01/05/2020
Public Realm

จากวันแรงงานถึงหาบเร่แผงลอย – เหรียญสองด้านที่มีทั้งปัญหาและโอกาส

รศ.ดร.นฤมล นิราทร ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ปรีชญา นวราช ธนพร โอวาทวรวรัญญู มัญชุชาดา เดชาคนีวงศ์ บุษยา พุทธอินทร์ ดุษฎี บุญฤกษ์
 


May Day & May Day 

1 พฤษภาคมของทุกปี วันแรงงานแห่งชาติถูกตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศในมิติต่างๆ รวมถึงยกย่องความกล้าหาญของกลุ่มแรงงานในการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง แต่ในประเทศไทยเองยังมีแรงงานอีกกว่า 54.3% ของผู้มีงานทำทั้งหมดที่เป็นแรงงานนอกระบบ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2562) ที่ยังไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานในระบบ

โดยมีแรงงานนอกระบบ 5 กลุ่มใหญ่ คือ

1. กลุ่มคนทำงานที่บ้าน (home-based worker)
2. กลุ่มคนทำงานบ้าน (domestic worker)
3. กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์
4. กลุ่มหาบเร่แผงลอย
5. กลุ่มผู้ค้าขาย

คิดเป็นประชากรรวมกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ  (WIEGO, 2562) กลุ่มแรงงานเหล่านี้ถือเป็นผู้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ 

สถานการณ์การปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นอีกกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบสูงเช่นกัน สัญญาณขอความช่วยเหลือถึงปัญหาปากท้องถูกนำเสนอตามสื่อทุกวัน เช่นเดียวกับมาตรการการรับมือที่ไม่ชัดเจน

วันนี้เราจึงขอพูดถึงกลุ่มหาบแร่แผงลอย ที่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่ของเมืองที่เป็นทั้งปัญหาและทางออก ภายใต้วิกฤตการณ์โควิด-19 หากมีการจัดการอย่างเหมาะสม

แผงลอยจะไม่ใช่ปัญหาในตัวเอง หากมีการจัดการที่เหมาะสม 

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนแผงลอยมากถึง 805,083 แผง (WIEGO, 2562) ที่เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน กล่าวคือ สำหรับบางคนแผงลอยอาหารคือเสน่ห์และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของคนไทยมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้แผงลอยยังเป็นแหล่งจับจ่ายอาหารราคาถูกของเมือง ที่ได้สร้างรายได้และอาชีพให้กับผู้คนจำนวนมาก และมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระบบฐานรากและภาพรวมของประเทศ

แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับบางคนอาจจะมองว่าแผงลอยเป็นผู้ร้าย ที่สร้างความสกปรกให้กับพื้นที่สาธารณะ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม โอกาสทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้คน และการขาดการบริหารจัดการและการจัดสรรพื้นที่ที่ดีจากภาครัฐ

จากกรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์ที่มีระเบียบอย่างเคร่งครัด ครั้งหนึ่งก็เคยมีหาบเร่แผงลอย (Hawker) จำนวนมากบนพื้นที่ทางเท้าเช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ จนกระทั่งปี 1960 ที่ทางรัฐบาลได้เสนอทางออกในการอยู่ร่วมกัน โดยมีการจัดสรรพื้นที่และการบริหารจัดการที่ดีไว้รองรับกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งมีอยู่มากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ รวมถึง Los Angeles ในสหรัฐอเมริกา ที่ได้ผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้ค้าขายหาบเร่แผงลอย หลังจากที่มีการถกเถียงและเรียกร้องกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นผลมาจากการมองเห็นโอกาสในการสร้างอาชีพของผู้คน และการให้ความสำคัญกับชีวิตและความเป็นอยู่ของทั้งผู้ประกอบการและผู้ที่ยังต้องพึ่งพาอาหารและข้าวของเครื่องใช้ราคาถูกจากหาบเร่แผงลอย  ผ่านการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพของภาครัฐ ในการหารูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม และสามารถสร้างประโยชน์ร่วมให้กับทุกฝ่าย 

