02/08/2021
Life

สัปเหร่อนอกสายตา เมรุแตก พิธีกรรมการจากลาที่หายไป ฯลฯ : บทสนทนาว่าด้วยโควิดกับการตายและการจัดการร่าง กับ รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์

ชยากรณ์ กำโชค ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์ สรวิชญ์ อังศุธาร
 


ไอซียูใกล้แตก เมรุใกล้เต็ม คนวงการแพทย์ไม่ไหวจะแฉ ย่ำแย่มานาน แต่ไม่มีการแก้ไข (ผู้จัดการ, 24 มิ.ย. 64)

อลหม่านงานศพตาวัย 85 พระกำลังสวดวงแตก เจ้าหน้าที่ขออายัดหลังพบติดโควิด (ไทยรัฐ, 5 ก.ค. 64)

ศพโควิดล้น หลวงพี่ควบหน้าที่สัปเหร่อ สวดเองเผาเอง (อมรินทร์ทีวี, 14 ก.ค. 64)

สลด! ดับ 3 ราย นอนตายข้างถนน-คาบ้าน รอ จนท. เก็บศพนานหลายชั่วโมง (กรุงเทพธุรกิจ, 21 ก.ค. 64)

เผาจนเมรุถล่ม! วัดบางน้ำชนวอนบริจาคสร้างใหม่ (ทีเอ็นเอ็น24, 23 กรกฎาคม 64)

บางส่วนของพาดหัวข่าวในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกปี 2564 ของประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่เชื่อมโยงกับความตายและเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่าในภาวะโรคระบาด ความตายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง อย่างเช่นข้อมูลการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่กลายเป็นการเริ่มต้นบทสนทนาระหว่างครอบครัว เพื่อนฝูง และบุคคลใกล้ชิด

เป็นโอกาสพิเศษอีกครั้งที่ The Urbanis ได้สนทนากับ รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักสังคมวิทยาผู้สนใจศึกษาด้านความตายและการจัดการร่าง ว่าด้วยการบริหารสถานการณ์โควิดในมิติของการตาย การจัดการศพที่แตกต่างหรือหายไปในภาวะโรคระบาด และ Next Normal ที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องถอดบทเรียนเพื่อรับมือกับสถานการณ์หรือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนคุณภาพชีวิตของบุคลากรด้านการจัดการร่างที่อาจยังไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควรจะเป็น

ความตายในโควิดแตกต่างจากความตายลักษณะอื่นอย่างไร และทำไมต้องให้ความสำคัญกับศพโควิด

แม้ความตายก็คือความตาย ไม่ว่าจะตายจากอะไรก็คือตายเหมือนกัน แต่ความตายที่เกิดขึ้นในโลกไม่ได้มีเส้นทางเดียวแต่มีหลากหลายวิถี แตกต่างกันไปตามสาเหตุ สถานที่ เวลา และองค์ประกอบแวดล้อมอื่น ๆ ตามสถานการณ์ ที่แปรผันตามเงื่อนไขทางสังคมว่าเราเป็นใคร – เพศ เชื้อชาติ ถิ่นที่อยู่ อาชีพ รายได้ เครือข่ายทางสังคม  ความตายในวิถีที่หลากหลายจึงเป็นผลลัพธ์ที่ตามมาของความซับซ้อนและซ้อนทับระหว่างปัจจัยทางสังคม-วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ผลิตโอกาสเสี่ยงของการเจ็บป่วย ไม่เฉพาะแค่ปัจจัยทางพันธุกรรม  บางคนตายจากโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หาย บางคนตายจากอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้ายให้ตาย (ฆาตกรรม) แต่บางคนเลือกที่จะจบชีวิตด้วยตนเอง หรือ เลือกทางอื่น ๆ ที่มีอยู่ในกาลเทศะนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราตั้งข้อสังเกตไว้ คือ การตายจะมีสาเหตุมาจากความเสี่ยงทางสังคมมากขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือเรากำลังมีชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่สามารถคร่าชีวิตเราได้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว  ไม่ว่าจะเป็นพิบัติภัย – น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ไฟไหม้ ที่เกิดจากความที่มนุษย์เรารัดเอาเปรียบธรรมชาติ หรือในประวัติศาสตร์ที่ไม่นานนัก เรายังมีภาพจำของความตายที่เกิดจากความขัดแย้ง อคติ และผลประโยชน์ที่นำไปสู่สงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์   และแปลงร่างมาเป็นการก่อการร้าย การทำลายล้างกันด้วยอาวุธชีวภาพ นิวเคลียร์ เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่มีให้เห็นมากมาย และในเวลานี้ ณ จุดที่สังคมมนุษย์มีความเจริญสูงสุด โรคอุบัติใหม่และโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิดชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ไม่เพียงแต่เอาชนะธรรมชาติไม่ได้ แต่กำลังต่อสู้อย่างหนักกับการลงโทษของธรรมชาติ  ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ทำได้ดีที่สุดคือพยากรณ์ไว้ว่าสังคมมนุษย์ยังจะต้องเผชิญกับหายนะอีก

