27/04/2020
Economy

Marketplace is coming (back) to town โอกาสของธุรกิจรายย่อย ตู้กับข้าวของชาวเมือง

ปรีชญา นวราช บุษยา พุทธอินทร์
 


ใครจะนึกว่าวันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นี้ ได้พลิกวิกฤติของผู้เล่นรายย่อยในละแวกบ้าน สู่โอกาสในการทำมาหากิน จากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนเมืองที่หันกลับมาพึ่งพาการจับจ่ายใช้สอยในละแวกมากขึ้น

การจับจ่ายใช้สอยจากแผงลอยหน้าหมู่บ้าน ตลาดสดท้ายซอย และร้านรถเข็นเจ้าเก่า ได้กลับมาเป็นคำตอบให้กับคนเมืองอีกครั้ง แน่นอนว่าธุรกิจรายย่อย หรือเหล่าพ่อค้าแม่ขายจาก Informal Sector นั้นได้รับความสนใจอย่างมากต่อเหล่าผู้ถูกกักตัว ซึ่งได้ยึดร้านรวงเหล่านั้นเป็นเหมือนปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต โอกาสของเหล่าธุรกิจรายย่อย นั้นมาพร้อมกับความท้าทายในการพิสูจน์ให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ที่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างให้เกิดความปลอดภัย สุขอนามัยที่ดี ในขณะเดียวกัน วิกฤติในครั้งนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงจุดยืน และการประนีประนอมที่เกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างโอกาสในการทำมาหากินของเหล่า Informal Sector ที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของเหล่าคนเมือง 

วันนี้ เราจะชวนคุณไปชมกรณีศึกษาจากทั่วโลก ก่อนจะมาร่วมหาคำตอบของการออกแบบและปรับตัวทางกายภาพของเหล่า Informal Sector ผ่านพื้นฐานทางกายภาพของการออกแบบ จุด เส้น ระนาบ

จุดศูนย์กลาง สู่ละแวกบ้าน

ภาพด้านบนแสดงรูปแบบของการจับจ่ายใช้สอยของคนเมืองก่อนสถานการณ์ COVID-19 ที่มีลักษณะแบบรวมศูนย์ คนเดินทางเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยจากซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดกลาง

ภาพที่ 2 แสดงข้อเสนอของรูปแบบของการจับจ่ายใช้สอยของคนเมืองหลังสถานการณ์ COVID-19 ที่มีลักษณะแบบกระจายตัวไปตามละแวกบ้าน คนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยจากซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดกลาง แต่เลือกที่จะไปจับจ่ายที่ตลาดขนาดเล็กในละแวกบ้านแทน เป็นทั้งการลดการกระจุกตัวที่สร้างให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคภัย และส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ชุมชน

แทนที่ผู้คนจะไปตลาด ตลาดจะเข้ามาอยู่ในละแวกบ้านของคุณแทน

Shift architecture urbanism ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบในเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เสนอแนวคิดในการพลิกโฉมตลาดที่เรียกว่า ‘ตลาดสดขนาดจิ๋ว’ ในระดับชุมชน หรือละแวกบ้าน เพื่อเป็นแหล่งรวมและกระจายวัตถุดิบ อาหารสดที่ปลอดภัย ในเมืองที่มีการ lockdown ช่วงของการแพร่ระบาด COVID-19 ด้วยการปรับโครงสร้างพื้นฐานเดิมของตลาดที่มี ภายใต้หลักการออกแบบที่รักษาฟังก์ชั่นสำคัญของตลาดผักผลไม้สดไว้เหมือนเดิม แต่สร้างมาตรการใหม่ในการลดการแพร่กระจายของไวรัส

โครงการดังกล่าว ถูกคิดค้นเพื่อช่วยลดปัญหาการกระจุกตัวของผู้คนที่เข้าไปใช้งานในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เกินขีดจำกัด ในศูนย์กลางเมืองที่สร้างความเสี่ยงต่อการติดโรค โดยมีการกระจายพื้นที่ตลาดขนาดย่อมไปทั่วเมือง เพื่อลดเวลาในการเดินทางไปที่ตลาดกลาง และอีกประการคือช่วยส่งเสริมการทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อยในการกระจายอาหารสดและของชำ 

ทั้งนี้ มาตรฐานการออกแบบตลาดดังกล่าวย่อมมีความพิเศษกว่าตลาดทั่วไป ด้วยการออกแบบบนที่โล่งแจ้ง มีอากาศถ่ายเท ที่ถูกคิดอย่างมีระบบ โดยมีการตีตารางจตุรัส 16 ช่อง แสดงสัญลักษณ์เพื่อเป็นเส้นกั้นระยะห่าง และควบคุมให้มีทางเข้า 1 ทาง ทางออก 2 ทาง เพื่อระบายผู้คน แต่ละช่องตารางจะอยู่ได้ 1 คน และในตารางทั้งหมด จะอยู่ได้ 6 คน โดยมีแผงขายอาหารสามส่วน แต่ละส่วนขายอาหารสดชนิดต่างๆ และเพื่อร่นระยะเวลาคนที่เข้ามาจับจ่ายด้วยการขายวัตถุดิบสดเป็นแพ็กเกจแทนการขายสินค้าแยกต่างหาก และไม่มีการนั่งกิน มีการจำกัดจำนวนของผู้จับจ่ายในแต่ละครั้ง และลดการสัมผัสจากการรับเงินด้วยเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามข้อเสนอทางเลือกนี้ เป็นการออกแบบควบคู่กับการจัดการได้โดยอาศัยทรัพยากรพื้นฐานของเมือง และมีการจัดการด้วยมาตรการพื้นฐานด้านการจราจรและการควบคุมฝูงชน โดยเทศบาลท้องถิ่น

