17/03/2021
Economy

สะพานเขียวเหนี่ยวทรัพย์: เมื่อการฟื้นฟูเมืองคือโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของเมือง

นรวิชญ์ นิธิปัญญา อวิกา สุปินะ ชยากรณ์ กำโชค
 


ทอดยาวลอยฟ้าทาพื้นสีเขียวจากสี่แยกสารสิน ถ.วิทยุ ถึงปากซอยโรงงานยาสูบ คือ “สะพานเขียว” เชื่อมสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ ตลอดระยะทางกว่า 1.3 กิโลเมตร ขนาบด้วยบ้านเรือนหลายร้อยหลังคาเรือนของชาวชุมชนร่วมฤดีและชุมชนโปโล ชุมชนเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งท้ายๆ ของกรุงเทพมหานคร ที่ตั้งในพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจใจกลางเมือง

โครงสร้างลอยฟ้าแห่่งนี้อยู่คู่กับชุมชนมานานกว่า 20 ปี ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สัญจรด้วยการเดินเท้า เป็นสถานที่ออกกำลังกายและทางปั่นจักรยาน ล่าสุดยังเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ ที่เดินทางมาถ่ายรูปเก็บบรรยากาศช่วงยามเย็น แสงอาทิตย์ กลุ่มอาคารสูงใจกลางเมือง ฯลฯ หลายคนบอกว่าสะพานเขียวมี “ฟิลเตอร์ญี่ปุ่น” อย่างที่เคยเห็นในสื่อภาพยนตร์และการ์ตูน

ปรากฏการณ์ “สะพานเขียวฟีเวอร์” เพิ่งจะเกิดขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 นี่เอง

ย้อนไปเมื่อกลางปี 2562 สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (สนย.) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และภาคีวิชาชีพสถาปนิก ได้สำรวจพื้นที่และจัดกระบวนการร่วมหารือกับชาวชุมชนเพื่อเริ่มต้นโครงการฟื้นฟูสะพานเขียว ให้แข็งแรง ปลอดภัย ร่มรื่น เชื่อมกับชุมชนอย่างไร้รอยต่อ และทำให้สะพานเขียวสร้างโอกาสให้กับเมืองยิ่งขึ้นไปอีก

หากความเปลี่ยนแปลงใดๆ นำมาซึ่ง “การปรับตัว” คงพอจะกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโครงการฟื้นฟูสะพานเขียว จะไม่มีผลต่อชาวชุมชนเลย คงเป็นไปไม่ได้

คำถามของเราคือชาวชุมชนมีแผนการปรับตัวอย่างไรเพื่อคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมจากความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

จากอดีตในความเงียบเหงา สู่ ปัจจุบันแห่งการเปลี่ยนแปลง

ในอดีตสะพานเขียวยังไม่ได้เป็นที่นิยมด้วยปัจจัยหลายอย่าง ด้วยสภาพความทรุดโทรมและเกิดปัญหาด้านการใช้งานหลายอย่าง ทั้งการเข้าถึงที่ลำบาก ขาดการเชื่อมโยงกับเมือง รวมถึงสภาพอากาศที่มีความร้อนจัดในช่วงตอนกลางวัน ส่วนในช่วงกลางคืนนั้นมีแสงสว่างไม่เพียงพอเสี่ยงต่อการเกิดเหตุอาชญากรรม

ปัจจุบันพื้นที่สะพานเขียวได้มีการปรับปรุงเสาไฟให้มีแสงสว่างมากยิ่งขึ้น มีการเดินทางที่เข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้มีผู้มาใช้บริการในช่วงเย็นถึงค่ำ ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้บริการที่ตามมาจากการเผยแพร่ภาพบรรยากาศในสังคมออนไลน์ เพื่อเก็บภาพบรรยากาศทิวทัศน์อันสวยงาม และอาศัยทางเดินเท้าในการเดินเชื่อมโยงระหว่างย่านเพลินจิต และย่านรัชดา-พระราม 4

ตอนนี้เมื่อมีคนนอกพื้นที่มาใช้บริการมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อความต้องการสินค้าและการบริการที่มากขึ้น อันประกอบไปด้วย เครื่องดื่ม อาหารว่าง ร้านอาหาร และห้องน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชุมชนในพื้นที่เริ่มเกิดการค้าขายขึ้นมากไม่ว่าจะเป็นร้านขายน้ำ รถเข็นขายอาหาร หรือบางบ้านมีบริการสุขา ทำให้คนในชุมชนทั้งสองชุมชน เริ่มมีความคึกคักทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ทำให้ชุมชนเริ่มมีการปรับตัวเพื่อให้ตัวเองมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น      

กล่าวได้ว่า “สะพานเขียว” ทำให้ทั้งคนนอกได้ประโยชน์จากการมาท่องเที่ยวถ่ายทิวทัศน์ในช่วงยามเย็น อีกทั้งคนที่ใช้เส้นทางนี้สำหรับการออกกำลังกาย และคนในชุมชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นจากเดิม และสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจชุมชน ด้วยการค้าขายที่คึกคัก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มากขึ้นจากสะพานเชื่อม 2 ศูนย์ 2 สวน (ล้อจากเลข ค.ศ. 2020)      

