31/12/2019
Environment
10 ที่สุดข่าวเมืองแห่งปี 2019
นาริฐา โภไคยอนันต์ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
นับถอยหลังสู่ปี 2020 ด้วย 10 ข่าวเกี่ยวกับเมือง ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดแห่งปี 2019 รวบรวมโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CE.US) เป็น 10 ข่าว ที่ครอบคลุมปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง คุณภาพชีวิต ไปจนถึงเรื่องราวดีๆ ในปีสุดท้ายแห่งทศวรรษนี้
1.กรุงเทพฯ เมืองจมฝุ่น 3 ฤดู
ข่าวเมืองแห่งปีคงหนีไม่พ้น ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นเกือบทุกภาคของประเทศ รวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลกระทบกับสุขภาพมากที่สุด เป็นสาเหตุของผลกระทบด้านสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว จากข้อมูล State of Global Air ระบุว่า PM2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประเทศไทยประมาณ 37,500 ราย
โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ย.62 ดัชนีคุณภาพอากาศหรือ AQI ที่จากเว็บไซต์ Airvisaul.com ระบุว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ค่า AQI อยู่ที่ 175 ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 วัดได้ที่ 102.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อันตรายต่อสุขภาพ โดยการจัดอันดับโลก AQI พบว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 พื้นที่ กรุงเทพมหานคร สูงเป็นอันดับสองของโลก
การใช้รถฉีดพ่นละอองน้ำตามพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ของกรุงเทพมหานครและกรมควบคุมมลพิษ มีผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมออกมาชี้แจงว่าไม่สามารถลดฝุ่น PM 2.5 ได้ โดย รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฉีดพ่นละอองน้ำในลักษณะนี้ สามารถช่วยลดฝุ่นละอองในอากาศได้เฉพาะฝุ่นขนาดใหญ่ คือ PM 10 เท่านั้น
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=28500
www.greenpeace.org/thailand/explore/protect/cleanair/pm25-harm/
2. น้ำท่วมเมืองอุบลฯ หนักสุดในรอบ 40 ปี
ข่าวต่อไป น้ำท่วมใหญ่ภาคอีสานและปรากฎการณ์คนร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านช่องทางอื่นนอกจากทางรัฐบาล อย่างคุณ บิณฑ บรรลือฤทธิ์
ด้วยอิทธิพลพายุโซนร้อนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย ในพื้นที่กว่า 32 จังหวัด 179 อำเภอ 932 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 407,069 ครัวเรือน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายบางส่วน 3,818 หลัง มีผู้เสียชีวิต 32 คน
โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 40 ปี อพยพราษฎรกว่า 21,652 คน เดือดร้อนกว่า 159,692 ครัวเรือน อาจารย์สหราช ทวีพงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำภาคอีสาน ระบุว่า สาเหตุของน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี หนักที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปริมาณฝนตกหนักติดต่อกันจนทำให้การระบายน้ำตามธรรมชาติ ไม่สามารถรับได้ สภาพภูมิประเทศที่มีข้อจำกัด ระบบระบายน้ำทั้งธรรมชาติและที่สร้างขึ้นไม่เพียงพอ การพัฒนาผังเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมือง การบริหารจัดการน้ำที่ขาดประสิทธิภาพ ทั้งระบบเตือนภัย การเตรียมการ สั่งการและการบูรณาการหน่วยงานในภาวะวิกฤติ
ทางด้านความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากภัยพิบัติน้ำท่วม รวมพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายทั้งหมดประมาณ 1,000,000 ไร่ โดยประเมินภาพรวมความเสียหายไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท
พร้อมกับปรากฏการณ์ระดมความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมอย่าง “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ที่ได้เปิดบัญชีรับบริจาคช่วยพี่น้อง ประชาชนที่ประสบอุทกภัยรวมเอง รวมแล้วได้เงินกว่า 422 ล้านบาท ท่ามกลางความคิดเห็นประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการของภาครัฐต่อวิกฤตนํ้าท่วมที่เกิดขึ้น
https://news.thaipbs.or.th/content/284206
https://www.bbc.com/thai/thailand-49725101
3. คลอดผังเมืองรวมฉบับใหม่
