18/05/2020
Mobility

อากาศยานไร้คนขับ จากภารกิจช่วยผืนป่าสู่อนาคตขนส่งช่วยคนเมือง

นาริฐา โภไคยอนันต์ สุภาพร อินทรภิรมย์
 


ปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวการถ่ายภาพมุมสูงบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ ถึงแม้จะมีการออกมาชี้แจงว่าเป็นการขอความร่วมมือให้ส่งภาพเฉพาะหน่วยงานเฉพาะกิจเท่านั้นด้วยหลายๆ เหตุผลที่มิอาจทราบได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงจึงทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เป็นวงกว้าง  

ก่อนอื่นต้องยอมรับและทำความเข้าใจก่อนว่าเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) หรือ โดรน (Drone) ถูกพัฒนาและใช้ในต่างประเทศโดยเฉพาะกิจการทางทหารมานานแล้ว นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีการใช้อากาศยานไร้คนขับในการโจมตีแต่ยังต้องพึ่งพาการบังคับจากมนุษย์ จนมาถึงปัจจุบันที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ในการควบคุมการบินได้ โดยมีขนาดตั้งแต่ 5 เซนติเมตรไปจนถึง 50 เมตร

ต่อมาโดรนที่ถูกใช้ในพลเรือนหรือประชาชนทั่วไปถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กและนำมาใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การฉีดพ่นยาฆ่าแมลง การสำรวจพันธุ์สัตว์ป่า การลักลอบตัดไม้ การทำแผนที่ และแน่นอนการทำแผนที่ไฟป่าและการดับไฟป่าก็เป็นหนึ่งในการใช้ประโยชน์อย่างในกรณีของทางภาคเหนือนั่นเอง เนื่องจากโดรนสามารถถ่ายภาพมุมสูง ช่วยในการรับรู้ทิศทางของไฟ และความเสียหายของขนาดวงไฟที่กำลังเกิดขึ้น และสามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที

โดรน กับโอกาส ที่อาจจะปลดล็อกได้

การใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในประเทศไทยได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นทั้งของเล่นและอุปกรณ์ในการถ่ายภาพประกอบแต่เนื่องด้วยคุณลักษณะในการบินเหนือพื้นดิน โดรนจึงจำเป็นต้องมีกฎข้อบังคับการใช้งานเพราะอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น การสอดแนม การติดอาวุธ และรวมไปถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ตามกฎหมายแล้ว โดรนที่มีน้ำหนักมากกว่า 2 กิโลกรัม และมีกล้องต้องขึ้นทะเบียน และหากมีน้ำหนักมากกว่า 25 กิโลกรัม ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม 

D:\2019_AllJob\2020_OtherJOB\KNOWLEDGE\โดรน\พื้นที่ห้ามบินโดรนTH.jpg
แผนที่พื้นที่ห้ามบินโดรนในเขตพื้นที่ประเทศไทยโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)
ดัดแปลงจากข้อมูลพื้นที่ห้ามบินของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT)

การใช้อากาศยานไร้คนขับยังมีข้อกำหนดที่ศึกษาอีกข้อคือ เขตห้ามบิน หากพิจารณาบนแผนที่ประเทศไทย เขตสีแดงที่ปรากฏบนแผนที่ คือพื้นที่เขตห้ามบิน ตามที่ประกาศ ในเอกสารแถลงข่าวการบินของประเทศไทย (Aeronautical Information Publication – Thailand หรือ AIP -Thailand) และพื้นที่สีเหลืองที่ปรากฏในแผนที่คือบริเวณพื้นที่ 9 กิโลเมตร (5 ไมล์ทะเล) จากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน 

พื้นที่เขตห้ามบิน ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ความมั่นคงทางการทหาร พื้นที่พระราชฐาน โรงพยาบาล เขตชุมชนที่ถูกประกาศไว้ และพื้นที่รัศมี 9 กิโลเมตรรอบสนามบินและสถานที่ราชการ แต่ในบางกรณีสามารถทำเรื่องขออนุญาติเข้าไปได้ นอกจากนี้ในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้นสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ประกาศเขตจำกัดการบินในกรุงเทพมหานคร ห้ามอากาศยานทุกชนิด (รวมทั้งโดรน) บินในเขตกรุงเทพมหานคร รัศมี 19 กิโลเมตร นับจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ดัดแปลงจากข้อมูลพื้นที่ห้ามบินของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT)

