22/06/2022
Mobility

พระโขนง-บางนา สมรภูมิการสัญจร

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ชนม์ชนิกานต์ ศศิชานนท์
 


หลายคนคงเคยหรือยังประสบกับปัญหาการเดินทางในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน ทั้งการจราจรติดขัด ระบบขนส่งมวลชนที่มีจำกัดและล่าช้า ฯลฯ ซึ่งหากคำนวณแล้ว คนกรุงเทพฯ ต้องเสียโอกาสทางเวลาจากการจราจรที่ติดขัด บนท้องถนน จากการสำรวจของ Uber และ Boston Consulting Group (BCG) พ.ศ. 2561 พบว่า คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาอยู่บนท้องถนนนานถึง 96 นาทีต่อวัน หรือ 584 ชั่วโมงต่อปี หรือคิดเป็น 24 วันต่อปี

ย่านพระโขนง – บางนา อีกหนึ่งพื้นที่ในสมรภูมิการสัญจรของมหานครกรุงเทพ ที่มีปริมาณการสัญจรคับคั่ง มีปริมาณรถยนต์ที่สัญจรผ่านถึง 7 แสนคันต่อวัน และจากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ยังพบว่า ปัญหาที่ถูกพูดถึงเป็นอันดับต้น ๆ ประการหนึ่งของชาวย่านคือ “รถติด” โดยเฉพาะบริเวณทางแยกเชื่อมต่อทางด่วน ซอยหลักและพื้นที่โรงเรียน ซึ่งเป็นผลจากสาเหตุสองส่วนสำคัญ คือ สัณฐานเมืองในลักษณะก้างปลา และข้อจำกัดของระบบขนส่งมวลชนรองในย่านที่จะรับส่งผู้โดยสารจากขนส่งมวลหลักชนเข้า-ออกพื้นที่ย่าน

ย่านซอยลึกและตันติด 1 ใน 10 อันดับของกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนถนนที่เป็นซอยตันกว่า 50% จากการพัฒนาบนสันฐานพื้นที่เกษตรกรรมหน้าแคบแปลงยาวในอดีต ส่งผลซอยส่วนใหญ่มีความลึกไม่ต่ำกว่า 2 กิโลเมตร รวมถึงมีโครงข่ายถนนซอยตันลักษณะแบบก้างปลาจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดการจราจรที่ติดขัดและเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่นได้ยาก ไม่เอื้อให้เกิดการระบายปริมาณการสัญจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ย่านเข้าถึงง่ายแต่ไปต่อไม่สะดวก แม้ว่าในอนาคตย่านพระโขนง-บางนาจะสามารถเข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้นจากการพัฒนาระบบรางถึง 3 สาย ทั้งรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท (สายสีเขียว) และในอนาคต สายลาดพร้าว-สำโรง (สายสีเหลือง) และสายบางนา-สุวรรณภูมิ (สายสีเงิน) แต่การให้บริการระบบขนส่งรองเพื่อเดินทางต่อภายในย่านยังคงมีจำกัด เนื่องจากการขาดโครงข่ายถนนสายรองประกอบกับรูปแบบซอยตันที่ทำให้พื้นที่ภายในไม่เชื่อมต่อกัน ส่งผลให้ผู้คนในย่านต้องพึ่งพาระบบขนส่งเสริมซึ่งทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งรองเสมือน (pseudo system) เป็นหลัก เช่น รถสองแถว มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ ที่สามารถเข้าถึงได้ค่อนข้างครอบคลุมในทุกตรอก ซอก ซอย

สถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นชี้ชัดถึงความสำคัญของการส่งเสริมเส้นเลือดฝอยหรือโครงข่ายรองของเมือง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดทางเลือกที่หลากหลายในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น โอกาสการพัฒนาขนส่งมวลชนรองให้เป็นโครงข่ายครอบคลุม การพัฒนาเส้นทางเดินเท้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวย่านเช่นกัน ซึงเป็นหนึ่งโจทย์สำคัญในการร่วมสร้างย่านในครั้งนี้

บทความนี้เป็นโครงการศึกษาและออกแบบอย่างมีส่วนร่วม โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมกับ สตูดิโอการฟื้นฟูย่าน ภาคผังเมือง จุฬาฯ


Contributor