ในวิถีการตายที่หลากหลาย เราจะเห็นว่าการตายบางลักษณะมีเวลาให้เราเตรียมตัวเตรียมใจ เช่น ป่วยเป็นโรคร้ายก็พอจะมองเห็นพยากรณ์ของโรค แต่การตายจากสาเหตุอันเป็นความเสี่ยงทางสังคมนั้นมักมาถึงโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ลักษณะที่โหดร้ายอย่างหนึ่งของความเสี่ยงทางสังคมคือมันยากที่จะมองเห็น มันกลมกลืนอยู่ในความปกติ  เราไม่รู้หรือรู้น้อยมากว่าเรากำลังสูดดมอะไรเข้าไปในปอด พิษในอากาศไม่มีสี บางทีไม่มีกลิ่น หรือแม้แต่ไม่รู้เลยว่าเราไม่รู้อะไร หรือในตอนนี้เราประเมินอย่างเป็นรูปธรรมได้ยากว่าโควิดนั้นใกล้ตัวเราแค่ไหน จนกว่าจะมีการเจ็บป่วยและการตายเกิดขึ้น  ความเสี่ยงทางสังคมจะกลายมาเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการตายและความตายของมนุษย์ เพราะกลไกการทำงานของสังคมในระบบและระดับโลก เช่น โลกาภิวัตรและทุนนิยมที่สร้างให้โลกทั้งโลกสามารถเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ผู้คนรู้สึกเหมือนเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น เกิดแรงผลักให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างไรทิศทาง ที่ไม่เพียงเอื้อต่อการไหลเวียนของทุน แต่ยังเป็นการข้ามพรมแดนของสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลความรู้ สินค้าและบริการ เช่น การท่องเที่ยว การแพทย์ ที่คนทั่วโลกกระทำในนามของการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด การค้นหาเป้าหมายของชีวิต การปลดปล่อย การใช้เวลาว่าง และอีกมากมาย แต่ต้องไม่ลืมว่ามันไม่ได้มีแต่มุมบวก แต่ยังรวมถึงสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ผู้ก่อการร้าย และโรคระบาด  การระบาดของโควิดที่เริ่มตั้งแต่ปี 2019 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันในปี 2021 เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดว่าระบบโลก -การเคลื่อนย้ายในระดับต่าง ๆ เอื้อต่อการแพร่ระบาดและกลายเป็นการระบาดขนาดใหญ่ (pandamic) ในเวลาไม่นาน และกลไกแห่งความเชื่อมต่อทำให้ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นในทุกที่และมีความรวดเร็วในการส่งต่อ ภาวะ infodamic จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยากขึ้นและมีผลกระทบสูงมาก ๆ

ความตายโควิด : ความพ่ายแพ้ของการดูแลด้วยหัวใจที่เป็นมนุษย์

การตายอันเนื่องมาจากโควิดนั้นนอกจากจะเกิดมากจากความเสี่ยงทางสังคมที่สะท้อนผ่านการรุกล้ำธรรมชาติและการเคลื่อนย้ายแล้ว ยังปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการตายเกิดขึ้นในวิถีที่โดดเดี่ยวและสร้างผลกระทบทางจิตใจอย่างลึกซึ้งกับทุกฝ่ายไม่เว้นแม้แต่สาธารณชนที่แค่รับฟังเรื่องราวของการตายจากโควิด  ในช่วงแรกของการระบาดความหดหู่ในการตายเกิดจากการที่ไม่มีใครไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติพี่น้องของผู้ป่วยจะสามารถเข้าไปอยู่ตรงนั้นให้การดูแลหรือประคับประคองผู้ป่วยในทางกายและจิตใจให้ค่อยๆจากไปอย่างหมดกังวล -คนไทยมีความเชื่อเรื่องการได้ขอขมาลาโทษ ได้เห็นใจ หรือได้ปิดตายามสิ้นใจ  แต่ในภาวะโควิดกลไกการดูแลด้วยหัวใจที่เป็นมนุษย์เหล่านี้ถูกทำให้ทำงานไม่ได้ เพราะหัวใจสำคัญของการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดหรือการหยุดเชื้อไวรัสที่ไม่มีใครรู้ว่ามันทำงานยังไงกันแน่ – แพร่กระจายในอากาศ เป็นแค่ droplets หรือ airborne หรือแค่ปนเปื้อนอยู่ในสารคัดหลัง หรือทั้ง 2 อย่าง ด้วยการลด ละ เลิกหรือแม้แต่หยุดโดยสิ้นเชิงพฤติกรรมที่จะเพิ่มความเสี่ยง นั่นก็คือมาตรการทางสังคมอย่าง social หรือ physical distancing  การ lockdown  ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นรากฐานของการมีชีวิตทางสังคมและการเป็นมนุษย์  ในกรณีทั่วไปการรักษาระยะห่างทางสังคมก็ยากอยู่แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีต้นทุนน้อย แต่พอมาตรการนี้เข้ามาอยู่ในบริบทของการให้การดูแลและรักษาพยาบาลก็ยิ่งเป็นสถานการณ์ที่ลำบากและเปราะบางมาก  โควิดจึงเข้ามาแตะที่หัวใจของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง และเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับทุกฝ่ายเลยจริง ๆ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดทวีความรุนแรงขึ้นในทุกด้าน – จำนวน การกลายพันธุ์ของเชื้อ การกระจายวัคซีน ข่าวลวง ได้ทำให้เกิดความขาดแคลนของทรัพยากรที่ต้องใช้ในการจัดการกับปัญหา และที่สำคัญคืออคติที่มากับความไม่แน่ใจและความไม่รู้ และการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพ

ศพโควิด : มายาคติและจิตอาสาที่กำลังวิกฤติ

ประเด็นสืบเนื่องจากการตายที่กำลังเป็นปัญหาในสังคมไทย คือ เรื่องการจัดการกับศพโควิด การวางแผนจัดการศพโควิดเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง  ที่ผ่านมาการจัดการศพโควิดเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้องจัดการกันเอง ว่ากันไปตามหน้างาน และไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน ระบบการสนับสนุนมีอะไรบ้าง ชาวบ้านก็ไม่แน่ใจว่าต้องขอความช่วยเหลือจากใคร   การจัดการศพโควิดซึ่งเข้าข่ายการเป็นศพติดเชื้อที่เกิดจากผลของการตายจากโรคระบาดร้ายแรงมีความแตกต่างจากการจัดการศพที่เกิดจากการตายด้วยเหตุอื่น เช่น ศพที่ตายจากโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หายทั่วไป กับศพที่เสียชีวิตจากการตายผิดธรรมชาติ  ในอดีตที่ผ่านมาสังคมเคยมีประสบการณ์ในการจัดการกับศพติดเชื้อ เช่น ศพที่เสียชีวิตจากโรค HIV/AIDS SARS MERS หรือ Ebola มาแล้ว แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้เราตระหนักว่าเรื่องการวางแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะมีศพจำนวนมากที่มีความเสี่ยงและมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอารมณ์และขวัญของผู้คนในสังคม  ยิ่งถ้าศพมีจำนวนมากขึ้นหรือมากเท่าไรก็ตาม การจัดการด้วยระบบจิตอาสาและกู้ภัยจะรับไม่ไหว ภาพชัดมากว่ารัฐต้องเข้ามาให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