หาบเร่แผงลอย ยังไม่ทันแก้อย่างมืออาชีพ ก็เจอ LOCKDOWN ปิดเมือง 

นับตั้งแต่ปี 2557 จากนโยบาย “คืนทางเท้าให้ประชาชน” นโยบายจัดระเบียบทางเท้าผ่านการควบคุมเวลาการค้าบริเวณทางเท้า ส่งผลให้หาบเร่แผงลอยซึ่งเป็นเสน่ห์ของเมืองหายไป และสร้างผลกระทบให้กับผู้ค้าขายอิสระจำนวนมาก

จากการศึกษาพบว่า พัฒนาการด้านการบริหารจัดการการค้าบนทางเท้าของกรุงเทพมหานคร สะท้อนให้เห็นทั้งความไม่ลงรอยกันของนโยบาย และการจัดการที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์เศรษฐกิจสังคม ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล เพราะผู้ค้าหาบเร่แผงลอยนั้น ถือได้ว่าเป็นกลุ่มแรงงานที่มีบทบาทสูง ในการทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจภาพรวม การยกเลิกไม่ให้ขายจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมือง

ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องทวงคืนพื้นที่ทำกินจากกลุ่มผู้ค้า มีการพิจารณาถึงจุดผ่อนปรนในบางพื้นที่ และมีความพยายามที่จะจัดระเบียบเพื่อให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยสามารถกลับมาขายของได้โดยไม่สร้างปัญหาให้กับเมืองอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในการหารือและยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา หากแต่ก็ต้องมาเจอกับวิกฤตการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่่ทำให้เกิดการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยยิ่งได้รับผลกระทบสูงจากการไม่มีช่องทางที่สามารถทำมาหากินได้

จากที่กล่าวมานั้น ต้องการชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาในระยะยาวของปัญหาหาบเร่แผงลอยผนวกกับการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ความจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ผู้ค้าได้มีพื้นที่ทำมาหากิน เพื่อที่จะสามารถเลี้ยงชีพ และกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้การจัดการที่เหมาะสม ทั้งเรื่องของการจัดการสภาพแวดล้อมกายภาพ สาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ และการเตรียมความพร้อมทางสังคม ที่จะช่วยให้หาบเร่แผงลอยไม่กลับไปเป็นปัญหาของเมืองอีก

โอกาส จาก ความยืดหยุ่น : สูตรตายตัว ไม่ได้มีไว้เพื่อแผงลอย

การพูดถึงการบริหารจัดการควบคู่ไปกับการออกแบบอาจเป็นทางออกของหาบเร่แผงลอยที่จะสามารถขจัดปัญหาไม่ว่าจะเป็นทั้งการจัดระเบียบ การตอบปัญหาสุขภาวะและการป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดได้ โดยเกณฑ์มาตรฐานในการออกแบบร้านค้า แผงลอย ในสถานการณ์ปัจจุบัน คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการเว้นระยะห่าง และการควบคุมความหนาแน่นตามเกณฑ์มาตรฐาน

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกณฑ์เหล่านั้นได้กระทบต่อแผงลอยโดยตรงทั้งในสถานการณ์การเกิดโรคระบาดหรือสถานการณ์ปกติ โดยเฉพาะแผงลอยที่ตั้งอยู่บริเวณทางเท้าที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานแล้ว การตั้งแผงลอย ยังคงต้องเหลือพื้นที่อย่างน้อย 2 เมตร เพื่อให้ไม่กีดขวางทางสัญจร ในขณะที่แต่ละแผงจะต้องตั้งเว้นระยะห่างตามเกณฑ์ จึงกลายเป็นข้อจำกัดที่เหล่าแผงลอยบางแห่ง อาจต้องอพยพตัวเองไปรวมตัวกันเฉพาะกิจในบริเวณที่เหมาะสมกว่า ซึ่งไม่แน่ว่าพื้นที่เหล่านั้นอาจจะหมายถึงโอกาสใหม่ๆ ที่จะยิ่งสร้างความเข้มแข็งของการทำมาหากินในละแวกนั้นได้

เราจึงขอเสนอเกณฑ์ของการวางหาบเร่ แผงลอย โดยแบ่งเป็นเกณฑ์ของหาบเร่แผงลอยแบบกลุ่ม และเกณฑ์ของหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า ดังนี้

