30/12/2019
Life

Wonderfruit Festival ดนตรี ศิลปะ ความยั่งยืน และเมืองในอุดมคติของพีท-ประณิธาน และ เจ-มณฑล

ภสรัณญา จิตต์สว่างดี สมัชญา แซ่จั่น
 


‘วันเดอร์ฟรุตไม่ใช่แค่เทศกาลดนตรี แต่เป็นเทศกาลศิลปะ’

พีท-ประณิธาน พรประภา และ เจ-มณฑล จิรา ผู้ก่อตั้งทั้งสองของงานวันเดอร์ฟรุตได้กล่าวไว้ เมื่อเราค้นหาคำว่า “Wonderfruit Festival” ภาพผู้คนแต่งตัวจัดๆ สีสันฉูดฉาด หลากหลายสไตล์โผล่ขึ้นมาในหน้าอินเทอร์เน็ตมากมาย

แต่ไม่ใช่แค่ดนตรี ศิลปะ การแต่งตัวเท่านั้น จากที่ผ่านๆ มา Wonderfruit Festival เป็นงานที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมาตลอด และปีนี้มาในคอนเซ็ปต์ pop-up city ซึ่งจะใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม

ใช้เวลาขับรถประมาณครึ่งชั่วโมงจากพัทยากลาง ถนนคดเคี้ยวก็พาเรามาถึงสถานที่จัดงานวันเดอร์ฟรุต พื้นดินลูกรังฝุ่นตลบจนต้องมีรถคอยฉีดน้ำลงพื้น เป็นสัญญาณบอกว่าเราอยู่ห่างจากตัวเมืองพอสมควร

ยิ่งเข้าไปใกล้กับบริเวณงาน ยิ่งเหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่ใน ‘อีกเมืองหนึ่ง’

เมื่อเดินผ่านโครงสร้างไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยผ้าหลากหลายสีสัน มีตัวอักษรเขียนว่า ‘WONDERFRUIT’ ซึ่งเป็นประตูทางเข้าหลักของงาน บรรยากาศโดยรอบก็ครึกครื้นไปด้วยผู้คน เคล้าคลอเสียงเพลงหลากหลายแนวจากหลายเวที ซุ้มอาหารที่มีอยู่รายรอบ ไม่ต้องกลัวว่าจะท้องร้อง มีซุ้มเวิร์คช็อปศิลปะที่น่าสนใจมากมาย มีจุดให้นั่งพักผ่อน มีโต๊ะ เก้าอี้ ไปจนถึงเปลที่ผูกอยู่กับต้นไม้ใหญ่ หรือกระทั่งศาลาพักผ่อนกลางน้ำ

นอกจากส่วนหลักๆ เหล่านั้นแล้ว เราแอบสังเกตถึงเรื่อง Sustainability ที่เป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของงาน

รอบงานมีถังขยะที่แยกเป็นส่วนๆ ทั้งขยะรีไซเคิล ขยะไม่รีไซเคิล เศษอาหาร ไปจนถึงที่ทิ้งลูกมะพร้าวที่ให้ผู้คนได้สนุกกับการทิ้งลูกมะพร้าวด้วยการโยนลงห่วงแบบบาสเก็ตบอล

และในงานยังมีกฎเหล็กอีกข้อคือ ‘no single use plastic’ เพราะฉะนั้นผู้คนในงานจะต้องพกแก้วน้ำหรือขวดน้ำมาเอง เพื่อใส่เครื่องดื่มในงาน ถ้าไม่มีก็สามารถซื้อจากซุ้มของที่ระลึกในงานได้ และก็มีจุดเติมน้ำดื่มกระจายตัวอยู่รอบพื้นที่งานเทศกาล กระทั่งวัสดุจานชามที่ใส่อาหารในงาน รวมถึงช้อนส้อมก็มาจากไม้ไผ่หรือกระดาษ ไม่ใช่พลาสติก

