14/01/2022
Insight
ย่านเศรษฐกิจล้มลุก: สำรวจย่านเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ในช่วงโควิดกลืนเมือง
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ พรรณปพร บุญแปง
ย่านแต่ละย่านต่างมีเรื่องราว เอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ที่ประกอบสร้างขึ้นจากความคิด ความรู้สึก ตลอดจนความสัมพันธ์ พฤติกรรม หรือกิจกรรมที่เกิดในพื้นที่ กลายเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงร้อยเรียงผู้คนในพื้นที่
เมืองเชียงใหม่ กับความเป็นย่านหลากมิติ จากรายงานศึกษาเรื่องราวความเป็นย่านผ่านประวัติศาสตร์ และโครงสร้างของเมืองเชียงใหม่แสดงให้เห็นว่าแต่ละย่านของเมืองเชียงใหม่ มักเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม พลวัตทางการเมือง และการพัฒนาเมือง ที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวกันออกไป (ปรานอม ตันสุขานันท์ และวิทยา ดวงธิมา, 2556) ซึ่ง “ย่านเศรษฐกิจ” ที่เห็นได้ในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนของเมืองเชียงใหม่ ที่มีการพัฒนาจนกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางค้าและการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศและของโลก
บทความนี้เราจะชวนผู้อ่านทุกท่านสำรวจ “7 ย่านเศรษฐกิจ” ณ ห้วงเวลาการเเพร่ระบาด COVID -19 ของเมืองเชียงใหม่ ที่ต้องเผชิญกับมาตรการล็อกดาวน์ (ปี 2563) ไร้วี่เเววของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ดังนั้น ย่านใดบ้างที่ธุรกิจหยุดชะงัก หรือสามารถดำเนินต่อไปได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของย่านเศรษฐกิจเชียงใหม่
ย่านห้วยแก้ว -นิมมานเหมินท์
ย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ครอบคลุมถนนห้วยแก้ว และถนนนิมมานเหมินท์ เป็นถนนสายเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ใกล้สถานศึกษาหลายแห่ง อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่พักอาศัยที่สำคัญอีกด้วย
“ถนนห้วยแก้ว” หรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกติดปากว่า “ถนนหน้ามอ(ชอ)” ถนนที่พาดผ่านสถานที่สำคัญ อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สวนสัตว์เชียงใหม่ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ซึ่งหลังจากมีการขยายตัวของเมือง เดิมที่เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา นำมาซึ่งการพัฒนาและขยายตัวของพื้นที่อยู่อาศัยและร้านค้า อาคารพาณิชย์ หรือพื้นที่การค้าต่างๆ ทำให้ย่านคึกคักไปด้วยร้านค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ เช่น กาดหน้ามอ เชียงใหม่ มาลินพลาซ่า ศูนย์การค้า กาดสวนแก้ว ศูนย์การค้าเมญ่า (MAYA Chiang Mai) และโครงการ Think park
ส่วน “ถนนนิมมานเหมินท์” เป็นถนนที่ตัดกับถนนห้วยแก้ว บริเวณแยกรินคำ หรือปัจจุบันเรียกว่าแยกเมญ่า เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ซึ่งเป็นถนนสายเศรษกิจที่มีความสำคัญของเมืองในช่วงหลังของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เป้าหมายของการมาเยือน มาท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ โดยพื้นที่ริมถนนเส้นนี้ถือเป็น “ย่านฮิป” (Hip) ที่สุดของเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นแหล่งรวมไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ และอุดมไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายศิลปะ งานคราฟท์ สถานบันเทิง ที่พัก โรงแรม ฯลฯ ที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมดีไซน์เก๋ บรรยากาศดี รองรับไลฟ์สไตล์ หรือรสนิยมของคนรุ่นใหม่
แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID -19 ภาพบรรยากาศของย่านที่คับคั่งไปด้วยผู้คนและนักท่องเที่ยว กลับต้องเงียบเหงา และซบเซาลง ร้านค้า กิจการต่างๆ ทยอยปิดตัวลง ขึ้นป้ายให้เช่า เซ้งกิจการ
จากการสำรวจร้านค้าสองฝั่งถนนของย่าน ได้แก่ ถนนห้วยแก้ว และถนนนิมมานเหมินท์ จำนวน 437 กิจการ (สำรวจ ณ เดือน มีนาคม 2563) พบว่า ร้านค้ามีการปิดตัวกว่า 60 กิจการ/ร้านค้า หรือคิดเป็น 14 % ของธุรกิจที่สำรวจทั้งหมด ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นร้านค้าธุรกิจทัวร์ ขายของที่ระลึก สถานบันเทิง และโรงแรม บริเวณนิมมานเหมินท์ ที่รองรับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่
ย่านช้างเผือก-สันติธรรม
ย่านที่หนาแน่นไปด้วยอาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นย่านที่มีซอยเล็กที่ซับซ้อน ผู้คนจึงไม่นิยมใช้เป็นทางผ่านไปสู่พื้นที่อื่นๆ แต่ด้วยความหนาแน่นของเมืองอาคารบ้านเรือนที่มากขึ้น จากการที่มีผู้คนอาศัยในย่านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการขยายตัวของย่านธุรกิจการค้า กลุ่มอาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้แก่ กาดช้างเผือก กาดศิริวัฒนาหรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกกันจนติดปากว่า กาดธานินทร์
ย่านที่หนาแน่นไปด้วยอาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นย่านที่มีซอยเล็กที่ซับซ้อน ผู้คนจึงไม่นิยมใช้เป็นทางผ่านไปสู่พื้นที่อื่นๆ แต่ด้วยความหนาแน่นของเมืองอาคารบ้านเรือนที่มากขึ้น จากการที่มีผู้คนอาศัยในย่านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการขยายตัวของย่านธุรกิจการค้า กลุ่มอาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้แก่ กาดช้างเผือก กาดศิริวัฒนาหรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกกันจนติดปากว่า กาดธานินทร์
ด้วยลักษณะของธุรกิจการค้า เป็นกลุ่มอาคารพาณิชย์ที่สร้างบนพื้นที่ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยร้านค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่ร้านอาหารสด อาหารแห้ง สินค้าสะดวกซื้อ รวมถึงวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจซ่อมรถยนต์ ฯลฯ ทำให้ย่านคึกคักและมีความพลุกพล่านของผู้คนที่มีความหลากหลาย รวมถึงผู้คนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในย่าน จนกลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญในระดับเมือง ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องการจราจรที่เรียกได้ว่าซับซ้อนและยุ่งเหยิงก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจของย่านจะรองรับคนท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID -19 พบว่า ธุรกิจของสองฝั่งถนนย่านช้างเผือก-สันติธรรม (สำรวจ ณ เดือน มีนาคม 2563) จำนวน 890 กิจการ มีการปิดตัว 267 กิจการ หรือคิดเป็น 30% ของธุรกิจที่สำรวจทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากมาตรการที่เข้มงวด ไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้ รวมถึงกำลังซื้อที่ลดลงจากการล็อกดาวน์ที่ยาวนาน ทำให้ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น
ย่านเมืองเก่า (คูเมือง)
ย่านเมืองเก่าหรือพื้นที่ภายในสี่แยกคูเมือง ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ มีอายุยาวนานถึง 725 ปี จวบปัจจุบัน อีกทั้งยังคงเสน่ห์และเอกลักษณ์ความเป็นล้านนา อุดมไปด้วยโบราณสถาน สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม รวมถึงมีวัดวาอารามที่เก่าแก่ และทรงคุณค่า