เกณฑ์สำหรับหาบเร่แผงลอยแบบกลุ่ม 

1. พื้นที่ควรมีการแบ่งโซนประเภทสินค้า
2. พื้นที่ควรมีการวางทางสัญจรที่เพียงพอ และมีการเชื่อมต่อกับบริบทของพื้นที่ อาทิ พื้นที่รอยต่ออาคาร ทางเท้า และที่ว่าง
3. พื้นที่ต้องมีการกำหนดจุดทำความสะอาด ซักล้าง และทิ้งขยะร่วมกัน
4. ควรมีการออกแบบระบบการถ่ายเทอากาศ และโครงสร้างกันแดดฝน
5. แผงลอยแต่ละแผงจะต้องตั้งห่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร
6. สินค้าต้องมีการวางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม.
7. พื้นที่ปรุงอาหารต้องมีแผ่นกระจกกั้น เพื่อป้องกันเชื้อโรค
8. กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า ควรมีการสร้างช่องทาง (Platform) ในการบริหารจัดการร่วมกัน

เกณฑ์สำหรับหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า

1. แผงลอยต้องเหลือระยะพื้นที่ทางสัญจรกว้างอย่างน้อย 2 เมตร
2. แผงลอยจะต้องเว้นห่างจากถนน 0.5 เมตร
3. แผงลอยแต่ละแผงจะต้องตั้งห่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร
4. สินค้าต้องมีการวางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม.
5. พื้นที่ปรุงอาหารต้องมีแผ่นกระจกกั้น เพื่อป้องกันเชื้อโรค

จะเห็นได้ว่าหาบเร่แผงลอยแต่ละประเภทมีความต้องการและเกณฑ์การออกแบบที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อสร้างสุขอนามัย ความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แก่พ่อค้าแม่ค้า ผู้บริโภค และผู้สัญจรที่ได้เดินผ่านไปมา

เราจึงชวนคุณไปพิจารณากรณีศึกษาจากต่างประเทศ ที่มีมาตรการผ่อนปรนให้ร้านค้ายังสามารถทำมาค้าขายได้โดยมีการบริหารจัดการภายใต้สภาวะคับขัน

กรณีศึกษานโยบายและการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยประเทศสิงคโปร์

ประเทศสิงคโปร์ขึ้นชื่อว่าก้าวพ้นปัญหาหาบเร่แผงลอยตามท้องถนน และเป็นโมเดลตัวอย่างของหลายประเทศในการเข้ามาจัดการกับปัญหาดังกล่าว ในสถานการณ์โรคระบาดตอนนี้ สิงคโปร์เองก็มีการปิดการเข้าออกเมือง (lock down) แน่นอนว่าแหล่งอาหารของเมืองนั้นยังคงดำเนินการต่อไป ภาครัฐเองได้มีการเข้าไปร่วมจัดการเพื่อตอบโต้วิกฤตหรือสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อทำการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าประเทศสิงคโปร์ใช้วิธีการผ่อนปรนและยืดหยุ่น และปรับตัวต่อสถานการณ์ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งสามารถขยายความได้ ดังนี้

  • จำกัดจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการศูนย์อาหาร มีจัดร้านและโต๊ะอาหารให้มีการเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร เป็นอย่างต่ำ และมีบริการทำความสะอาดที่มีความถี่และต่อเนื่อง
  • มีการควบคุมระบบขนส่งวัตถุดิบมายังศูนย์อาหารอย่างเข้มงวด และปลอดเชื้อผ่านการรับรองจากกรมอนามัยฯ
  • จัดคุมเข้ม ให้เครื่องหมายมาตรฐาน SG Clean แก่ร้านค้า เพื่อเน้นมาตรการและสร้างความเชื่อใจ
  • มีมาตรการระบบตัดวงจรไฟฟ้าในศูนย์อาหาร เพื่อป้องกันการใช้พื้นที่ กิน ดื่ม เลยเวลาที่กำหนด
  • จัดพื้นที่สำหรับรถเดลิเวอรี่จอดให้พ่อค้าแม่ค้า รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าก็จัดบริการส่งฟรีให้แก่ลูกค้า
  • ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการที่ใช้แพลตฟอร์มส่งอาหาร
  • งดเว้นค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเริ่มจากเดือนมี.ค. ลดค่าเช่าให้ 50% เดือนเม.ษ.-พ.ค. งดเว้นค่าเช่าเต็ม เดือนมิ.ย. ลดค่าเช่าให้ 50 % และเดือน ก.ค.-ต.ค. ลดค่าเช่าให้ 25 %
  • ให้เงินอุดหนุนค่าล้างจาน ทำความสะอาดโต๊ะ ค่าบริการส่วนกลาง แก่ผู้ประกอบการทั้งหมด
  • แจกแพ็กเกจการดูแล พร้อมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ให้ผู้ประกอบการ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิและสมุดบันทึกติดตามผล และอื่นๆ ตามแต่ละประเภทของแผงลอย