โดยส่วนตัวมองว่าถ้าเราไม่พูดเรื่องศพกันอย่างจริงจัง และตราบที่ยังมองศพเป็นภาพเดียวเดี่ยว ๆ ที่น่ากลัว และไม่วิเคราะห์ระบบนิเวศของการจัดการศพ เรื่องการจัดการศพจะเป็นปัญหามาก   แม้ศพจะเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะถูกหยิบยกมาพูดในพื้นที่สาธารณะและในเวลาวิกฤติ แต่สถานการณ์จัดการศพที่เป็นปัญหาทุกวันนี้ชี้ให้เห็นว่าหลายเรื่องเป็นเรื่องอคติ เป็นเรื่องความไม่รู้ นอกจากเรื่องความขาดแคลนของทรัพยากรและเจ้าหน้าที่อย่างที่เราทราบกันดีแล้ว ดังนั้นการวิเคราะห์มายาคติของการจัดการศพและสื่อสารให้สังคมรับทราบจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้เรามองเห็นแสงสว่างที่ปลายทาง 

ถ้าอ้างอิงกับข้อมูลทางการแพทย์ว่าเชื้อโควิดอยู่ในอากาศและในสารคัดหลั่งของร่างกาย ศพที่เสียชีวิตจากโควิดโดยทฤษฎี เมื่อไม่หายใจแล้วโอกาสที่จะไอจามทำให้เกิดละอองฝอยที่มีเชื้อลอยในอากาศย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นความเสี่ยงของศพโควิดจึงอยู่ภายในตัวศพ – ในปอด ในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งไม่สามารถฟุ้งกระจายทั่วไป แต่อาจจะสามารถปนเปื้อนออกมากับสารคัดหลั่งที่เกิดภายหลังการตาย ที่คนไทยเราเรียกว่าธาตุขันแตก หรืออาจเป็นไปได้ที่จะมีสารคัดหลั่งปนเปื้อนมาในกระบวนการย่อยสลายของศพที่จะค่อย ๆ เกิดขึ้นทันทีหลังการตาย  ถ้ามองตามนี้ก็จะเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ศพต้องถูกจัดการภายในเวลาอันรวดเร็วและต้องมีมาตรการที่จะลดโอกาสเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานกับศพ  ดังนั้นจึงมีการห้ามไม่ให้มีการนำศพโควิดไปทำการชันสูตรหรือแม้แต่ฉีดยาเพื่อชลอการเน่าเปื่อย  มาตรการเหล่านี้ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสที่อยู่ในตัวศพสามารถฟุ้งกระจายออกมาได้ด้วยหลักการเดียวกัน คือ เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสและการเปิดศพ เนื่องจากทั้งการชันสูตรและการฉีดยารักษาสภาพศพนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องมีการสัมผัสกับศพอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน  

นอกจากนี้ยังมี Guideline ที่ออกมาโดยกระทรวงสาธารณสุขและเป็นสิ่งที่ถือปฏิบัติกันทั่วโลกด้วยก็คือขั้นตอนในการบรรจุศพที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างรัดกุมขั้นสูงสุด ทั้งในแง่การจัดทีมงานและ logistic ที่กำหนดลงในรายละเอียดกระทั่งการใส่และถอดชุด PPE  คุณสมบัติของถุงบรรจุศพ อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมี และกำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน เช่น หน้าที่ที่แตกต่างกันของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปบรรจุแต่ละคน ตำแหน่งการยืนของเจ้าหน้าที่บรรจุศพ การพ่นยาฆ่าเชื้อ การเก็บสิ่งส่งตรวจจากศพ เป็นต้น

ภาพโดย สยามรัฐ

จะเห็นได้ว่าตราบเท่าที่ศพยังไม่ได้รับการบรรจุลงในถุงใส่ศพ ศพก็มีสถานะเป็นศพที่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้ แต่ด้วยมาตรการที่กำหนดไว้อย่างรัดกุมเมื่อศพถูกบรรจุไว้ในถุง 2-3 ชั้น ทำการฆ่าเชื้อ และปิดถุงด้วยสายเคเบิ้ลคล้องซิปเรียบร้อยแล้ว โดยหลักการศพก็น่าจะหมดความเสี่ยง คือไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อผ่านอากาศหรือโดยการสัมผัสได้อีก ถ้าไม่มีการเปิดถุงศพ ดังนั้นศพโควิดเมื่อบรรจุใส่ถุงบรรจุศพแล้วจะไม่มีการเปิดออกมาให้ญาติได้เห็น หรือเพื่อทำพิธีกรรม เช่น รดน้ำศพ ได้อีก และจะถูกส่งไปฌาปนกิจในทันที