เส้น ทางเท้า การออกแบบพื้นฐานอย่างมีส่วนร่วม

นอกเหนือจากแนวคิดในการกระจายจุดการจับจ่ายใช้สอยของเมืองแล้ว อีกแนวคิดหนึ่งซึ่งถูกจับตามอง คือพื้นที่ทางเท้า หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่มีพลวัติของการเคลื่อนที่มากที่สุด และสร้างให้เกิดกิจกรรมการจับจ่ายใช้สอย เป็นสีสันอย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทาง Design Council ของสหราชอาณาจักร ได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Built Environment เพื่อทำการระดมสมองเตรียมพร้อมถึงรูปแบบของการออกแบบทางกายภาพของเมืองในช่วงหลังโควิด (Post COVID-19) หนึ่งในพื้นที่ที่ถูกพูดถึงคือทางเท้า และมาตรการในรูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้การเคลื่อนที่ของผู้คนเป็นไปอย่างปลอดภัย ในขณะที่ยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ บนทางเท้าต่อไปได้อย่างสมานฉันท์ ด้วยระยะมาตรฐานระหว่างคนที่ควรมีความกว้างมากยิ่งขึ้น ผนวกกับรูปแบบการสัญจรด้วยการเดินเท้าที่มีแนวโน้มว่า คนมีความรู้สึกอยากออกมาเดินเล่นเพิ่มมากยิ่งขึ้นหลังสถานการณ์ การขยายทางเท้า การออกแบบวางโซนของทางเท้า การออกแบบพื้นที่ทางเท้าและถนนที่ยืดหยุ่น สามารถสร้างให้เกิดกิจกรรม การปิดถนนในช่วงโอกาสพิเศษของเมืองได้ ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ จึงเป็นความท้าทายหนึ่งที่อาจจะเป็นคำตอบ 

ระนาบ ของพื้นที่ที่ยืดหยุ่น สร้าง โอกาส

การออกแบบพื้นที่ที่ยืดหยุ่น (Flexible Space) ได้ถูกพูดถึงในบทสัมภาษณ์ของ MASS Design Group ที่ได้ให้สัมภาษณ์ใน Radio Boston ภายใต้หัวข้อ Architecture And Design After The COVID-19 Pandemic และเปรียบเสมือนเกณฑ์ที่เหล่านักออกแบบยึดถือ ทำให้นึกถึงกรณีศึกษาง่ายๆ ของเมืองกะลอ ประเทศพม่า ที่ได้มีการนำลานกลางแจ้ง อากาศถ่ายเท ต่างๆในเมือง มาปรับใช้เป็นตลาดสด ให้เหล่าผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ขายในท้องที่ ได้มีพื้นที่ในการทำมาหากิน โดยมีการตีช่องสี่เหลี่ยมขีดเป็นกรอบเอาไว้สำหรับการเว้นระยะห่างของแผงลอย พ่อค้าแม่ค้าและผู้มาจับจ่าย ยืนหรือนั่งห่างกันอย่างน้อย 1.5-2 เมตร โดยมีการสับหว่าง ระหว่างร้านไม่ให้ใกล้ชิดกัน 

ภาพจาก https://thejournalistclub.com/

10 แนวทางเพื่อเหล่าผู้ประกอบการ (Compact Market Place)

เราจึงถอดบทเรียนจากกรณีศึกษา ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 และรวบรวมเกณฑ์ในการออกแบบที่ง่าย และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทย ที่จะยังเปิดช่องให้แก่พ่อค้าแม่ขาย และประชาชน ได้มีการปรับตัวเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเสมือนปกติ แต่ปลอดภัยที่สุด

1. พื้นที่ในการเปิดตลาด หรือ แผงลอย จะต้องเป็นพื้นที่โล่ง มีสภาพอากาศที่ถ่ายเท โปร่ง (Ventilation) และมีการวางโซนอย่างถูกต้องตามหลักสุขอนามัย (Zoning)

2. มีการออกแบบตลาดให้มีความกระชับ แต่ยังรักษาฟังชันก์เดิมเอาไว้ เพื่อลดความจุคน และการกระจุกตัวของคนหมู่มาก 

3. ตลาดหรือทางเท้า จะต้องมีการออกแบบทางเดินเท้าและการทำกิจกรรม (Circulation) ที่เป็นระบบ ด้วยการแบ่งเส้นกั้น หรือ ตีตารางเป็นช่องเอาไว้ ตามขนาดที่เหมาะสม เพื่อรักษาระยะห่าง และหลีกเลี่ยงการกระจุกตัว