จะเห็นได้ว่าประเทศสิงคโปร์มีการส่งเสริมและไม่ทอดทิ้งพื้นที่ที่เป็นห้องอาหารของคนเมือง อีกทั้งยังพยายามรักษาเอกลักษณ์และพื้นที่หาบเร่แผงลอยดังกล่าวเอาไว้ให้รองรับกับทุกสถานการณ์ รวมถึงรักษาการหมุนเวียนของเศรษฐกิจให้ยังคงดำเนินอยู่ การสนับสนุนแหล่งอาหารและความสะดวกในชีวิตประจำวันคนเมือง และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสและสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน

จากกรณีศึกษา ลองมองย้อนกลับมาที่บ้านเรา มีไอเดียที่น่าสนใจของการออกแบบ 2 พื้นที่นำร่อง ที่เกิดจากการถอดเอกลักษณ์ของพื้นที่ ร่วมกับการสัมภาษณ์เหล่าผู้ขับเคลื่อนแผงลอยต้นแบบ เพื่อสร้างสรรค์ให้การออกแบบสามารถตอบโจทย์การใช้งานจริง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมส่งเสริมศักยภาพ ในการสร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคของเหล่า ‘ตลาด’แผงลอย ในละแวก

“พื้นที่ตลาดนัดชุมชน” แผงลอยอ่อนนุช 70

หนึ่งในต้นแบบแผงลอยที่เข้มแข็ง มีลักษณะของการวางตัวเป็นกลุ่ม ที่เป็นที่เรียกกันว่า “พื้นที่ตลาดนัดชุมชน” ตลาดแห่งนี้มีความคึกคัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่รายล้อมไปด้วยชุมชนที่อยู่อาศัยทั้งผู้อยู่เดิม และผู้เช่าอาศัย อีกทั้งยังเป็นจุดต่อรถที่สำคัญในการเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ประเภทของแผงลอยบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นร้านอาหาร ส่วนใหญ่ 80% เป็นร้านอาหารปรุงสุก ณ จุดขาย ส่วนที่เหลือเป็นแผงผลไม้และของสด เปิดบริการตั้งแต่เช้าถึงดึก

พื้นที่แห่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นย่าน ดังนั้น การยกระดับที่มากกว่าคำว่ามาตรฐาน จึงได้บังเกิดขึ้น

1. การจัดระบบโซน และระบบทางสัญจร

ตลาดนัดแห่งนี้ควรมีการจัดระเบียบและวางโซนใหม่เพื่อให้เกิดการแบ่งกลุ่มร้านค้าประเภทเดียวกัน เพื่อความสะดวกต่อการบริหารจัดการ และเนื่องจากร้านค้าส่วนใหญ่เป็นประเภทอาหาร แต่ละร้านจะต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยพื้นฐาน เช่น การตั้งพื้นที่ประกอบอาหารสูงกว่าพื้น 60 เซนติเมตร และมีการกั้นพลาสติกใสระหว่างร้านอาหาร ส่วนในด้านการบริหารจัดการตลาดนัด ยังมีการกำหนดจุดบริการ ซักล้าง การขนส่ง และทิ้งขยะร่วมกัน เพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค รวมถึงศึกษาทิศทางของลมที่เหมาะสมตามหลักการระบายอากาศ (Ventilation) นอกจากนั้น การจัดระบบทางสัญจรที่เพียงพอ (Circulation) เป็นอีกส่วนที่ต้องคำนึง เพื่อลดการกระจุกตัว และความแออัด อีกทั้งการออกแบบทางเข้าออกจะต้องมีความสอดคล้องต่อทิศทางในการเชื่อมต่อระดับย่านด้วย 

2. การออกแบบโครงสร้างกันแดดกันฝน

ช่วยสร้างให้เกิดการป้องกันฝุ่นควัน หรือละอองฝน ในขณะที่ช่วยสร้างความปลอดภัยต่อการออกแบบระบบไฟฟ้า ประปาอย่างมีประสิทธิภาพ

