08/02/2022
Insight

เชียงใหม่ เมืองมหาวิทยาลัยในสภาวะส่งออกบัณฑิตแต่ไม่ดึงดูดแรงงาน

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ณัฐชนน ปราบพล
 


เชียงใหม่ถือเป็นเมืองการศึกษา หรือถ้าพูดอีกอย่างคือ การพัฒนาและเติบโตของเมืองทั้งทางกายภาพและเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมากจากการมีมหาวิทยาลัย และคงปฎิเสธไม่ได้ว่า หากเมืองใดได้ชื่อว่าเป็นเมืองการศึกษาอย่างน้อยก็ต้องได้รับผลประโยชน์อย่างน้อย 3 ด้าน (1) การเข้ามาของกลุ่มคนวัยเรียนทั้งที่ย้ายถิ่นเข้ามาเพื่อการเรียนหรือเข้ามาเป็นประชากรแฝง เมืองนั้นล้วนได้พลังงานจากกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้เมืองได้คึกคักและที่ตามมาคือ (2) การคึกคักและเติบโตของเศรษฐกิจในย่านมหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะมีย่านที่เรียกกันเป็นชื่อกลางของย่านมหาวิทยาลัยว่า “ย่านหน้ามอ” หรือ “ย่านหลังมอ” ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ (3) การพัฒนาด้านกายภาพของเมืองทั้งจากการพัฒนาของมหาวิทยาลัยและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทหอพักหรืออพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม ที่ตามมาพร้อมกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตขึ้น

บทความนี้เราจะพาทุกท่านมาสำรวจเมืองเชียงใหม่ ในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาของภาคเหนือ ว่ามีลักษณะและสิ่งที่น่าสนใจและน่าจับตามองอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะคำถามที่ว่า เมืองเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นเมืองการศึกษากำลังตกอยู่ในภาวะสมองไหล ที่ส่งออกบัณฑิตแต่อาจไม่ดึงดูดเเรงงาน หรือไม่

มหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเมือง

มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในสถาบันสำคัญของสังคมปัจจุบัน ทั้งในฐานะแหล่งค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ แหล่งโต้แย้งและถกเถียงแนวคิดเก่า-ใหม่ที่หลากหลาย แหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและธุรกิจ แหล่งสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงแหล่งขับเคลื่อนและผลักดันทางสังคมและการเมือง

บทบาทของมหาวิทยาลัยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเป็นแหล่งความรู้เท่านั้น ด้วยจำนวนนักศึกษาและบุคลากรที่มีอยู่มาก และงบประมาณที่มีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้งบประมาณสนับสนุนปี 2563 จากรัฐบาลกว่า 5.5 พันล้านบาท ซึ่งมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ มหาวิทยาลัยจึงมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น สังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยไหน พื้นที่รอบมหาวิทยาลัยก็มักมีหอพัก ร้านค้า และร้านกินดื่มรูปแบบต่างๆ มีนักศึกษาเดินขวักไขว่ไปมาอยู่ทั่วไป จึงคึกคักและมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ

มหาวิทยาลัยยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองโดยรวม ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยและพื้นที่เมืองอื่นๆ ผลกระทบเหล่านี้ยิ่งปรากฏชัดเจนในเมืองหลักและเมืองรองในภูมิภาค ซึ่งมักมีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่หลายแห่ง จำนวนนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยคิดเป็นสัดส่วนสำคัญของประชากรเมือง นับตั้งแต่เมืองโคราช (13%) สงขลา-หาดใหญ่ (15%) เชียงใหม่ (16%) และขอนแก่น (20%) ไปจนถึงเมืองมหาสารคามที่ได้ชื่อว่าเป็นตักศิลานคร (45%) (อภิวัฒน์ รัตนวราหะ, 2564)