สะพานแห่งนี้มิได้มีดีเพียงแค่เป็นทางเดินเชื่อมเท่านั้น หากแต่ในมิติทางเศรษฐกิจสะพานแห่งนี้ มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าขายของชุมชนละแวกใกล้เคียง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น การบริโภคการจำหน่ายจ่ายแจกที่คนในพื้นที่มีส่วนร่วมทำร่วมรับประโยชน์ อาศัยศักยภาพของชุมชน ภูมิปัญญาของชุมชน และทุนในชุมชน อาทิ ความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม ความหลากหลายของโครงสร้างประชากรของชุมชนที่มีอยู่

ชุมชนเก่าแก่กลางเมืองแห่งประวัติศาสตร์…กับโอกาสของเศรษฐกิจชุมชน

“ชุมชนโปโล”ชุมชนร่วมฤดี” เป็น 2 ชุมชนสำคัญละแวกสะพานทางเดินลอยฟ้าเชื่อม 2 สวน อีกทั้งเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ในทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร และเป็นชุมชนในย่านที่มีราคาที่ดินสูงที่สุดแห่งหนึ่งของเขตกรุงเทพฯ ด้วยความเป็นพื้นที่เรียกได้ว่า “ใจกลางเมือง” แถมยังมีลักษณะที่แนบสนิทกันของผู้คนที่สัญจรไปมาและพื้นที่ส่วนบุคคล

เป็นส่วนหนึ่งสำคัญของโครงการสองศูนย์สองสวน (Bridging the City) ได้มีการเข้าร่วมกระบวนการมาตลอดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการปรับปรุงสะพานเขียวในรูปแบบโครงการที่จะไม่ใช่เพียงสะพานเชื่อมทางเดินอีกต่อไป แต่กลายเป็นพื้นที่สีเขียวเชื่อมเมือง เชื่อมชุมชนประวัติศาสตร์ใจกลางเมือง และเดินทางไปยังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ทั้งศาสนสถานอย่างวัดพระมหาไถ่ มัสยิดอินโดนีเซีย และสถานทูตสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เพื่อให้คนภายนอกเข้าถึงพื้นที่ได้มากขึ้น

จะสร้างประโยชน์ในการใช้พื้นที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอาศัยสะพานเขียว ส่งผลให้ประชาชน ในพื้นที่มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากการที่คนนอกพื้นที่เข้ามาใช้บริการสะพานแห่งนี้ ทำให้เกิดความต้องการเครื่องดื่ม อาหาร เพราะส่วนหนึ่งผู้ใช้บริการไม่ได้มีเพียงผู้คนที่มาออกกำลังกาย หรือใช้เป็นเส้นทางสัญจรแต่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนานและการบันเทิงในการตอบสนองความต้องการของตนเอง ทำให้เกิดปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ชาวบ้านย่อมขายดีตาม นอกจากนี้ยังมีวินมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับประโยชน์จากการที่มีผู้ใช้บริการมากขึ้น      

สะพานเขียวยุคใหม่ แสงแห่งความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาวบ้าน

ดังที่กล่าวว่า สะพานเขียวลอยฟ้าแห่งนี้พาดผ่านชุมชนเก่าแก่ทั้งสองนี้เริ่มได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการที่มีผู้ใช้เส้นทางเชื่อมเพิ่มมากขึ้น ความต้องการสิ่งต่าง ๆ เริ่มเกิดมากขึ้นทั้งในเชิงการอุปโภคและการบริโภค คนนอกพื้นที่ที่เข้ามาจะไม่ได้เห็นเพียงความสวยงามของบรรยากาศในช่วงเช้าและช่วงยามเย็น แต่จะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ที่ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ท่องเที่ยว ออกกำลังกาย การเรียนรู้ของชุมชน แต่จะกลายเป็นพื้นที่ในการสร้างมูลค่าให้ชุมชน

กล่าวได้ว่า ทางเดินแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงเป็นสะพานเดินเชื่อมสวน แต่มีโอกาสในการขับเคลื่อนมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างโอกาสให้ชุมชนนี้ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่ใช่การค้าขายภายในท้องถิ่นของตนเอง แต่ให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการชื้อขายสินค้าของชุมชน

ยิ่งหากฟื้นฟูให้สวยงาม ร่มรื่น มีบรรยากาศที่สร้างความน่าสนใจ ดึงดูดคนนอกจากทุกทั่วสารทิศเข้ามายังพื้นที่ สะพานเขียวอาจกลายเป็น “New Landmark” ของกรุงเทพมหานครในระดับโลก และไม่ได้เป็นแค่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอนาคต ชุมชนจะเกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอาจนำไปสู่การท่องเที่ยวในชุมชนเมืองเก่าแก่แห่งประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่ชุมชนละแวกสะพานเขียวอาจถูกยกระดับให้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป

ชีวิตที่เปลี่ยนไป…ในมุมมองคนใน 

ในช่วงปีที่ผ่านมาการที่มีผู้คนมาใช้บริการสะพานเขียวมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เศรษฐกิจในชุมชน โดยเฉพาะการค้าขายเกิดความคึกคักมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านหลายคนเริ่มมีรายได้มากขึ้น เป็นโอกาสของชุมชนที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ และทุนของชุมชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับจุลภาคต่อไป

จากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 5 คน ประกอบอาชีพที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ตั้งแต่แม่ค้าขายอาหารตามสั่งฮาลาล แม่บ้าน แม่ค้าขายของชำ แม่ค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ลุงวินมอเตอร์ไซค์ ต่างคนต่างมีความคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับสะพานเขียว แต่ย่อมเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจจากความคึกคักของคนนอกพื้นที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างอยู่ดีกินดี และชาวบ้านมีความสุขให้เพิ่มมากขึ้น แต่ละคนได้สะท้อนมุมมองของคนในชุมชนมีมุมมองดังต่อไปนี้  

วลี เครือสิงห์ (พี่ป้อม) อายุ 60 ปี อาศัยในชุมชนโปโล ซอย 6 ตั้งแต่กำเนิด ไม่เคยย้ายถิ่นฐานไปพื้นที่อื่น ปัจจุบันเป็นแม่ค้าร้านอาหารตามสั่งฮาลาล

“พี่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาตลอดชีวิตตั้งแต่เกิด อายุ 60 ปี ก็ตั้งถิ่นฐานที่นี่มาตลอด 60 ปี ตอนนี้พี่เปิดร้านอาหารตามสั่ง เรียกว่า แม่ค้า ก็ได้จ้า เพราะในอนาคตเราจะขายของแบบจริงจังมากขึ้น เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นถนนที่ถูกตัดเข้ามา ในอดีตบ้านไม่ได้มีเยอะเป็นบ้านใครบ้านมัน พอโตขึ้นพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงซอยเริ่มแคบลง คนที่อยู่เดิมเริ่มออกไปอาศัยที่อื่น ตอนนี้ส่วนใหญ่เช่ากันมากกว่า ใช้ชีวิตก็เป็นปกติ บ้าน ๆ ธรรมดา คนที่อาศัยในพื้นที่มีความหลากหลายตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ แต่ปัจจุบันคนอยู่กันน้อยลง”      

“พี่ป้อมอาศัยในพื้นที่ตั้งแต่ก่อนมีสะพานเขียวและบ้านอยู่ใกล้สะพานเขียวมาก มีช่วงหนึ่งปล่อยให้เด็กขึ้นไปออกกำลังกายบ้าง ทั้งขี่จักรยานบ้าง เมื่อก่อนนี้เงียบ คนไม่เห็นความสำคัญ ตอนนั้นสะพานมีความสกปรกมาก คนต่างถิ่นมาใช้บริการที่นี้มากขึ้น ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเพราะอะไร เห็นมีการถ่ายรูปกัน นี่ยังเคยคิดเลยนะว่าควรมีการทำของดีชุมชนให้เกิดการโปรโมท ให้คนในชุมชนมีรายได้ ของเราสามารถขายก็ได้”

“ยิ่งหากมีการปรับปรุงโครงการสะพานเขียวนะ คงได้มีการประชาสัมพันธ์และสื่อสารที่มากกว่านี้ เพราะแบบในโครงการสองศูนย์ สองสวนจริง ๆ มีการออกแบบมาอย่างสวยงาม หากมีการปรับปรุงเนี่ย เราอาจสามารถขายของทั้งอาหารและขนมในชุมชนมากขึ้น การโปรโมทสะพานน่าจะมีการสินค้าชุมชนไปโปรโมทด้วย “ประโยชน์ของสะพานเขียวที่มีต่อพี่นะ คือ เมื่อเขามองลงมาจากสะพานเนี่ย เขาจะเห็นว่ามีชุมชนมุสลิมนะ บางคนเขาก็ตามหาร้านอาหาร เขาก็จะเห็นร้านอาหารเรา เพราะเราเปิดถึงสายขายถึงมืด พี่มันแปลก ไม่เหมือนใคร คนที่เดินทางมาจากที่ไกล ๆ เพื่อมาถ่ายรูป พักผ่อนตรงสะพานก็สามารถมากินกันได้”