เเต่ด้วยปัจจุบันเชียงใหม่เติบโตเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ย่านเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบการอยู่อาศัย สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมของเมือง จนเกิดการเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่ศูนย์กลางเมืองเก่า เป็นพื้นที่ย่านเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้ย่านเก่าแก่กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ยอดฮิต ที่เต็มไปด้วยธุรกิจเกสต์เฮาส์ โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ บาร์ต่างๆ รองรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ประกอบกับธุรกิจร้านค้าต่างๆ ของย่านเมืองเก่าพึ่งพาการท่องเที่ยวแทบทั้งสิ้น เมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ ปิดประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ COVID -19 ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงัก จากการสำรวจธุรกิจจำนวน 1,000 กิจการ (สำรวจ ณ เดือน มีนาคม 2563) ซึ่งอยู่สองฝั่งถนนของย่าน พบว่า มีการปิดตัวลง 430 กิจการ หรือคิดเป็น 43% ของธุรกิจที่สำรวจทั้งหมด ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ที่รองรับชาวต่างชาติ
ย่านสี่แยกสนามบิน – ถนนเชียงใหม่-หางดง
หลังจากมีการเชื่อมถนนวงเเหวนรอบใน โดยการเชื่อมถนนมหิดลและถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่เข้าด้วยกัน จึงเริ่มมีการขยายตัวของพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจหัวมุมถนนที่เป็นที่ตั้งเชื่อมกับท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ และพื้นที่อยู่อาศัยทางตอนใต้ของเมืองเชียงใหม่ มีการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงห้างค้าปลีกขนาดใหญ่
ทำให้ย่านนี้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณแยกสนามบิน และตลอดแนวถนนเชียงใหม่ – หางดง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) กลายเป็นย่านเศรษฐกิจตามแนวถนน ที่เกิดจากการปักหมุดของนักลงทุน ทำให้พื้นที่ย่านเริ่มหนาแน่นไปด้วยกลุ่มบ้านจัดสรร สถาบันศึกษา และห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ประกอบกับเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่ส่วนทางใต้ของเมืองเชียงใหม่ถือเป็นพื้นที่รองรับการอยู่อาศัยบริเวณรอบนอกของเมืองที่มีความหนาแน่นสูง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาศูนย์การค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตตลอดเส้นทาง อาทิ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าเชียงใหม่ แอร์พอร์ต (Central Plaza Chiangmai) เทสโก้ โลตัส สาขาหางดง (Tesco Lotus) แม็คโคร (Makro) บิ๊กซี (Big C) นอกจากนี้ตลอดทั้งสองฝั่งถนนเชียงใหม่-หางดง ส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ที่ประกอบกิจการต่างๆ อาทิ ร้านวัสดุก่อสร้าง ร้านเฟอร์นิเจอร์ ร้านอะไหล่รถยนต์ รวมถึงย่านธุรกิจสำนักงานอย่าง Airport Business Park (ABP) The Office plus เป็นต้น
ปัจจุบันย่านแห่งนี้ยังคงเป็นย่านศักยภาพ ที่มีการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะอยู่ในช่วงแพร่ระบาดของ COVID -19 แต่ธุรกิจร้านค้าต่างๆ ยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งจากการสำรวจธุรกิจสองฝั่งถนนของย่าน ได้แก่ ถนนทิพย์เนตร และถนนเชียงใหม่ – หางดง (สำรวจ ณ เดือน มีนาคม 2563) พบว่า จำนวน 266 กิจการ ปิดเพียง 6 กิจการ หรือ 2% ของธุรกิจที่สำรวจทั้งหมด
ย่านท่าแพ – ช้างม่อย – กาดหลวง