หากพิจารณาข้อกำหนดพื้นที่ห้ามบินร่วมกับตำแหน่งที่ตั้งชุมชนดังแผนที่ข้างต้น จะเห็นได้ว่าเมืองกรุงเทพมหานครนั้นแทบจะไม่มีพื้นที่ส่วนไหนที่จะสามารถทำการบินโดรนได้เลย

การพัฒนาและใช้โดรนในเขตเมืองของกรุงเทพมหานครจึงยังมีข้อจำกัดอยู่ในแง่ความมั่นคงรวมไปถึงยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะในเชิงพาณิชย์ 

จากดูแลป่าสู่การขนส่งแห่งโลกอนาคต

หากเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ มีการพัฒนานำโดรนมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะเห็นได้ว่าหลายธุรกิจถูกปิดกิจการชั่วคราวแต่มีหนึ่งธุรกิจที่เติบโตขึ้นสวนกระแส คือ ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ผ่านแอปพลิเคชัน และบริการซื้อของผ่านระบบออนไลน์ ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค

โดยปกติแล้ว อัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ  (E-commerce) และบริการซื้อของผ่านระบบออนไลน์เติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 22% และธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่อยู่ที่เฉลี่ยปีละ 10% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตอบรับกับการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างการพัฒนาแพลตฟอร์มและการตลาด การยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ข้ามธนาคาร และการพัฒนาทางเลือกของการขนส่งสินค้าโดยผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งมีผลทําให้ปริมาณผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นอยางต่อเนื่องเพราะทําให้ผู้บริโภคไม่ต้องเดินทางไปร้านค้า และยังสามารถซื้อของได้ทุกที่ทุกเวลา

ถึงแม้จะมีความสะดวกสบายเข้ามาแทนที่ แต่ใครหลายคนก็มีความกังวลการสั่งอาหารหรือสั่งของที่ต้องมีผู้นำส่งคนกลางและแทบจะทั้งหมดคือ กิ๊กเวิร์กเกอร์ เพิ่มขึ้นมาอีกคนจนตอนนี้หลายบริษัทได้มีมาตราการให้ลดการติดต่อกับลูกค้าน้อยลงเพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัส เช่น ระบุให้คนขับนำอาหารไปวางที่ประตูบ้าน แจกหน้ากากอนามัย เจลแอลกฮอล์ หรือรณณงค์ให้ลูกค้าชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิต  จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้การขนส่งเดลิเวอรรี่ต้องกลับมาทบทวนถึงความรวดเร็วที่มาคู่กับการส่งต่อทั้งของและโรค 

ในหลายๆ ประเทศ การส่งสินค้าถึงประตูบ้านเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ตอนนี้แทบทุกบริษัทที่ให้บริการขนส่งสินค้าใช้รูปแบบ zero contact ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่พนักงานจะส่งสินค้าโดยการวางไว้ข้างนอกและแจ้งผู้รับโดยไม่ต้องมีการเซ็นรับพัสดุ หรือแม้แต่ร้านพิซซ่าจะนำส่งกล่องพิซซ่าในในถุงพลาสติกและวางลงในกล่องเปล่าอีกครั้งก่อนส่งอาหารเพื่อป้องกันการสัมผัสกับพื้นดินให้มากที่สุดและในหลายประเทศก็มีการทดลองนำโดรนมาใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อลดการติดต่อของมนุษย์