“พี่คาดหวังมาก และพี่มีความเชื่อด้วยว่าจะเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจชุมชนเราจะดีขึ้นมาก เพื่อนบ้านเราทำอะไรเก่งก็จะอาจนำความสามารถที่มีไปทำอะไรขาย เพราะมีคนเดินทางมายังไงเข้าก็ต้องดื่มต้องกิน เช่น การขายน้ำ การขายขนมว่าง คาดหวังได้เลยว่ามันต้องใช่และมันต้องได้ ถ้ามันเป็นไปตามรูปภาพ (การปรับปรุงสะพาน) คนจะมาเยอะ เพราะคนโดยทั่วไปนะเขาจะนึกถึงการท่องเที่ยวมากกว่า ต้องถ่ายรูปก่อน และหลังจากนั้นอย่างอื่นจะตามมาเอง มาแบบปากต่อปากบ้าง ทุกวันนี้ยังปากต่อปากเลย แบบแค่บันไดก็เห็นคนรุ่นใหม่มาถ่ายรูปกันแล้ว”  

“ตอนนี้พี่วางแผนว่าอยากจะขายไก่ย่าง เนื้อย่าง พอเย็นให้ลูกสาวมาขาย เราก็ใส่ถาดสวย ๆ ทำว่าเหมือนเสิร์ฟในงาน Cocktail และขายแบบสถานีรถไฟ ไก่ย่าง ข้าวเหนียวปิ้ง อะไรแบบนี้ และพี่จะเดินไปขาย พี่ว่าพี่คุยกับเด็กได้ แต่ตอนนี้คนมาใช้บริการมาก ๆ ก็กระตุ้นแล้ว เพราะคนที่มาท่องเที่ยวยังไงอย่างน้อยเขาก็ซื้อน้ำ ด้วยอากาศที่ร้อน ตอนนี้เริ่มมีคนเอากระติกคูลเลอร์มาแช่มะพร้าว น้ำส้มเริ่มค้าขายแล้ว เพราะบ้านเขาอยู่ใกล้กับสะพาน เริ่มมีคนบุกเบิกแล้ว ตอนนี้คนเดินเยอะมาก เมื่อก่อนพี่ยังงงเลยว่ามาสร้างทำไม แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่มมีประโยชน์กับเรา”

“แต่ในอนาคตอย่างที่บอกไปทั้งขายไก่ย่าง เนื้อย่าง น่าจะสามารถทำเม็ดเงินให้กับเราได้ มันต้องเหนี่ยวทรัพย์ จริง ๆ พี่ก็พูดแทนแม่ค้าเท่านี้นะ เมื่อก่อนเคยมีเยอะแต่ตอนนี้ก็หายไป เพราะเขาขายแล้วไม่ได้อะไรในสมัยนั้น แต่อย่างว่าละแต่ตอนนี้พี่ว่ามันจะมีโอกาสในการค้าขายจากคนผู้ใช้บริการต่อไปในอนาคต”       

ภา เหรียญอยู่คง อายุ 51 ปี อาศัยอยู่พื้นที่ชุมชนร่วมฤดีบริเวณทางเข้าชุมชนโปโล อดีตเคยรับจ้างทั่วไป ปัจจุบันเป็นแม่บ้าน

“พี่อยู่ในพื้นที่นี้มาประมาณ 30 ปีแล้ว พี่ไม่ใช่คนในพื้นที่ตั้งแต่กำเนิด แต่ต้องเดินทางมาหาโอกาสในการทำงานที่กรุงเทพมหานคร ตอนนั้นก็รับจ้างทั่วไป แต่ตอนนี้กลายเป็นแม่บ้านธรรมดาคนหนึ่ง เมื่อก่อนตอนที่มาทำสะพานไม่ชอบ เพราะเรากลัวมันเหม็นอับ แต่ปรากฎว่าพอทำแล้วก็ดี ช่วยในการบังแดดให้กับชุมชนเรา คือเราชอบตรงนี้ แต่มันก็มีประโยชน์ที่ดีต่อเราอย่างหนึ่ง คือ เวลาที่เราเดินไปสวนลุมเป็นทางเชื่อมได้อย่างสบายเลย เพราะการเดินบริเวนใต้สะพานข้างล่างรถค่อนข้างเยอะ ต้องคอยหลบรถ และเสี่ยงกับอันตรายด้วย ถ้าเดินบนสะพานเดินได้สบาย จะไปวิ่งสวนลุมก็สะดวกสบายในการเดินทาง”          

“เดือนนี้เยอะมากเลย แบบช่วงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ที่มีคู่รักมาถ่ายรูปกัน บอกรักกันเยอะมาก ตอนนี้มีการมาถ่ายหนังด้วยของพี่พจน์ อานนท์ด้วย ในด้านเศรษฐกิจ ก็มีโอกาสในการสร้างรายได้มากขึ้นนะ แบบพวกน้อง ๆ เขาก็ขายของ ขายน้ำได้ จากที่เงียบกันในอดีต ตอนนี้ก็ตื่นกันแต่เช้า เพื่อมาขายน้ำ เพราะคนมาถ่ายรูปกันตั้งแต่เช้าจนเย็นทั้งวันเลย จากเมื่อก่อนวันหนึ่งเคยขายน้ำได้ 20 ขวด ตอนนี้ก็กลายเป็น 50 60 ขวด ได้เยอะมากขึ้น เพิ่มรายได้ให้กับเขาได้ก็ดี แบบบางทีช่วงกลางคืนก็มีคนขี่จักรยานเป็นสมาคม แล้วมีบางส่วนแวะชื้อน้ำกันค่อนข้างมาก หรือบางกลุ่มก็มีการลงมาชื้อของคนในชุมชนมันก็ช่วยกันส่งเสริมรายได้ของในชุมชนค่ะ”