ในปี 2562 ประเด็นของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฯยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้อยู่อาศัยในเขตพื้นที่กรุงเทพเป็นอย่างมาก
จากสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นเมืองชั้นนำในด้านเศรษฐกิจภาคบริการ มีความปลอดภัย สวยงาม สะดวกสบาย น่าอยู่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเอกลักษณ์เฉพาะ กรุงเทพมหานคร จึงต้องจัดทำร่างผังเมือง (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและบริหารจัดการเมืองให้ก้าวสู่การเป็นมหานครแห่งเอเชีย และเป็นเมืองสร้างสุขในปี 2580
ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2563 ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง คน และแหล่งงาน ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2580 ซึ่งได้กำหนดการพัฒนาศูนย์กลางพาณิชย-กรรม และที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากไว้ในเขตถนนวงแหวนรัชดาภิเษก และพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และหนาแน่นน้อย ในพื้นที่ระหว่างถนนวงแหวนรัชดาภิเษก และถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ประกอบกับการพัฒนาเมืองบริวารและสงวนรักษาพื้นที่ชนบท และเกษตรกรรมในพื้นที่นอกเขตวงแหวนกาญจนา-ภิเษก และถนนวงแหวนรอบที่ 3 โดยในร่างผังเมืองรวม กทม. ได้จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 9 ประเภทหลัก 30 ประเภทย่อย ซึ่งจะส่งผลให้กรุงเทพฯ มีการพัฒนาในลักษณะที่เป็นเมืองกระชับ (Compact City) โดยส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวน ประชากร การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน
4.สะพานด้วนไม่ด้วนแล้ว
นับเป็นข่าวดีของเมืองเมื่อกรุงเทพมหานครประกาศเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้ผู้ชนะการประกวดราคาโครงการจัดสร้างพื้นที่สีเขียวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศ และเตรียมเดินหน้าโครงการในนาม “พระปกเกล้าสกายปาร์ค” กระทั่งโครงการมีความคืบหน้าเป็นลำดับตลอดปีที่ผ่านมา ล่าสุด พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศเปิดใช้งาน 15 พ.ค. 63 หลังโครงการคืบหน้าแล้วกว่า 62%
“พระปกเกล้าสกายปาร์ค” เป็นหนึ่งโครงการฟื้นฟูเมืองนำร่องที่มีศักยภาพในโครงการกรุงเทพฯ 250 ระยะที่ 1 – 2 (ธ.ค. 2557 – ก.ค. 2559) เป็นต้นแบบโครงการพัฒนาเมืองแบบไร้รอยต่อระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น และชุมชน นำมาซึ่งแนวคิดหลักจากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน นั่นคือ การปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินอายุกว่า 30 ปี หรือ “สะพานด้วน” ซึ่งถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ออกแบบเป็นทางเดิน-จักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นพื้นทีสีเขียวระดับเมืองที่มีประโยชน์ต่อชุมชนและเมือง
โครงการพระปกเกล้าสกายปาร์คจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้เลย หากขาดความร่วมมือระหว่างสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร UddC-CEUS LandProcess ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปัตยกรรม N7A ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม ตลอดจน กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เรียกว่าเป็นโครงการจากความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
5. โครงข่ายรถไฟฟ้าคืบหน้าหลายเส้นทาง
คนเมืองมีเฮ ปีนี้เป็นปีที่ความคืบหน้าของระบบขนส่งทางรางในเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร เด่นชัดมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การเปิด 4 สถานีที่สวยงามที่สุดอย่าง สถานีวัดมังกร อิสรภาพ สามยอด และส่งท้ายปีด้วยกระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ จากสถานีบางโพ-สถานีสิรินธร จำนวน 4 สถานี ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.62 ที่ผ่านมา และจะเปิดให้ทดลองใช้เพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางยี่ขัน สถานีบางขุนนนท์ สถานีไฟฉาย และสถานีจรัญฯ 13 รวมเป็น 8 สถานี คือ จากสถานีบางโพ-สถานีจรัญฯ 13
