24/02/2023
Public Realm

ฟื้นฟูย่านคลองสานด้วย กราฟฟิตี้คอมมูนิตี้ x สวนสานฯ

อภิชยา ชัยชิตามร
 


ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเมือง ผู้คน สภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วแนวทางการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ย่านประวัติศาสตร์สำคัญของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันไม่เพียงแต่ฟื้นฟูด้านมรดกวัฒนธรรม แต่ต้องฟื้นฟูด้านพื้นที่ร่วมด้วย ทั้งพื้นที่รกร้างรอการพัฒนาซ่อนตัวอยู่ในย่าน การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อการเดินเชื่อมต่อให้มีความปลอดภัย รวมไปถึง ความร่วมมือในการพัฒนา ดังนั้นจำเป็นต้องมีการทดลองใช้วิธีการพัฒนาเมืองจากล่างขึ้นบน TACTICAL URBANISM หนึ่งในลูกเล่นการพัฒนาเมืองที่จะพาไปสู่ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ และใช้แนวคิด Art-leds Urban Regeneration ถอดบทเรียน เรียนรู้ผ่าน ‘กระบวนการฟื้นฟูเมือง’ เป็นเครื่องมือ เข้ามาช่วยโดยสามารถเริ่มได้จากกระบวนการมีส่วนร่วมจากคนในย่าน

การฟื้นฟูย่านด้วยศิลปะ ที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วม และเริ่มต้นจากผู้คนในเมือง (bottom-up) แทนที่จะเริ่มด้วยการตัดสินใจจากภาครัฐ แต่เริ่มด้วยไอเดียของคนในชุมชน ซึ่งเป็นคนที่อยู่และรู้จักย่านดีกว่าใครๆ ดังนั้นแล้ว เพื่อเป็นการทดลองแนวคิด และวิธีการเพื่อเปลี่ยนภาพจำใหม่ของย่านทั้งพื้นที่ และความสัมพันธ์ของคนในชุมชน UddC ยังธน และภาคีขับเคลื่อน ทดลองผ่านกิจกรรมที่ชื่อว่า ‘กราฟฟิตี้คอมมูนิตี้คิดส์ x สวนสานธารณะ’ ในพื้นที่สวนสานธารณะ ซึ่งกว่าจะมาเป็นกิจกรรมนี้มีการพูดคุยมาไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง 

สร้างสีสันในสวนสาน ฯ

จากการพูดคุยมามากกว่า 20 ครั้ง สวนสานธารณะ ที่ดินเอกชนพลิกฟื้นจากพื้นที่รกร้างว่างเปล่าสู่การเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ของย่านกะดีจีน-คลองสานด้วยกระบวนการพูดคุย และออกแบบอย่างมีส่วนร่วมระหว่าง ชุมชนช่างนาคสะพานยาว ชุมชนสวนสมเด็จย่า กรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตคลองสาน และภาคีที่ผลักดันเรื่องพื้นที่สีเขียวการพัฒนาชุมชนในย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม We! Park ยังธน ศูนย์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการออกแบบ (IddC) และ UddC 

1 ในการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ชุมชนต้องการ คือ การแต่งเติมทางเดินในซอยด้วยศิลปะเพื่อสร้างสีสันและภาพจำใหม่ๆ ให้กับย่าน เพื่อความน่าอยู่ และแทนภาพจำเดิมที่เคยเป็นที่รกร้าง 

‘ยังธน’ ต่อยอดไอเดียของชาวย่านคลองสานด้วยการสร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนในย่าน ระดมไอเดียถ่ายทอดภาพจำที่เด็กๆ มีต่อย่านและละแวกบ้านของตนเองลงในกระดาษ เพื่อร่างลงบนกำแพงสวนสานฯ  ผ่านกิจกรรมกราฟฟิตี้คิดส์คอมมูนิตี้ x สวนสานธารณะ พร้อมทั้งยังชวนอาจารย์จากมหาวิทยาศิลปากรมาร่วมถ่ายทอดภาพจินตนาการของเด็กๆ ลงสู่กำแพง และชวนชาวย่าน เด็ก เยาวชน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตคลองสาน We! Park  มาร่วมลงสีจนเป็นกำแพงใหม่ที่มีภาพจำของเด็กๆ อยู่ด้วย

เด็กกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูย่าน

“Let’s Explore Children’s Creativity”

ยังธน
จากจินตนาการสู่การสร้างสรรค์จริง

กิจกรรมนี้พาไปสำรวจการปลดปล่อยจินตนาการของเด็กๆ ในชุมชนที่มีต่อย่านคลองสาน ส่วนใหญ่เด็ก ๆ อาศัยอยู่ในย่านตั้งแต่เกิด ซึ่งหากถามว่าเด็กๆ นึกถึงหรือเห็นภาพอะไรเวลาได้ยินคำว่าย่านคลองสาน มีตั้งแต่ บ้าน ต้นไม้ หมา แมว เอเลี่ยน เรือขนของกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเด็กๆ ที่ได้เห็น

การเปิดพื้นที่และ ความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ จากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ที่ให้เด็ก และเยาวชนในพื้นที่ออกมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้เกี่ยวกับย่านของตัวเอง เป็นการเติมเต็มเอกลักษณ์ใหม่ในย่านด้วยจินตนาการของเด็กๆ ที่นอกจากจะให้เด็กๆ ได้แสดงไอเดียแล้ว การเห็นถึงความสำคัญ ในคุณค่าและความคิดของเด็ก เยาวชน คนในชุมชน

ความเป็นเจ้าของผู้คน (ชุมชน) – เขต – เครือข่าย

การเปิดพื้นที่ให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ด้วยการพูดคุยพบปะผ่านกระบวนการและกิจกรรมนี้ เป็นการเปลี่ยนการทำงานพัฒนาเมืองที่จากเดิมเริ่มต้นจากศูนย์กลาง หรือ การพัฒนาเมืองแบบแยกส่วนการทำงาน ซึ่งเราเห็นแล้วว่ายังไม่ตอบโจทย์สำหรับมหานครแห่งนี้ การเปิดพื้นที่ทำให้ผู้คนออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นการทำงาน หรือการเรียนรู้ร่วมกัน การพูดคุย ความต้องการ ปัญหาที่แท้จริงจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาย่านอย่างมีส่วนร่วม

เราอยู่ในยุคที่เผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง เด็กและผู้คนในยุคนี้เติบโตมากับความท้าทายด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่มาพร้อมกับการพัฒนาเมือง โลกของอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี ที่ทั้งมีการถกเกียงว่า เทคโนโลยีทำให้คนเราใกล้กันขึ้น หรือห่างกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมืองยังจำเป็นจะต้องสร้างพื้นที่บางอย่างให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ชีวิต และการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ใช้ความคิด เล่น ทำกิจกรรม เพื่อสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และความรู้สึกเป็นเจ้าของ การสร้างให้เห็นถึงความสำคัญ ในคุณค่าและความคิดของเด็ก เยาวชน คนในชุมชน แนวทางการนำไปสู่การสร้างพลเมือง พื้นฐานสำคัญสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ และการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองของเมืองต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

และโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


Contributor