“อนาคตถ้ามันมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างที่ออกแบบมาตามภาพ มันก็โอเคเลยนะ แต่ห้ามไล่ชาวบ้านออกจากชุมชนนะบอกไว้ก่อน ปรับปรุงให้ดูมีความสวยงามให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย หากมีการปรับปรุงแล้วคนมาใช้บริการมากขึ้น ชาวบ้านขายของได้มากขึ้นก็โอเคและอยากให้คนในพื้นที่ชุมชนได้มีส่วนร่วม ได้มีการจัดระเบียบ ช่วงหลังการปรับปรุงแล้วเราอาจสามารถค้าขายได้ในวันเสาร์และอาทิตย์ มีถนนคนเดินข้างบนสะพานและข้างล่างก็ทำเป็นตลาดนัดถ้าเป็นไปได้นะคะ เพราะเราก็อยากให้พัฒนาให้ดีขึ้นกว่าทุกวันนี้”        

สมใจ ชนะมา อายุ 51 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนร่วมฤดี อยู่ในพื้นที่มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า36 ปี ถึงแม้บ้านเกิดจริง ๆ อยู่จังหวัดพิษณุโลกแต่มีความผูกพันกับชุมชนแห่งนี้อย่างลึกซึ้งกินใจ ปัจจุบันประกอบอาชีพค้าขายของชำ

“พี่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้มาทั้งหมด 36 ปีแล้ว พี่เข้ามาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น พี่เป็นคนพิษณุโลกแล้วมาเจอแฟนที่นี่ ปัจจุบันทำอาชีพค้าขายค่ะ ขายของชำ ขายผักอยู่ในชุมชนค่ะ ขายมาประมาณ 20 กว่าปีแล้วค่ะ ในช่วง30 เกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ที่นี้มีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปเยอะมาก เริ่มตั้งแต่ยังไม่ได้ทำสกายวอล์ค (หมายถึงสะพานเขียว) ข้างบนจะเป็นโล่ง ๆ ข้างล่างพี่ก็จะทำเป็นเพลิงขายของ รื้อบ้าง ทำบ้าง ก็มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงมาเรื่อย ๆ แต่ก็ยังค้าขายได้”

“พอมีสะพานเขียวมีการเปลี่ยนแปลงค่ะ เมื่อก่อนที่ยังไม่มีสะพาน อากาศร้อนนะคะสำหรับคนที่อยู่ข้างล่าง แต่ก็ตากผ้าแห้ง พอมีสะพานก็สามารถใช้ประโยชน์ในการออกกำลังกาย คือ มันก็ช่วยทำให้พื้นที่ข้างล่างมีความร้อนลดน้อยลงค่ะ เมื่อปีที่แล้วกับต้นปีนี้มีคนมาใช้บริการนะคะ คนเยอะขึ้นมากค่ะ แต่เมื่อสองสามปีที่แล้วยังไม่ค่อยมีคนเลย แต่ก็มีคนมาปั่นจักรยาน ออกกำลังกายกัน พึ่งมาบูมกันเมื่อสองปีนี้แหละค่ะ ที่มีการมาถ่ายละคร ถ่ายโฆษณา เด็ก ๆ ก็พากันมาถ่ายรูป เดินท่องเที่ยวตามสะพานเชื่อมแห่งนี้”

“การที่คนมามากขึ้น แท้จริงแล้วในมุมมองของพี่ เวลานี้ยังชุมชนข้างล่างอาจยังไม่ค่อยส่งผลเท่าไหร่นะคะ ก็ยังคงเป็นปกติ แต่เวลานี้จากข้างบนสะพานจะมีการชักรอกตะกร้า เพื่อซื้อน้ำ ชื้ออาหารว่าง ตอนนี้หากจะมีการซื้ออะไรก็จะตะโกนลงมา แล้วก็ชักรอกขึ้นไปให้ เขาจะลงมาก็ลำบาก หัวสะพานท้ายสะพาน จะขึ้นลงก็ลำบาก คือ จริง ๆ เนี่ยบ้านพี่อยู่ติดสะพาน เปิดหน้าต่างสามารถก้าวมาได้เลย พี่มีความเห็นว่าถ้าหากมีการปรับปรุง พี่มีความยินดีค่ะ พี่เห็นด้วยถ้าปรับปรุงให้ดูดีขึ้น แล้วอีกอย่างถ้ามีคนมาได้เยอะ ๆ เศรษฐกิจในชุมชนเราก็จะได้เกิดการค้าขาย แล้วอีกอย่างหนึ่ง อยากจะมีแลนด์มาร์คที่สวยงามที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหรือว่าคนในละแวกนี้ได้รู้ว่า ชุมชนเรามีดีนะ มีของดีนะ สามารถอวดให้คนข้างนอกรับรู้ได้”