ถ้าเรามองตามความเป็นจริงจะพบว่าศพโควิดมีความเสี่ยงจนกว่าจะถูกบรรจุลงในถุงบรรจุศพ ซึ่งแปลว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนี้ก็ต้องทำงานที่เสี่ยง ก็ต้องมาไล่ดูว่าพวกเขาคือใครบ้าง – เจ้าหน้าที่ห้องศพ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มาบรรจุและรับศพ เจ้าหน้าที่กู้ภัย ก็สมควรได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด แต่เมื่อศพที่ถูกบรรจุลงในถุงแล้วอย่างเรียบร้อยถูกเคลื่อนย้ายไปยังรถขนศพเพื่อนำไปวัด ไปจนถึงส่งศพขึ้นเมรุ ความน่าจะเป็นคือศพอยู่สภาพที่มีความเสี่ยงน้อยมาก ในกระบวนการของการขนส่งศพก็มักเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือผู้ที่ถูกว่าจ้างมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการบรรจุศพ และด่านสุดท้ายของเส้นทางนี้คือศพถูกส่งเข้าเตาเผาที่วัด ซึ่งจะเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าหน้าที่ประจำวัดหรือที่เราเรียกเขาว่าสัปเหร่อนั่นแหล่ะ  เมื่อคลี่ออกเป็นเส้นทางดังนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่าใครบ้างคือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงระดับไหน และน่าจะถูกนำไปสร้างความเข้าใจให้สาธารณะ จะได้ลดการต่อต้านการเผาศพโควิด ปัญหาวัดรับเผาศพโควิดมีน้อยและต้องเผาทั้งวันจนเมรุชำรุดก็น่าจะดีขึ้น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการศพและต้องการการวางแผนการจัดการที่ดีคือการจำกัดหรือทำลายการติดเชื้อจากแหล่งที่ยังไม่เป็นที่ตระหนักและคาดการณ์ไม่ถึง เช่น ขยะที่เกิดจากกระบวนการจัดการศพ -บรรจุ ขนส่ง ฌาปนกิจ ซึ่งสร้างขยะติดเชื้อ เช่น อุปกรณ์ป้องกันตั้งแต่หน้ากากอนามัย ชุด PPE ไปจนถึงชุดตรวจ และวัสดุที่ต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากศพที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ ถือเป็นภัยที่น่ากลัวหากไม่ตระหนัก หากมองภาพรวม นี่ถือเป็นจุดบอดสำคัญที่ต้องการการวางแผนจัดการอย่างรัดกุม

โควิดและความสิ้นสลายของความปกติ: พิธีกรรมการจัดการศพยุคโรคระบาด

พิธีศพในปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ก็ยังคงมีความหมายที่สำคัญอยู่  ที่เห็นชัดที่สุดคือผลของพิธีกรรมในการประคับประคองจิตใจ โดยปกติเมื่อมีพิธีศพญาติมิตรแขกเหรื่อหรือคนในชุมชนก็มาให้กำลังใจและมาแสดงความเคารพต่อผู้วายชนม์ ช่วยปลอบประโลมญาติผู้วายชนม์ที่กำลังเผชิญความโศกเศร้า    มีความสำคัญเพื่อสร้างการรวมกลุ่มกันของผู้คน ซึ่งไม่สามารถทำได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ขั้นตอนทุกอย่างของพิธีกรรมถูกยกเลิกไป ตั้งแต่การบำเพ็ญกุศล การรดน้ำศพ การร่ำลา การรำลึกถึงผู้ตายถูกระงับ การเห็นศพเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งตามคติของพุทธศาสนิกชน สิ่งเหล่านี้มีนัยของการเตรียมส่งผู้ตายไปโลกหน้าอย่างปลอดโปร่ง สดสะอาด เป็นการชำระสิ่งที่ไม่ดีออกไป ถือเป็นพิธีกรรมเชิงศักดิ์สิทธิ์ เมื่อไม่สามารถเข้าร่วมหรือจัดได้ ก็จะส่งผลกระทบทางจิตใจ

ส่วนของชาวมุสลิม การจัดการศพประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก คือการอาบน้ำศพ ซึ่งในคติชาวมุสลิมหมายถึง ญาติพี่น้อง ผ็นำชุมชน ผู้อาวุโส จะได้มารวมกันเพื่อประกอบพิธี เพื่อเตรียมผู้ตายให้ไปพบกับพระเจ้า ขั้นตอนที่สอง คือการห่อศพด้วยผ้าขาว ขั้นตอนต่อมา ขั้นตอนที่สาม คือการร่วมกันละมาดศพ ซึ่งเป็นการร่วมกันของภาคชุมชน ในการบำเพ็ญกุศล และเป็นกำลังใจต่อญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าว โดยเฉพาะสองขั้นตอนแรก มีความจะเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลด ละ เลิก เพื่อลดการสัมผัสกับศพ แต่ในบางชุมชน ยังถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เนื่องจากเป็นความเชื่ออันพึงเคารพ และการให้เกียรติต่อผู้ตาย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการคำนึงถึงความสมดุล ระหว่างธรรมเนียมปฏิบัติ และข้อพึงปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย

ปัจจุบัน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ก็ได้ยกเลิกพิธีกรรมขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ต่อมาในส่วนของขั้นตอนที่สี่คือการนำศพไปฝัง เห็นว่าส่วนสำคัญของพิธีกรรมถูกตัดออกทั้งหมด ข้อมูลล่าสุดที่ได้ทราบมาคือ เพื่อที่จะให้เกียรติผู้ตาย และยังคงธรรมเนียมของชาวมุสลิมให้ได้มากที่สุด จะมีการขอให้แพทย์ที่เป็นชาวมุสลิม มาสวดละมาดให้ศพเป็นครั้งสุดท้ายก่อนนำบรรจุใส่ถุง และเนื่องจากญาติจะไม่สามารถร่วมพิธี และเยี่ยมเยียนศพเป็นครั้งสุดท้ายได้ จึงมีการนำศพใส่รถ แล้วขับผ่านบ้านญาติเพื่อให้ได้กล่าวร่ำลา สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการหรับเปลี่ยนพิธีกรรม ซึ่งเดิมมีความหมายในแง่การรวมตัวเชิงสังคมออก แล้วสร้างสมดุลให้เข้ากับนโยการเว้นระยะห่างทางสังคมที่พังปฏิบัติในยุคปัจจุบัน

