02/05/2025
Environment

จากขยะอาหารสู่แปลงเกษตร โมเดลธุรกิจยั่งยืนของฟาร์มลุงรีย์

ณัฐชนน ปราบพล อภิชยา ชัยชิตามร อริยา ยศธสาร
 


หลังจากครั้งที่แล้วพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคุณปูเป้ทำเอง จุดเริ่มต้นของการแปรรูปอาหารโดยเริ่มต้นจากการทำสวนเกษตรเล็ก ๆ ริมระเบียง และนำผลผลิตจากสวนเกษตรมาแปรรูปอาหาร 

วันนี้ The Urbanis จะพาทุกคนไปรู้จักในอีกมุมมองเรื่องของการเชื่อมโยงอาหารกับการทำเกษตร ในมิติของการพลิกวิกฤตปัญหาจากเศษอาหารเหลือทิ้ง มาสร้างเป็นเม็ดเงิน จนกลายเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมและโมเดลธุรกิจ ขับเคลื่อนประเด็นปัญหาเรื่อง food waste พูดคุยกับ “คุณชารีย์ บุญญวินิจ” เจ้าของฟาร์มลุงรีย์ Uncleree farm

จุดเริ่มต้นของลุงรีย์ฟาร์ม “ขยะจากเศษอาหาร สร้างเม็ดเงิน”

ขอบคุณภาพจากเพจ Uncleree Farm

ในโลกที่วิกฤติขยะจากเศษอาหารเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นทุกวัน คุณชารีย์ได้มองเห็นโอกาสจากปัญหานี้ และสร้างฟาร์มที่ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร ยังเชื่อมโยงการจัดการขยะให้เกิดมูลค่าใหม่ ฟาร์มลุงรีย์จึงเริ่มต้นจากการใช้เศษอาหารจากการทำครัว มาเป็นต้นทุนในการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อบำรุงดินและสร้างการเกษตรที่ยั่งยืนในพื้นที่เมือง

ทั้งนี้คุณชารีย์ตั้งต้นแนวคิดการเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นเม็ดเงินจากความเสียดาย เนื่องจากขยะที่เราเห็นคนทิ้งทุกวันเกิดการสะสมมากขึ้นจนกลายเป็นปัญหาขยะ หากเราเอาขยะมาใช้ประโยชน์ เช่น รีไซเคิลขยะ หรือ การเปลี่ยนเป็นปุ๋ย   ดังนั้นขยะตรงนี้จะไม่ใช่แค่การกำจัดแบบถูกฝังกลบอย่างไร้ค่า แต่เป็นการเปลี่ยนขยะให้เป็นไอเดีย โดยตลอดเวลา 10 ปีที่ทำงานตรงนี้คุณชารีย์ทำงานกับพวกของเหลือมาอยู่ตลอด คิดหาวิธีเอาขยะออกจากชุมชนและสร้างรายได้ให้ชุมชนเพื่อเอาขยะมาหมุนเวียนเป็นทรัพยากรในฟาร์มอยู่ตลอด ‘แพชชั่นของเราเกิดจากของเหลือ เพราะทุกครั้งที่เห็นขยะ เรามองเห็นความเป็นไปได้เสมอ นี่คือแรงผลักดันให้เราคิดและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา’

การเลี้ยงไส้เดือน ทำเกษตรในเมือง

หนึ่งในแนวคิดที่คุณชารีย์ได้พัฒนา คือการใช้ไส้เดือนเป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและเหมาะสมกับคนเมืองที่มีเวลาจำกัดในการทำเกษตร ทั้งนี้ เขายังเชื่อว่าในโลกเมืองที่เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวรวดเร็ว การปลูกผักหรือเห็ดในพื้นที่จำกัด สามารถทำให้คนเมืองลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ แม้จะไม่สามารถทำได้มากนักก็ตาม แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อผู้เริ่มต้น ในการสร้างความเข้าใจว่าการทำเกษตรไม่ได้มีขั้นตอนที่ซับซ้อน หากมีองค์ความรู้ตั้งแต่เริ่มต้นทำ ขั้นตอนต่อไปก็จะดำเนินงานไปด้วยกระบวนการและการจัดการในรูปแบบของตัวเอง ดังนั้นเราก็จะไม่ได้แค่สวนเกษตรอย่างเดียว แต่เรายังได้ทักษะหรือกลไกในการแก้ไขปัญหาจากประสบการณ์ระหว่างการทำเกษตร