การเรียกร้อง การมีอยู่ และการเป็นศูนย์กลางการศึกษาของเมืองเชียงใหม่

เมืองเชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในหลายๆ เมืองที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองการศึกษา หากแต่การได้มาซึ่ง เมืองการศึกษาระดับภาคเหนือของไทยนี้ มิได้เกิดขึ้นมาโดยเรียบง่าย หากแต่ผ่านการเรียกร้องของประชาชนทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นขึ้น

“เราต้องการมหาวิทยาลัยประจำลานนาไทย”
“เพื่อศักดิ์ศรีของคนเมือง เราต้องมีมหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย”
“จงสู้จนสุดใจขาดดิ้น เพื่อมหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย”

นี่เป็นถ้อยคำที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ จนนำมาซึ่งการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งของประเทศไทยที่เชียงใหม่ ซึ่งคือการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน พ.ศ.2507 แต่ความจริงแล้วก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เมืองเชียงใหม่มีสถาบันการศึกษาที่สำคัญอยู่ก่อนแล้ว 2 แห่ง คือ โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ (และได้รับการยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2547) และ วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ เป็นสถาบันการศึกษาวิชาชีพประจำภาค สังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (และได้รับการยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ใน พ.ศ. 2548)

นอกจากนี้เมืองเชียงใหม่ยังมีสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอีกหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยพายัพ (ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2517) ซึ่งถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่ถูกเปลี่ยนประเภทจากวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันในเมืองเชียงใหม่ มีมหาวิทยาลัย จำนวน 10 แห่ง เเบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
(1) มหาวิทยาลัยของรัฐ 5 แห่ง คือ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา
(2) มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 2 แห่ง คือ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเเม่โจ้
(3) มหาวิทยาลัยเอกชน 3 แห่ง คือ
มหาวิทยาลัยพายัพ
มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น

เชียงใหม่ เมืองตักศิลาสวรรค์ของการเรียนรู้

เนื่องจากเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมากถึง 10 แห่ง ทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาของภาคเหนือ และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ อีกด้วย มหาวิทยาลัยทั้ง 10 แห่งนี้ ให้บริการการศึกษาขั้นสูงแก่นักศึกษากว่า 82,000 คน ครอบคลุมกว่า 480 สาขาวิชาใน 8 กลุ่มศาสตร์ (UNESCO, 2554) ผลิตบัณฑิตป้อนเข้าสูงตลาดแรงงานทักษะสูงเฉลี่ยปีละ 2 หมื่นคน (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 2563) โดยเป็นบัณฑิตจากกลุ่มสังคมศาสตร์ ธุรกิจ และกฎหมาย ในสัดส่วนสูงสุดที่ 32% รองลงมา คือ กลุ่มมนุษยศาสตร์และศิลปะ และกลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรม และโครงสร้าง กลุ่มละ 13% กลุ่มสุขภาพ 12% กลุ่มเกษตรศาสตร์ กลุ่มศึกษาศาสตร์ กลุ่มละ 10% และกลุ่มวิทยาศาสตร์ และกลุ่มการท่องเที่ยวและบริการทั่วไป ด้วยสัดส่วนเพียง 8% และ 3% ตามลำดับ

แต่อยู่ในภาวะสมองไหล ที่ส่งออกบัณฑิตแต่อาจไม่ดึงดูดเเรงงาน

แต่การมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่จำนวนมาก ก็ไม่ได้แปลว่าจะเหนี่ยวรั้งแรงงานทักษะสูงไว้เป็นกำลังขับเคลื่อนเมืองนั้นได้เสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะทำให้บัณฑิตตัดสินใจว่าจะอยู่หรือย้ายออกจากเมืองที่จบการศึกษามา และกรณีของเชียงใหม่ก็พบว่า เมืองกำลังเผชิญภาวะสมองไหลออกสู่เมืองหลวง เพราะรูปแบบเศรษฐกิจและการจ้างงานสวนทางกับปริมาณและคุณสมบัติของบัณฑิตที่ผลิตได้ในแต่ละปี

