01/11/2019
Mobility
บทบาทของย่าน La Part-Dieu กับการพา Lyon สู่เมืองชั้นนำในยุโรป
killthecat The Urbanis
คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายุโรปเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักเดินทางหลายๆคน หรือยิ่งไปกว่านั้นคือความฝันที่จะใช้ชีวิตภายหลังเกษียณ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านสภาพอากาศ ธรรมชาติ ผู้คน ตึกรามบ้านช่องที่ดูสวยงามไปซะหมดเหมือนยกออกมาจากเทพนิยาย หรือหลายคนอาจมองไปถึง “คุณภาพชีวิตที่ดี” ที่หาได้ยากเหลือเกินในบ้านเมืองเรา ที่จริงแล้วใครกันที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างบ้านเมืองให้น่าอยู่ รัฐ เอกชน หรือประชาชนทุกคน อ่านมาถึงจุดนี้อย่าพึ่งด่วนสรุปถอดใจเพราะเมืองที่ดีคงไม่ได้มาเพราะความบังเอิญแน่นอน
จากสถิติปี 2015 องค์กรที่ปรึกษา ชั้นนำอย่าง PwC ได้จัดอันดับให้เมือง Lyon เป็นเมืองที่น่าดึงดูดสำหรับผู้มาเยือนที่สุดในฝรั่งเศสสามารถเอาชนะเมืองคู่แข่งสำคัญอื่นๆ อาทิ Paris Toulouse Bordeaux ยิ่งไปกว่านั้น ในปีเดียวกันการจัดอันดับเมืองที่น่าอยู่อาศัยที่สุดยังจัดอันดับให้ Lyon ติดอันดับที่ 16 ของเมืองในทวีปยุโรปยังไม่นับสถิติด้านเศรษฐกิจและการลงทุนอื่นๆ อีกมากมายที่เมืองนี้ถูกจัดอันดับให้ใกล้เคียงสูสีกับเมืองชั้นนำอื่นๆ ในทวีป
หนึ่งในโครงการสำคัญที่สร้างการเติบโตและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดให้เมืองคือโครงการพลิกฟื้นย่านเก่าแก่ด้านพาณิชยกรรมอย่างย่าน LaPart-Dieu ที่ริเริ่มครั้งแรกในช่วงปี 2007-2009 ผ่านการผลักดันอย่างต่อเนื่องของนักการเมืองคนสำคัญ Gérard Collomb (ตำแหน่งปัจจุบัน President of the Lyon metropolis) และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ผ่านการทำงานตลอดจนการเกิดขึ้นของบรรษัทพัฒนาเมือง Société Publique Locale (SPL) หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบและบริหารจัดการโครงการโดยตรง
องค์กร Société Publique Locale หรือเรียกย่อๆ ว่า SPL คือหน่วยงานที่ร่วมกันก่อตั้งในปี 2014 ถือหุ้นโดย Lyon City และ Metropole de Lyon (เทียบกับบ้านเราก็เปรียบกับหน่วยงานระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ทำหน้าที่ที่ปรึกษาและบริหารจัดการด้านการออกแบบวางผัง การลงทุน การประชาสัมพันธ์โครงการต่อสาธารณชน ทั้งเอกชนที่สนใจมาลงทุนในโครงการและที่สำคัญทำความเข้าใจและรับฟังความต้องการของชาวเมืองและประชาชนในพื้นที่ ดูแลพื้นที่สำคัญขนาด 1.77 ตารางกิโลเมตรอย่างโครงการ La Part-Dieu ที่ได้เกริ่นข้างต้น
แต่ทำไมต้องพื้นที่นี้ ย่านนี้สำคัญอย่างไร ?
บริเวณ La Part-Dieu เป็นย่านพาณิชยกรรมเก่าแก่ที่ถูกพัฒนาฟื้นฟูมาตั้งแต่ช่วงปี 1960-1970 โดยความหาญกล้าของหน่วยงานท้องถิ่นในการนำค่ายทหารเก่าที่อยู่ใจกลางเมืองติดกับสถานีรถไฟกลาง (Gare de Lyon Part-Dieu) และด้วยทำเลที่ห่างจากศูนย์กลางเมืองเพียง 1.8 กิโลเมตรมาพัฒนาเป็นย่านที่อยู่อาศัยขนาด 2,600 ยูนิตสำหรับประชาชนทั่วไป
หลังจากนั้นพื้นที่ขนาด 334 เอเคอร์ หรือ 1.35 ตร.กม. (พื้นที่ก่อนจะเพิ่มขอบเขตและดูแลโดย SPL) ได้ถูกจัดสรรแบ่งโซนและพัฒนาโครงการอื่นๆ ต่อเนื่องอีกมากมายเช่น ศูนย์กลางธุรกิจ ศูนย์ราชการ(ปัจจุบันมีที่ตั้งของออฟฟิศ Cité administrative d’Etat de Lyon) พื้นที่พาณิชยกรรมและศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ พื้นที่เชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบต่างๆ และพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ของเมือง
ช่วงปี 2007 ที่ปรึกษาด้านเมือง Bernard Badon และคณะทำงานร่วมของท้องถิ่นได้ตระหนักว่าพื้นที่ La Part-Dieu ถูกพัฒนาจนถึงจุดอิ่มตัวด้วยกรอบการออกแบบตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 60-70 ทำให้พื้นที่ปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมีประชากรเดินทางผ่านตัวสถานีหลักกว่าวันละ 120,000 คน มีพื้นที่สำนักงานในย่านกว่า 900,000 ตารางเมตร (ปัจจุบันแตะระดับ 1.1 ล้านตารางเมตร) สำหรับธุรกิจภาคบริการ บริษัท ที่ปรึกษา และสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคของบริษัทชั้นนำต่างๆ ของโลก
