09/04/2025
Environment
สวนปูเป้ทำเอง: ปลูกเอง กินเอง แปรรูปเอง จุดเริ่มต้นจากความขี้เกียจสู่พื้นที่สีเขียวกินได้ในบ้าน
The Urbanis

ชีวิตเร่งรีบและทุกอย่างต้องแข่งขันกับเวลา ลองคิดดูว่าคุณใช้เวลาเท่าไรในการออกไปซื้ออาหาร หรือรอสั่งเดลิเวอรี 10 นาที? 30 นาที? หรืออาจถึง 1 ชั่วโมง? แล้วหากเรามีวัตถุดิบพร้อมในบ้าน แค่เดินไปที่ระเบียงก็สามารถเก็บผักมาทำอาหารได้ทันที จะช่วยประหยัดเวลา และทำให้การกินอาหารเป็นเรื่องง่ายขึ้นหรือไม่?
ความขี้เกียจที่ต้องออกไปซื้ออาหารกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ คุณสุพัตรา อุสาหะ หรือ คุณปูเป้ หันมาสนใจการปลูกผักบนระเบียงคอนโดของตัวเอง จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายใหญ่โต แต่กลับนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิต การเรียนรู้ธรรมชาติ และแม้กระทั่งการสร้างรายได้ เกษตรไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
The Urbanis จึงขอชวนชาวเมืองมาคุยกับ คุณสุพัตรา อุสาหะ เจ้าของ “สวนปูเป้ ทำเอง” ผู้เริ่มต้นการปลูกผักกินเองจากความขี้เกียจ แต่กลับค้นพบว่าวิถีเกษตรเล็ก ๆ นี้ ไม่เพียงช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ยังสร้างประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด
จุดเริ่มต้นของสวนเกษตรมาจากความขี้เกียจ?
คุณสุพัตรา อุสาหะ หรือ คุณปูเป้ เล่าว่าการต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงอาบน้ำแต่งตัวเพื่อออกไปข้างนอกในทุกๆวัน ขับรถออกไปฝ่าฟันกับรถติดเพื่อออกไปซื้ออาหาร กว่าจะกลับถึงห้องก็หิวอีกรอบ แต่ถ้าหากมีวัตถุดิบที่พร้อมทำอยู่แล้วตื่นมาเราหิวก็สามารถทำได้เลย ทำให้ไม่จำเป็นต้องออกไปซื้ออาหารบ่อย ๆ จึงเปลี่ยนระเบียงมาเป็นพื้นที่ในการปลูกผัก เริ่มจากการปลูกอะไรง่าย ๆ สิ่งที่ตนเองชอบกิน หรือสิ่งที่กินอยู่เป็นประจำ เช่น กะเพรา หากชอบกินอาหารรสจัดก็ปลูกพริก ความขี้เกียจที่จะอาบน้ำแต่งตัวออกไปข้างนอกทุกวันจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตร

เกษตรในเมืองที่ทุกคนทำได้

คุณปูเป้อาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรในเมือง แต่ก็สามารถปลูกผักได้ “การปลูกผักไม่มีสูตร พื้นที่และปัจจัยของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน” คุณปูเป้ ชี้ให้เห็นว่า การทำเกษตรต้องอาศัยการปฏิบัติ คือ การลงมือทำแล้วเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน บางครั้งการทำเกษตรอาจต้องใช้ความเป็นตัวเอง เพราะผักก็จะปรับตัวไปตามพื้นที่ปลูก เราไม่สามารถกำหนดว่าผักจะเป็นไปตามทฤษฎีเสมอ การปลูกต้นไม้จึงเป็นเรื่องของการสังเกตและปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม หนังสือเป็นการชี้แนะ และคำแนะนำเท่านั้น จำเป็นต้องใช้การเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในการทำเกษตรไปด้วย อย่างไรก็ตามคุณปูเป้จึงไม่มองว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นผู้ลงมือที่เรียนรู้ตัวเองไปกับธรรมชาติของผัก
จากสวนเกษตรบนระเบียงสู่การเป็นที่รู้จักมากขึ้น
คุณปูเป้เริ่มต้นจากการแบ่งปันวิธีการทำอาหารง่าย ๆ ผ่านโพสต์บนเฟซบุ๊ก โดยทำให้ผู้ติดตามรู้สึกว่าการทำอาหารไม่ใช่เรื่องยาก และกระตุ้นให้พวกเขาอยากลองทำเมนูอาหารต่าง ๆ ที่อยากกินในแต่ละวัน เมื่อโพสต์ได้รับความสนใจและการตอบรับที่ดีจากผู้ติดตาม จำนวนผู้ติดตามใหม่ ๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นคุณปูเป้จึงเริ่มเล่าถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักที่ปลูกในพื้นที่จำกัดอย่างระเบียงบ้าน แทนที่จะปลูกบนพื้นดินเหมือนวิธีทั่วไป เนื่องจากไม่ค่อยมีพื้นที่ว่าง วิธีการปลูกผักในพื้นที่จำกัดนี้ยิ่งทำให้ผู้คนสนใจและติดตามมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ คุณปูเป้ยังมีข้อความสำคัญที่อยากสื่อสารกับผู้ติดตามทุกคนเกี่ยวกับการปลูกผัก โดยเฉพาะในช่วงแรกที่อาจไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่หวัง เช่น ผักอาจไม่โตหรือรูปร่างไม่สมบูรณ์ โดยคุณปูเป้ให้คำแนะนำว่า “อย่าไปคิดว่าเราต้องปลูกให้มันออกมาดี คิดแค่ว่าปลูกแล้วได้กิน” การปลูกผักจึงควรค่อย ๆ ทำไปทีละขั้นตอน เพราะผักมีวัฏจักรที่สั้นและไม่เหมือนกับไม้ผล หากไม่ได้นำมารับประทานหรือแปรรูปให้เกิดประโยชน์ ก็ต้องทิ้งไป ดังนั้น การปลูกผักไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ระเบียง กระถางเล็ก ๆ หรือที่ดินขนาดใหญ่ ล้วนต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และการปรับตัวตลอดเวลา เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในแต่ละสภาพแวดล้อม.