ย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ในอดีต อันเป็นที่ตั้งของตลาดดั้งเดิมที่ใหญ่ที่สุด คือ ตลาดวโรรส และตลาดต้นลำไย ซึ่งเป็นศูนย์กลางพื้นที่พาณิชยกรรมของเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน (ตั้งเเต่ พ.ศ. 2508-2553) รวมถึงมีถนนการค้าอายุกว่า 100 ปี คือ ถนนท่าแพ และถนนช้างม่อย ที่แต่เดิมมีร้านค้าแบบโรงไม้ชั้นเดียวเรียงรายสองฝั่งถนน พัฒนาเรื่อยมาเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น สำหรับเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและค้าขาย จึงกลายเป็นถนนการค้าที่พลุกพล่านด้วยผู้คนและกิจการ
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงพัฒนาการของเมืองระยะหลัง มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น ประกอบกับเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้กิจกรรมภายในย่านเกิดการปรับตัว จากย่านที่เคยเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมดั้งเดิมและอยู่อาศัย ถูกแทนที่ด้วยธุรกิจที่เน้นรองรับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ ผับบาร์ เกสเฮาส์ ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ย่านท่าแพ-ช้างม่อย-กาดหลวงในปัจจุบัน จึงเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สำหรับการค้า พาณิชยกรรม และพื้นที่สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID -19 ย่านได้รับผลกระทบอย่างมาก เป็นผลให้ย่านซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด หากแต่ยังมีกิจการบางอย่างที่ยังสามารถปรับตัวและฟื้นคืนชีวิตให้กับย่าน สร้างความคึกคักและดึกดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง แต่เปลี่ยนจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยแทน
จากการสำรวจธุรกิจสองฝั่งถนนของย่าน (สำรวจ ณ เดือน มีนาคม 2563) ได้แก่ ถนนช้างม่อย ถนนวิชยานนท์ และถนนท่าแพ จำนวน 363 กิจการ พบว่ามีการปิดตัว 140 กิจการ หรือคิดเป็น 39 % ของธุรกิจที่สำรวจทั้งหมด ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิงที่ตอบโจทย์เพียงนักท่องเที่ยวเท่านั้น
ย่านสันป่าข่อย-เจริญเมือง
ย่านชุมชนพาณิชยกรรมดั้งเดิม ที่เกิดขึ้นตามการพัฒนาของสถานีรถไฟและตลาดจนกลายเป็นอีกย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งรวมสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ที่รับ-ส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ และเมืองใกล้เคียง
หลังจากความเจริญทางด้านคมนาคมเข้ามา การเดินทางและการขนส่งด้วยรถยนต์ได้เข้ามาแทนที่รถไฟ ทำให้กิจกรรมภายในย่านเกิดการปรับตัว ปัจจุบัน ยังคงเป็นย่านที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผู้คนค่อนข้างพลุกพล่าน เนื่องจากเป็นทางผ่านที่เชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่กาดหลวงและพื้นที่เมืองเก่า และเป็นที่ตั้งของสถานศึกษา ค่ายทหาร (ค่ายกาวิละ มทบ.33) สถานพยาบาล สถานีรถไฟ และย่านการค้าที่ยังคงดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบัน ที่อุดมไปด้วยร้านค้าประเภทต่างๆ ตั้งเรียงรายตลอดสองฝั่งถนนเจริญเมือง รวมทั้งมีตลาดสันป่าข่อย ตลาดเก่าแก่ที่เป็นศูนย์กลางการทางการค้าที่สำคัญของระดับย่าน และเมือง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ย่านแห่งนี้จะเป็นย่านการค้าที่รองรับคนท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่จากการแพร่ระบาดของ COVID -19 พบว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของย่านไม่น้อย ซึ่งจากการสำรวจธุรกิจสองฝั่งถนนเจริญเมือง (สำรวจ ณ เดือน มีนาคม 2563) จำนวน 315 กิจการ มีการปิดตัวของธุรกิจ 166 กิจการ หรือ 53% ของธุรกิจที่สำรวจทั้งหมด ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร และร้านขายวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากได้รับผลกระทบสะสมจากยอดขายที่ลดลง และจากมาตรการที่เข้มงวดยาวนาน