หากมองไปที่หลักการปฏิบัติที่ทั่วโลกกำลังยึดถือ จะมีคำแนะนำให้ศพโควิดถูกทำให้หายไปด้วยวิธีการเผา ซึ่งในความเป็นจริงจะเกิดความขัดแย้งทางความเชื่อกับผู้ถือศาสนาบางกลุ่ม ที่มีความเชื่อเรื่องการจัดการกับศพแตกต่างกันไป หากเป็นชาวพุทธอาจจะไม่มีปัญหาดังกล่าว เนื่องจากชาวพุทธนิยมการเผาศพเป็นธรรมเนียมอยู่แล้ว ในขณะที่ในศาสนาอิสลาม การทำให้ศพหายไปด้วยวิธีการเผาเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยข้อจำกัดประการใดก็ตาม กรณีศพโควิดสำหรับชาวมุสลิมจะเห็นการหดตัว เพื่อความกระชับของพิธีกรรมในแต่ละขั้นตอน แต่การฝังนั้นยังคงยึดถือเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศที่มีประชากรมุสลิมเยอะที่สุดในโลกประเทศอินโดนีเซีย เคยมีการออกกฎให้จัดการกับศพโควิดด้วยวิธีการเผา แต่ต่อมาต้องมีการยกเลิกกฎเนื่องจากไม่สอดคล้องกับความเชื่อ หรือแม้กระทั่งในกัมพูชา ที่ประชากรเพียง 2-3% เท่านั้นที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้ออกกฎให้จัดการศพด้วยวิธีการเผา ก็ต้องมีการยกเว้นกฎเพื่อรองรับประชากรซึ่งเป็นชาวมุสลิม

บุคลากรในห่วงโซ่การจัดการศพที่ถูกมองข้าม

แม้ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการจัดการกับโรคติดต่อมาบ้างแล้วในอดีต แต่โควิดก็ได้แสดงให้เห็นปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น หากพูดกันตามข้อมูล คิดว่าการจัดการศพกับอัตราการตายจากโควิดในประเทศไทยไม่ได้เกินขีดความสามารถในการจัดการ หากย้อนไปประเทศไทยเคยมีประวัติศาสตร์การจัดการกับการตายพร้อมกันเป็นจำนวนมาก (mass fatality) ในช่วงเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งมีคนตายรวมบุคคลสูญหายในหลักหมื่นคน จากการลงพื้นที่ไปศึกษาเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ทำให้ทราบว่าสถานการณ์ตอนนั้นวุ่นวาย ภาพที่เห็นคือมีการเก็บกู้ศพใต้ซากปรักหักพัง มีตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเต็มไปด้วยศพวางเรียงยาวในหลายจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย ในตอนนั้นก็ได้มีการออกมาสนับสนุนให้จัดทำแผนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งขึ้นและในปริมาณที่มากขึ้น

เมื่อกลับมามองกรณีของโควิด แนวทางปฏิบัติที่มีอยู่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรัดกุมมากขึ้น เนื่องจากเป็นศพความเสี่ยงสูงอย่างที่กล่าวไปแล้ว โดยในส่วนของการจัดการศพเป็นหน้าที่หลักของ 3-4 ภาคส่วนสำคัญ หนึ่งคือรัฐบาลในแง่ของการออกนโยบายและการบริหารจัดการในภาพรวม ถัดมาคือภาคส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กทม. หรือเขตต่าง ๆ สามคือภาคเอกชนหรือธุรกิจการจัดการศพ และรายย่อยต่าง ๆ และสุดท้ายคือชุมชนที่ออกมาลงขัน ช่วยเหลือ ให้การจัดการดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร กู้ภัยต่าง ๆ เป็นต้น

อาสาสมัครกู้ภัย บุคลากรที่ทำหน้าที่ขนศพ ไปจนถึงสัปเหร่อ ต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงโดยไม่ได้มีหลักปฏิบัติหรือข้อแนะนำที่ทันสถานการณ์  เนื่องจากข้อปฏิบัติที่มีครอบคลุมเฉพาะบุคลากรทางสาธารณะสุขเท่านั้น ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ต้องดูแลตัวเอง ไม่ได้มีมาตรการที่เจาะจงเพื่อลดความเสี่ยงหรือช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าว เช่นสัปเหร่อเองก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ายังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมองข้ามในเชิงมาตรการ ไม่ได้เห็นวงจรและตัวแสดงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศพ เพราะฉะนั้น ความรู้ อุปกรณ์ ไปจนถึงการเทรนนิ่งต่าง ๆ ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะให้ความมั่นใจ และส่งผลให้ระบบการจัดการศพเป็นไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และการกระจายวัคซีนต้องไม่หลงลืมกลุ่มคนนี้ ขณะที่แนวทางปฏิบัติต้องไม่ใช่เป็นเพียงแค่หน้ากระดาษ แต่ต้องให้สามารถให้เขาเรียนรู้ เพื่อให้ปฏิบัติงานหน้างานได้อย่างราบรื่น ในปัจจุบันก็มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายกันเองเพื่อให้ความรู้ และรับงบประมาณสนับสนุนจากการบริจาค รัฐต้องให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้มากขึ้น ตั้งแต่เชิงนโยบาย ไม่จนถึงเรื่องของงบประมาณด้านอุปกรณ์ เพราะการจัดการศพที่ไม่ดี ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางจิตใจต่อญาติ แต่ยังส่งผลถึงความปลอดภัยต่อสังคมและความสงบสุขของคนในสังคมอีกด้วย