1) เศรษฐกิจไม่สอดคล้องกลุ่มศาสตร์
เชียงใหม่มีรายได้หลักจาก 3 สาขา คือ เกษตรกรรม การค้าส่งและค้าปลีก และบริการโรงแรมและภัตตาคาร รวมกันมากถึง 42% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งจังหวัด โดยเฉพาะการพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป ทำให้เชียงใหม่รายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวสูงถึง 1 แสนล้านบาท หรือ 40% ของรายได้ทั้งจังหวัด (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2562) แต่มีนักศึกษาในสาขาวิชาจากกลุ่มการท่องเที่ยวและบริการทั่วไปเฉลี่ยต่อปีการศึกษา 2,600 คน เพียง 3% ของนักศึกษาทั้งหมด ขณะเดียวกัน ตำแหน่งงานว่างในภาคบริการการท่องเที่ยวปี 2563 ก็มีเพียง 1,200 ตำแหน่งเท่านั้น หรือไม่ถึงครึ่งของจำนวนนักศึกษาในสาขานี้ เมื่อฐานเศรษฐกิจของเมืองไม่หลากหลายตามสาขาที่เปิดสอน ความหลากหลายของอาชีพในตลาดงานของเชียงใหม่จึงถูกตีกรอบไว้ และมักมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ต่ำ ผลักคนที่ต้องการโอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานออกจากเมือง

2) บัณฑิตเยอะ แต่งานมีน้อย
ปี 2563 มีตำแหน่งงานว่างในจ.เชียงใหม่รวม 16,427 ตำแหน่ง (สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงใหม่, 2564) งานที่ต้องการแรงงานวุฒิป.ตรีขึ้นไปเพียง 2,466 ตำแหน่ง หรือ 15% ของงานทั้งหมด และน้อยกว่าจำนวนบัณฑิตจบใหม่ถึง 9 เท่า สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำสถานการณ์ที่ว่า บัณฑิตจบใหม่ไม่มีงานทำ นอกเสียจากจะอยู่ในสายงานกลุ่มวิชาชีพ เช่น ครู หมอ พยาบาล และตัดสินใจย้ายออกเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีในกว่าในเมืองอื่น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดเป็นภาวะสมองไหลในที่สุด

เมืองการศึกษาต้องเป็นมากกว่าเบ้าหลอมองค์ความรู้ที่ผลิตบัณฑิต

เมื่อมหาวิทยาลัยมีบทบาทอย่างมากต่อกายภาพและเศรษฐกิจของเมือง การวางภาพอนาคตร่วมกันของเมืองและมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นและร่วมกันทำงานอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนาเมืองของมหาวิทยาลัยจึงไม่ควรจบอยู่เพียงแค่พันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคม (university social engagement) แต่มหาวิทยาลัยต้องมองว่าชุมชนและเมืองเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาของมหาวิทยาลัยในระยะยาว มูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยต้องเกิดประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงทางการเงินขององค์กรและในด้านประโยชน์ต่อเมืองและสังคมไปพร้อมกัน (อภิวัฒน์ รัตนวราหะ, 2564) อีกทั้งการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยและเมืองการศึกษาอย่างเมืองเชียงใหม่ ก้าวข้ามจากสถานที่มอบการศึกษาแก่ผู้เรียน สู่การขับเคลื่อนเมืองบนฐานความรู้ เมืองและมหาวิทยาลัยต้องสามารถเป็นพื้นที่ทดลองสำหรับผู้เรียน ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการ เพื่อต่อยอดฐานเศรษฐกิจของเมืองให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีแหล่งงานที่ดีรองรับกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ เกิดการกระจายความเจริญออกสู่เมืองในแต่ละภูมิภาคตามที่คาดหวังได้อย่างแท้จริง

โปรดติดตามบทความของเมืองเชียงใหม่อื่นๆ ได้จากการสังเกตการณ์และเสริมสร้างพฤติกรรมคนเมือง เพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0


Contributor