แปรรูปผักง่าย ๆ ทำได้ด้วยตัวเอง

คุณปูเป้เล่าว่าหลังจากที่ปลูกผักมากขึ้น ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องการแปรรูป โดยเฉพาะมะเขือเทศที่ให้ผลผลิตจำนวนมาก จึงได้ลองหาวิธีการแปรรูปจากอินเตอร์เน็ต ว่ามะเขือเทศสามารถใช้ทำเป็นเมนูอะไรได้บ้าง หลักการของการแปรรูป คือ เริ่มจากสิ่งที่ชอบ ชอบกินอะไร ของที่มีอยู่สามารถแปรรูปได้ไหม เพราะหากเป็นของที่เราชอบต้องได้ใช้ประโยชน์
ในครั้งแรกลองทำซอสมะเขือเทศจากมะเขือเทศที่ปลูกก็ทำได้ถึงสามถึงสี่กระปุก จึงได้นำไปลองแจกให้กับเพื่อน ต่อมาเริ่มเพิ่มการผลิตมากขึ้น มีการโพสลงเฟซบุ๊ก แชร์วิธีการทำการแปรรูปผักให้ผู้ติดตามสามารถทำตามได้ มีผู้ติดตามบางส่วนที่ไม่สามารถทำเองได้ จึงหันมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมา การแปรรูปจึงไม่ได้เป็นเพียงการยืดอายุอาหารให้นานขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ทำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ได้อย่างคุ้มค่า
จากการแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากมะเขือเทศให้คุ้มค่าที่สุด แทนที่จะปล่อยให้เหลือทิ้ง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แชมพู สบู่เหลว และสบู่ก้อน ซึ่งเป็นการต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ พร้อมด้วยการต่อยอดในอนาคต คุณปูเป้ให้สัภาษณ์ว่า ต้องการเพิ่มพื้นที่แหล่งอาหารที่เข้าถึงได้ง่ายให้กับคนในหมู่บ้าน โดยการวางไข่ไก่ไว้หน้าบ้านเพื่อให้ผู้คนในหมู่บ้านสามารถซื้อได้สะดวกตลอดเวลา และตั้งกล่องหยอดเหรียญสำหรับจ่ายค่าสินค้า แนวคิดดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนได้กินอาหารที่ปลอดภัย พร้อมทั้งยังลดระยะทางในเข้าถึงแหล่งอาหารให้กับคนในชมชุมชนอีกด้วย
ความท้าทายของสวนเกษตรบนระเบียง
คุณปูเป้มองว่าการทำสวนเกษตรบนระเบียงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก การอาศัยอยู่ในคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์อาจทำให้ผักที่ปลูกได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ แต่ไม่อยากให้ทุกคนมองว่ายาก หรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูก หากมีตัวช่วยที่เหมาะอย่างดิน น้ำ และปุ๋ยที่ดี ก็จะช่วยส่งเสริมให้ผักเจริญเติบโตได้ดี หรือการเลือกปลูกผักที่สามารถอยู่ในที่ร่มได้ การออกแบบและจัดการสวนผักให้เข้ากับพื้นที่ปลูกจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการจัดการพื้นที่ให้มีความลงตัวและใช้งานได้ดีจะช่วยให้การปลูกผักเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ทำให้พื้นที่ดูแออัด
ทั้งนี้ การปลูกพืช คือ การเรียนรู้ธรรมชาติของพืช และในขณะเดียวกันก็เป็นการเรียนรู้ตนเองด้วยว่าเราสไตล์ไหน ชอบทำเกษตรแบบใด สามารถเลือกวิธีการปลูกได้ตามความถนัดของเรา หากไม่ชอบการปลูกที่ละเอียด เช่น การเพาะเมล็ดทีละเมล็ด ก็สามารถเลือกใช้วิธีอื่นได้ตามความสะดวก เช่นเดียวกับเรื่องของพื้นที่ หากมีพื้นที่จำกัด อาศัยอยู่คอนโด ก็สามารถเลือกปลูกพืชที่เหมาะต่อพื้นที่ หรือเลือกปลูกพืชที่ชอบกินสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยทางอาหารอีกทาง

คุณปูเป้เป็นอีกหนึ่งคนที่นำแนวคิดเกษตรในเมืองมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน และทำให้เห็นว่าการปลูกผักนั้นมีวิธีการทำที่หลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องมีที่ดินแปลงใหญ่ หรือปลูกลงบนพื้นดินเท่านั้น เพียงหาพื้นที่ว่าง หรือมุมเล็ก ๆ ที่สามารถปลูกได้ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความสวยงาม แค่คำนึงถึงผลผลิตที่จะได้รับจากการปลูก และประโยชน์จากสิ่งที่ทำ
การทำเกษตรในพื้นที่ของตนเองจะทำให้เรามีแหล่งอาหารปลอดภัย ลดค่าใช้จ่าย และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยสามารถเลือกพื้นที่ปลูกผักได้หลายแบบ อาทิ ริมระเบียง สวนดาดฟ้า หรือ แปลงเกษตรในชุมชน ล้วนแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
มาร่วมเปลี่ยนเมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียวและสร้างอาหารจากผักที่ปลูกเองไปด้วยกัน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะด้วยแนวคิดเกษตรในเมือง: กลไกบูรณาการเชิงนโยบายเพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะ และพื้นที่ส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)