อย่างที่พีท-ประณิธาน และ เจ-มณฑล ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นว่า วันเดอร์ฟรุตคืองานเฉลิมฉลองที่เน้นวิถีความยั่งยืน หรือ Sustainability เมื่อเราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ก่อตั้งทั้งสองของงานนี้ จึงชวนมาคุยถึงเรื่อง ‘ความเป็นเมือง’ ‘ความยั่งยืน’ และ ‘ศิลปะ’ ในแบบของวันเดอร์ฟรุตว่าเป็นอย่างไร

ที่มาของคอนเซ็ปต์ pop up city ที่เป็นธีมหลักของงานวันเดอร์ฟรุตมาจากไหน

เจ : เราได้เห็นว่าการที่เราสร้างเทศกาลดนตรีขึ้นมา มันไม่ได้เป็นเทศกาลดนตรีเฉยๆ มันมีโซนอาหารด้วย โซนเด็กด้วย โซนพักผ่อนด้วย แคมปิ้งด้วย พอทำมาสองสามปีมันเหมือนเราสร้างเมืองขึ้นมา ทั้งเรื่อง infrastructure ด้วย การต้องมาดูระบบน้ำ ห้องน้ำ ระบบขยะ จริงๆ มันก็เหมือนกันสร้างเมือง ก็เลยเป็นที่มาของไอเดีย pop up city

ถ้านี่เป็น pop up city แล้ว ideal city หรือเมืองในอุดมคติเป็นอย่างไร

เจ : มันก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่มันคงมีความ self-sustain กว่านี้ มีส่วนของฟาร์มเข้ามา มี solar energy เข้ามามีส่วนร่วม อย่างในงานของเรา ถ้าเราตัด generator ออกได้ นั่นคือ ideal city ของเราเลย การไม่ใช้พลังงานจากที่อื่นเลย ใช้พลังงานลม พลังงานน้ำ พอเทคโนโลยีมันถึงจุดนั้นเราจะเอามาใช้แน่นอน แต่มันอาจจะต้องใช้เวลานิดนึง

พีท : ซึ่งผมว่ามันเป็นไปได้นะ

ก่อนจะจัดงานวันเดอร์ฟรุตมีเมืองที่เป็นเมืองต้นแบบในการออกแบบงานมาก่อนไหม

เจ : ไม่มีนะ มันคือการที่เราได้รวมสิ่งที่เราชอบ เราชอบฟังเพลงแบบไหน ชอบศิลปินแบบไหน ชอบสถาปัตย์แบบไหน แล้วเราก็เอาทุกอย่างเนี่ยมารวมกันในสถานที่เดียว จริงๆ ไอเดียมันก็มาจากการที่เราได้สร้าง wonderfruit กันมานั่นแหละ ตั้งแต่ปีแรกมาเรื่อยๆ เราเริ่มเห็นว่า เราไม่ได้อยากจะเป็นเทศกาลดนตรี เราไม่ได้อยากจะเป็นเทศกาลอาหาร เราไม่ได้อยากจะเป็นอะไรอย่างเดียว เราอยากจะเอาทุกอย่างนี้มารวมกัน พอทำไปสักพัก อย่างที่บอกว่าเราก็ต้องดึงระบบหลายๆ อย่างเข้ามา ไอเดียเมืองจำลองเลยโผล่ขึ้นมา

ทำยังไงให้ทุกอย่างในงานดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

พีท : พอเรามองเห็นทุกอย่าง เหมือนเป็นนกมองลงมา การมี perspective อย่างนั้น ทำให้เราจัดการได้ว่าอันนี้ควรจะอยู่ตรงนั้น อะไรที่เราขาด ตรงไหนที่เราขาด อย่างเช่น ตรงนี้เราขาดเสียงแบบนี้นะ ตรงนี้เราขาดลุคแบบนี้ เราก็พยายามจะทำให้มันลงตัว