3. การสร้างพื้นที่แผงลอย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเมือง

สิ่งที่เป็นความท้าทายของตลาดนัดชุมชนแห่งนี้ คือวิกฤติจากการไล่รื้อ สาเหตุเพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็น พื้นที่สาธารณะ หากนั่นคือเหตุที่แท้จริง ในฐานะผู้ออกแบบเหตุใดเราจึงไม่สร้างการออกแบบที่ประนีประนอมและสร้างความสมดุลให้กับคำว่า “พื้นที่สาธารณะ” ซึ่งตลาดนัดแห่งนี้หากคำนวณความจุของจำนวนร้านค้า (Capacity) หลังมีการออกแบบจัดวางอย่างเหมาะสม พบว่ายังมีพื้นที่เหลือสำหรับการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดการใช้งานแบบอเนกประโยชน์ (Multipurpose) ในการเป็นจุดพักคอยและเปลี่ยนถ่ายการสัญจร อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการนั่งรับประทานอาหาร ในขณะที่พื้นที่ต้นไม้ใหญ่หลายจุดสามารถปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสวนหย่อมสำหรับนั่งผักผ่อนหย่อนใจได้เช่นกัน

แผงลอยบางขุนเทียน 69

อีกหนึ่งในต้นแบบแผงลอยที่น่าสนใจ ศูนย์กลางละแวกที่อยู่อาศัย พื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วยร้านค้าแผงลอย 45 แผง ประเภทร้านอาหารปรุงไว้/ปรุงสุก ณ จุดขายทั้งสิ้น แผงลอยส่วนใหญ่เป็นแบบรถเข็น บางร้านสามารถกางโต๊ะเพื่อให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารได้ ร้านค้าดังกล่าวมีการแบ่งบล็อกอย่างเป็นระเบียบ โดยมีเวลาขายประมาณ 14.00 – 21.00 น. ซึ่งเวลาการเตรียมสถานที่ก่อนและหลังจะไม่ตรงกับเวลาเร่งด่วนของการใช้รถใช้ถนน พื้นที่แห่งนี้ แม้จะมีการบริหารจัดการที่ดี แต่วางตัวบนแนวทางเท้า ดังนั้นการเสนอการออกแบบที่สร้างความกระชับมากที่สุด จึงเป็นแนวคิดหลักของการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ดังนี้

1. การแชร์พื้นที่ร่วมกัน โดยการจัดโซนของพื้นที่ร้านค้าที่สามารถแชร์พื้นที่นั่งรับประทานอาหารร่วมกันได้ หรืออาจจะมีการวางร้านค้าที่รองรับลูกค้าในช่วงเวลาที่แตกต่างไว้ใกล้กัน เพื่อสลับการใช้งานพื้นที่รับประทานอาหาร

2. การออกแบบแผงลอยอัจฉริยะ อาจจะเป็นอีกความสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาเพื่อลดพื้นที่เกินความจำเป็น เพื่อพับ หด หรือขยาย การใช้งานพื้นที่อย่างยืดหยุ่นสร้างประสิทธิภาพสูงสุดโดยใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุด 

3. การจัดระบบโซน และระบบทางสัญจร ถึงแม้ว่าระบบของพื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นรถเข็นแผงลอยที่มีขนาดเล็กแต่ก็เป็นสิ่งกีดขวาทางเท้าได้ ดังนั้น การจัดระบบของการวางพื้นที่รถเข็น พื้นที่นั่งรับประทานอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต้องแบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดเป็นส่วน อาทิ พื้นที่รถเข็นต้องไม่รุกล้ำทางเท้าอย่างน้อย 2 เมตร หรือรถเข็นจำเป็นต้องตั้งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เป็นต้น เพื่อขจัดปัญหาการรุกล้ำดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าพื้นที่หาบเร่แผงลอยประเภทต่างๆ มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ต่างกัน และการแก้ไขปัญหานั้นกลับสามารถพลิกฟื้นวิถีชีวิต การหมุนเวียนเศรษฐกิจ และรูปแบบกิจกรรมในเมืองขึ้นมาใหม่ จากปัญหาสามารถพลิกกลับเป็นโอกาส เพียงแค่เราไม่เคยหยิบมันมาจัดการอย่างเป็นระบบและยอมรับการปรับตัวต่อสถานการณ์เพียงเท่านั้น “Put the right plan on the right place” การวางแผนอย่างถูกวิธีในสถานการณ์ที่เหมาะสมจะนำไปสู่ความสำเร็จของการแก้ปัญหาเมืองได้