บทบาทของสัปเหร่อที่เปลี่ยนแปลงไป

ในอดีต หากจินตนาการภาพของสัปเหร่อ เราอาจนึกถึงอาชีพที่ส่งต่อในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น มีบุคลิกเฉพาะ แต่ปัจจุบันสัปเหร่อมีความเป็นอาชีพมากขึ้น และไม่ได้จัดการศพด้วยแนวคิดของคาถาอาคมอีกแล้ว ตามความเชื่อว่าเป็นปราม ปราบ ให้ศพอยู่ในแบบที่เราต้องการ แต่เป็นการจัดการศพที่ไม่ได้ใช้คาถา น้ำมนต์หรือมีดหมออะไร มีเพียงแต่ใจที่ตั้งจิตเพื่อบอกกับร่างนั้นว่า สิ่งที่ทำอยู่ก็เพื่อมาช่วยร่างนั้น ๆ เพราะฉะนั้นด้วยเจกขติหรือทัศนคติแบบใหม่ที่เกิดขึ้น สัปเหร่อปรับตัวเองให้มีความทันยุค ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง

เมืองในที่นี่หมายถึงการให้ความสำคัญกับจัดการอย่างเป็นระบบและตรวจสอบได้ สัปเหร่อก็จะมีการจัดการพิธีศพอย่างสะอาด ปลอดภัยต่อชุมชนโดยรอบ มีการใส่เครื่องแบบในการปฏิบัติงาน และถูกเรียกใหม่ว่า เจ้าหน้าที่ประจำศาลา  ซึ่งเราได้เห็นแนวทางการพัฒนาเหล่านี้มากขึ้นในประเทศไทย แต่หากเทียบแล้ว ต้องยอมรับว่าเรื่องจากการจัดการศพในสังคมไทย เป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการเหลียวแล และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการจัดการหลังความตายต่ำมาก แม้กระทั่งสัปเหร่อในเขตเมืองที่มีความเจริญสูง ก็ยังต้องประยุกต์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ขึ้นมาเอง แตกต่างจากรูปแบบการรักษาศพและการจัดการศพในต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการศพ ยึดถือการรักษาสภาพศพให้ใกล้เคียงกับคนมีชีวิตมากที่สุด ผ่านกระบวนการอันซับซ้อนและเป็นมาตรฐาน แต่เราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง และเริ่มความเป็นธุรกิจเข้ามามากขึ้นสำหรับการจัดการศพในประเทศไทย

เมรุแตก

เพิ่งมีข่าวเมรุ จริง ๆ แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวน หากเปรียบเทียบจากข้อมูล ยกตัวอย่างกรณีวัดชลประทานรังสฤษดิ์ แต่ละปีเผาศพประมาณ 700-800 ศพ เฉลี่ยเดือนละประมาณ 60-70 ศพ จะเห็นว่าในประเทศไทยมีวัดอยู่เยอะมาก และแทบทุกวัดมีเมรุสำหรับการเผาศพ แสดงให้เห็นว่าจำนวนการตายในปัจจุบันไม่ได้เกินศักยภาพในการรองรับเชิงจำนวน แต่ปัญหาอยู่ที่ stigma (ตราบาป) ทางสังคม ทำให้วัดมีความกังวลใจในการรับเผาศพโควิด เจ้าหน้าที่ของวัดเอง รวมไปถึงความสัมพันธ์ของวัดและชุมชน ทำให้วัดที่มีอยู่รับเผาศพโควิดเพียงไม่กี่วัดเท่านั้น ทำให้วัดที่รับเผาศพต้องรับบทหนัก

การสื่อสารทำความเข้าใจกับคนในสังคมจะเป็นแนวทางแก้ไขสำคัญ ในยุคสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความตื่นตระหนก ความกลัว ไม่จนถึงข่าวปลอมที่แพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งไม่เป็นผลดี การสื่อสารที่สร้างความไว้วางใจ สร้างความเชื่อถืออย่างจริงจังในระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการสื่อสารแบบลูบหน้าปะจมูกไปที แต่จะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในการจัดการเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ชุมชนเข้าใจจากการอ้างอิงหลักฐานว่า เชื้อโควิดจะตายที่อุณหภูมิไม่เกินช่วง 100 องศาเซลเซียส แต่เตาเผาศพมีอูณหภูมิสูงถึง 800-1,000 องศาเซลเซียส เพื่อให้เข้าใจว่าเชื้อจะถูกกำจัดไปกับร่างที่ถูกเผา ซึ่งเราเริ่มเห็นการพยายามสื่อสาร เช่นวัดที่อยู่ในความดูแลของกองทัพ ก็เริ่มมีการสื่อสารจนทำให้วัดหลาย ๆ แห่งในความดูแลรับเผาศพโควิด เพื่อแบ่งเบาภาระมากขึ้น โดยหวังว่าวัดที่กำลังรับความท้าทาย และทดสอบโดยความกลัว ในสังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว จะสามารถร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยในปัจจุบัน 3 คำ ที่ได้จากการสัมภาษณ์ซึ่งสะท้อนบอกความรู้สึกของสัปเหร่อผู้ปฏิบัติงานในวัดที่ได้รับภาระหนัก คือ กลัว เหนื่อย และ เครียด กลัวเลยคือกลัวการติดเชื้อ กลัวความไม่แน่นอนของศพที่กำลังจัดการ เหนื่อยเนื่องจากคนทำงานด้านนี้ไม่ได้มีเยอะ และวัดแต่ละวัดก็กำลังรับภาระหนัก ซึ่งจากทั้งความกลัวและความเหนื่อยจึงนำมาซึ่งความเครียด