เจ : ตอนนี้ก็ยังลองถูกลองผิดกันอยู่ไปเรื่อยๆ นะ แล้วพอทำมาสักพักหนึ่งเราก็เริ่มเห็นว่าอะไรที่เราเอาเข้ามาแล้วมันเป็นประโยชน์กับงาน หรืออะไรที่เราเอาเข้ามาแล้วอาจจะดูไม่ได้ลงตัวเท่าไหร่ เราก็พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งพวกนั้นจนกว่าจะมีวิธีที่จะพลิกให้มันลงตัวกับสิ่งที่มีอยู่

แล้วเรื่อง Sustainability ล่ะ? เป็นเรื่องยากมั้ยที่จะต้องสื่อสารไปยังสังคม

พีท : มันก็ยากนะ

เจ : ตอนแรกคนเขาก็ยังไม่ได้สนใจกันนะ ก็จะเห็นว่าเราต้องมีคอนเทนต์ต่างๆ ให้เขามาด้วยเพลง ด้วยคอนเสิร์ต อาหาร ศิลปะ พอเขาเข้ามาในงาน เขาถึงจะได้รู้ว่าพวกนี้เราสร้างด้วยขยะ เรากรองน้ำบนไซต์เอง ในส่วนของเราเอง แต่ละปีเราก็ค่อยๆ พัฒนาไอเดียออกมาเรื่อยๆ เพื่อให้คนได้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าโครงสร้างของเทศกาล wonderfruit เนี่ย เป็นสิ่งที่ต้องดีกับสิ่งแวดล้อม เป็น sustainability

ทุกอย่างมันเป็นคอนเทนต์ในการที่เราจะสื่อสาร สำหรับพวกเราเองเราก็คิดว่ามันเป็นโอกาส เหมือนคนทำเพลงอ่ะ วิธีที่คุณจะจัดการกับขยะยังไง ก็เหมือนวิธีที่คุณจะสร้างเวทียังไง เราหาวิธีที่จะใช้จินตนาการนิดหนึ่ง

จากในงานปีนี้เห็นผู้คนถือแก้วน้ำ หรือกระติกน้ำกันมาเอง คิดว่าการสื่อสารประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมันง่ายขึ้นไหมในปีนี้

เจ : พอเราทำอะไรกะทันหัน หรืออะไรที่แบบค่อนข้างแรงนิดนึง อย่างเราบอกว่า เออ นี่ต้องเอาแก้วมาเองนะ ถ้าไม่ได้เอามา ก็ต้องมาซื้อแก้วที่นี่ เราไม่มีแก้ว (ที่เป็นแบบใช้แล้วทิ้งให้) ทุกคนก็จะรู้สึกว่า เออ เอาจริงว่ะ

พอเราเห็นว่าทุกคนพกขวดน้ำกันมาเอง แล้วในงานวันเดอร์ฟรุตก็มีจุดให้เติมน้ำกระจายอยู่ทั่วทั้งงาน คิดว่าเป็นไปได้ไหมที่กรุงเทพจะมีจุดเติมน้ำหรืออะไรแบบนี้บ้าง

พีท : (หัวเราะ) พวกสวนลุมมีนะ สวนสาธารณะมีนะ แต่ว่า เออ ผมว่ามันก็มีสิทธิ์นะ เดี๋ยวนี้เขาก็เริ่มรณรงค์กันมากขึ้น พอมันเป็นกระแส คนรุ่นใหม่เขาก็อยากจะได้สิ่งเหล่านี้ มันก็กลายเป็นสิ่งจำเป็น

เจ : ตอนนี้บางทีที่เราพกขวดของตัวเอง แล้วเราก็ต้องไปซื้อขวดใหม่เพื่อมาเติมขวดเราอีก

จริงๆ เราตั้งใจจะสื่อสารเรื่อง sustainability ให้กับคนไทยโดยตรงเลยไหม เพราะเทศกาลสไตล์แบบนี้จะมีคนไทยมาเข้าร่วมน้อยมาก