จนปัจจุบันเกิดการจ้างงานกว่า 56,000 ตำแหน่ง จนหลายคนนำพื้นที่นี้ไปเปรียบเทียบกับย่านธุรกิจอย่าง “La Défense ในมหานครปารีส ด้วยความสำคัญของพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมดในลักษณะย่านธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ระดับประเทศแต่เป็นระดับภูมิภาค เป็นพื้นที่สัญจรของผู้คนในเมือง และเปรียบเสมือนประตูสู่ Lyon สำหรับนักเดินทาง ประกอบกับปัจจัยด้านโอกาสและความท้าทายของภูมิภาคและพื้นที่อื่นๆ ของโลก ทำให้คณะทำงานท้องถิ่นเห็นว่า Lyon ไม่สามารถปล่อยการพัฒนาให้หยุดนิ่งเพียงเท่านี้ ”
จนกระทั่งปี 2009 Gérard Collomb และคณะทำงานท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ และหน่วยงานในระดับประเทศได้ร่วมกันประกาศภารกิจโครงการฟื้นฟูย่าน La Part-Dieu กรอบระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ.2010-2030 ด้วยแผนการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนกว่า 2.5 พันล้านยูโร
“เพื่อพลิกโฉมพื้นที่ในทุกมิติ ประกอบไปด้วยอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย แหล่งพาณิชยกรรม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่เพียงแต่ในมิติเศรษฐกิจหรือแหล่งงาน แต่ยังมุ่งหวังการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชาวเมือง ด้วยการลงทุนในการสร้างและปรับปรุงอาคารที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย พื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว อาทิ การเพิ่มพื้นที่ทางเท้า การลงทุนในห้องสมุด สวนสาธารณะ และการปรับปรุงสถานีกลาง (Gare de Lyon Part-Dieu) ให้เหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการเดินทางในระดับภูมิภาค ด้วยการเชื่อมต่อกับเมืองสำคัญ ๆ อื่น ๆ ผ่านระบบรถไฟความเร็วสูง อาทิ Munich Turin Milan และ Barcelona เป็นต้น “
ด้วยการทำงานอย่างหนักของผู้มีอำนาจและการบูรณการการออกแบบโดยคำนึงถึงทุกภาคส่วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป้าหมายเพื่อที่จะยกระดับเมือง Lyon สู่เมืองชั้นนำในระดับภูมิภาคและเป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัย ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อการดึงดูดการลงทุนและการจ้างงานของอุตสาหกรรมและธุรกิจฐานเดิมและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อไล่ตามพลวัตของกระแสโลก โดยมีเป้าหมายการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในสถานีกว่า 100,000 คนต่อวัน เพิ่มพื้นที่สำนักงานกว่า 650,000 ตร.ม. สร้างการจ้างงานใหม่กว่า 40,000 ตำแหน่ง เพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยกว่า 2,200 ยูนิต และที่สำคัญปรับปรุงสภาพแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะให้แก่ชาวเมืองมากกว่า 300,000 ตร.ม.
“How do we inject new life into this existing structure without spoiling it and without being dismissive of its history?”– Djamel Klouche
จากตัวอย่างโครงการพัฒนาและฟื้นฟูย่าน La Part-Dieu คงไม่มีใครกล้าตอบว่าการพัฒนาพื้นที่สำคัญใจกลางเมืองที่มีมิติรากเหง้าทางด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมจะเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ง่ายเสมือนการสร้างสิ่งใหม่บนพื้นที่ว่างเปล่า การสร้างสรรค์จึงต้องใช้เวลาในการคำนึงถึงรายละเอียด การเปิดใจรับฟัง และการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ทุกคนซึ่งก็คือวิถีชีวิต รายได้ และความเป็นอยู่ของชาวเมือง Lyon และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือวิสัยทัศน์และความเข้าใจของผู้นำหรือผู้มีอำนาจในบริบทของการพัฒนาเมือง ที่มิใช่การคำนึงเพียงปัจจัยด้านใดด้านหนึ่งของนโยบายหรือมุ่งหวังการพัฒนาไปในเฉพาะทิศทางหนึ่งเพียงเท่านั้น ประกอบกับกลไกหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งต้องมีนวัตกรรมและความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับโอกาสและความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภายในและบริบทของโลก
ในท้ายที่สุด ท่ามกลางการแข่งขันของเมืองใหญ่ทั่วทุกมุมโลกในการเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน เราคงมุ่งหวังแต่เพียงการทำหน้าที่ของภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ ภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมเรียกร้อง ผลักดัน และขับเคลื่อนให้เมืองดีที่เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่เพียงคาดหวังจากความบังเอิญ
อ้างอิง:
PricewaterhouseCoopers. (2015). Villes d’aujourd’hui, métropoles de demain.France.
The Economist Intelligence Unit (EIU). (2015). Global Liveability Ranking 2015. London,UK.