ภาพโดย เดลินิวส์

แนวคิดการจัดการศพที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด

พิธีกรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดการหลังความตาย พบได้ทั่วไปอยู่ 2 ลักษณะ คือ พิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งมีบทบาทสำคัญมาก และพิธีกรรมลักษณะที่ 2 ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งประเทศไทย คือพิธีกรรมทางเลือก เช่น การทำศพเป็นปุ๋ย เป็นต้น แต่จะอย่างไรหลักสำคัญที่ทั่วโลกยึดถือปฏิบัติในการจัดการกับร่างหรือศพ ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์การระบาดของโรคคือ ร่างของผู้วายชนม์ต้องได้รับการปฏิบัติและดูแลด้วยความเคารพ ความเคารพหมายถึงเคารพในตัวตนและสิ่งที่เขายึดถือในสมัยที่ยังมีชีวิต รวมไปถึงความเชื่อทุกอย่างที่เกี่ยวข้องพึงต้องได้รับการปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นโดยหลักการแล้วไม่ว่าศพจะเป็นเพศใด วัฒนธรรมหรือศาสนาใด ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ ให้เกียรติ ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี ถึงแม้ศพจะไม่มีคุณประโยชน์ใด ๆ ในทางสังคมแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ในสถานการณ์ทั่วไป การจัดการศพแบ่งเป็น 4 ช่วงสำคัญ ช่วงเวลาที่หนึ่ง เป็นการจัดการศพหลังเสียชีวิต ตั้งแต่เพิ่งหมดลมหายใจจนภายในไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง หากอ้างอิงในสังคมไทย ร่างจะต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนด้วยการทำความสะอาดและการรักษาสภาพศพ เมื่อผู้เสียชีวิตจากไปโดยธรรมชาติ เช่นหากเสียชีวิตในโรงพยาบาล ก็จะทำความสะอาดร่างของผู้ตายก่อน หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการรักษาสภาพศพ หมายถึงการนำศพไปผ่านกระบวนการเชิงเทคนิคบางอย่าง เช่นใช้สารเคมีหรือวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อหยุดยั้งการเน่าเปื่อย และย่อยสลายของศพ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่สำคัญเนื่องจากพิธีกรรมส่วนใหญ่อาศัยเวลา หากศพอยู่ในสภาพที่เน่าเปื่อยจะไม่เอื้อต่อการประกอบพิธีกรรม

แต่กรณีที่พบศพหลังเสียชีวิตล่วงเลยเป็นระยะเวลานาน เป็นการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ เช่นจากอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม ก็จะต้องรักษาสภาพศพหลังจากที่ได้รับการชันสูตรพลิกศพไปแล้ว และการรักษาสภาพก็จะทำได้ยากขึ้น หรือหากพบศพช้า ศพได้เน่าเปื่อยไปแล้ว การรักษาสภาพศพก็จะไม่เกิดผล โดยสองประการนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่มีการปฏิบัติในช่วงแรกหลังผู้ตายได้จากไป

ช่วงเวลาที่สองเป็นช่วงที่สำคัญมาก คือการนำศพไปประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ หรือตามที่ผู้วายชนม์ได้สั่งเสียไว้ ขั้นตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลามหรือศาสนาอื่น ๆ ทุกศาสนาล้วนมีพิธีกรรมในขั้นตอนนี้คล้ายคลึงกัน เริ่มด้วยการรดน้ำศพ หรือหากเป็นอิสลามจะเรียกว่าการอาบน้ำศพ หลังจากนั้นก็จะเป็นการบรรจุศพลงโลงแล้วนำไปตั้งสวด หรือบำเพ็ญกุศลตามประเพณี หรือธรรมเนียมนิยม

ช่วงเวลาที่สามคือขั้นตอนการทำให้ศพหายไป ปัจจุบันนิยมใช้ 2 วิธี คือการเผาและการฝัง ขึ้นอยู่กับความเชื่อทางศาสนาเช่นพุทธและฮินดูจะเผา คริสต์มักจะเลือกฝัง และส่วนชาวมุสลิมจะเป็นการฝัง หลังจากพิธีกรรมทั้งสามช่วงแล้วจะเข้าสู่ช่วงสุดท้ายคือการระลึกถึงผู้วายชนม์ หากเป็นในสังคมไทยก็จะเห็นตัวอย่างการทำบุญร้อยวัน เป็นต้น.

ทั้งหมดที่เล่ามาจะเห็นได้ชัดว่าการจัดการศพในสังคมไทยมีขั้นตอน รายละเอียด ที่ล้วนต้องกระทำผ่านเวลาและพื้นที่บางลักษณะ  

ขั้นตอนการจัดการศพในสถานการณ์โควิด

ร่างที่เสียชีวิตจากโควิด-19 จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษและได้รับการจัดการที่มีเอกภาพ ด้วยสาเหตุหลายประการ ประการแรก เราต้องยอมรับว่าศพโควิดคือศพอันตราย เป็นศพจากโรคติดต่อร้ายแรงและสามารถที่จะแพร่เชื้อต่อไปได้ ประการที่สองเป็นสาเหตุต่อเนื่องจากประการที่หนึ่งคือเมื่อเป็นศพอันตรายจึงจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรัดกุม และรักษามาตรการป้องกันเพื่อความปลอดภัยต่าง ๆ ในขั้นสูงสุด นั่นหมายถึงต้องลดการสัมผัสกับศพ อย่างไรก็ตาม แม้ศพวิดถือเป็นศพที่เกิดจากการเสียชีวิตของโรคติดต่อร้ายแรง แต่การศึกษาในปัจจุบันยังชี้ให้เห็นว่า การแพร่เชื้อผ่านศพมีโอกาสน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มี จึงต้องถือหลักการปลอดภัยไว้ก่อน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มนุษย์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการศพที่เสียชีวิตด้วยโรคระบาด ในประวัติศาสตร์มีหลายเหตุการณ์ เช่น ศพจากเชื้อเอชไอวี ศพโรคเมอร์ส (MERs) และโรคซาร์ส (SARs) เป็นต้น จึงทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการศพโรคระบาดอยู่ในระดับหนึ่ง ทำให้มีในส่วนของวิธีปฏิบัติการจัดการศพอันตรายเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่

ประการที่สาม เนื่องจากการเป็นศพอันตราย ที่ต้องอาศัยการดำเนินการอย่างรัดกุม ทำให้มีเงื่อนไขของเวลาเข้ามาตัวแปรสำคัญที่แบบการจัดการของศพ ซึ่งการจัดการกับศพโควิด จะต้องทำให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง หรือจัดการให้เร็วที่ศพ ทำให้ไม่มีขั้นตอนตรงกลางระหว่างจุดที่เกิดการเสียชีวิต ไปจนการทำให้ศพหายไปเลย ซึ่งเกิดขึ้นเร็วมาก ทำให้เกิดการบีบคั้น