ส่วนสายสีเขียว บีทีเอส เดินรถ ถึง สถานีม.เกษตร หรือ ตั้งแต่ สถานีพหลโยธิน 24 (N10) (ต่อจากสถานี ห้าแยกลาดพร้าว) สถานีรัชโยธิน(N11) สถานีเสนานิคม (N12) และ สถานีม.เกษตร (N13)
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม รฟม. และ BEM ได้เตรียมพร้อมจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบครบทั้งโครงข่ายและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติทั้งเส้นทาง ในวันที่ 30 มี.ค.63 เป็นต้นไป
มื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดให้บริการอย่างเต็มโครงข่ายแล้วจะมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 48 กิโลเมตร จำนวน 38 สถานี และมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม (Interchange Station) เชื่อมต่อเส้นทางเป็นโครงข่ายวงกลมที่ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครและเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีจุดที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางราง ทางบก และทางน้ำในเขตเมือง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
https://www.ryt9.com/s/iq05/3079966
https://www.thansettakij.com/content/416038
6. อินโดฟนีเซียประกาศย้ายเมืองหลวง
กระแสโลกร้อนและน้ำท่วมเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรุงจาการ์ตาในประเทศอินโดนีเซีย คือเมืองอันดับ 1 ที่เสี่ยงน้ำท่วม จึงมีแผนการย้ายเมืองหลวงโดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโดแห่งอินโดนีเซีย แถลงเมื่อ 26 ส.ค.ว่าจะย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา บนเกาะชวาไปที่ จ.กาลิมันตันตะวันออกในเกาะบอร์เนียว เมืองหลวงใหม่จะตั้งอยู่ระหว่างเขตเปนาแจม ปาเซอร์ กับคูไต-เคอร์ทาเนการา ซึ่งรัฐบาลมีที่ดินอยู่ราว 1,250,000 ไร่ และมีความเสี่ยงเกิดภัยธรรมชาติน้อย คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 466 ล้านล้านรูเปีย (1 ล้านล้านบาท)
จาการ์ตามีประชากรกว่า 10 ล้านคน แต่ถ้ารวมเมืองบริวาร มีประชากรถึง 30 ล้านคน และเผชิญปัญหาการจราจรแออัด มลภาวะ เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวและน้ำท่วม
ในขณะที่กรุงเทพมหานครอยู่อันดับ 5 รองศาสตราจารย์ ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำตอบว่า ถึงแม้ว่าน้ำแข็งจะละลายจริง ทำให้ระดับน้ำทะเลในไทยสูงขึ้นเฉลี่ย 4 มิลลิเมตร/ปี แต่ก็คงไม่ได้อยู่ในสถานะของเหลวอยู่ตลอด เพราะถ้าเทียบกับน้ำบนผิวดิน ซึ่งระเหยวันละ 3 เซนติเมตร/วัน ตัวเลขทั้งสองค่านี้มันแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนไทยกลัวกันว่า สักวันหนึ่งกรุงเทพฯ จะจมน้ำเพราะน้ำแข็งละลายอาจจะไม่ได้มีผลกระทบมากขนาดนั้น
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวอยู่กับน้ำจึงเป็นทางออกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยเฉพาะการหวนกลับมาหาระบบคลองที่เคยมีมากในกรุงเทพฯ
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1646555
7. นโยบายเมืองในเลือกตั้งใหญ่
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นับเป็นปรากฎการณ์ที่ได้รับการจับตาสูงสุดในปี 2563 เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปีของคนไทย และเป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองออกนโยบายเกี่ยวกับเมืองมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่นพรรคประชาธิปัตย์เน้นไปที่การพัฒนาระบบรางและถนนให้ครอบคลุมไปทั่วประเทศตามแผนแม่บทที่เคยวางไว้ พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองด้วยระบบ Feeder (ระบบอื่นป้อนผู้โดยสารไปที่ระบบราง) และการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการระบบขนส่งสาธารณะ ขณะที่พรรคอนาคตใหม่เสนอให้มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เคยซ้ำซ้อนกัน ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่ฉีกไปทางการส่งเสริมเศรษฐกิจแบ่งปัน (โมเดลธุรกิจแบบ Grab) และการส่งเสริมให้ทำงานที่บ้าน
8. รัฐบาลกระตุ้นสร้างถนนคนเดินทั่วไทย
ก่อนส่งท้ายปี รัฐบาลออกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างกรุงเทพมหานครจัดถนนคนเดิน สีลม เยาวราช และข้าวสาร จำหน่ายสินค้า อาหาร พร้อมชมการแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรม เริ่ม 15 ธันวาคม 2562 เช่นเดียวกับในหลายเมืองทั่วประเทศไทย ที่ขานรับนโยบายถนนคนเดิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เพิ่งเปิดไปพร้อมกันเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562