ฟาร์มลุงรีย์: ศูนย์การเรียนรู้และการพัฒนา

ขอบคุณภาพจากเพจ Uncleree Farm

ฟาร์มลุงรีย์ไม่ได้เป็นแค่ฟาร์ม แต่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดให้ผู้คนเข้าชมฟรี เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรยั่งยืนและการจัดการขยะ โดยเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น ฟาร์มนี้มีการจัดการขยะอย่างมีระบบ เช่น การแยกขยะก่อนนำมาใช้และใช้เครื่องจักรในการแปรรูปขยะให้เป็นปุ๋ย ด้วยแนวคิดที่ว่าการนำขยะกลับมาใช้ใหม่สามารถเพิ่มมูลค่าและช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ฟาร์มลุงรีย์กำลังจัดเตรียมศูนย์การเรียนรู้ในต่างจังหวัด เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้ในท้องถิ่นโดยเราจะนำผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นเชื่อมโยงกับร้านอาหารและศูนย์การเรียนรู้ของเราให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมและชูจุดเด่นผลิตภัณฑ์เป็นการมุ่งเน้นพัฒนาด้วยการมีส่วนร่วมในชุมชนของท้องถิ่นนั้น ๆ ให้แนวคิดของฟาร์มเข้าไปถึงตัวชุมชนและสามารถให้เขาได้มาเรียนรู้ในศูนย์การเรียนรู้ของเราเพื่อให้เขานำแนวคิด หรือวิธีทำแบบเราไปปฎิบติในชุมชน หรือครัวเรือนของเขาได้

เบื้องหลังร้านอาหารฟาร์มลุงรีย์

ขอบคุณภาพจากเพจ Uncleree Farm

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการทำธุรกิจร้านอาหารในฟาร์ม คือ การแก้ไขปัญหาขยะอาหารในร้าน โดยพยายามเตรียมวัตถุดิบให้เพียงพอและไม่เหลือทิ้ง หากมีเศษอาหารเหลือจะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับการเลี้ยงดูผักในสวน และนำไปแปรรูปในด้านอื่น ๆ ลดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม

นอกจากนี้ ฟาร์มลุงรีย์เน้นการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสร้างระบบที่หมุนเวียนการใช้ทรัพยากรและเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ รวมถึงมีการนำเครื่องจัดการขยะที่ใช้ไฟฟ้าและไม่ใช้ไฟฟ้ามาใช้ในการทำปุ๋ย เพื่อให้เกิดพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งยังคิดค้นไอเดียที่ให้ผู้มาเยี่ยมชมสามารถมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานจากการปั่นล้อ เพื่อขับเคลื่อนเครื่องจัดการขยะได้อีกด้วย

การผันตัวสู่การทำเกษตรในเมือง

คุณชารีย์มองว่า การทำเกษตรในเมืองไม่ใช่แค่การปลูกผักหรือการออกแบบสวนสวย แต่เป็นการเชื่อมโยงการเกษตรเข้ากับชุมชนและพื้นที่เมือง การทำเกษตรในเมืองต้องเข้าใจชุมชนและพื้นที่อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากมุมมองการออกแบบไปสู่การทำเกษตรที่มีคุณค่า ทั้งหมดนี้ทำให้เราเข้าใจเพิ่มมากขึ้นว่าสวนเกษตรไม่ใช่เพียงเครื่องมือของการออกแบบ อย่างเดียว ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงหลายประเด็นเข้าด้วยกันและสามารถใช้สวนเกษตรเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