พีท : คนไทยเยอะมากนะ 40-50% เป็นคนไทย เยอะมาก

เจ : ถ้าปีนี้มา 20,000 คน คนไทยก็เป็นหมื่น ซึ่งจริงๆ ก็จะสื่อสารให้ทุกคน ไม่ได้แบ่งแยกเชื้อชาติ เพียงแต่ว่าคนชาติอื่นเขาอาจจะตื่นตัวเรื่องนี้กันแล้ว คนไทยอาจจะล้านิดนึง แต่พอเขามาถึงเขาก็ทำ

พีท : แต่จริงๆ เมืองไทยเราเนี่ย ลองไปดูที่ต่างจังหวัดนะ ผมว่างเขาจัดการความยั่งยืนได้ดี เพราะหนึ่งคือเขาจำเป็นต้องทำด้วย เขามี mentality อย่างนั้น จริงๆ มันคือแค่ในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่ๆ ที่มันสิ้นเปลืองกัน แต่มันก็เป็นแบบนี้แหละในทุกเมืองใหญ่ๆ นึกออกไหม แต่ถ้าไปดูจริงๆ ในชุมชน วิธีที่เขาจัดการ วิธีที่เขาใช้ของนี่มัน natural หมดเลยนะ ทุกอย่างมันมาจากธรรมชาติหมดเลย แล้วผมว่ามันเจ๋ง ผมว่ามันดีที่สุดแล้วอ่ะ ซึ่งเขาทำไปด้วยความจำเป็น

ด้วยความที่วัสดุเกือบทุกอย่างที่นำมาใช้ในงาน ทั้งโครงสร้างงาน และวัสดุต่างๆ มันสามารถรีไซเคิลได้เกือบหมด กระบวนการจัดการขยะหลังจากจบงานจะเป็นอย่างไร

พีท : ของพวกนี้เราเอามาใช้ใหม่ทุกปีเลย อย่างไผ่ที่ใช้ปีนี้ ปีหน้าอาจจะกลายเป็น structure อันหนึ่ง หรือกลายเป็นถังขยะ อะไรอย่างนี้ ส่วนขยะอย่างที่บอกว่าเราพยายามทำเป็น zero landfill เราก็แยกขยะทุกอัน โคกับองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะรีไซเคิลหรือจำกัดมัน 

ซึ่งเห็นความแตกต่างของปริมาณขยะชัดเจนเลยไหมระหว่างปีนี้กับปีที่ผ่านๆ มา

เจ : แน่นอนครับ อันนี้แน่นอนเลย เราจะมาดูกันอีกทีว่าวันเสาร์วันอาทิตย์เนี่ย impact มันจะเยอะแค่ไหน แต่ว่าจากคืนวันพฤหัสนี่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ เพราะว่าจากแต่ละเวทีมองลงมาแทบจะไม่มีขยะที่พื้นเลย

ส่วนคืนวันศุกร์กับเสาร์จะเป็นผู้ชมหลักที่เข้ามาในงาน เราก็จะมาดูว่าความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน เพราะในปีที่ผ่านๆ มา หลังจากเวทีปิดแล้ว เราก็ต้องมาชักชวนคนที่อยู่ตรงนั้นมาช่วยกันเก็บขยะ

พีท : ปีที่แล้วผมจำตัวเลขปริมาณขยะไม่ได้ว่ากี่ตัน แต่ค่อนข้างเยอะเลย

เจ : เรารู้ว่ามีแก้วพลาสติกเยอะที่สุด เป็นแสนเลยอ่ะ

พีท : ปีนี้ก็คาดหวังว่ามันจะลดลงไปเยอะอ่ะ ประเด็นคือขยะนี่มันต้องจัดการกับมัน ยังไงมันก็มีเยอะ แต่ปีนี้เรามีกระบวนการที่จะจัดการกับมันอย่างถูกต้อง คือไม่ได้เอาไปฝัง ไปกลบ หรือไปเผา คือเอาไปทำให้มันมีชีวิตอีกรอบหนึ่ง