ประการที่สี่ คือเงื่อนไขด้านจำนวน หรือปริมาณ แต่ถ้าพูดในกรณีของสังคมไทยแล้ว ณ จุด ๆ นี้ ถึงแม้ว่าการตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากลัวในแต่ละวัน และการเสียชีวิตที่มากับโรควิด เป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว และมีความหน้าโศกเศร้า และมี stigma ที่เกิดขึ้นแฝงอยู่หลายประการ แต่จำนวนในประเทศไทยนั้น ยังอยู่ในจุดที่ยังสามารถจัดการได้

เงื่อนไขประการที่ห้า คือเรื่องของความไม่แน่นอน ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเกิดการเสียชีวิตด้วยเหตุอะไรที่ไม่สามารถทราบถึงสาเหตุได้แน่ชัด จู่ ๆ เกิดการเสียชีวิตขึ้น จะถูกตีขลุมรวมว่าเป็นการเสียชีวิตที่มีความเสียงสูง อาจมีความเป็นไปได้ว่าศพเกิดการติดเชื้อไวรัสวิด ซึ่งความก้ำกึ่งตรงนี้ ทำให้สถานการณ์ศพโควิดทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากทำให้เกิดปริมาณที่สูงขึ้น ปัจจุบัน การตายจากการติดเชื้อวิด ยังถูกจำแนกอยู่ในประเภทการตายด้วยโรคธรรมชาติ ซึ่งตามแบบการสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณะสุข และตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว หมายถึงไม่จำเป็นต้องมีขันตอนการชันสูตร

เงื่อนไขประการที่หก สามารถกล่าวได้ว่าการตายด้วยโควิดเป็นการตายที่ส่งผลต่อจิตใจของญาติมิตร ครอบครัว ตลอดจนผู้ใกล้ชิดเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนที่ป่วยด้วยโรคโควิด โดยเฉพาะผู้ป่วยสถานะสีแดง เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา การติดต่อกับญาติพี่น้องแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และในกรณีที่สูญเสียชีวิต การพรากจากกันจึงเป็นการลาจากที่ได้ร่ำลา แม้แต่ศพก็ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมพิธีเผา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการจัดพิธีกรรมทางศพคือการไว้อาลัย การได้เป็นส่วนหนึ่งในพิธี หรือการกระทำอันใดก็แล้วแต่ ที่มีส่วนช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผู้จากไป จากไปอย่างสงบ พิธีที่จัดอยู่เป็นการส่งคนที่เรารักไปสู่สุคติ เป็นการ ระบายความโศกเศร้าของคนที่อยู่ ซึ่งจากปัจจัยทั้งหลายของศพโควิด ทำให้พิธีกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และกระบวนการทั้งหมดถูกบีบคั้นด้วยเวลา ส่งผลให้เกิดเป็นแรงกดดันที่สร้างผลกระทบทางจิตใจแต่ผู้ที่อยู่ต่อไปอย่างมาก

ประการสุดท้าย คือเงื่อนไขในเรื่องของ stigma ซึ่งหมายถึงการที่ผู้คนในสังคมรู้สึกกล่า ซึ่งเป็นความร็สึกที่เข้าใจได้ มีลักษณะคล้ายกับการตายจาก HIV/AIDs ในราว 30 ปีก่อน ซึ่งมี stigma สูง ด้วยเหตุผล 7 ประการที่ได้กล่าวมาจึงทำให้การตายจากโรคโควิดเป็นเรื่องใหญ่ที่อาศัยเอกภาพ และต้องการการดูแลพิเศษ

New Normal และ Next Normal ของการจัดการศพ

โควิดเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเท่านั้น ความจริงประเด็นเหล่านี้มีมาอยู่ก่อนแล้ว อาทิ ความกังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการจัดการศพ ทำให้เกิดตัวเลือกในการจัดการศพที่หลากหลายขึ้น นอกจากการฝังและการเผา เช่น การทำศพเป็นปุ๋ยซึ่งได้รับการอนุมัติแล้วในรัฐแคลิฟอเนียร์ เป็นวิธีการที่เข้ามาปิดจุดโหว่ของมลพิษที่เกิดจากวิธีการฝังและเผาที่ส่งผลต่อมลพิษทางอากาศ และสารเคมีที่ใช้รั่วไหลลงสู่พื้นดิน นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อน green funeral คำนึงถึงความยั่งยืน ตั้งแต่การรักษาสภาพศพที่ไมได้ใช้นำยาเคมี โลงศพผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ และไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ประเด็นที่เริ่มเห็น เป็นที่นิยมและพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนหน้านี้ แต่มีโควิดเข้ามาเป็นตัวเร่ง

นอกจากนี้โควิดยังพิสูจน์ให้เราคำนึงถึงการจัดการศพด้วยทางเลือกอื่น หรือสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าทำไม่ได้ เช่นการใช้โซเชียลมีเดียถ่ายทอดพิธีกรรมแทนการรวมกลุ่มแบบดั้งเดิม ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเยียวยาสภาพจิตและเชื่อมต่อคนในสังคม ในยุคที่การเดินทางไม่สามารถทำได้ จากที่ได้กล่าวมานี้ จึงสามารถสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในพิธีกรรมศพ บทบาทหน้าที่ของวัด ไม่ได้มาเปลี่ยนเนื่องจากโควิด แต่มีมาก่อนแล้ว เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป สิ่งเหล่านี้ก็มีความเปลี่ยนแปลง มันไม่มีอะไรในโลกที่ไม่เปลี่ยนแปลง การจัดการพิธีศพก็เช่นกัน มันไม่สามารถที่จะทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ได้


Contributor