“ในอนาคตที่จะมีการปรับปรุงสะพานอยากให้จัดโซนขายของที่ระลึก หรือว่าของอร่อย คือถ้าเขามาตรงนี้แล้วไม่ได้ทานของร้านนี้ ถือว่ามาไม่ถึงชุมชนร่วมฤดี หรือว่าสะพานสกายวอล์คร่วมฤดี ขอเพิ่มเติมอีกหน่อย คือ ปรับปรุงข้างบน เราโอเคนะคะจากที่ดูภาพ พี่ชอบ พี่ว่าสวย พี่ยินดีเลย ภาคภูมิใจ แต่พี่ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงข้างล่าง พี่อยากให้เราคงอัตลักษณ์เดิมไว้ เพื่อให้รู้ว่าวิถีชุมชนเรา ซอยร่วมฤดี คนที่นี่น่าตายิ้มแย้มแจ่มใส ค้าขายดี สะอาด เป็นระเบียบในแบบของเรา เผื่อว่าไปดูข้างบนแล้วอยากมาดูวิถีชุมชนก็จะได้เห็นว่าจริง ๆ แล้วพวกเราเป็นแบบนี้ อย่าเปลี่ยนแปลงข้างล่างเลย อัตลักษณ์ของเราจะหายไป หรือหากมีการปรับปรุงเป็นการท่องท่องเที่ยววิถีชุมชนได้จะดีมากเลย”      

ชมพูนุช เนื้อคำ วัย 30 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนร่วมฤดีมาเป็นระยะเวลากว่า 14 ปี ปัจจุบันเป็นแม่ค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในพื้นที่ชุมชนร่วมฤดีก่อนทางขึ้นสะพานเขียว

“เรามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ได้ระยะเวลา 14 ปีแล้ว ตอนนั้นย้ายมาอยู่กับแฟน ตอนที่ย้ายมามันก็มีการก่อสร้างสะพานเขียวเสร็จสิ้นแล้ว นับว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาเป็นระยะเวลายาวนานแล้วนะ จริง ๆ แล้ว เพิ่งมาเริ่มขายได้เพียง 4-5 เดือนค่ะ แต่จริง ๆ แล้ว เป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แต่ในเวลานั้นไม่ได้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล มีการประกอบอาชีพเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาปรับตัวตามสถานการณ์ค่ะ”

“เมื่อก่อนนะ คนมาใช้บริการสะพานเขียวน้อยมาก ๆ ปกติที่เห็นก็ คือคนขี่จักรยานบ้าง ออกกำลังกายบ้าง คนมันน้อยจริง ๆ นะ เราคนในชุมชนยังไม่อยากขึ้นไปเลย แต่เหมือนพอมีศิลปิน ดารา นักแสดงขึ้นมาถ่ายภาพเนี่ย คนมาถ่ายรูปกันเยอะมาก ตอนคนมาเยอะกันจริง ๆ ตอนที่ ใหม่ ดาวิกา ถ่ายรูปที่นี้และอัพโหลดลง Instagram แต่จริง ๆ แล้วมันก็มีคนขึ้นมาถ่ายภาพกันอยู่แล้ว แบบคนเรียนจบแบบรับปริญญาขึ้นไปถ่ายด้านบนสะพาน อะไรประมาณนี้ หรือแบบวันวาเลนไทน์ คนก็เดินทางมาใช้บริการสะพานเขียวทั้งการถ่ายรูปอะไรแบบมาเป็นจำนวนมากแต่ส่วนหนึ่งคิดว่าอาจเป็นกระแสด้วยหรือเปล่า”

“ถึงแม้ว่าตอนนี้มีคนใช้บริการสะพานเขียวมากขึ้น แต่สำหรับพี่การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลแทบไม่มีผลใด ๆ เลย แบบว่าย้ำเลยนะว่า ไม่ส่งผลอะไรเลย ที่ขายดีขึ้น คือ พวกร้านอาหาร น้ำดื่ม อย่างตอนนี้สลากกินแบ่งรัฐบาลแบบพี่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่จะร่วมกันชื้อมากกว่าคนนอกที่มาใช้บริการ แต่มันคงดีขึ้นนะ ก็พวกอาหารและน้ำอย่างที่บอกไปมีความคึกคักมาก น่าจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีเงินมากยิ่งขึ้น”