แล้วมีความคิดเห็นอย่างไรกับกระบวนการแยกขยะของเมืองไทยที่ค่อนข้างด้อยคุณภาพ 

พีท : ใช่ มันไม่แยก มันไปแยกตรงกระบวนการสุดท้าย พอมันไปถึงตรงนั้นก็สงสารคนทำ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ถ้าเราทำได้ใน wonderfruit ก็หวังว่าคนอื่นจะเริ่มทำตาม ให้มันเป็นกระแส ก็เหมือนกับถุงพลาสติก พอมันเริ่มเป็นกระแสมันก็พลิกเร็วเหมือนกันนะ เราเองก็เป็นตัวขับเคลื่อนของกระแสพวกนี้ได้อ่ะ เราก็พยายามจะทำ

มาที่เรื่องศิลปะกันบ้าง ในงานวันเดอร์ฟรุตก็มีศิลปะหลายแขนง ทั้งดนตรี เวิร์คช็อปต่างๆ มีงานศิลปะหลายรูปแบบ คิดว่าในอนาคตจะมีศิลปะแบบไหนที่จะมาอยู่ในงานได้อีกบ้าง ศิลปะท้องถิ่น งาน local อะไรแบบนี้

พีท : จริงๆ มันมีได้เยอะนะ แต่ที่เราคุยกันอยู่คือภาพยนตร์เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เราอยากจะมีภาพยนตร์ แต่มันทำยากนิดหนึ่ง หมายถึงมันมีข้อจำกัดเยอะ มันต้องมืด มีเรื่องจำนวนคนอีก

เจ : เราก็กำลังวางแผนกันอยู่ ซึ่งก็จะเหมือนเป็น film festival ไปเลยอยู่ในงานวันเดอร์ฟรุตของเรา

พีท : สื่ออาจจะคิดว่าเราเอนไปทางเมืองนอกนะ แต่เอาตรงๆ เราไม่เคยเอียงไปทางไหน เราคิดว่าคนก็คือคน และเรามีคอนเทนต์กับเมืองไทยเยอะนะ ครึ่งหนึ่งของโปรแกรมในงานเราเป็นของคนไทย ทั้งศิลปินไทย สถาปนิกไทย ปีนี้ศิลปินไทยในด้านดนตรี ผมว่ามีประมาณ 200 ชื่อได้มั้ง อาจจะเกินด้วย แต่มันแค่อาจจะไม่ใช่ชื่อที่ทุกคนรู้จัก เราชอบไปหาอะไรที่ไม่มีใครรู้จักอยู่แล้ว สถาปนิกเกือบครึ่งหนึ่งที่เราทำงานด้วยก็เป็นคนไทย อาหารต่างๆ ด้วย จริงๆ มันก็คือเราอยู่เมืองไทยเราก็ใช้ของไทย แต่นั่นแหละ วิธีการทำของเราเราอาจจะแปลงมันนิดนึง พลิกมันนิดนึง

เจ : พวกโครงสร้างของเทศกาลมันดูไม่ไทย คนก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ไทย แต่ทุกอย่างที่เราเห็นส่วนมากนี่ก็เป็นงานจากคนไทยหมดเลยนะ วิธีการใช้ไผ่ ก็เป็น local หมด

พีท : หรืออย่างฟางในงานเราก็ใช้ของเชียงใหม่ ซึ่งก็เป็น highlight ของบรรยากาศปีนี้เลย

วันเดอร์ฟรุตเป็นเทศกาลที่ให้คุณค่ากับศิลปะ แต่ในภาพรวมของสังคมไทย ทั้งภาครัฐเองหรือกลุ่มต่างๆ ก็ยังไม่ได้ให้ค่ากับศิลปินหรือศิลปะเท่าที่ควร ในฐานะผู้จัดงานมีมุมมองต่อศิลปะในสังคมไทยอย่างไร