การเตรียมความพร้อมทางสังคม และ Trust Economy อีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการกลับมาค้าขาย

นอกเหนือจากการออกแบบสภาพแวดล้อมกายภาพแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและปรับตัวอย่างคู่ขนานและสอดรับกันคือ การเตรียมความพร้อมทางสังคม และแนวทางในการปรับตัวของผู้ค้า ที่จำเป็นจะต้องสร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เพื่อให้หาบเร่แผงลอยสามารถกลับมาค้าขาย สร้างรายได้ และมีความปลอดภัย

การระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น ส่งผลให้แนวคิดเศรษฐกิจความไว้วางใจ (trust economy) เป็นกุญแจสำคัญในการจัดการหาบเร่แผงลอย เนื่องด้วยความไว้วางใจเป็นพื้นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนและบริโภคของผู้ซื้อ ตอนนี้เรากำลังต่อสู้อยู่กับไวรัส ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น  ผู้คนจึงมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดมากขึ้น การสร้างความไว้วางใจและการรับรู้ถึงระดับคุณภาพสินค้าของผู้บริโภคจึงมีความสำคัญ

ประกอบกับแนวคิด การสร้างความเป็นย่าน โดยการกระจายสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่มีความครบครันในระยะการเข้าถึงที่เหมาะสม ไปยังพื้นที่ต่างๆ ของย่าน จะเป็นการช่วยลดการกระจุกตัวของผู้คนตามตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ การซื้อขายสินค้ากับพ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ประกอบการที่มีความคุ้นเคยกันจะยิ่งเพิ่มความไว้วางใจในการเลือกซื้อสินค้าและอาหารของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมหาบเร่แผงลอยและธุรกิจรายย่อยภายในพื้นที่

ท้ายที่สุดนี้ คือ การเตรียมความพร้อมทางสังคม ในการบริการจัดการหาบเร่แผงลอยในแต่ละพื้นที่ กลุ่มผู้ค้าจะต้องมีความพร้อมและความเข้าใจในความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการหรือมีข้อกำหนดในการค้าขาย ทั้งเรื่่องของการจัดการสภาพแวดล้อมกายภาพ สาธารณสุข และความปลอดภัยสาธารณะ

โดยจำเป็นจะต้องมีการหารือข้อตกลงและการเตรียมความพร้อมร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนโนบายที่จะช่วยส่งเสริมการหาบเร่แผงลอยที่มีการจัดสรรพื้นที่ มีจิตสำนึกสาธารณะ และให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยสาธารณะ ที่เหมาะสม ไม่ผิดข้อกฎหมาย และทำให้ผู้ค้ามีโอกาสในการทำมาหากิน เพื่อช่วยให้การดำเนินการไม่ใด้ติดอยู่แค่ในระดับนโยบาย แต่มีความพร้อมในการนำมาปฏิบัติจริง ที่จะสามารถช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่แรงงานนอกระบบ รวมถึงความมั่นคงทางอาหารของผู้คนทุกกลุ่มต่อไป

หากเหรียญมีสองด้าน หาบเร่แผงลอยก็มีสองด้าน (หรือมากกว่า) เช่นเดียวกันกัน กล่าวคือ หาบเร่แผงลอยเป็นทั้งปัญหาและโอกาสในตัวเอง ทว่าอุปสรรคที่หลายฝ่ายมองหาบเร่แผงลอยเพียงด้านเดียว อาจเปลี่ยนเป็นโอกาสของเมือง สมกับที่หลายคนเรียกมันว่า “เสน่ห์ของเมือง” เพียงปัญหาได้รับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับการออกแบบวางผังอย่างเข้าใจ 

เหนือสิ่งอื่นใด หาบเร่แผงลอยคือโอกาสของคนเมืองในการเข้าถึงอาหารราคาประหยัด เป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานนอกระบบให้การหารายได้ของเมือง และเป็นโอกาสของเมืองในการสร้างเสริมเศรษฐกิจเมืองอย่างยั่งยืน เปรียบได้กับ Power House ที่จะเป็นเชื้อเพลิงของเมืองที่สร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง 


Contributor