ย่านช้างคลาน-ไนท์บาซาร์
ในอดีตย่านช้างคลานเป็นเพียงย่านของชุมชนชาวไทยพื้นเมืองและชาวมุสลิม ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในยุคของการค้าทางเรือและรถไฟ แต่ด้วยย่านมีถนนช้างคลานที่ตลอดสายสามารถเชื่อมโยงไปยังถนนเส้นอื่นๆ รวมทั้งมีพื้นที่ว่างเปล่าจำนวนมากที่ไม่ได้รับการพัฒนา ย่านช้างคลานจึงกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุน ส่งผลให้ย่านมีการเติบโตด้านธุรกิจการค้าพาณิชยกรรม สังเกตได้จากธุรกิจโรงแรม และห้างร้านต่างๆ ผุดขึ้นอย่างหนาแน่น กลายเป็นหนึ่งในย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของเชียงใหม่
นอกจากนี้ ยังมีแลนด์มาร์กสำคัญของเชียงใหม่ คือ “ไนท์บาซาร์” แหล่งชอปปิ้งกลางคืน ที่คึกคักไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร และซุ้มรถเข็นขายของที่ระลึกล้านนาต่างๆ เป็นที่นิยมของท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตก แต่ในระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมา ความนิยมในการเลือกซื้อสินค้าที่ไนท์บาซาร์ลดลง เนื่องจากเสน่ห์บรรยากาศความเป็นล้านนาเลือนหายไป ประกอบกับมีกิจกรรมที่มีลักษณะใกล้เคียงเกิดขึ้น อาทิ ถนนคนเดินวันอาทิตย์ ถนนคนเดินวัวลาย ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่า
นอกจากความนิยมของนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง กลับต้องเผชิญกับผลกระทบวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID -19 ซ้ำรอยอีกครั้ง ส่งผลให้ธุรกิจภายในย่านที่ตอบโจทย์เพียงนักท่องเที่ยวต่างทยอยปิดตัวลง จากการสำรวจธุริจที่อยู่สองฝั่งถนนช้างคลาน (สำรวจ ณ เดือน มีนาคม 2563) จำนวน 294 กิจการ พบว่าปิดตัว 56 กิจการ หรือคิดเป็น 19 % ของธุรกิจที่สำรวจทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้า ร้านบริการ และโรงแรม บริเวณไนท์บาซาร์
โอกาสของการล้มลุกหรือความท้าทายที่จะล้มหาย
เป็นคำถามที่น่าตั้งและยังไม่มีใครกล้าให้คำตอบว่า การที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 นี้ แท้จริงแล้วบางทีอาจเป็นโอกาสที่ทำให้เมืองได้พักฟื้นจากกิจกรรมและผู้คนที่คับคั่งเพื่อที่จะลุกขึ้นมาหรือกลับมาคึกคักอีกครั้ง หรือมันจะเป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการล้มหายตายจากไปของธุรกิจบางประเภทที่ยึดโยงกับกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องอาศัยการบริโภคหรือจับจ่ายใช้สอยจากต่างชาติหรือกลุ่มนักท่องเที่ยวเท่านั้น
ท้ายที่สุด ต้องยอมรับว่าจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยืดเยื้อกว่า 3 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ต้องเผชิญกับจุดต่ำสุด เนื่องจากขาดฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอย่างธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่างพากันหยุดชะงัก แต่จากวิกฤตที่เกิดขึ้นเรายังเห็นโอกาสสำหรับธุรกิจร้านค้าขนาดเล็กที่ตอบโจทย์คนท้องถิ่นให้สามารถดำเนินต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะมีการคลายมาตรการความเข้มงวดต่างๆ ธุรกิจร้านค้าเริ่มกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง แต่ความไม่เเน่นอนจากไวรัสกลายพันธุ์ (โอมิครอน เดลตาครอน ฯลฯ) ยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่เมืองจะต้องปรับตัว และรับมือกันต่อไป
โปรดติดตามบทความของเมืองเชียงใหม่อื่นๆ ได้จากการสังเกตการณ์และเสริมสร้างพฤติกรรมคนเมือง เพื่อขับเคลื่อนและสร้างกา่รเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0