4. ตลาดหรือทางเท้า จะต้องมีโซนร้านค้าที่วางไว้ห่างกันที่ระยะ 2 เมตรไว้เป็นอย่างต่ำ และจำกัดจำนวนร้านค้าตามขนาดพื้นที่ความจุของพื้นที่

5. มีการออกแบบทางเดินของตลาด ให้มีทางเข้า 1 ช่องทาง เพื่อคัดกรองคน และทางออกขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หากเป็นแผงลอย จะมีช่องทางเดียวในการรับคิว และมีพื้นที่พักคอยรักษาระยะห่างไว้ 2 เมตร เป็นอย่างต่ำ

6. สินค้าทุกชนิดต้องวางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม. และพร้อมสำหรับการซื้อกลับบ้าน ไม่มีพื้นที่นั่งทาน 

7. มีจุดล้างมือ และล้างอุปกรณ์ อย่างทั่วถึงและเพียงพอ และมีมาตรการในการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพ และถี่มากยิ่งขึ้น

8. มีการออกแบบให้ตลาดและแผงลอยสามารถกันแดดกันฝน และฝุ่นละออง เพื่อปกป้องคุณภาพสินค้า และสุขอนามัยของผู้บริโภค

9. มีมาตรการในการจำกัดจำนวนคนในพื้นที่ตลาด

10. มีการเปิดทำการให้ยาวนานขึ้น เพื่อลดความหนาแน่นและความถี่ในการใช้งาน

พื้นที่ยืดหยุ่น ทำเลใหม่ของตลาดเล็กในละแวกบ้าน 

จากเกณฑ์ในการออกแบบเบื้องต้น หากจะต้องมีการกระจายพื้นที่ของเมืองให้เป็นตลาดของชุมชน เมื่อนำมาประยุกต์เข้ากับบริบทของประเทศไทย จึงเล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่ สามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1. พื้นที่ลานเอนกประสงค์ อย่างเช่น พื้นที่โล่งว่าง ลานทำกิจกรรมชุมชน ลานวัด พื้นที่หน้าโบสถ์ ลานโรงเรียน ลานศูนย์ของหน่วยงานรัฐ ลานศูนย์สุขภาพ และพื้นที่รกร้างเดิมที่สามารถปรับปรุงโดยง่าย และสร้างให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างแท้จริง  

2. พื้นที่ทางเท้า อย่างเช่น ตามบริเวณทางเท้าสาธารณะ พื้นที่ซอยบ้าน ที่สามารถเปิดโอกาสให้แบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่ทำมาหากิน ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานที่เคร่งครัด

พื้นที่ทั้ง 2 รูปแบบ นั้นเป็นพื้นที่ๆ สามารถนำมาปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ง่าย เริ่มด้วยเข้าถึงง่าย ครอบคลุมอยู่ในระยะเดินแถวละแวกบ้าน และมีการบริหารจัดการที่ไม่ซับซ้อนโดยชุมชน ประธานชุมชน เทศกิจ เทศบาล หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

ธุรกิจรายย่อยในละแวกบ้าน อีกหนึ่งตู้กับข้าวของคนเมือง 

การ lockdown ในช่วงของการแพร่ระบาด COVID-19 ได้สร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งสังคม กายภาพและเศรษฐกิจของเมือง ใครจะคิดวันหนึ่งในเมืองที่มีผู้คนมากมาย กลับเงียบเหงาซบเซา ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัว เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสกัน ระมัดระวังและเว้นระยะห่างอย่างที่ติดอยู่ในจิตใต้สำนึก ทว่าหากเมืองในอนาคตต้องเตรียมพร้อมเปิดๆ ปิดๆ ซึ่งมาพร้อมกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และการปรับตัวของเมืองที่ยืดหยุ่นในแต่ละมิติต่างๆ 

ในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการการส่งเสริมจากรัฐฯ ให้ธุรกิจรายย่อยสามารถปรับตัวเร็ว มีการบริหารจัดการควบคู่กับการออกแบบรองรับ จึงอาจเป็นอีกหนึ่งหนทางรอดของชีวิตคนเมือง สร้างโอกาสในอนาคต และความหวังของเหล่าผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าในละแวกบ้าน ให้เกิดการกระจายรายได้สู่ครัวเรือน และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

บทความ “Marketplace is coming (back) to town โอกาสของธุรกิจรายย่อย ตู้กับข้าวของชาวเมือง” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

อ้างอิงข้อมูล
– Neufert Architecture
Design Council
Shift Architecture Urbanism Creates Hyperlocal Micro Markets that Operate During COVID-19 Shutdowns โดย Christele Harrouk, Arch Daily
Smart lifts, lonely workers, no towers or tourists: architecture after coronavirus โดย Oliver Wainwright, The Guardian
Architecture And Design After The COVID-19 Pandemic โดย Jamie Bologna และ Tiziana Dearing, wbur


Contributor