ฟาร์มลุงรีย์โมเดลสวนเกษตร ที่ใคร ๆ ก็ทำได้

คุณชารีย์ต้องการผลักดันให้คนหันมาสนใจโมเดลนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่เขาสามารถทำได้แค่คนเดียว แต่ทุกคนสามารถทำได้ ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับชุมชน อย่างไรก็ตามก่อนที่โมเดลของคุณชารีย์จะเกิดขึ้นได้จริง การเก็บขยะเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะหากไม่มีการจัดการที่ดี พื้นที่อาจยังไม่สะอาด ผลผลิตไม่เติบโต ทำให้ไม่มีใครอยากทำต่อ ดังนั้น การบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขอแค่คุณมีขยะ ส่งมาให้ฟาร์มลุงรีย์ หรือ จะให้เข้าไปจัดการขยะในพื้นที่ก็สามารถทำได้ มีการแลกเปลี่ยนกัน เราเข้าไปจัดการขยะให้คุณแล้วเอาขยะมาหมุนเวียนเป็นทรัพยากรในฟาร์ม ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะหากขยะได้รับการจัดเก็บและบริหารจัดการอย่างถูกต้อง พื้นที่จะสะอาดขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และยังสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนเมื่อนำขยะมาจัดการผ่านกลไกการเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะ ทำให้มีผลผลิตเติบโต เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน หากต่อยอดไปสู่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ขยะที่เคยไร้ค่าก็กลายเป็นสินค้าให้ผู้คนเข้ามาซื้อ เมื่อโมเดลมีคนสนใจมากขึ้นมีการเอาไปทำต่อแนวคิดนี้สามารถขยายต่อไปได้ ‘เพียงเริ่มต้นจากขยะที่เรามองว่าไร้ค่า แต่มันสามารถเปลี่ยนเป็น ทรัพยากร สร้างมูลค่า และพัฒนาไปสู่ต้นแบบธุรกิจที่ยั่งยืน’

คาราวานฟาร์ม: เป้าหมายในอนาคต

คุณชารีย์มองว่าพื้นที่สวนเกษตรที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่เพียงพอ จึงเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้แนวคิดเกษตรของเราขยายไปสู่ผู้คนได้มากขึ้น จึงมีแผนที่จะนำฟาร์มลุงรีย์ไปสู่ชุมชนต่าง ๆ ผ่าน “คาราวานฟาร์ม” ซึ่งเป็นการทำฟาร์มเคลื่อนที่ โดยใช้รถบรรทุกหรือรถเมล์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้คนในหลาย พื้นสามารถเข้าถึงการทำเกษตรและเรียนรู้การปลูกพืชอย่างยั่งยืน จะช่วยให้แนวคิดการทำเกษตรเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น และทำให้ทุกคนมีโอกาสสัมผัสพื้นที่การทำเกษตรได้มากขึ้น

ท้ายที่สุดนี้เป้าหมายในอนาคตของคุณชารีย์ไม่ได้คาดหวังถึงการเติบโตของตัวฟาร์ม แต่เน้นที่การเพิ่มคุณภาพของฟาร์มลุงรีย์ให้สามารถขับเคลื่อนโดยมีคนคอยสานต่อแนวคิดของฟาร์มเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ถึงแม้จะไม่ใช่คุณชารีย์เป็นคนขับเคลื่อน หากมีคนอื่น หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่งสนใจการทำเกษตรในแบบฟาร์มลุงรีย์ก็จะไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแต่กระจายไปตามในหลายพื้นที่ ‘เพื่อให้แนวคิดการทำเกษตรเข้าถึงผู้คน และผู้คนสามารถเข้าถึงพื้นที่การทำเกษตรได้ง่ายขึ้น’

ฟาร์มลุงรีย์ถือเป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่เชื่อมโยงระหว่างคนเมืองกับการทำเกษตรอย่างยั่งยืน โดยเน้นการจัดการขยะและทรัพยากรเพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจในการทำเกษตรในเมือง ฟาร์มนี้ไม่เพียงแต่เป็นธุรกิจที่ทำเงิน แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในการทำเกษตรที่ยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรในชีวิตประจำวัน รวมถึงยังเป็นโมเดลที่ไม่ได้มองการพัฒนาแค่ในฟาร์ม แต่มองครอบคลุมไปในหลายมิติ ตั้งแต่การคิดหาวิธีที่จะทำให้คนเมืองเริ่มต้นการทำเกษตรได้ง่าย ๆ  และจะทำอย่างไรเพื่อเชื่อมโยงกับชุมชนให้พวกเขาสามารถสร้างรายได้ในชุมชน ตลอดจนถึงจะขับเคลื่อนการทำเกษตรนี้อย่างไรให้ผู้คนเกิดความสนใจและลงมือทำการเกษตร

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะด้วยแนวคิดเกษตรในเมือง: กลไกบูรณาการเชิงนโยบายเพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะ และพื้นที่ส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor