้เวลาเดินทางราว 20 นาที โดยใช้ตัวเลขความเร็วรถเฉลี่ย 15 กม./ชม. ในช่วงการจราจรหนาแน่นของกรุงเทพฯ ยิ่งระยะทางสั้นลงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยระยะทางสั้นที่สุดในการวิเคราะห์คือรัศมี 500 เมตร (ขนาดเดียวกันกับพิกเซลรูปหกเหลี่ยมในแผนที่) เพราะนอกจากจะเป็นระยะทางที่สามารถเดินได้แล้ว ยังเป็นระยะทางที่ใกล้พอที่จะสามารถเข้าถึงสถานบริการสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย

การวิเคราะห์เชิงพื้นที่และระยะทางดังกล่าว ถูกนำมาคำนวณควบคู่ไปกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าพื้นที่ใดบ้างในกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงต่อชีวิตผู้สูงอายุอันเกิดจากการเข้าถึงสถานบริการสาธารณสุขอย่างไม่ทันท่วงทีบ้าง

ถ้าเราเปรียบพื้นที่ทะเลทรายเป็นพื้นที่ขาดน้ำ พื้นที่สีแดงในแผนที่ด้านบนก็เป็นเหมือนพื้นที่ทะเลทรายสำหรับการบริการสาธารณสุข ในยามฉุกเฉิน ‘พื้นที่ทะเลทรายของบริการสาธารณสุข’ (Health Care Deserts) เหล่านี้ ย่อมหมายถึงชีวิตที่อาจไม่ทันถึงมือหมอ แต่ในยามปกติ มันอาจหมายถึงกำแพงในการเข้าถึงสถานพยาบาล ที่ทำให้คนในพื้นที่ดังกล่าวเลือกที่จะใช้บริการทั่วไปน้อยลง เลือกที่จะไปตามนัดหมอน้อยลง และ/หรือ เลือกที่จะไปหาหมอก็ต่อเมื่ออาการอยู่ในขั้นรุนแรงแล้วเท่านั้น

กลับมาที่กรณีศึกษาอีกครั้ง: วันนั้นที่คุณยายล้ม จริงๆ แล้วคุณยายโชคดีหลายอย่าง ทำให้ฉันพาคุณยายไปถึงมือหมอได้ทันเวลา กล่าวคือ ฉันอยู่กับคุณยายพอดีตอนเหตุการณ์เกิดขึ้น ฉันมีรถที่จะขับคุณยายไปโรงพยาบาลได้ ฉันและครอบครัวสามารถรองรับค่าใช้จ่ายบริการจากสถานพยาบาลในละแวกบ้านได้ และ ที่สำคัญที่สุด คือ ฉันอาศัยอยู่ในพื้นที่สีน้ำเงินที่สามารถพาคุณยายไปโรงพยาบาลได้อย่างทันการ ทั้งที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาที่รถติดที่สุดในกรุงเทพฯ

ทุกตัวแปรที่ถูกกล่าวถึง ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เชื่อมโยงกับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย แม้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และโครงสร้างครอบครัวจะเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม แต่หากมองในมุมของการวางผังเมืองประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และการเดินทางถือเป็นประเด็นพื้นฐานทางกายภาพที่ทุกคนต้องเผชิญ

นอกจากการเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่ทะเลทรายของสถานบริการสาธารณสุขแล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับเส้นทางการเดินทางมายังสถานพยาบาลต่างๆ มากขึ้นด้วย ถนนที่ถูกเน้นในแผนที่ด้านล่างนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นถนนยุทธศาสตร์ในเชิงสาธารณสุข อาทิ ถนนเพชรบุรี ถนนจตุรทิศ ถนนพระราม 6 ถนนพหลโยธิน (ช่วงพญาไท-จตุจักร) ถนนราชดำริ ถนนสีลม ถนนกรุงเกษม เป็นกลุ่มถนนที่หน่วยงานรัฐ เอกชน และพวกเราในฐานะประชาชนทุกคน ควรดูแลเป็นพิเศษ เพราะนอกจากเป็นทางสำคัญสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ แล้ว คุณภาพของถนนและการจราจรบนถนนเหล่านี้ ก็เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการเดินทางของผู้สูงอายุ ที่จำเป็นจะต้องเข้ามาใช้บริการบ่อยครั้ง และพื้นที่บริการสาธารณสุขเหล่านี้ ก็เป็นพื้นที่ที่เขาเหล่านั้นจำต้องฝากชีวิตและสุขภาพของตนไว้

แม้การวิเคราะห์นี้จะมีพื้นฐานมาจากประชากรผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ไปสถานพยาบาลบ่อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ แต่การบริการสาธารณสุขเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ประชากรทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้

ที่สำคัญ ทุกคนย่อมมีโอกาสที่จะเจออุบัติเหตุหรือป่วยกระทันหันด้วยกันทั้งสิ้น การที่เราคำนึงถึงกลุ่มผู้สูงอายุ จะส่งผลพลอยได้ ช่วยเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการเข้าถึงสถานพยาบาลของคนเมืองทุกคนด้วยเช่นเดียวกัน

เมืองที่ไม่สามารถให้บริการสาธารณะ โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีนั้น ย่อมทำให้เมืองเป็นเสมือน “สุสานคนเป็น” ของทุกคนที่อยู่ในเมือง – ไม่จำกัดเฉพาะผู้สูงวัย

เรื่อง/วิเคราะห์ข้อมูล: ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้

ที่มาข้อมูลในการวิเคราะห์เชิงพื้นที่:

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (n.d.). สถิติประชากรและบ้าน – จำนวนประชากรแยกรายอายุ ปีพ.ศ. 2560. หาได้จาก http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age.php

กระทรวงสาธารณสุข. (2561). ข้อมูลหน่วยงานบริการสุขภาพในกรุงเทพมหานคร. หาได้จาก https://data.go.th/DatasetDetail.aspx?id=64bd04af-ec0a-4ac6-b895-ce7f0e49d4c9

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์กรุงเทพมหานคร. (2559). ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์. หาได้จาก http://www.bangkokgis.com/modules.php?m=download_shapefile


Contributor