“ถ้าแบบมีการปรับปรุงตามแผนแล้วใช่ไหม มันก็อาจทำให้กมีคนมามากขึ้น ก็มีโอกาสและมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวตามสถานการณ์ อาจมีการปรับตัวในการปรับเปลี่ยนอาชีพที่จะมีรายได้มากขึ้น ก็แบบจากเราตอนนี้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล อาจมีการปรับเปลี่ยนอาชีพตามสถานการณ์ เช่น การขายอาหาร ขายน้ำและของว่าง อาจนำมาสู่รายได้ที่มากขึ้น แต่ตอนนี้ก็คงต้องดูท่าทีไปก่อน เพราะจริง ๆ แล้วคนจำนวนมากเพิ่งเข้ามาในพื้นที่ได้เพียง 2-3 ปี เท่านั้นเอง”

“จริง ๆ พี่ก็ไม่แน่ใจ แต่เชื่อว่าเมื่อมีการปรับปรุงให้มีการจัดการให้เป็นระบบระเบียบ ให้มีความชัดเจน และความเรียบร้อยขึ้น รวมถึงปรับปรุงทั้งสะพานให้มีความเป็นแหล่งท่องเที่ยวจะทำให้มีผู้ใช้บริการที่มากขึ้น และมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น จากการค้าขายของคนในชุมชน รวมถึงทำให้เกิดรายได้แบบที่ทำให้เราพอใช้ได้ ในอนาคตเราก็พร้อมจะปรับตัวหากมีจำนวนผู้ใช้บริการมากขึ้นจริง ๆ และจำเป็นต้องมีรายได้มากขึ้นเป็นปัจจัยในการปรับตัว”

นิมิต อัมสุดใจ (ลุงปี๊ด) อายุ 65 ปี เป็นชาวชุมชนร่วมฤดีตั้งแต่กำเนิด จึงความเป็นหนึ่งเดียว และมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

“สมัยก่อนที่มีการสร้างสะพานขึ้นมา มันไม่มีคนมาใช้ แต่พอมีการปรับปรุงใหม่ พัฒนาดีขึ้น คนก็มาใช้บริการกันทุกวัน ถ่ายแบบบ้าง ถ่ายละครบ้าง เป็นวิวที่ดีที่สุดในย่านนี้เลย ยิ่งเห็นว่าใน Facebook ก็คงมีคนเอาไปลงก็เลยเป็นกระแสให้มีคนมาท่องเที่ยวทุกวัน พอมีคนมาเที่ยว มาเดินสะพานเขียวมากยิ่งขึ้นก็ทำให้ร้านค้าชุมชนสามารถ ขายพวกน้ำ เครื่องดื่มต่าง ๆ ได้มากขึ้นจากที่มันเคยเงียบเหงานะ คนใช้บริการวินก็มากขึ้น การสัญจรมันหนาแน่นขึ้น น่าจะทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจดีขึ้นนะ แบบเขาค้าขายได้ หรือเราวินมอเตอร์ไซค์ก็พอมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่มากก็น้อยแต่ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย”

“ตอนนี้มันก็มีคนนอกพื้นที่ชุมชนมาใช้วินบริการบ้าง ๆ จริง ๆ เพราะถ้ามีผู้ใช้บริการสะพานเขียวมากขึ้น แล้วยิ่งมีการปรับปรุงให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว คงส่งผลให้ชาวบ้านมีการรายได้ แล้วเราก็จะมีลูกค้ามากยิ่งขึ้น เช่น รับส่งจากสะพานเขียวไปที่รถไฟฟ้าตรงเพลินจิต มันก็คงสร้างรายได้ให้เราไม่น้อย และเราคงมีความภูมิใจว่าตรงบ้านเราก็มีดีเหมือนกัน ไม่ธรรมดาเหมือนกัน แบบมีความสวยงามเป็นความภูมิใจของคนในชุมชน ผมคิดแบบนี้นะ”

“ก็คาดหวังว่าจะทำให้ย่านชุมชนตรงนี้มันจะดีขึ้นมีความคึกคัก แล้วคนอื่นจะได้รู้ว่าชุมชนของเราเป็นชุมชนที่ดี มีสะพานที่มีคนมาเดิน มาเที่ยว มาถ่ายรูป คนมาเที่ยวมากขึ้น รายได้ในชุมชนก็จะได้มากขึ้น เราภูมิใจ คนในชุมชนมีความภูมิใจ เป็นหน้าเป็นตาให้กับชุมชน แค่นี้ก็เพียงพอแล้วแต่ในประเด็นทางเศรษฐกิจ การเงินรายได้ เราคงเห็นร้านค้าที่คึกคักตามตรอกซอกซอย อาจทำให้เกิดรูปแบบนักท่องเที่ยวตะเวนมาซื้อของ อาหาร ขนม นมเนย แล้วอาจนำไปนั่งกินและดูวิวจากสะพาน ก็คงจะดีไม่น้อยที่คนในชุมชนก็จะดีขึ้น ที่อยู่อาศัยก็จะดีตามขึ้นมาเอง”

“สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า อยากให้ทำเร็ว ๆ เลยครับ ดีมากที่สุดเลยครับ เท่านี้เลยครับ”      