นอกจากนี้ ในส่วนกรุงเทพมหานคร นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เสนอกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ หากจุดใดมีศักยภาพสามารถดำเนินการได้ให้ทยอยจัดกิจกรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2563
https://www.komchadluek.net/news/regional/401216
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3235909
9. ทิ้งขยะในเมืองสะเทือนถึงมหาสมุทร
การจากไปของ “มาเรียม” พะยูนน้อยวัย 9 เดือน ขวัญใจของคนไทย สะท้อนให้เห็นความตระหนักต่อ “วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย”และ “ปัญหาขยะพลาสติก” ได้อย่างชัดเจน
ปัจจุบัน พลาสติกกว่าร้อยละ 90 ที่ถูกผลิตขึ้นไม่ได้ถูกนำกลับไปใช้ใหม่ และกลายเป็นสิ่งตกค้างในสิ่งแวดล้อม เฉพาะในมหาสมุทรเองมีขยะถูกทิ้งปีละกว่า 8 ล้านตัน หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทรอาจมากกว่าปลาภายในปี 2593
ประเทศไทยเองมีขยะในทะเลมากกว่า 11.47 ล้านตัน สูงสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก กว่าครึ่งเป็นขยะพลาสติก ที่น่ากังวลก็คือขยะกว่า 80% มาจากเมือง
แหล่งที่มาของขยะทะเลเกิดจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง ท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด และจากกิจกรรมในทะเล เช่น การขนส่งทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น
ถ้าจะบอกว่าปีที่ผ่านมา “มาเรียม” ช่วยสร้างกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดเลิกใช้ถุงพลาสติกแก้ปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อนได้รับการตอบรับในวงกว้างมากขึ้น คงไม่ผิดนัก
วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อกว่า 40 เจ้าทั่วประเทศ ประกาศงดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนในปี 2563 หากแคมเปญ “งดให้ งดรับ” นำมาใช้ในปี 2563 อย่างจริงจัง คาดว่า จะลดถุงพลาสติกได้ถึง 9,000 ล้านใบต่อปี หรือคิดเป็น 20% ของขยะถุงพลาสติกทั้งหมด
https://mgronline.com/daily/detail/9620000080616
https://www.thaipost.net/main/detail/17790
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/857225
10. ทางเดิน-ทางจักรยานริมน้ำ 14 กม. ส่งสัญญาณกำลังกลับมา
หลังมีข่าวว่า กรุงเทพมหานคร พร้อมเดินหน้าสร้างทางเลียบเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร ระยะที่ 1 เริ่มจากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานสามเสน ด้วยงบประมาณ 800 ล้านบาท จากทั้งโครงการ 8,000 ล้านบาท ข่าวดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมให้กับกลุ่มไม่เห็นด้วยอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกแถลงการณ์ “หยุด! ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” เพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สมาคมวิศวกรที่ปรึกษา สมาคมอิโคโมสไทย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งเเวดล้อม (SCONTE) มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินท์ เครือข่ายเพื่อนแม่น้ำ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เครือข่ายมักกะสัน กลุ่มบิ๊กทรีส์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ฯลฯ ด้วยเหตุผลว่า หากปล่อยให้โครงการนี้ดำเนินการต่อไปจะสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมือง จึงขอแถลงจุดยืนเพื่อคัดค้านการดำเนินโครงการ
ด้านกรุงเทพมหานคร นำโดย นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเวทีชวนกลุ่มไม่เห็นด้วยกับโครงการมาร่วมหารือเพื่อหาทางออกและรับฟังข้อเสนอที่จะทำให้โครงการเกิดภาพที่ดีสุด ซึ่งถือเป็นเวทีแรกหลังจากมีการคัดค้านยาวนานกว่า 5 ปี แต่สุดท้ายไม่มีตัวแทนฝ่ายคัดค้านจากกลุ่มสมัชชาแม่น้ำเข้าร่วมแม้แต่คนเดียว
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/856961
https://news.thaipbs.or.th/content/287372
โดย กัญรัตน์ โภไคยอนันต์ ชยากรณ์ กำโชค อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้