เทคโนโลยีกับการขนส่งในอนาคต 

จากงานวิจัยโครงการคนเมือง 4.0: อนาคตคนเมืองในประเทศไทย เรื่องการซื้อของในเมืองได้เคยคาดการณ์การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการขนส่งมากยิ่งขึ้นในอนาคต จากตัวอย่างในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ โดรน เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการขนส่ง ทั้งในภาคการเกษตร การแพทย์ และพาณิชย์ ในหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนซึ่งปกติได้นำเทคโนโลยีการขนส่งทางโดรนมาใช้ในการขนส่งสินค้าเกษตรกรรม (agricultural drones) อยู่แล้วก็มีจำนวนมากขึ้นเพื่อลดการติดต่อของมนุษย์และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2020 มีการปล่อยโดรนเพื่อการเกษตรกรรมกว่า 4,000 เครื่องโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น เจ้าของพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่และองค์กรจำหน่ายเครื่องมือเทคโนโลยีทางเกษตร 

นอกจากนี้ยังมีบริษัท Start Up ชื่อ Antwork ที่ทำธุรกิจการขนส่งสินค้าและอาหารทางโดรนอยู่แล้วนำมาขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยบริษัทนี้เริ่มทำการขนส่งพัสดุในเขตพื้นที่ห่างไกลตั้งแต่ปี 2015 และในปี 2018 ได้มีการพัฒนาสถานีเชื่อมต่อโดรนกว่า 5 จุด ในเมืองหางโจว (City Hangzhou) ที่เป็นเมืองรวมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งอนาคตรวมถึงสำนักงานใหญ่ของอาลีบาบาอีกด้วย

โดรนของบริษัท Antwork ได้บินแล้วกว่า 60,000 กิโลเมตร โดยในเขตเมืองมีช่วงระยะทางการบินที่ 15 กิโลเมตรและสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 5 กิโลกรัม และยังเป็นบริษัทขนส่งทางโดรนรายแรกในโลกที่ได้รับใบอนุญาติรับรองจากสถาบันการบริหารการบินพลเรือนของประเทศจีน (Civil Aviation Administration of China) และยังได้รับการอนุมัติให้บินผ่านน่านฟ้าและใบรับรองสุขอนามัยทางการแพทย์ ดังนั้นข้อมูลการบินของโดรนจะต้องถูกส่งไปรายงานยังสถาบันการบริหารการบินพลเรือนด้วยเช่นกัน

CEO ของ บริษัท Antwork ยังกล่าวถึง 3 ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งมอบเวชภัณฑ์ได้ทันเวลาคือ การขาดแคลนเวชภัณฑ์ สภาพถนนที่ชำรุดและพื้นที่ที่ต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างกระจายในหลายพื้นที่ โดรนจึงเหมาะสมกว่าการขนส่งภาคพื้นดินเพื่อส่งมอบเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน อีกทั้งยังสามารถขนพัสดุขนาดเล็กได้อย่างรวดเร็ว

จะเห็นได้ว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขนส่งมีประโยชน์ทั้งในเชิงเกษตรกรรม พาณิชยกรรม รวมไปถึงการสาธารณสุขอย่างในช่วงสถานการณ์โรคระบาดตอนนี้ ดังนั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งสินค้าที่จะใช้เทคโนโลยีอย่างอากาศยานไร้คนขับมาทดแทนมนุษย์เป็นเรื่องที่ควรมีการศึกษา วางแผนทำความเข้าใจและร่วมออกแบบข้อเสนอทางนโยบายหากมีการนำมาใช้จริงโดยต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มและกฎข้อบังคับในเรื่องความมั่นคงอีกด้วย

อ้างอิงข้อมูล
การเติบโตของตลาดฟู้ด เดลิเวอรี, โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, 29 ก.ย. 2019
Japan delivery services go ‘zero contact’ in age of new coronavirus โดย Tomohiro Osaki, The Japan Times, 10 มีนาคม 2020
How a Chinese drone delivery startup is capitalizing on COVID-19, Nikkei Asian Review, 21 มีนาคม 2020
Chinese agriculture drone makers see demand rise amid coronavirus outbreak, CNBC, 9 มีนาคม 2020
– สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT)
ศัพท์ซอยวิทย์ – โดรน, สารคดี, 27 ตุลาคม 2016
ตลาด E-Commerce ยังหอมหวาน จากนี้ถึงปี 2565 โตเฉลี่ย 22%, Marketeer, 15 ตุลาคม 2019


Contributor