พีท : เรื่องนี้มันต้องใช้เวลานิดนึงที่จะขับเคลื่อน อย่างที่บอกว่าเราเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเยอะ มันค่อนข้างเสียดายที่รัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนด้านนี้เท่าที่ควร แต่ว่าไปสนับสนุนศิลปะที่แบบมันไม่จำเป็นจะต้องมี มันควรใช้ในที่ที่ไปขับเคลื่อนศิลปะจริงๆ ไม่ใช่แบบ art museum ที่สำหรับคนรวยๆ แบบในเมืองรวยๆ มานั่งดูว่าชิ้นนี้ราคาเท่าไหร่ อันนั้นมันกลายเป็นธุรกิจ หรือเป็น community ไปแล้ว ผมว่ามันไม่ใช่ศิลปะ 

แต่ผมว่าเมืองไทยเราก็เริ่มมีนะ ในเชียงใหม่ ในต่างจังหวัด ที่มันเริ่มแตกออกมา รัฐบาลถามว่าสนับสนุนรึเปล่า ก็คงไม่ค่อยได้สนับสนุน คนที่สนับสนุนคือพวกสถานฑูต องค์กรหรือสถาบันต่างๆ แต่ผมว่ามันจะเริ่มเปลี่ยนนะ ผมว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมันจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมมากขึ้น สมัยก่อนศิลปะมันเป็นแบบเป็นการขายของมาก เดี๋ยวนี้มันรู้แล้วว่าตรงนั้นไม่ค่อยได้ผล สิ่งที่คนมันสนใจจริงๆ คือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ก็นั่นแหละครับ ช่วยๆ กัน

ในฐานะที่จัดงานวันเดอร์ฟรุตและในปีนี้ก็มีคอนเซ็ปต์เป็นเมืองเมืองหนึ่ง มีมุมมองต่อกรุงเทพมหานครอย่างไร เพราะกรุงเทพก็เป็นเมืองที่มีหลายปัญหา ในขณะที่ wonderfruit ก็เป็นเมืองในอุดมคติที่จำลองขึ้นมา

เจ : เราพยายามสร้างตัวอย่างให้คนที่ได้มา ถ้าใครที่ไม่ได้ชอบอยู่กรุงเทพ อาจจะอยากหนีมาอยู่ที่นี่ ขอแค่ 4 วันต่อปีก็เอา แล้วก็พยายามสร้างเป็นประสบการณ์ให้คนได้จำไว้ ดึงบางอย่างกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันตอนที่อยู่กรุงเทพ

พีท : แต่กรุงเทพจริงๆ เราก็โชคดีนะ ยกเว้นเรื่องรถติด มันเป็นเมืองที่มีเสน่ห์มากนะ มันมีตัวตนที่ชัดเจนมาก ซึ่งหายากนะเมืองที่มีคาแรกเตอร์แบบนี้ ในความรู้สึกของผม ผมว่ามันก็เป็นเมืองที่มีความลงตัวของมัน มันมีความซับซ้อน แต่ปัญหาคือมันรถติด แล้วก็ต้นไม้ไม่พอ ถ้ากรุงเทพรถไม่ติด แล้วอากาศเย็นกว่านี้นิดนึงนี่นะ the best place in the world เลย เพราะมันมีทุกอย่าง

พูดถึงว่าเรามีวัฒนธรรมที่ชัดเจน มีความซับซ้อนที่เมืองอื่นเขาไม่มีกันอย่างนี้ สังคมเราบางอย่างมันก็ไม่ดี แต่หลายส่วนมันก็ดี เอาง่ายๆ ว่ามันน่าสนใจอ่ะ มันไม่น่าเบื่อ


Contributor