ภาพถ่ายโดย ศุภิฌา กัสนุกา นิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมสวน กับการยกระดับเศรษฐกิจชาวโปโล และร่วมฤดี

จากการพูดคุยกับชาวบ้านทั้งในชุมชนโปโล ชุมชนร่วมฤดี และชุมชนมหาไถ่ จะเห็นได้ว่า ชาวบ้านเริ่มได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสะพานเขียว ภายหลังการที่มีคนนอกพื้นที่เข้ามาใช้บริการบริเวนพื้นที่สะพานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสนุกสนาน ทั้งการถ่ายรูปโดยเฉพาะบรรยากาศในช่วงยามเย็นกับท้องฟ้าสีสวยในพื้นที่

เมื่อมีคนจำนวนมากเข้ามาใช้บริการพื้นที่สาธารณะของสะพานเขียวแห่งนี้ จะทำให้ความต้องการในการบริโภคเริ่มเกิดขึ้นตามเช่นกัน ประกอบไปด้วย เครื่องดื่ม อาหาร ทำให้ชุมชนมีการค้าขายที่มีความคึกคัก ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ที่มากขึ้น และเห็นโอกาสในการใช้ทุนของชุมชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนของตัวเอง      

ในมิติทางเศรษฐกิจ สะพานลอยฟ้าแห่งนี้หากมีการปรับปรุงในอนาคตเป็นทางแห่งโอกาสที่เป็นตัวขับเคลื่อนในการเข้าถึงพื้นที่ และสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจชุมชน ด้วยชูความเป็นชุมชนเมืองเก่าแก่ สะพานเขียว จะเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญของนักท่องเที่ยวในการเข้ามาในพื้นที่ อาจนำมาสู่รูปแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนด้วยการอาศัยทุนของชุมชนในการดำรงไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

จึงสามารถกล่าวได้ว่าสะพานเขียวแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถยกระดับรายได้ของชาวบ้านในชุมชนโปโล และชุมชนร่วมฤดีจากการที่สะพานต้องไม่เป็นเพียงเส้นทางสัญจรเพื่อความสวยงามของชุมชนเมือง ไม่ใช่การก่อสร้างเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง แต่สะพานแห่งนี้สามารถเหนี่ยวทรัพย์จากการที่ผู้ใช้บริการจากนอกพื้นที่และคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่การค้าขายจนโอกาสในการพัฒนาเป็นแหล่งการท่องเที่ยวชุมชนในอนาคตที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน และแท้จริง

แบบร่างการออกแบบโครงการฟื้นฟูสะพานเขียว Draft – Preliminary Design

ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมสวน กับการยกระดับเศรษฐกิจชาวชุมชน

จากการพูดคุยกับชาวบ้านทั้งในชุมชนโปโล และชุมชนร่วมฤดี จะเห็นได้ว่า ชาวบ้านเริ่มได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสะพานเขียว ภายหลังการที่มีคนนอกพื้นที่เข้ามาใช้บริการบริเวนพื้นที่สะพานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสนุกสนาน ทั้งการถ่ายรูปโดยเฉพาะบรรยากาศในช่วงยามเย็นกับท้องฟ้าสีสวยในพื้นที่ เมื่อมีคนจำนวนมาก เข้ามาใช้บริการพื้นที่สาธารณะของสะพานเขียวแห่งนี้ จะทำให้ความต้องการในการบริโภคเริ่มเกิดขึ้นตามเช่นกัน ประกอบไปด้วย เครื่องดื่ม อาหาร ทำให้ชุมชนมีการค้าขายที่มีความคึกคัก ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ที่มากขึ้น และเห็นโอกาสในการใช้ทุนของชุมชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนของตัวเอง      

ในมิติทางเศรษฐกิจ สะพานลอยฟ้าแห่งนี้หากมีการปรับปรุงในอนาคตเป็นทางแห่งโอกาสที่เป็นตัวขับเคลื่อนในการเข้าถึงพื้นที่ และสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจชุมชน ด้วยชูความเป็นชุมชนเมืองเก่าแก่ สะพานเขียวจะเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญของนักท่องเที่ยวในการเข้ามาในพื้นที่ อาจนำมาสู่รูปแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชน ด้วยการอาศัยทุนของชุมชนในการดำรงไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน   

จึงสามารถกล่าวได้ว่าสะพานเขียวแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถยกระดับรายได้ของชาวบ้านในชุมชนโปโล และชุมชนร่วมฤดีจากการที่สะพานต้องไม่เป็นเพียงเส้นทางสัญจรเพื่อความสวยงามของชุมชนเมือง ไม่ใช่การก่อสร้างเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง แต่สะพานแห่งนี้สามารถเหนี่ยวทรัพย์จากการที่ผู้ใช้บริการจากนอกพื้นที่และคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่การค้าขายจนโอกาส ในการพัฒนาเป็นแหล่งการท่องเที่ยวชุมชนในอนาคตที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน และแท้จริง

           


Contributor